Skip to main content
sharethis

คปร.เสนอแผนจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานถือครองที่ดินเกษตรไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน เผยต้องดึงที่ดินไม่ใช้ประโยชน์จากมือ แลนด์ลอร์ด-หน่วยราชการ-นักการเมือง พร้อมใช้ภาษีก้าวหน้าให้เกิดการคายที่ดิน

 
 
วันที่ 7 ก.พ.54 เมื่อเวลา 15.00 น.ที่บ้านพิษณุโลก คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จัดแถลงข่าวเรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร” พร้อมออกแถลงการณ์คณะกรรมการปฏิรูป ระบุข้อเสนอ 5 ข้อ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.ให้มีการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน 2.ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดิน เพื่อการเกษตรทั้งประเทศเป็นข้อมูลสาธารณะ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม 3.ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้น เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่มีการถือครองล้นเกินมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
 
4.ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ โดยผู้ที่มีที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ ให้เสียภาษีในอัตราต่ำร้อยละ 0.03 ที่ดิน 10 – 50 ไร่ เสียภาษีร้อยละ 0.1 และสำหรับที่ดินที่เกินจาก 50 ไร่ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงร้อยละ 5 และ 5.ให้มีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองเท่า นั้น
 
นายอานันท์ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยทั้งการขาดโอกาสและความเหลื่อมล้ำ ล้วนมีสาเหตุมาจากต้นตอเดียวกันคือโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่ดินทำกินนั้นเป็นปัญหาใหญ่อย่าง หนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบทางลบผูกโยงกับปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ เพราะที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิต ได้กลายมาเป็นสินค้าในตลาดที่มีการเก็งกำไร และกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ เพียงบางกลุ่ม
 
“เรื่องนี้ไม่ใช่การบังคับ ยืนยันว่าการกำหนดเพดานถือครองที่ดิน 50 ไร่ ไม่ได้ต้องการให้มองว่าคนที่มีที่ดินเกิน 50 ไร่ เป็นคนไม่ดี เป็นคนเลวจนต้องบังคับเอาที่ดินออกมา แต่จะมีวิธีการที่จะอะลุ่มอล่วยในการจัดการ และต้องแน่ใจด้วยว่าที่ดินที่นำออกมาจัดสรรจะต้องถูกนำไปใช้เพื่อการเกษตร อย่างแท้จริง” นายอานันท์แจง
 
 
แนะระงับการจับกุม-ดำเนินคดี บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
 
ส่วนปัญหากรณีพิพาทคดีความเรื่องที่ดินของเกษตรกรกับทั้งภาครัฐและภาค เอกชน นายอานันท์กล่าวว่า ทางคณะกรรมการปฏิรูปมีข้อเสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระงับการจับกุมและการดำเนินคดีประชาชนไว้ก่อน จนกว่าจะมีการหาทางออกหรือจนกว่าจะมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ สอดคล้องกับทิศทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน อีกทั้ง ในกระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ภาคประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
 
นายอานันท์ระบุรายละเอียดข้อเสนอ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ1.คดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วขอให้มีการพักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ โดยให้ผู้ต้องโทษกลับไปอยู่ดูแลครอบครัว ทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวในที่ดินเดิม 2.คดีที่ดินอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิมจนกว่าการ แก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ 3.กรณีปัญหาที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากยังมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากที่อยู่ระหว่าง การดำเนินการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเพิ่มความเดือดร้อนและความรุนแรงกับคนจน
 
 
หวังประชาชน-สื่อร่วมผลักดัน ให้นักการเมืองหยิบไปทำนโยบาย
 
นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอดังกล่าวของคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้เป็นประกาศ แต่มุ่งเปิดประเด็นที่สังคมควรรับรู้ ติดตาม ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม และมีพื้นที่ในการถกเถียงต่อประเด็นนั้นๆ ทั้งนี้ พื้นฐานการปฏิรูปจะปรากฏผลเมื่อเป็นฉันทามติของประชาชน ดังนั้นทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดช่วยกันทำ ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปนั้นเสนอต่อสาธารณะเพื่อการผลักดันต่อของภาค ประชาสังคมและสื่อมวลชน ในส่วนรัฐบาลจะมีการแจ้งให้รับทราบ แต่จะนำไปดำเนินการหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะไม่สามารถไปบังคับรัฐบาลได้
 
“เรื่องนี้คณะกรรมการปฏิรูปไม่ใช่คนทำ แล้วแต่นักการเมืองหรือรัฐบาลจะเป็นคนหยิบไปทำเมื่อเห็นว่าประชาชนสนใจ แต่หากประชาชนเงียบไม่สนใจ เรื่องนี้มันก็จะเงียบไป” นายอานันท์กล่าว
 
ต่อคำถามถึงเรื่องข้อเสนอในประเด็นอื่นๆ ที่จะมีต่อไป ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปได้จัดทำข้อเสนอในเรื่องเหมืองแร่ใต้ดิน และวิธีจัดสรรงบประมาณลักษณะใหม่ให้ลงไปในพื้นที่โดยตรงใกล้แล้วเสร็จ และยังมีเรื่องการปฏิรูปการศึกษา คุณภาพชีวิตคนเมือง และแรงงานที่มีการจัดทำไปถึงร้อยละ 70 ทั้งนี้ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเสนอในเรื่องใดก่อน
 
อย่างไรก็ตามปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นประเด็นในระยะยาว หากจะมีการเลือกตั้งครั้งไม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าทางคณะกรรมการปฏิรูป อาจต้องรีบเร่งในการทำข้อเสนอ โดยเฉพาะในประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยหวังว่าประเด็นที่นำเสนอจะถูกพัฒนาไปเป็นนโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาล ในอนาคตได้
 
 
“เพิ่มศักดิ์” แจงกรณีจำกัด 50 ไร่ต่อครัวเรือน
 
ด้านดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ หนึ่งในกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่จะต้องนำพื้นที่ดินนำมาจัดสรรนั้นมี 3 กลุ่ม คือ 1.เจ้าของที่ดินที่ถือครองขนาดใหญ่ อาจจะเป็นบริษัทเอกชนไม่ว่าจะเป็นรายย่อยรายเดี่ยวหรือบุคคลที่ถือครอง ที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก 2.ส่วนราชการที่กันที่ดินเอาไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และ 3 คือนักการเมืองที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่จะต้องคายที่ดินออกมา
 
ส่วนกรณีการจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน ดร.เพิ่มศักดิ์ ชี้แจงว่า เป็นตัวเลขที่เหมาะสมเพราะครอบคลุมระดับการผลิตทุกระดับทั้งในการเกษตรกรรม เพื่อยังชีพในการรักษาวิถีชีวิตเกษตรกร และเพียงพอต่อการทำการเกษตรเพื่อการค้า อีกทั้งจากการศึกษาพบว่า พื้นที่ 50 ไร่ นี้ครอบคลุมเพียงพอในการปลูกพืชเกษตรทุกประเภท เช่น พืชไร่ ต้นยาง และปาล์ม ฯลฯ โดยสามารถทำการค้าได้คุ้มกับการลงทุน นอกจากนั้นอัตราดังกล่าวเคยเป็นเพดานที่เคยกำหนดใน พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ทั้งนี้ หลักการสำคัญคือผู้ที่จะมาถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรต้องเป็นผู้ที่ใช้ ประโยชน์จริง
 
นอกจากนั้น การเสนอมาตรการทางภาษีจะเป็นตัวแปรในการตัดสินใจอีกทางหนึ่ง โดยการศึกษาพบว่า สำหรับผู้ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 50 ไร่ แต่ปล่อยทิ้งร้าง การเสียภาษีอัตราก้าวหน้าร้อยละ 5 จากราคาประเมินกลางของกรมที่ดิน ถือเป็นอัตราที่ไม่จูงใจให้ผู้ถือครองที่ดินเก็บไว้ให้เช่า เนื่องจากรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า หากเก็บที่ดินไว้เพื่อทำกำไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net