Skip to main content
sharethis

ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินทำกินอยู่อาศัย-คนจน ชุมนุมต่อเนื่องวันที่ 3 จัดเวทีการศึกษาบทบาท อ.อ.ป. ย้ำควรยุบแล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้ชาวบ้านทำกิน ด้านเพิ่มศักดิ์ชี้ยุบ อ.อ.ป.ให้ที่ดินไปอยู่ในมือกรมป่าไม้ ต้องไปติดหล่มการพิสูจน์สิทธิ์ แนะข้อเสนอต้องไปให้พ้นกฎหมายป่าไม้ 

 
 
สืบเนื่องจากการการชุมนุมต่อเนื่องของกลุ่มชาวบ้านกว่า 5,000 คน ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P Move ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คป.สม.) ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา
 
 
 
วันนี้ (18 ก.พ.54) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จัดเสวนา “บทบาทองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กับบริบทสังคมไทยปัจจุบัน” โดยมี ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการด้านนิเวศวิทยา หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเสนอความคิดเห็น รวมทั้งมีการนำเสนอบทเรียนการต่อสู้จากในพื้นที่ โดยตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีข้อพิพาทกับ อ.อ.ป.ในกรณีสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีสวนป่าหนองเยาะ จ.สุรินทร์ และกรณีสวนป่าพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
 
นางอรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าวถึงการจัดเวทีครั้งนี้ว่า นอกจากเป็นการให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องในที่ชุมนุม ยังมีความต้องการที่จะสื่อสารให้สังคมรู้ว่าบทบาทของ อ.อ.ป.ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากไม่สามารถทำเงินรายได้ให้แก่ประเทศชาติ และต้องใช้เงินปีละถึง 1,200 ล้านบาทในการโอบอุ้ม อ.อ.ป.ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำ กิน ดังนั้นจึงสมควรที่สังคมจะรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ ส่วน อ.อ.ป.ก็ไม่ควรมีอยู่อีกต่อไป
 
นางอรนุช กล่าวต่อมาถึงข้อมูลของสำนักงานวิจัย พัฒนา และสารสนเทศ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ระบุว่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีพื้นที่สวนป่าทั่วประเทศในความดูแลทั้งสิ้น 1.1 ล้านไร่ 124 สวนป่า ตรงนี้หากมีการยกเลิกทั้งหมด จะมีที่ดินสำหรับ นำมาจัดสรรให้ประชาชนได้ทำอยู่ทำกิน ซึ่งในส่วนข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินสวนป่าของชาวบ้าน ก็คือการให้ยุบ อ.อ.ป.และคืนที่ดินให้กรมป่าไม้ เพื่อที่ให้ชาวบ้านเข้าไปจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปโฉนดชุมชน
 
ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการให้ยุบ อ.อ.ป.ว่า อาจไม่มีผลอะไรกับพี่น้องชาวบ้านผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เพราะการโอนไปให้กรมป่าไม้ดูแลพื้นที่ ชาวบ้านอาจมีปัญหาการขอเข้าไปจัดการพื้นที่ไม่ต่างกัน เนื่องจากในส่วนของกรมป่าไม้ก็มีปัญหาในเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดิน ตามมติ ครม.30 มิ.ย.41 ซึ่งในส่วนนี้เสนอว่าควรหาแนวทางที่จะหลุดพ้นจากกฎหมายของกรมป่าไม้ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเจอกับปัญหานี้มานาน ดังนั้นการมีข้อเสนอก็ควรให้พ้นจากปัญหานี้ด้วยในคราวเดียว โดยหาก อ.อ.ป.ยุติบทบาทลง การจัดการที่ดินจะแบ่งเป็น 2 เงื่อนไข คือ หากเป็นที่ดินที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตพื้นที่ก็ให้มีสิทธิในการจัดการ พื้นที่ได้เลย ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่สามารถระบุได้ก็ให้ดำเนินการออกโฉนดชุมชนรองรับการใช้ ประโยชน์ในพื้นที่
 
“ในขณะนี้การออกโฉนดชุมชนโดยรัฐบาลนั้นเลี่ยงพื้นที่ในเขตป่า ซึ่งหากข้อเสนอของชาวบ้านไม่หลุดพ้นจากกรอบกฎหมายป่าไม้ ชาวบ้านก็ต้องต่อสู้กันต่อไปอีกเรื่อยๆ” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว
 
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อมาในส่วนข้อเสนอว่า ที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการขีดเส้นเขตป่าในอดีตไม่ชอบ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งชาวบ้านควรมาร่วมกันวางแผนการใช้ที่ดินใหม่ และออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีอำนาจเหนือกฎหมายป่าสงวน เพราะในส่วนข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่นั้น ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภานั้น ซึ่งใช้เวลานานและอาจไม่ได้ผลตามความต้องการของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันแต่ละกระทรวงต่างพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นในส่วนภาคประชาชนจึงควรต้องมีข้อเสนอให้มีการพูดคุยร่วมกัน และผลักดันให้มีการข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการ จัดการที่ดิน     
 
ส่วนนางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็นในเวทีเสวนาว่า การเรียกร้องให้แก้ปัญหาของสวนป่าเป็นการแก้ไขปัญหาของทุกคน และจากรายงานของคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ก่อนหน้านี้ สามารถสรุปปัญหาได้ 2 เรื่อง คือ 1.การจัดทำโครงการใดๆ ไม่มีการฟังเสียงของประชาชน 2.เมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องแล้วปัญหามักไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งตรงนี้หากไม่มีการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน ก็จะทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องได้อีกเรื่อยๆ
 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. นายพงศ์โพยม วาศภูติ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูป ได้เดินมาเยี่ยมกลุ่มผู้ชุมนุม และขึ้นเวทีพูดคุยเพื่อถ่ายถอดข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปที่มีต่อรัฐบาล จำนวน 6 ข้อ ในเรื่องการจำกัดขนาดการถือครองที่ดิน 50 ไร่ การจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินให้เป็นข้อมูลสาธารณะ การระงับการจับกุมดำเนินคดีกับคนจนในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและที่ดินเอกชน จากนั้น ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้ยื่นข้อเรียกร้องที่จัดทำให้ รัฐบาล ยื่นให้ตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูป
 
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมสอดคล้องกับแนว ทางของคณะกรรมการปฏิรูปที่ได้จัดทำข้อเสนอต่อสังคมโดยรวมไว้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาจะไปหวังความสำเร็จโดยมุ่งที่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ ได้ แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่โดยพี่น้องต้องร่วมกันในการแก้ ปัญหาด้วย หลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้น อยากให้ชาวบ้านนำข้อเสนอที่มีทั้งของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และคณะกรรมการปฏิรูปกลับไปศึกษาต่อ เพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ต่อไป
 
 
ส่วนกิจกรรมช่วงค่ำของวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมทำพิธีวัน “มาฆบูชา” โดยมีการจุดเทียน สวดมนต์ และกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ต่อหน้าพระพุทธรูปที่อัญเชิญมา ทั้งนี้ เพื่ออำนวยพรให้การต่อสู้ของพี่น้องบรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ จากนั้นเป็นการแสดงทางวัฒนธรรม โดยพี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ทำการแสดงกลอนมโนราห์ “คดีโลกร้อน” พี่น้องจากกรณีสวนป่า อ.อ.ป.และสวนป่ายูคาฯ ทำการแสดงหมอลำพื้นบ้าน ต่อด้วยการแสดงดนตรีโดยเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยการนำของวสันต์ สิทธิเขตและคณะ
 
ทั้งนี้ เมื่อเย็นวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมาผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้เดินทางเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภาเพื่อเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งประกอบด้วย กรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติในคณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องสั่งการโดยทันที 22 กรณีปัญหา และปัญหาที่ต้องนำเข้าพิจารณาเพื่อลงมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 6 กรณี ประกอบด้วย กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน, กรณีสวนป่าคอนสาร ชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ, กรณีบ้านห้วยหวาย จ.เพชรบูรณ์, กรณีปากห้วยโป่ง จ.ชัยภูมิ, กรณีคนไร้บ้าน และกรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานีโดยการเจรจามีข้อสรุปว่า กรณีที่รัฐบาลรับปากจะผลักดันเข้าสู่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ก.พ.2554 มี 3 กรณี คือ กรณีจัดตั้งกองทุนที่ดินจำนวน 167 ล้านบาท, โครงการบ้านมั่นคงแก่คนไร้บ้าน จำนวน 52 ล้านบาท และการเปิดเขื่อนปากมูล 5 ปี พร้อมเงินชดเชยแก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 600 ล้านบาท
 
 
ผลตอบการเจรจาดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้ให้กับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมบางกลุ่ม และได้มีการเขียนป้ายผ้าระบายความรู้สึก นอกจากนั้นในส่วน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมก็ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 “หากรัฐบาลยังมีอำนาจ ต้องแสดงศักยภาพ ดำเนินการแก้ไขปัญหาคนจน” ระบุเนื้อหาดังนี้
 
 
 
 
 
แถลงการณ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฉบับที่ 4
“หากรัฐบาลยังมีอำนาจ ต้องแสดงศักยภาพ ดำเนินการแก้ไขปัญหาคนจน”
 
16.00 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ผู้แทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 56 คน ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามกรอบหลักการ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ยื่นต่อทางรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย กรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติในคณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องสั่งการโดยทันที 22 กรณีปัญหา และปัญหาที่ต้องนำเข้าพิจารณาเพื่อมีความเห็นในคณะรัฐมนตรีจำนวน 6 กรณี
 
หลังการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า “ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน” ผลการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมเป็นไปอย่างไม่น่าพอใจ มีเพียงบางกรณีปัญหาเท่านั้นที่รัฐบาลรับปากจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะ รัฐมนตรี วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 อาทิเช่น กองทุนแก้ปัญหาที่ดินใน จ.เชียงใหม่และ จ.ลำพูน จำนวน 167 ล้าน , โครงการบ้านมั่นคงคนไร้บ้าน จำนวน 52 ล้าน,  และการเปิดเขื่อนปากมูนถาวร แต่ทั้งนี้ไม่รับปากว่าจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว ผลการเจรจาส่วนใหญ่ยังไม่มีความคืบหน้า และชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ เป็นเพียงการรับปากในที่ประชุมของรัฐบาลว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอ แต่ก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะดำเนินการไปตามที่ได้รับปากไว้ เนื่องด้วยไม่มีหลักประกันใดๆ ที่เป็นข้อยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามนั้น
 
เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาของคนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันประเด็นเร่งด่วนเข้า ครม. เพื่อขอมติในวันอังคารที่จะถึงนี้ รวมถึงประเด็นปัญหาอื่น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะเฝ้าติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
 
ด้วยความรักและสมานฉันท์ในหมู่พี่น้องคนจน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
18 กุมภาพันธ์ 2554
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net