Skip to main content
sharethis

เผย “ชาลี” ผู้ป่วยชาวพม่าซึ่งประสบอุบัติเหตุและถูกนายจ้างลอยแพ ล่าสุดเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานตรวจฐานข้อมูลพบใบอนุญาตทำงานไม่หมดอายุ แต่ล่าสุดยังคงถูกควบคุมตัวในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ด้านนักสิทธิมนุษยชนขอพึ่งสภาทนายความให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ให้ได้ปล่อยตัว 

"ชาลี" แรงงานชาวพม่า ผู้ป่วยหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 54 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ถูกโรงพยาลแจ้งตำรวจจับ ถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และส่งไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ โดยถูกโซ่ล่ามไว้นั้น ล่าสุดได้รับการประสานให้ปลดโซ่แล้ว ล่าสุดเมื่อ 10 ก.พ. นายชาลียังคงถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่าจะมีการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานแล้วว่าใบอนุญาตทำงานของเขา ไม่หมดอายุ (ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)

 

วันนี้ (10 ก.พ.) เวลา 10.00 น ตัวแทนสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (WEPT) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อหารือกรณี นายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติที่เกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการทำงาน แต่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน และหารือกรณีการประสานงานโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่ไม่รัดกุมส่งผล ให้นายชาลี ต้องถูกแจ้งจับ เนื่องจากไม่มีการประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อยืนยันสถานะภาพใบอนุญาตทำงาน

โดยทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้นายชาลี ยังคงถูกควบคุมไว้ในห้องควบคุมตัวโรงพยาบาลตำรวจ ในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อรอการผลักดันกลับ แม้กรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวได้ชี้แจงแล้วว่า ใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ นายชาลีจึงไม่มีความผิด ดังนั้นการจับกุมและควบคุมตัวนายชาลีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อย่างร้ายแรง

ถึงแม้ความจริงจะปรากฏชัดเจนเช่นนี้แล้ว แค่นายชาลียังไม่ได้รับการปล่อยตัว ดังนั้นมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายชาลี จึงได้ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ เพื่อดำเนินการขอให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกการควบคุมตัวนายชาลีทันที และหากไม่ เป็นผล สภาทนายความก็พร้อมจะดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่รับผิดชอบเพื่อให้เป็น บรรทัดฐานต่อไป โดยหวังว่าจะป้องกันแรงงานข้ามชาติเหยื่ออุบัติเหตุ ไม่ให้ถูกนายจ้างทอดทิ้ง ถูกจับและส่งกลับโดยไม่ได้รับการเหลียวแลซ้ำอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาลี ดีอยู่ อายุ 33 ปี ประสบอุบัติเหตุขณะทำงานเมื่อ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา จนบาดเจ็บสาหัส กระดูกสะโพกขวาหัก นอกจากนี้ยังต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออกมาแขวนไว้นอกช่องท้อง แต่เมื่อไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลกลับถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของรัฐใน จังหวัดปทุมธานีที่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ม.ค. โดยอ้างว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แม้นายชาลีจะได้แจ้งว่าตนได้ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติแล้วแต่เมื่อประสบ อุบัติเหตุเอกสารประจำตัวได้สูญหายทั้งหมด ทั้งถูกนายจ้างทอดทิ้ง

ต่อมานายชาลีได้ถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศพม่า ทั้งๆ ที่อาการบาดเจ็บยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่จากการร้องขอโดย มสพ. ทำให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งตัวนายชาลีไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่ดูแลผู้ต้องขังที่เข้าที่โรงพยาบาลดังกล่าว ได้นำนายชาลีไปควบคุมตัวไว้ในห้องคนไข้ที่เป็นห้องขังทั้งยังได้ล่ามโซ่ขา นายชาลีไว้กับเตียงคนไข้อีกด้วย จนองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)  นายชาลีจึงได้รับการปลดโซ่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.

โดยนายชาลีได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาล ตำรวจจนมีอาการดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) แสดงความกังวลว่า ถึงแม้จะมีข้อมูลชัดเจนจากกระทรวงแรงงานว่า นายชาลีได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานและใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ แต่นายชาลีก็ยังคงถูกควบคุมตัวไว้ในสถานะผู้ถูกกักตามพระราชบัญญัติคนเข้า เมือง พ.ศ. 2522 โดยถูกขังไว้ในห้องผู้ป่วยอายัด ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพและกฎหมายทั้งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าเยี่ยมและ ประสานงานเพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายชาลีด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงแรงงานได้เข้าเยี่ยมนายชาลี และได้แจ้งแก่ มสพ.ว่า ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าใบอนุญาตทำงานของนายชาลียังไม่หมดอายุ และจะประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้ถอนอายัดตัวนายชาลี ซึ่งจะทำให้นายชาลีสามารถรับรักษาตัวต่อไปในฐานะผู้ป่วยปกติ แต่จนบัดนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ดำเนินการแต่อย่างใด

โดยทาง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เห็นว่าการเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและควบควบคุมตัวนายชาลีด้วยข้อหาเข้าเมือง โดยผิดกฎหมายเพราะเข้าใจผิด โดยไม่มีการตรวจสอบหรือสืบสวนสอบสวนความจริงให้ถ่องแท้เสียก่อน โดยการจับและควบคุมนายชาลีไว้ตั้งแต่ 31 ม.ค. ถึงปัจจุบันเพื่อรอผลักดันกลับประเทศพม่านั้น เป็นการจับและควบคุมตัวโดยไม่ ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดเสรีภาพซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 จึงได้ร้องเรียนขอให้สภาทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายชาลีเพื่อ ให้ได้รับการปล่อยตัวต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net