จม.จาก “นศ.-ประชาชนจ.อุบลฯ” ถึง “กรรมการสิทธิฯ” ชี้ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

13 องค์กร-เครือข่ายคนอุบลฯ ยื่นจดหมายร้องกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด จี้ระงับการก่อสร้างโดยด่วน ให้คนในพื้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเอง ไม่ให้ กฟผ.หรือรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแทน
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 เครือข่ายไม่เอานิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ประกอบด้วย นักศึกษา นักวิชาการ เครือข่ายองค์กรชุมชน และภาคประชาชน ยื่นจดหมายร้องเรียนต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ อาคารกาญจนาภิเษก ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พร้อมทำสำนำส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน
 
สืบเนื่องจาก ข่าวการเสนอให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดลำดับแรกสุดในการสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ภายหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2010 ที่บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5,000 เมกกะวัตต์ และความคืบหน้าล่าสุดจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการสร้างโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ ทำให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีที่ติดตามข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เกิดความห่วงใยต่อการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยว่า อาจกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
 
จดหมายดังกล่าวระบุเหตุผลการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า 1.กระบวนการประชาสัมพันธ์ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง 2.ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวด ล้อมอย่างร้ายแรงได้ กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูของญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม 2538 เป็นหลักฐานยืนยันว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบล่าสุดยังไม่ใช่ข้อยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็น สิ่งที่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยและวินัยของคนงานญี่ปุ่นนั้น จัดว่าเข้มงวดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 
3) การคัดเลือกพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไม่มีความโปร่งใส เนื่องจากมีข่าวระบุว่า เหตุผลที่เลือกจังหวัดอุบลราชธานีเนื่องจากมีประชาชนคัดค้านน้อยกว่าจังหวัด อื่น แต่กลับละเลยความไม่เหมาะสมหลายด้าน เช่นความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ การเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเขตชายแดน รวมทั้งการขนส่งและการกำจัดกากนิวเคลียร์ เป็นต้น
 
“ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด อุบลราชธานีระงับและยับยั้งการก่อสร้างโดยด่วน เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นกลไกในการสนับสนุน ให้ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีมีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเองในฐานะเจ้า ของพื้นที่แทนที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแทน” จดหมายระบุ
 
จดหมายดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
จดหมายร้องเรียน
 
เรื่อง ร้องเรียนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
 
เรียน ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร (นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ)
 
สิ่งทีส่งมาด้วย สำเนาจดหมายร้องเรียนนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) จำนวน 1 ฉบับ
 
ตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2010 ให้บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5,000 เมกกะวัตต์ และได้มีข่าวการเสนอให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดลำดับแรกสุดในการสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยจะดำเนินการในเขตอำเภอสิรินธร ดังจะเห็นได้จากการจัดเวทีประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ รวมทั้งมีการสำรวจพื้นที่ การทำงานมวลชนสัมพันธ์มาโดยตลอด จนกระทั่งมีความคืบหน้าว่าจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ นั้น       
 
เมื่อประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีได้ทราบข่าวความเคลื่อนไหวดัง กล่าว ก็ได้มีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงใยต่อการดำเนินโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยซึ่ง เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก การที่ประชาชนชนคนอุบลราชธานีรวมตัวกันคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีเห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือ เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่จะควรได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมีประเด็นที่จะขอร้องเรียนดังต่อไปนี้
 
1) ที่ผ่านมา มีการจัดสรรงบประมาณในด้านแผนงานด้านการสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของ ประชาชน จำนวน 205 ล้านบาท แต่การประชาสัมพันธ์นั้นมุ่งเน้นให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และเลือกให้ข้อมูลกับประชาชนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งกระบวนการประชาสัมพันธ์เหล่านั้นไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างแท้จริง
 
2) ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวด ล้อมอย่างร้ายแรงได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของรัสเซีย ที่มีการคาดการณ์ว่าประชาชนประมาณ 1 ล้านคนเสียชีวิตอันเป็นผลสืบเนื่องจากอุบัติเหตุครั้งนั้น แม้ในปัจจุบันเมืองพรีเพียต (Prypiat) อันเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็ยังตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองร้างและยังไม่ สามารถควบคุมการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีได้ทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปแล้วถึง 25 ปีแล้ว นอกจากนี้จากการศึกษาค้นคว้า ยังพบอีกว่า แม้จะมีการ พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาโดยตลอด แต่จนถึงปัจจุบันกลับยังไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปลอดภัยอย่างเต็มที่ข่าวคราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุในโรง ไฟฟ้าเคลียร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก เช่น ในเดือนธันวาคม 2538 ก็คือ กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการนิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุด ทั้งของญี่ปุ่นและของโลก หลังจากเปิดเดินเครื่องมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น ก็เกิดอุบัติเหตุสำคัญจนต้องปิดโรงงานไม่มีกำหนด 3 ปี ความผิดพลาดในระบบระบายความร้อนของโรงไฟฟ้าดังกล่าวทำให้โซเดียมเหลวรั่วไหล ออกมาถึง 3 ตัน ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่งเนื่องจากเมื่อมันกระทบกับอากาศจะมีฤทธิ์ ระเบิดรุนแรง หลังจากนั้นไม่นานก็มีอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2 แห่งของญี่ปุ่น จนต้องปิดกะทันหัน โดยที่ก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่นๆ อีก โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเป็นชนิดเดียวกับของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้อุบัติเหตุเกือบทุกชนิดที่เกิดกับญี่ปุ่น ก็เคยเกิดในสหรัฐอเมริกามาแล้ว (และมีแนวโน้มว่าจะเกิดต่อไป)
 
กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูเป็นหลักฐานยืนยันว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบล่าสุดยังไม่ใช่ข้อยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็น สิ่งที่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยและวินัยของคนงานญี่ปุ่นนั้น จัดว่าเข้มงวดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 
3) การคัดเลือกพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไม่มีความโปร่งใส เนื่องจากมีข่าวระบุว่า เหตุผลที่เลือกจังหวัดอุบลราชธานีเนื่องจากมีประชาชนคัดค้านน้อยกว่าจังหวัด อื่น แต่กลับละเลยความไม่เหมาะสมหลายด้านของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สูง เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเขตชายแดน รวมทั้งการขนส่งและการกำจัดกากนิวเคลียร์ เป็นต้น ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดอุบลราชธานีจึง ไม่น่าจะมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่กลับมีการเสนอว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด
 
ดังนั้น ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด อุบลราชธานีระงับและยับยั้งการก่อสร้างโดยด่วน เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นกลไกในการสนับสนุน ให้ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีมีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเองในฐานะเจ้า ของพื้นที่แทนที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแทน
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
1.นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
2.คณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
3.นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
4.คณาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
5.สภาองค์กรประชาชน
6.กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
7.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คป.สม.)
8.เครือข่ายคนฮักน้ำของ
9.กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
10.กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนสิรินธร
11.กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้านคำสร้างไซย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
12.ชมรมข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุ
13.พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท