สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: ยุทธศาสตร์วัวพันหลัก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังป่าวประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าเขาได้เสนอสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในการแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหาร ด้วยการท่องคาถา เรื่องการเจรจาทวิภาคี ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่า กลไกนี้อยู่ในสภาพที่ง่อยเปลี้ยเสียขามาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว นับแต่การประชุมครั้งล่าสุดที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2552

ตรงกันข้ามแนวทางของกัมพูชาในการเสนอปัญหาเข้าสู่การพิจารณาของเวที ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นั้นกลับได้รับการสนองตอบอย่างทันท่วงที พลันที่จดหมายจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชาไปถึงนิวยอร์ค คณะมนตรีความมั่นคงก็เริ่มหยั่งเสียงความเป็นไปได้ในการจัดประชุมเร่งด่วน ตามคำขอของฝ่ายกัมพูชา ในขณะที่คำยืนกรานเรื่องการเจรจาแบบทวิภาคีเป็นแค่เสียงนกเสียงกา

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะเปิดประชุมเรื่องข้อพิพาทชายแดน ไทย-กัมพูชาขึ้นจริงๆในวันวาเลนไทน์ที่กรุงนิวยอร์ค โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและกัมพูชา พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเข้าร่วมอย่าง พร้อมเพรียง

เท่านั้นยังไม่พอ ข้อเสนอเรื่อง การเจรจาแบบทวิภาคีของไทยถูกปิดประตูตาย เมื่อ วา กิมฮอง ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฝ่ายกัมพูชาตอบมาว่า เขาไม่รับข้อเสนอของฝ่ายไทยที่จะให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม เจบีซี ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ 

ยิ่งการประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีต่างประเทศยิ่งเหลวไหลเข้าไปใหญ่ เพราะการประชุมที่เสียมเรียบยังไม่ทันจบดีเสียงปืนก็แตกที่ชายแดนในวันที่ 4 กุมภาพันธ์

ในขณะเดียวกัน เวทีระหว่างประเทศแห่งอื่นๆก็กลับแสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะเปิดรับปัญหาความขัดแย้งเรื่องชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตลอด เวลา อย่างน้อยที่สุด ประธานอาเซียนจะเริยกประชุมเรื่องนี้อีกในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่กรุงจาการ์ตา โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่พิพาททั้งสองฝ่ายก็ตอบตกลงแล้วว่าจะไป ประชุมด้วย

เหตุที่ทำให้ข้อเสนอเรื่องเจรจาทวิภาคีของไทยเป็นหมันนั้นคงจะโทษใครไม่ ได้ ปัญหาอยู่ที่ประเทศไทยเองได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นมาโดยตลอดว่า การเมืองภายในของตัวเองนั่นแหละที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นกลไกระหว่าง ทวิภาคีทางด้านเขตแดนพิกลพิการ

คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมประชุมกัน 3 ครั้งแล้วนับแต่เกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่กัมพูชาประสบความสำคัญในการขึ้นทะเบียนปราสาทขอมแห่งนี้เป็นมรดก โลก แม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้วย กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งกำหนดว่าจะต้องเอากรอบการเจรจามาผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แต่ในความเป็นจริงรัฐสภาก็ผ่านกรอบการเจรจาซึ่งเป็นกรอบใหญ่ไปแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใดยังไม่ทราบแน่ ที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องนำบันทึกการประชุมทั้ง 3 ครั้งนั้นมาเข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้ง โดยที่บทบัญญัติของกฎหมายในข้อนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า มีความจำเป็นจะเอากลับมาพิจารณาอีกหรือไม่

มีความเป็นไปได้ 2 ทางว่าทำไมจะต้องเอากลับมาพิจารณากันให้เสียเวลา ประการแรก เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไม่มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนนักว่า การใดบ้างที่ต้องการความเห็นของรัฐสภา แต่เหตุผลประการทีสองน่าจะสำคัญกว่า กล่าวคือ รัฐบาลเกรงใจพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสปอนเซอร์หลักในการนำพาให้รัฐบาลนี้เข้าสู่อำนาจ ทางการเมือง และได้ทำการคัดค้านการเจรจาเรื่องเขตแดนกับกัมพูชาอย่างแข็งขันมาโดยตลอด รัฐบาลจึงได้เลือกเวทีรัฐสภาเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากพันธมิตรฯ เมื่อเลือกเส้นทางนี้ผลของมันคือทำให้งานของเจบีซีล่าช้าออกไป

ในระยะแรกๆนั้น รัฐบาลรีๆรอๆที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจาณาของสภาหลายต่อหลายครั้ง กรอบการเจรจาในลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆล้วนผ่านสภาไปได้โดยง่ายดาย แต่บันทึกการประชุม เจบีซี ไทย-กัมพูชา กลายเป็นยาขมหม้อใหญ่ของรัฐบาล และสุดท้ายเมื่อยอมเอาเข้าแล้วก็ไม่ยอมผ่านออกมาได้ในคราวเดียว หลังจากถูกแรงต้านทานจากการชุมนุมของคณะพันธมิตรฯ รัฐบาลก็ต้องซื้อเวลาต่อไปด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อศึกษาเอกสารดัง กล่าว จากเดิมจะใช้เวลา 30 วันก็เลื่อนเป็น 90 วัน นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา

เรื่องที่ทำให้เจบีซี เสียเวลานั้นเกิดจากอวิชชาโดยแท้ เพราะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เอาเรื่องหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาผูกกันไว้ ทำให้ยุ่งยากในการแก้ปัญหา

เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับแต่ถูกผูกกันเอาไว้อย่างเหนียวแน่นคือ ปัญหาเส้นเขตแดนและการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามหลักของอนุสัญญายูเนสโก การขึ้นทะเบียนมรดกโลกในทรัพย์สินใดๆที่ตั้งอยู่คร่อมเส้นเขตแดนของสอง ประเทศหรือหลายประเทศ ไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิในเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน

แต่อวิชชาของลัทธิชาตินิยมกลับทำให้ นายกรัฐมนตรีผู้น่าจะมีความคิดอ่านโปร่งใส ไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ จึงได้ดำเนินการคัดค้านแผนการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชาตลอดมา แถมยังพูดให้ประชาชนไขว้เขวไปมากว่า การคัดค้านแผนการดังกล่าวจะทำให้ กัมพูชาไม่ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งๆที่การขึ้นทะเบียนนั้นมีการประกาศก้องโลกมาสามปีแล้ว

รัฐบาลอภิสิทธิ อ้างว่า แผนการบริหารจัดการของกัมพูชารุกล้ำพื้นที่ซึ่งไทยอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่ข้อเท็จจริงคือ พื้นที่ส่วนพิพาทนั้นได้ถูกตัดออกตั้งแต่การประกาศขึ้นทะเบียนในปี 2551 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนก็พยายามพูดเรื่องนี้ให้คลุมเครือ เพื่อให้ประเทศไทยมีสิทธิในการคัดค้านแผนการดังกล่าว

การนำข้อพิพาทเรื่องเขตแดนไปรบกวนมรดกโลกเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล อย่างไรเสีย คณะกรรมการมรดกโลกก็จะต้องพิจารณาแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาเสนอไปในการ ประชุมเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ที่บาเรนห์ รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงต้องเดินเกมที่แรงขึ้น ด้วยการขนกำลังทหารไปประชิดแนวชายแดนด้านนั้นเอาไว้ โดยเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่า กัมพูชาจะตอบสนองด้วยการใช้กำลังทหารขึ้นมายันไว้เช่นกัน และ จะนำไปสู่การปะทะกันในที่สุด

ผลแห่งการปะทะทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย พลเรือนบ้านภูมิซรอลเสียชีวิต 1 คน ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 5 นาย พลเรือนของกัมพูชาเสียชีวิต 2 คน และนั่นเป็นโศกนาฎกรรมของสงคราม

แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศ รัฐบาลอภิสิทธิจะอาศัยเหตุแห่งการปะทะนี้เพื่อชี้ให้ยูเนสโกและคณะกรรมการ มรดกโลกเห็นว่า พื้นที่นี้ไม่สงบสุขพอที่จะมีมรดกโลกอยู่ได้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ให้ถอดปราสาทพระวิหารออกไปจากบัญชีมรดกโลกเสียจะเป็นการ สงบสุขกว่า

รัฐบาลไทยป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้ยูเนสโก ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจความเสียหายปราสาทพระวิหารจากการปะทะ โดยอ้างว่าพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นทางขึ้นนั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และไทยจะไม่อนุญาตให้ผ่านเข้าไป ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ทางขึ้นปราสาทพระวิหารมีหลายทางและบางเส้นทางนั้นไม่จำเป็นต้องผ่านพื้นที่ พิพาทเลยแม้แต่น้อย

เมื่อเป็นเช่นนี้ อภิสิทธิ์ จำต้องยืนกรานกระตายขาเดียวว่า จะถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารตามข้อเสนอของกัมพูชานั้นไม่ได้ เด็ดขาด เพราะจะทำให้พื้นที่ตรงนั้น “สงบสุข และ มีสันติภาพ” ตามที่กัมพูชาต้องการ นี่นับเป็นจุดยืนทางการเมืองที่ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ในศตวรรษที่ 21

แต่จุดยืนแบบนี้แหละที่จะเข้าเนื้อและพันคอตัวเองในการเจรจาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะที่อยู่ในเวทีระหว่างประเทศ

หลักการสากลในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งชายแดนคือ ต้องทำให้พื้นที่นั้นปลอดจากเหตุแห่งการปะทะ ซึ่งในที่นี้ก็คือกำลังทหารนั่นเอง ถ้าหากยังยืนยันว่าจะคงกำลังทหารเอาไว้ การแก้ไขปัญหาย่อมทำไม่ได้ เพราะกำลังทหารที่เผชิญหน้ากันอยู่นั้นย่อมเสี่ยงต่อ การปะทะกันอีก

ประการสำคัญ การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนย่อมไม่อาจจะกระทำได้อีกเช่นกัน หากปรากฎว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีกองกำลังทหารอยู่

สิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องเตรียมการป้องกันอีกประการหนึ่งในการคง กำลังทหารเอาไว้คือ ข้อกล่าวหาว่าเป็นประเทศผู้กระหายสงคราม นิยมความรุนแรง และขัดขวางกระบวนการสันติภาพ ในขณะที่กัมพูชากำลังจะเล่นบทผู้แสวงหาสันติภาพ ข้อเสนอถอนทหารเพื่อสร้างสันติภาพถาวรนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากชาว โลกมากกว่าในยุคสมัยปัจจุบัน แนวคิดที่ใช้กำลังทหารยันกันเพื่อรักษาสันติภาพนั้นเป็นแนวคิด ยุคสงครามเย็น ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ผลและเสี่ยงมากเกินไป ที่สำคัญมันไม่ได้พาโลกพัฒนาไปทางไหนเลย หากแต่วนเวียนอยู่กับสงครามอย่างไม่มีวันจบสิ้น
     
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท