Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม
ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"

 

14 กุมภาพันธ์ 2554

เสียงขับร้องบทเพลงดังขึ้นในเวลาประมาณ 19.30 น. บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เบื้องหน้าเต็มไปด้วยหนุ่มสาวนักกิจกรรม นิสิต นักศึกษา ที่ยืนเป็นวงล้อมรอบเครื่องหมายแห่งสันติภาพ ซึ่งบรรจงสร้างขึ้นมาด้วยดอกกุหลาบนับร้อยดอกจากฝีมือชาวไทย ชาวต่างชาติและหนุ่มสาวและผู้สัญจรผ่านไปมาบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ในบรรยากาศแห่งวันวาเลนไทน์ "วันแห่งความรัก" โดยร่วมกันจัดขึ้นในนามกลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ

ในก่อนช่วงเวลาก่อนจะแยกย้าย เกิดไอเดียการร้องเพลงร่วมกันเพลงใดกันสักเพลงหนึ่ง เพื่อความรัก เพื่อสันติภาพเหนือเส้นสมมติแห่งเขตแดนไทย-กัมพูชา พวกเราจึงเลือกเพลง "เสียงจากคีตาญชลี"

ในวงการนักกิจกรรมทางสังคม นักกิจกรรมนักศึกษา หรือวงการ"เด็กค่าย" คงไม่มีใครคนไหนจะไม่รู้จักเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" จากวงคีตาญชลีเป็นแน่ เพราะเป็นเพลงที่เนื้อหาดี มีความหมายลึกซึ้ง และไพเราะเสนาะหู เป็นเพลงแนว"เพื่อชีวิต"ตามความหมายโดยแท้จริงของวรรณกรรมแห่งเสียงเพลง

ในการออกค่ายต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาก็มักจะหยิบยกมาร้อง มาเล่น มาสอนน้องๆ ให้ได้รู้จักเพลงนี้กันเสมอๆ


 

และเช่นกัน ในกิจกรรมต้านสงครามไทย-กัมพูชาที่จัดขึ้นครั้งนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันตกลงเลือกใช้เพลงที่มี"เนื้อหา"ต่อต้านสงคราม สร้างความรัก ความงดงาม โดยไม่แบ่งแยกถิ่นฐานอาศัย ที่ทุกคนสามารถร้องร่วมกันได้มากที่สุด

ลงที่เพลง "เสียงจากคีตาญชลี"
 

จากเนื้อหาแห่งการ"ไม่สนับสนุนสงคราม"อย่างจับใจ ในวรรคท่อนฮุกของเพลง

"...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"

 

ในราวปีพ.ศ. 2523-2524 อ๊อด สมศักดิ์ อิสมันยี และ ริน สุรินทร์ อิสมันยี สองสามีภรรยาชาวเพชรบุรี เดิมใช้ชื่อว่า วง"สายทิพย์" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ"วงคีตาญชลี"ซึ่งมีความหมายว่า "คารวะด้วยเสียงเพลง" ได้ออกอัลบั้มแรก ในชื่ออัลบั้ม เสียงจากคีตาญชลี และมีเพลงแรกของอัลบั้มชื่อเดียวกันนั่นเอง

สำหรับเพลง"เสียงจากคีตาญชลี"

เนื้อหาหลักๆ ของงานวรรณกรรมดนตรีชิ้นนี้ สื่อออกมาอย่างเรียบง่ายและสวยงาม ในทัศนะแห่งการ"ไม่อยากให้เกิดสงคราม"

"สงคราม" ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของชนชั้นปกครองไม่กี่คน "สงคราม" ซึ่งสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินให้กับชนชั้นรากหญ้ากรรมาชีพรวมถึง เหล่าทหารชั้นผู้น้อยแนวหน้าที่ถูกส่งไปรับใช้ใน"ศึกสงครามที่ไม่ได้ก่อ"

 

...จากวันนั้นจนถึงวันนี้ บทเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" ยังคงรักษาเจตนารมณ์แห่งอุดมการณ์ "ต่อต้านสงคราม" มาอย่างมั่นคงและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ทว่า.. หลังจากร้องเพลงจบ เพื่อนนักกิจกรรมรายหนึ่ง แจ้งว่า เมื่อวานนี้(วันที่13 ก.พ. 54) เจ้าของบทเพลงนี้(วงคีตาญชลี) เขาขึ้นร้องเพลง...บนเวทีพันธมิตรฯหน้าทำเนียบ...นะ

เหมือนอะไรบางอย่างมันแทรกตัวขึ้นจากท้องมาจุกอยู่ตรงคอ หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่าศิลปินกลุ่มนี้ สนับสนุนพันธมิตรฯ

...ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่พาคณะไปกัน 7 คน บุกข้ามเขตกัมพูชาไปหาหน่วยทหารฝั่งเขา ให้เขาจับ ? ยังไม่รวมประโยคยอดฮิตติดหูของส.ส.ประชาธิปัตย์ท่านหนึ่งที่เดินทางไปด้วย ว่า "กำลังจะข้ามไปเขมรแล้ว ห้ามบอกใครนะ เรื่องนี้นายกฯ รู้คนเดียว" จนในที่สุดก็ถูกจับทั้งคณะ เป็นเรื่องเป็นราวกันต่อมา

..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่ก่นด่า ยั่วยุนายกประเทศเพื่อนบ้าน จงเกลียดจงชัง หาประเด็นความคลั่งชาติมาปลุกปั่นให้เกิดข้อพิพาทอยู่ตลอดเวลา

..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่ถูกชาวบ้านในเขตชายแดน อ.กันทรลักษ์ขับไล่ไสส่งออกนอกพื้นที่เพราะทำให้พวกเขาต้องเดือดร้อน

..คนเหล่านี้มิใช่หรือ? ที่เรียกร้องแกมบังคับให้รัฐบาลและกองทัพไทย "ทำสงคราม" กับประเทศกัมพูชา

 

เมื่อก่อนเคยคิดมาเสมอว่า วงดนตรีต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ในช่วงยุคค้นหาของเหล่านักศึกษาและเสรีชน จะเกิดขึ้นเพื่อรับใช้อุดมการณ์เสรี อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียม

หลากหลายกวี บทประพันธ์ เนื้อหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเพลงยุคนั้นต่างถูกตั้งเป็นแนวทางแสวงหาอันใสซื่อบริสุทธิ์ของ หนุ่มสาวผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม หมายรวมถึงเนื้อหาของเพลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผลงานของวง"คีตาญชลี"ด้วย

เคยเชื่อมาเสมอว่าบทเพลงเหล่านั้นคือบทเพลงแห่งอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย บทเพลงเพื่อรับใช้ประชาชนผู้ถูกกดขี่ และเคยเชื่อมาเสมอว่าศิลปินที่แต่งเพลงเหล่านั้น มีหัวใจและอุดมการณ์เสรีเพื่อรับใช้ประชาชนผู้แสวงหาความเป็นธรรมจากระบบ ระบอบที่กดขี่

 

http://www.manager.co.th/vdo/defaultrun.aspx?NewsID=5540000020760

ในกลางดึกคืนวันที่ 13 ก.พ. 2554

ภาพและเสียงของวง "คีตาญชลี"  ปรากฎอยู่บนหน้าจอมอนิเตอร์ถ่ายทอดสดเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

      
                                              

เสียงประกาศของ สุรินทร์ อิสมันยี (ริน คีตาญชลี) ดังกึกก้อง "เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณวีระและคุณราตรี และทหารเพื่อนทหารหาญของเราที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ชายแดนนะคะ" (นาทีที่ 3.15)

หลังจากนั้นจึงเริ่มร้องบรรเลงเพลง..

"บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า..."

...คือบทเพลงพระราชนิพนธ์"เราสู้" ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของเพลงปลุกใจฝ่ายขวาที่ถูกนำมาใช้กับการต่อสู้การเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด

พร้อมจบด้วยถ้อยคำปราศัยสวยหรูหลังจบเพลง

ริน คีตาญชลี: ขอให้อย่าได้จัดฉาก อย่าได้สร้างภาพ ขอให้ความปลอดภัยมีแก่พี่น้องเราจริงๆ (นาทีที่7.29)

อ๊อด คีตาญชลี: มันแปลกอยู่อย่างนะครับ ไม่รู้ เราก็อยู่ในสถานการณ์นี้มานาน คนที่เคยดีๆ พอมาจวนตัวแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปทุกที (นาทีที่7.47)

จากงานเขียนของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับประวัติเพลงนี้และได้ตีพิมพ์ไว้ในบทความ

เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519
(http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.html)

มีอยู่ตอนหนึ่งว่า..

"เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” นี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระบายความในพระราชหฤทัยของ พระองค์ท่านที่ทรงได้รับการข่มขู่จาก “ภัยแดง” ที่มุ่งร้ายต่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศอยู่ในขณะนี้ ว่าจะล้มล้างพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่ก็มิได้ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทรงยืนยันที่จะประทับอยู่สู้ภัยร่วมกับประชาชนพสกนิกรของท่านจนพระองค์สุด ท้าย จะไม่ทอดทิ้งประชาชนไปจากผืนแผ่นดินไทยเป็นอันขาด"   สันติ ลุนเผ่ 30 มกราคม 2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม

และขอยกข้อความตอนท้ายของงานเขียนวิชาการชิ้นนี้ระบุว่า

"แน่นอนว่า การที่ “เราสู้” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ย่อมมีความหมายมากกว่าเพลงปลุกใจทั่วไป สำหรับ ดาวสยาม และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆ (กระทิงแดง, ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล) ทุกครั้งที่ได้ยิน, ร้อง หรือเพียงแต่นึกถึงเพลงนี้ในใจ ย่อมสามารถรู้สึกได้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นไม่เพียงแต่ถูกต้อง แต่เป็นพระราชประสงค์ – พระราชบัญชา – โดยตรง และแม้ในหลวงจะทรงมีพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดของเพลงมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2518 หรือกระทั่งทรง “ปรุ” กลอนที่เขียนจากพระราชดำรัสเป็น ส.ค.ส. ออกพระราชทานในวงจำกัด แต่การคงอยู่ในใจ, การพร้อมใช้ (ready-to-use) ของเพลงย่อมสูงกว่า – และด้วยเหตุนี้จึง “มีพลัง” กว่า – พระราชดำรัสร้อยแก้วหรือกลอนธรรมดามาก"    สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
 

เพลง"เราสู้" ยังคงถูกหยิบใช้ในโอกาสต่อๆ มาเป็นระยะในกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมและเหล่ารอยัลลิสต์ภายในประเทศ

และในครั้งนี้ก็ถูกหยิบยกกลับมาใช้อีกครั้งโดยวงดนตรีซึ่งครั้งหนึ่งผู้ เขียนเคยเชื่อว่าเขาต่อสู้บนอุดมการณ์"ฝ่ายซ้าย"ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตย ของประชาชน ในนามวง"คีตาญชลี" ซึ่งแปลว่า"คารวะด้วยเสียงเพลง"

...หากแต่วันนี้เสียงขับขานบทเพลง"เราสู้" คงมิใช่การคารวะกับประชาชนผู้ถูกกดขี่ การคารวะกับอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยใดๆ แล้วสิ้น

คงเหลือก็แต่ชื่อและเรื่องราวแห่งอุดมการณ์ในครั้งก่อนเก่า
สำเนียงเสียงจาก"คีตาญชลี" ฤๅเสียงดนตรีเลือกที่จะร้องขับขาน เลือกปลุกจิตเร้าใจกล่อมดวงวิญญาณ แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม ?
ละทิ้งจากแนวทาง"เพลงเพื่อชีวิตฝ่ายซ้าย" เข้าโอบกอด "เพลงปลุกใจฝ่ายขวา"

วันนี้ ณ เวทีพันธมิตรฯ วงดนตรีที่ชื่อ"คีตาญชลี" ร้องเพลงปลุกใจต่อเนื่องกันถึง 3 เพลง

ได้แก่

เพลง เราสู้ (นาทีที่ 3.15)

เพลง นักรบชายแดน (นาทีที่9.36)

และเพลงนกเขาเถื่อน 4(แต่งเนื้อร้องใหม่เพื่อการทวงคืนเขาพระวิหาร) (นาทีที่15.07)

คงไม่มีสิ่งใดที่จะสื่อออกมาได้ชัดเจนจากสามเพลงเหล่านี้ได้มากไปกว่าการ"สนับสนุนให้เกิดสงครามไทย-กัมพูชา"

 

...ขึ้นชื่อว่า"ซ้าย"ก่อนอื่นคุณต้องมองเห็นประชาชนทุกคน"เท่าเทียมกัน"

หากนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายจักประกาศเรียกร้องสงคราม คงมีเพียงแค่"สงครามชนชั้น"เพื่อปฏิวัติโค่นล้มอำนาจชนชั้นปกครองผู้กดขี่ สร้างเสรีให้เหล่าประชาชนชั้นกรรมาชีพ หาใช่การประกาศเรียกร้อง"สงครามชาติพันธุ์"ซึ่งเป็นเพียงความต้องการของผู้ มีอำนาจในชนชั้นปกครองแต่นำพามาซึ่งความหายนะของเหล่าชนชั้นกรรมาชีพทุกๆ ชาติพันธุ์

กิจกรรมต้านสงครามของกลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ ในวันวาเลนไทน์ปีนี้ บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เราเลือกหยิบยกเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" ขึ้นมาร้องเป็นเพลงปิดงานร่วมกัน

"...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"

 

ตัวผู้เขียนมั่นใจว่าเราเลือกหยิบยกเพลงต่อต้านสงคราม ที่ตรงตาม "เนื้อหา" และ "อุดมการณ์" แห่งบทประพันธ์ในเนื้อร้องของเพลง"เสียงจากคีตาญชลี" ขึ้นมาร้องนี้ เรายึดมั่นในอุดมการณ์แห่ง"ตัวบทเพลง"

หากแต่วันนี้เมื่อเวลาผ่านไป"เจ้าของบทเพลง"กลับมีการกระทำอันย้อนแย้งใน อุดมการณ์แห่งตนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยการร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งผลิตซ้ำแนวคิดชาตินิยม อนุรักษ์นิยม และเหยียดชาติพันธุ์อื่น เพื่อสนับสนุนความชอบธรรมในการ "ทำสงคราม" กับประเทศเพื่อนบ้านที่ชื่อ "กัมพูชา"

อุดมการณ์ล้านล้อมกล่อมบรรเลง
ตัวบทเพลงอยู่ยั้งยงคงไร้สี
ที่แปรผันหวั่นไหวเอียงเพียงนักกวี
คนดนตรีที่ประพันธ์นั้นตามกาล

สำเนียง..เสียงจาก คี ตาญชลี
ฤๅเสียงดนตรี เลือกที่..จะ ร้องขับขาน
เลือกปลุกจิต เร้าใจ..กล่อม ดวงวิญญาณ
แด่ชุมชนมัฆวาน..ผู้ กระหายสงคราม ?

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบประวัติเพลง"เราสู้"จากเว็บงานวิชาการของอ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519
http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.html
ขอขอบคุณพี่เทวฤทธิ์ มณีฉาย กับข้อมูลจากการมอนิเตอร์เวทีพันธมิตรฯ
และขอขอบคุณผู้ร่วมกิจกรรม MAKE LOVE NO WAR และรูปเพิ่มเติมจากมิตรสหายในเฟซบุ๊กครับ

 


000000000

ชื่อบทความเดิม: สำเนียงเสียงจาก"คีตาญชลี" ฤๅเสียงดนตรีเลือกที่จะร้องขับขาน เลือกปลุกจิตเร้าใจกล่อมดวงวิญญาณ แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net