Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรฯ 21 องค์กร ยื่นหนังสือประธานคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กรณีโครงการเขื่อนฮัตจีในแม่น้ำสาละวิน เน้นย้ำเปิดเผยข้อมูลรอบด้าน-ทั่วถึง

 
 
หนังสือดังกล่าวระบุเนื้อหาดังนี้ 
 
 
4 กุมภาพันธ์ 2554
 
เรื่อง ข้อเสนอต่อเวทีการเปิดเผยข้อมูล กรณี การสร้างเขื่อนฮัตจีในแม่น้ำสาละวิน
เรียน ประธานคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีในแม่น้ำสาละวิน สหภาพพม่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
 
เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายชุมชนจำนวน 21 องค์กรเครือข่าย ทั้ง 7 อำเภอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการทรัพยากร ลุ่มน้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดิน น้ำ ป่า ไฟป่า หมอกควันต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งมีเป้าหมายให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมประชุมกันวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องประชุมวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน แล้วมีความคิดเห็นต่อกรณีโครงการสร้างเขื่อนฮัตจี และต่อเวทีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีในแม่ น้ำสาละวิน สหภาพพม่า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังนี้
 
1.สถานการณ์การสู้รบในเขตพม่า ระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ด้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตากขึ้นมาจนถึง อ.สบเมย ส่งผลให้มีกระสุนปืนใหญ่มาตกในฝั่งไทย ที่บ้านสบเมยกะเหรี่ยงข้ามมาในฝั่งไทยมากกว่า 4,000 คนได้ยืนยันให้เห็นถึง สถานการณ์ภายในของประเทศพม่า ในเขตพื้นที่สร้างเขื่อนฮัตจีและแนวสายส่งไฟฟ้ามายังประเทศไทย ยังคงมีการสู้รบอยู่ตลอดเวลา และนับวันจะขยายพื้นที่การสู้รบเพิ่มขึ้นมาด้านชายแดน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยืนยันว่า ข้อมูลของ กฟผ.ที่กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่าในพื้นที่สร้างเขื่อนฮัตจีไม่มีการสู้รบมา นานกว่า 10 ปีแล้วนั้นไม่เป็นความจริง และ กฟผ.ต้องตระหนักว่ากองทัพพม่า กำลังใช้โครงการเขื่อนฮัตจีเพื่อการรุกรานและทำสงครามกับชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่สร้างเขื่อน ซึ่งเท่ากับว่า กฟผ.ได้สนับสนุนทางอ้อมต่อกองทัพพม่า ดังนั้น กฟผ.ควรทบทวนบทบาทขององค์กร ซึ่งดำเนินการในนามประเทศไทย ในการที่จะยุติโครงการเขื่อนฮัตจีในทันที
 
2. คณะอนุกรรมการฯ ต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนอัจจีทั้งหมด ต่อสาธารณะ ปัจจุบันมีเพียงเอกสารแนะนำเขื่อนฮัตจีเท่านั้น ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง เนื่องจากยังคงมีข้อมูลที่สำคัญอีกเป็นจำนวนมากยังไม่ได้รับการเผยแพร่ออกมา ในทางสาธารณะ ซึ่งแม้แต่หน่วยงานราชการในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ อาทิ เช่น
 
- การศึกษาความเป็นได้เขื่อนฮัตจี
- การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และ ด้านอุทกวิทยา
- บันทึกข้อตกลงการสร้างเขื่อนฮัตจี ที่ลงนามในเดือนธันวาคม 2548
- บันทึกข้อตกลงการสร้างเขื่อนเขื่อนฮัตจี ที่ลงนามในเดือนเมษายน 2553
- รายงานความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบในด้านต่างๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ในแม่น้ำสาละวิน ประเทศสหภาพพม่า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดทำโดยคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลและเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบในด้าน ต่างๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ในแม่น้ำสาละวิน ประเทศสหภาพพม่า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
การเผยแพร่เอกสารดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้สังคมไทยและสังคมโลกเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อโครงการเขื่อนฮัตจี และเป็นที่สิ่งสะท้อนความตั้งใจ และจริงใจ ในการพัฒนาโครงการของ กฟผ.ได้เป็นอย่างดี กฟผ.และ คณะอนุกรรมการฯ ไม่สมควรจะอ้างเหตุผลอื่นใดที่จะส่อเจตนาในการปกปิดข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างเหตุผลต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาลพม่านั้น ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากเมื่อ กฟผ.ทราบตั้งแต่แรกแล้วว่า เป็นการลงนามในสัญญาที่เสียเปรียบต่อคู่สัญญาแล้ว ย่อมอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่มิชอบได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนไว้แล้ว
 
3. ที่ผ่านมามีองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน สังคมไทยและสังคมโลกได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนโครงการเขื่อน ฮัตจีหลายครั้ง ประกอบด้วยเหตุผลต่างๆ หลายด้าน อาทิเช่น ด้านการส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า, ความจำเป็นของโครงการเขื่อนฮัตจี ต่อระบบไฟฟ้าของไทย, ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของโครงการเขื่อนฮัตจี, ผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในพม่าและไทย, ผลต่อการปักปันเขตแดนถาวรไทย-พม่าในอนาคต รวมทั้งการละเลยการศึกษาผลกระทบต่างๆในเขตประเทศไทย
 
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการเขื่อนฮัตจี มิใช่มีเพียงชุมชนติดแม่น้ำสาละวิน หรือหมู่บ้านในเขต อ.สบเมยเท่านั้น หากแต่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความหลายหลากมากกว่านี้ โดยเฉพาะสังคมไทยซึ่งเป็นผู้บริโภคไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจากโครงการเขื่อนฮัตจี ย่อมต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโครงการ และสามารถแสดงความเห็นต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองไว้ทั้งฉบับปี 2540 และ ปี 2550
 
ดังนั้นการจัดรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ต้องดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ ในอันที่จะเปิดเผยข้อมูลและจัดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกส่วนอย่างทั่วถึง
 
เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย 21 เครือข่ายดังต่อไปนี้
1. เครือข่ายลุ่มน้ำปายตอนบน
2. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่เมือง
3. เครือข่ายลีซูเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอำเภอปาย
4. เครือข่ายแม่ปิง-ห้วยแก้ว
5. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตำบลเมืองแปง
6. เครือข่ายอนุรักษ์แม่เหมือง
7. เครือข่ายชาวไทยภูเขาอำเภอปางมะผ้า
8. เครือข่ายลีซูเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอำเภอปางมะผ้า
9. เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำห้วยปูลิง
10. เครือข่ายม้งเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
11. เครือข่ายกะแยร์เพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
12. เครือข่ายห้วยฮุง-ห้วยฟาน
13. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตำบลแม่กิ๊
14. เครือข่ายแม่ลาก๊ะ
15. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอำเภอแม่ลาน้อย
16. เครือข่ายลุ่มน้ำยวมตอนกลาง
17. เครือข่ายเพื่อละว้าและสิ่งแวดล้อมอำเภอแม่ลาน้อย
18. เครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำอำเภอแม่สะเรียง
19. กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำแม่ลิด
20. กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมตำบลป่าโปง
21. เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำยวม, เงา, เมย, สาละวิน
 
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และโปรดพิจารณาดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ
 
(นาย ทองเปลว ทวิชากรสีทอง)
ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net