Skip to main content
sharethis
“คนที่มาตายตรงนี้ เป็นเหมือนกับพี่น้อง พี่ก็เลยไม่อยากให้ลืมพวกเขา อย่างน้อยก็อยากให้นึกถึงตรงนี้บ้าง ตรงนี้มีคนตาย ไม่ใช่เฉพาะที่ราชประสงค์และผ่านฟ้า” หนึ่งเสียงบอกเล่าจากคนเสื้อแดงในชุมชนบ่อนไก่
 
 
หลังจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” และ “ราชประสงค์” ได้กลายเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ในการต่อสู้และรำลึกเหตุการณ์ของ “คนเสื้อแดง” นับตั้งแต่การจัดกิจกรรมเล็กๆ โดยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและนักกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งการกลับมามีบทบาทในการเคลื่อนไหวอีกครั้งของ นปช.ก็มีการนัดหมายชุมนุมใหญ่เดือนละ 2 ครั้ง โดยอัตโนมัติ ในวันหยุดที่ใกล้เคียงกับวันที่ 10 และ 19 ของทุกเดือน โดยใช้พื้นที่ดังกล่าว
 
แต่อย่างที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า หลังวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เมื่อทหารได้เข้ากระชับพื้นที่-ปิดล้อมราชประสงค์ พื้นที่ของการต่อสู้และความรุนแรงได้กระจายออกไป ความตายและความเจ็บปวดจาก “ของแข็งความเร็วสูง” เกิดขึ้นกับประชาชนและพี่น้องเสื้อแดงที่พยายาม “ช่วยพี่น้องที่ราชประสงค์” ด้วยวิธีการต่างๆ ในบริเวณรอบนอก พื้นที่ที่สำคัญคือ บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง-ราชปรารภ-มักกะสัน และบริเวณบ่อนไก่-พระราม 4 กินเวลายาวนานถึง 6 วัน
 
มีพลเรือนที่เสียชีวิตในช่วงนี้ทั้งหมด 57 คน โดย 15 คน เสียชีวิตจากกระสุนสังหารที่บ่อนไก่-พระราม 4 และ 4 คน เป็นสมาชิกของชุมชนแห่งนี้ (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง) ไม่นับรวมผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อของพวกเขา
 
“แดงบ่อนไก่”- นปช.เขตปทุมวัน แขวงลุมพินี
 
พี่รัก เสาวรักษ์ บุญญะ แม่บ้านวัย 43 ปี เลขานุการของคณะกรรมการ นปช.เขตปทุมวัน แขวงลุมพินี หรือกันสั้นๆ ว่า “แดงบ่อนไก่” เล่าให้ฟังถึงความคิดของเธอในการพยายามจัดกิจกรรมรำลึกและทำบุญอุทิศส่วน กุศลให้กับผู้เสียชีวิตว่า “เราไม่อยากให้ลืม”
 
เมื่อมีการพูดถึงความรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงราชประสงค์เป็นหลักจึง “อยากให้ทุกคนรู้ว่าที่บ่อนไก่นี้เป็นสมรภูมินะ ตอนนี้คนลืมกันไปหมด ไปที่ไหนใครก็ไม่มีใครพูดถึงบ่อนไก่ ในความรู้สึกพี่ กูลุยของกู ไม่มีใครพูดถึงเลย ทั้งที่พื้นที่นี้มีคนตายเยอะมาก” และรู้สึกว่า “คนที่มาตายตรงนี้ เป็นเหมือนกับพี่น้อง พี่ก็เลยไม่อยากให้ลืมพวกเขา อย่างน้อยก็อยากให้นึกถึงตรงนี้บ้าง ตรงนี้มีคนตาย ไม่ใช่เฉพาะที่ราชประสงค์และผ่านฟ้า”
 
พี่รักเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในชุมชนก่อนการมีกลุ่มว่า “เมื่อก่อนเวลาเลิกงาน เราก็จะแต่งตัวออกไปชุมนุม แต่ต่างคนต่างไป ไม่ได้คุยกัน ไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่ไปชุมนุม เวลาอยู่ในชุมชนเราก็จะทำตัวเฉยๆ ไม่ได้แสดงออกให้คนอื่นรู้หรือพูดคุยกันเรื่องการเมือง แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว”
 
การรวมกลุ่มของคนเสื้อแดงที่นี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลังสงกรานต์เลือดปี 2552 เมื่อพี่แอ็ด ทรงรัก นิตยาชิต (ประธานกลุ่มในปัจจุบัน) เข้าร่วมอบรมโรงเรียน นปช.รุ่นที่ 1 และได้แนวคิดมาทำงานกับคนในชุมชน พยายามทำให้เกิดกลุ่มย่อยๆขึ้นมา และรวมเป็นกลุ่มใหญ่ ต่อมาได้มีการจัดตั้งกรรมการที่มาจากกลุ่มย่อยๆ ขึ้น เช่น กลุ่มแฟลตตำรวจลุมพินี กลุ่มชุมชนบ่อนไก่ กลุ่มปลูกจิต กลุ่มแฟลตเคหะชุมชนบ่อนไก่ กลุ่มพระเจน เป็นต้น
 
พี่แอ็ดบอกว่า หลังจากมีการรวมกลุ่ม จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น “คนที่ไม่กล้า ก็กล้าเปิดเผย”
 
อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แล้ว “แดงบ่อนไก่” ยังเล็กมาก ดังนั้น ในอนาคตสำหรับกลุ่ม งานหลักที่สำคัญคือ “การดึงศัตรูมาเป็นมิตร ทำให้มิตรมาเป็นแนวร่วม” และ “ทำให้เกิดกลุ่มเสื้อแดงกลุ่มย่อยๆ ให้เกิดขึ้นตามชุมชนต่างๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น” ซึ่งงานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายเนื่องจากในเขตปทุมวัน “เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์”
 
 
การจัดกิจกรรมรำลึก-ทำบุญบายศรีสู่ขวัญ
 
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พวกเขาได้มีการประชุมร่วมกันและมีมติให้จัดงานรำลึก-ทำบุญบายศรีสู่ขวัญขึ้น ในวันที่ 6 มีนาคม 2554 นี้ โดยมีพี่น้องชาวบ่อนไก่-คลองเตย เป็นเจ้าภาพ และประสานงานเชิญชวนคนเสื้อแดงในที่อื่นๆ เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ (รายละเอียดกิจกรรมจะแจ้งให้ทราบในตอนต่อๆไป)
 
ก่อนหน้านี้ “แดงบ่อนไก่” ได้พยายามจัดกิจกรรมเล็กๆ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ขึ้น 2 ครั้ง โดยการรวมเงินกันซื้อลูกโป่งสีแดงมาปล่อยที่สะพานลอยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ นักเพราะมีคนมาร่วมน้อย
 
สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ แม้ว่าจะดูออกธรรมดา แต่ดูเหมือนว่าจะมีสำคัญและพิเศษสำหรับพวกเขามาก
 
พี่แอ็ด บอกว่า “เพราะพื้นที่ที่บ่อนไก่นี้ เป็นพื้นที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” โดยในระหว่างวิกฤตที่ถูกปิดล้อม “พวกเราก็ต้องมายันไว้ เพราะเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในการสัญจร คือ เดินทางเข้าไปในราชประสงค์ หรือเดินทางออก รวมทั้งการลำเลียงเสบียงอาหารเพื่อสนับสนุนพี่น้องที่ยังคงอยู่ด้านใน”
 
พี่แอ็ด เล่าด้วยว่า คนที่มีประสบการณ์ที่บ่อนไก่นี้ ไม่ใช่เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น แต่รวมถึงคนอื่นๆ ที่เข้ามาอยู่ มีส่วนร่วมในช่วงนั้นด้วย จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องเสื้อแดงให้มารวมตัวกัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่มาเสียชีวิตที่นี่ บายศรีสู่ขวัญให้กับพี่น้องของเราผู้บาดเจ็บ และทำบุญร่วมกันของพี่น้องในชุมชนเพื่อฟื้นฟูจิตใจ และตั้งใจว่าถ้ามีเงินเหลือจากการจัดงาน เราก็นำส่วนหนึ่งไปให้ญาติผู้เสียชีวิต คนเจ็บ แต่ไม่รู้ว่าจะได้มาสักเท่าไหร่
 
นอกจากนั้น เขายังอยากให้จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้น และมีกิจกรรมในลักษณะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นที่เกิดเหตุในลักษณะเดียวกัน เช่น ราชปรารภ รางน้ำ ดินแดง โดยคนในพื้นที่ และประสานงานกันเองของกลุ่มย่อยต่างๆ “พวกเราก็ทำได้โดยไม่ต้องรอส่วนกลางหรือคณะกรรมการแกนนำเป็นคนทำอย่างเดียว”
 
ในการเตรียมการจัดงานครั้งนี้ มีพี่น้องที่ปรารถนาดี อยากเข้ามาช่วยเหลือบางส่วนเสนอให้จัดงานให้ยิ่งใหญ่ในทางรูปแบบและระดมคน เข้าร่วมให้ได้มากสมกับเป็นคนเสื้อแดง รวมทั้งเสนอจะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ แม้ว่าลึกๆ แล้ว พวกเขาต้องการที่จะให้มีคนเข้าร่วมมาก แต่ลุงสม เปลี่ยนเสน่ห์ ที่ปรึกษากลุ่ม ก็อธิบายโต้แย้งว่า “กลุ่มเราเล็ก ประมาณตน เราเริ่มจากศูนย์” จึงต้องการที่จะสร้างการระดมจากภายในมากกว่าที่จะหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า หรือจัดงานที่ใหญ่เกินตัว ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจะทำให้เกิดปัญหาในภายหลังได้
 
ลุงสม แลกเปลี่ยนด้วยว่า ในการจัดงานในชุมชนต้องมีความระมัดระวังเพราะ “การทำงาน เราอยู่ในนี้ท่ามกลางประชาธิปัตย์ สีเหลือง การจัดงานครั้งนี้ของเราก็เพื่อที่จะให้เขารู้จักแดงบ่อนไก่ที่สามัคคีและ ซาบซึ้งถึงวีรชนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผู้ได้รับเคราะห์กรรมทั้งหลาย.. เพราะว่านี้เป็นการจัดงานครั้งแรกของพวกเรา เพื่อความมั่นใจว่าแดงบ่อนไก่ เรารวมตัวกันอย่างมีศักยภาพ”
 
ส่วนการหางบประมาณในการจัดงาน พวกเขาใช้การระดมทุนในรูปแบบของ “ผ้าป่า” ซึ่งจัดเป็นกองๆ กระจายออกไปตามกลุ่มย่อยต่างๆ โดยในแต่ละกอง จะมีประธานจ่าย 1,000 บาท รองประธานจ่าย 500 กรรมการจ่ายคนละ 100 และประสานงานกับพี่น้องเสื้อแดงในพื้นที่อื่นด้วย เพื่อช่วยกันระดมผ้าป่าและเป็นเจ้าภาพ อย่างเช่น แดงยานนาวา แดงนนทบุรี แดงบางคอแหลม ชลบุรี เป็นต้น
 
ลุงเฉลิม กิจสุวรรณ ผู้อาวุโส ที่ปรึกษากลุ่มอีกคน อธิบายให้ฟังว่า รูปแบบการระดมทุนในลักษณะผ้าป่านี้ ยังช่วยให้การระดมทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส่ คือ ทุกคนที่ไประดมเงินมาจะต้องเอามาเข้าส่วนกลางทั้งหมด ไม่อย่างนั้นคนที่ให้เงินมาจะรู้ เพราะในวันงานเขาจะติดประกาศรายชื่อของผ้าป่าแต่ละกองว่ามีใครบ้างได้เงินมา เท่าไหร่ ตามแบบฟอร์มที่จัดทำขึ้น และจะมีการจัดตั้งกรรมการกลางขึ้นมาดูแลร่วมกันหลายคนเพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรณีอื่นๆ
 
(หมายเหตุ รายงาน “รำลึกบ่อนไก่-พระราม 4” พยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ “บ่อนไก่-พระราม 4” โดยจะทยอยเผยแพร่ผ่านประชาไทเป็นตอนๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึกที่จะจัดขึ้น)
 
 
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตบริเวณบ่อนไก่-พระราม 4
(มาจากการรวบรวมจากสื่อต่างๆ ซึ่งอาจจะยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์และบางคนยังไม่สามารถจุดที่แน่ชัดได้)
 
13 พฤษภาคม 2553
1 (22.00) ชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี จ.สุรินทร์ ขับรถแท็กซี่ ในกรุงเทพฯ ถูกยิงเข้าศีรษะ
 
2 (14.00) นายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ชาวชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าช่องท้อง
3 (14.30) นายอินแปลง เทศวงศ์ อายุ 34 ปี จ.อุบลราชธานี ขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ถูกยิงเข้าหน้าอก
4 (18.00) นายเสน่ห์ นิลเหลือง อายุ 48 ปี ขับรถแท็กซี่ อาศัยอยู่ในแฟลตตำรวจลุมพินี ถูกยิงเข้าหน้าอก
 
15 พฤษภาคม 2553
5 (17.00) นายมานะ แสนประเสริฐ อายุ 21 ปี ชาวชุมชนบ่อนไก่ อาสาสมัครปอเต็กตึ๊ง ถูกยิงที่ศีรษะ
6 (18.00) นายวารินทร์ วงศ์สนิท อายุ 28 ปี จ.สมุทรปราการ ถูกยิงเข้าด้านหลังทะลุหัวใจ
7 (19.45) นายพรสวรรค์ นาคะไชย อายุ 23 ปี จ. ร้อยเอ็ด พนักงานโรงแรมย่านสุขุมวิท ถูกยิงเข้าช่องท้อง
8 (24.00) นายวงศกร แปลงศรี อายุ 41 ปี จ.ศรีสะเกษ ถูกยิงเข้าหน้าอก (สถานที่ไม่ระบุ)
 
16 พฤษภาคม 2553
9 (9.30) นายสมชาย พระสุวรรณ อายุ 43 ปี จ.ยโสธร ถูกยิงเข้าศีรษะ  
10 (15.00) นายวุฒิชัย วราห์คำ อายุ 21 จ.อำนาจเจริญ ช่างซ่อมรถยนต์ในกรุงเทพฯ ถูกยิงเข้าด้านหลังทะลุเข้าช่องท้อง (สถานที่ไม่ระบุ)
11 (15.30) นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล อายุ 25 ปี จ.สมุทรปราการ ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ถูกยิงใต้ราวนม
12 (15.18) นายประจวบ ประจวบสุข อายุ 42 ปี จ.สุรินทร์ ทำงานรับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ ถูกยิงเข้าหน้าอก
13 (19.00 น) นายเฉลียว ดีรื่นรมย์ อายุ 28 ปี จ.บุรีรัมย์ พนักงานขับรถยนต์บริษัทเอกชน ในกรุงเทพฯ ถูกยิงใต้ราวนม
14 (19.00) นายสมัย ทัดแก้ว อายุ 35 ปี จ.ศรีสะเกษ ทำงานเป็น รปภ. อาศัยอยู่ในชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าด้านหลัง
15 (10.30) นายสุพรรณ ทุมทองอายุ 49 ปี จ.ศรีสะเกษ ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net