รายงาน: ถอดบทเรียน “กรณีลักพาตัวเด็ก” ในประเทศ

 

 

ทุกครั้งที่มีข่าวการลักพาตัวเด็กในประเทศไทย เรื่องที่น่าแปลกใจประการหนึ่ง คือ การกล่าวย้ำในทางสังคมเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ ว่า การลักพาตัวเด็ก เป็นเรื่องเดียวกับ “แก๊งรถตู้จับเด็ก” เรามักได้ยินการกล่าวอ้างข้อมูลลอยๆ แบบนี้ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง แม้กระทั่งจากปากของรัฐมนตรีที่ดูแลปัญหาทางสังคม ซ้ำร้ายบทสรุปหรือการคาดการณ์ของเรื่องมักลงเอยว่า เด็กถูกแก๊งรถตู้จับไป เพื่อตัดแขนตัดขา และบังคับให้ขอทาน!!!

เรื่องที่น่าแปลกใจประการที่สองคือ เราไม่สามารถหาองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการลักพาตัวเด็ก แผนประทุษกรรมของคนร้าย ข้อมูลคนร้ายที่เคยก่อเหตุ แม้กระทั่งสถิติเด็กถูกลักพาตัว ได้จากหน่วยงานของรัฐแม้ว่า ประเทศของเราจะมีหน่วยงานรัฐที่ทำงานเรื่องเด็กและการค้ามนุษย์จำนวนมากก็ ตาม


ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็กในประเทศไทย

ข้อเท็จจริงจากการดำเนินงานติดตามคนหาย มูลนิธิกระจกเงา นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิกระจกเงา ได้รับแจ้งเหตุเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 46 ราย เป็นเด็กชาย 22 คน และเป็นเด็กหญิง 24 คน เฉลี่ยมีเด็กถูกลักพาตัวประมาณปีละ 7 ราย ในจำนวนนี้พบตัวแล้ว 28 ราย และยังอยู่ในระหว่างการติดตามหาอีก 18 ราย อายุเฉลี่ยของเด็กที่ถูกลักพาตัวอยู่ที่ 7 ขวบ
 

ใครคือผู้ก่อเหตุ
วาทกรรมเรื่อง “แก๊งรถตู้” มักอยู่คู่กับการหายตัวไปของเด็กเสมอ ประชาชนจำนวนมากถูกทำให้เข้าใจผิดว่ามีแก๊งรถตู้อยู่จริงในประเทศไทย แต่จากการดำเนินงานติดตามเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงาเกือบทศวรรษ ไม่เคยปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็กอยู่จริงในประเทศไทย

เด็กที่เคยถูกลักพาตัว ซึ่งได้กลับบ้านแล้วกว่า 28 ราย ไม่มีรายใดถูกลักพาตัวไปโดยแก๊งรถตู้แม้สักกรณีเดียว แม้ว่าตอนที่ถูกลักพาตัวไปแรกๆ จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจถูกแก๊งรถตู้ลักพาตัวไปก็ตาม ซึ่งข้อเท็จจริงได้ปรากฏภายหลังจากการช่วยเหลือติดตามเด็กกลับมาได้แล้วว่า เด็กที่ถูกลักพาตัวไปในกรณีของประเทศไทย ส่วนใหญ่ผู้กระทำความผิดมักเข้าข่ายบุคคล ดังต่อไปนี้

1. ผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะก่อเหตุเพียงลำพัง เพราะง่ายต่อการดำเนินการ และยังสะดวกในการเดินทาง เพื่อเคลื่อนย้ายเด็กไปยังสถานที่ที่ตนเองต้องการ

2. มีอาการทางสุขภาพจิต ทั้งผู้ก่อเหตุที่เป็นหญิงและชาย และอาจเคยเป็นผู้ก่อเหตุในลักษณะนี้มาก่อน ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุเพศชายที่มีอาการทางจิต มักมีรสนิยมรักร่วมเพศ หรือรสนิยมการร่วมเพศกับเด็ก

3. เป็นบุคคลใกล้ชิดกับครอบครัวของเด็ก อาทิเช่น พี่เลี้ยงเด็ก หรือญาติพี่น้อง ที่รู้สึกผูกพันกับเด็ก จนเกิดความเสน่หา ต้องจะนำตัวเด็กไปดูแลเอง

4.บุคคลที่ประสงค์จะมีลูก แต่ไม่สามารถมีลูกด้วยตัวเองได้ จึงตระเวนออกหาเด็กตามสถานที่ต่างๆ เพื่อลักพาตัวมาเลี้ยงดูเป็นลูกของตัวเอง

พื้นที่เสี่ยงในการถูกลักพาตัว
สุภาษิตโบราณที่ว่า “ที่ปลอดภัยที่สุด มักเป็นที่อันตรายที่สุด” อาจนำมาใช้ได้กับกรณีการลักพาตัวเด็กในประเทศไทย เพราะพบว่า การก่อเหตุลักพาตัวเด็ก มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ซ้ำร้ายยังอาจเป็นบริเวณที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักนิ่งนอนใจเพราะคิดว่าเป็นสถาน ที่คุ้นชินและปลอดภัยสำหรับบุตรหลาน
พื้นที่เสี่ยงที่ผู้กระทำความผิดมักก่อเหตุลักพาตัวเด็ก ได้แก่

1. บ้าน ทั้งบริเวณหน้าบ้าน และภายในบ้านของเด็กเอง
2. วัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานวัด
3. โรงพยาบาล
4. สวนสาธารณะ
5. ห้างสรรพสินค้า
6. บริเวณใกล้ที่ทำงานของผู้ปกครองเด็ก
 

เด็กคนไหนที่อาจถูกลักพาตัว
จากจำนวนการรับแจ้งเหตุเด็กถูกลักพาตัวในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา มีเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 46 ราย เป็นเด็กชาย 22 คน และเป็นเด็กหญิง 24 คน นั่นหมายถึงไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง อาจจะมีแนวโน้มในการถูกลักพาตัวไม่แพ้กัน เฉลี่ยมีเด็กถูกลักพาตัวประมาณปีละ 7 ราย อายุเฉลี่ยของเด็กที่ถูกลักพาตัวอยู่ที่ 7 ขวบ กระนั้นก็ตามเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ถูกลักพาตัวมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี

เด็กที่ถูกลักพาตัวมักเป็นเด็กที่มีบุคคลิกหน้าตาดี เชื่อคนง่าย ส่วนใหญ่เด็กไม่มีทักษะในการป้องกันตัวเอง หรือการขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก เด็กที่ถูกลักพาตัวมักไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือเนื่องจากผู้ก่อเหตุมักข่ม ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายเด็ก หรือหากเด็กหลบหนีไปได้จะตามไปทำร้ายครอบครัวเด็กที่บ้าน


วิธีการลักพาตัวเด็ก

การลักพาตัวเด็กทุกกรณี ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย ไม่มีการฉุดกระชาก ไม่มีการมัดมือมัดเท้า ไม่มีการปิดตาปิดปาก เหมือนที่ทางการมักให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนบ่อยๆ เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ก่อเหตุมักใช้วิธีการที่แนบเนียนกว่านั้น กล่าวคือ กรณีที่เป็นเด็กทารกหรือเด็กเล็ก พบว่ามิจฉาชีพมักทำทีตีสนิทกับครอบครัว มีการขออุ้มเด็ก หรือแม้กระทั่งปลอมตัวเข้ามาสมัครเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หรือกรณีล่าสุดที่จังหวัดขอนแก่น ที่ผู้กระทำผิดปลอมตัวเป็นญาติของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อให้ทุกคนตายใจ จากนั้นจะอุ้มเด็กออกไปเสมือนหนึ่งว่าเป็นแม่หรือเป็นญาติของเด็ก โดยไม่มีใครสงสัย

ส่วนกรณีเด็กโตนั้น มักถูกล่อหลอกด้วยสิ่งจูงใจ 4 อย่าง ได้แก่ 1.เงิน 2.ขนม 3.ของเล่น 4.เกมส์ โดยผู้กระทำผิดมักจะนำสิ่งล่อใจมาชักชวนเด็กในการให้เดินออกจากบริเวณที่ เด็กอยู่ เพื่อตามผู้กระทำความผิดออกไป เช่น หลอกล่อว่ามีของเล่นอยู่ที่บ้านผู้กระทำผิด ถ้าเด็กอยากได้ให้ตามไปเอา เด็กมักหลงเชื่อเพราะอยากได้ของเล่น จากนั้นจะยอมเดินตามผู้กระทำความผิดไป โดยเสมือนหนึ่งญาติที่รู้จักกัน เพราะไม่มีการใช้กำลังบังคับ จึงทำให้บุคคลอื่นไม่สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ

นอกจากนี้สำหรับการลักพาตัวเด็กโต ผู้กระทำความผิดยังมีการใช้หลักจิตวิทยาให้เด็กเกรงกลัว เช่น การสวมรอยเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งมีกรณีหนึ่ง เด็กยอมเดินตามผู้กระทำผิดไปตามคำชักชวน เพราะคิดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบจริงๆ

ผู้กระทำความผิดทั้งหมดไม่มีรายใดเป็นรูปแบบขบวนการหรือกลุ่มแก๊ง การก่อเหตุมักกระทำโดยลำพังเพียงคนเดียว

ลักพาตัวเด็กไปทำอะไร?
ข้อมูลจากเด็ก 28 รายที่ได้ตัวคืนกลับมา สามารถวิเคราะห์การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ได้ ดังนี้
1.การนำตัวไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ กรณีนี้มีแนวโน้มสูงที่สุด โดยจะเกิดเฉพาะกับการลักพาตัวเด็กโตเท่านั้น โดยผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์การนี้มักเป็นผู้ชายอาจมีอาการผิดปกติทาง จิต หรือ ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก

2.การนำตัวไปเพื่อเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง เนื่องจากมีความรัก ผูกพัน หรือถูกชะตากับเด็ก

3.การนำเด็กแสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการนำเด็กนั่งขอทาน หรือ ขายดอกไม้ หรือขายสินค้าตามตลาดนัด ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิด ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ใหญ่โต แต่มักก่อเหตุโดยลำพังเพียงคนเดียว การบังคับให้เด็กไปขอทานหรือขายสินค้า ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของธุรกิจที่ต้องการนำเด็กมาหาประโยชน์แบบเป็นเรื่องเป็น ราว แต่มักจะให้เด็กไปขอทานหรือขายสินค้า เพื่อนำเงินที่ได้ใช้เป็นค่าอาหารและค่าเดินทางไปวันๆ เท่านั้น

4.มีการคาดการณ์ว่า อาจจะการนำเด็กไปขายให้กับชาวมาเลเชีย เชื้อสายจีนที่อยากมีบุตร เนื่องจากมีขบวนการซื้อขายเด็กทารกอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยจริง แต่การสืบสวนข้อเท็จจริงยังไม่สามารถแสวงหาคำตอบที่ชัดแจ้งจนถึงปลายทางได้
 

ก่อนจะมีเด็กถูกลักพาตัวคนต่อไป
ความเชื่อและข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็กไปตัดแขนตัดขา ควรจะได้รับการลบทิ้งไปจากผู้เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้น การทำงานเชิงป้องกัน และการสืบสวนติดตามเด็กถูกลักพาตัวจะมุ่งไปผิดทาง ในขณะที่หน่วยงานตำรวจที่ดูเหมือนจะต้องมีบทบาทในการสืบสวนปราบปรามเรื่อง นี้ ควรจะได้มีการถอดบทเรียน รวบรวมความรู้ กรณีศึกษา แผนประทุษกรรม และจัดระบบข้อมูลผู้กระทำความผิด เพื่อทำงานเชิงป้องกันและช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรัฐ จะต้องลุกมาเจ้าภาพในการตั้งศูนย์ติดตามคนหายแห่งชาติ และลบทิ้งวาทกรรม “แก๊งรถตู้จับเด็กไปตัดแขนตัดขาได้แล้ว...”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท