Skip to main content
sharethis

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา หมายถึง กระบวนการนับตั้งแต่มีการกระทำความผิดอาญา เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยผ่านขั้นตอนการหาตัวผู้ต้องหา ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ การฟ้องร้อง การพิจารณาชั้นศาล ตลอดจนการลงโทษตามคำพิพากษา เช่น ปรับ จำคุก เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยประสบปัญหาอยู่ หลายประการด้วยกัน อาทิ การดำเนินคดีล่าช้า เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติไม่ชอบธรรม มีคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากเกินควร อีกทั้งระบบกลั่นกรองเพื่อนำคดีมาฟ้องมีปัญหา

จากการศึกษาเรื่อง “ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” จัดทำโดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ อิสร์กุล อุณหเกตุ และทรงพล สงวนจิตร คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ประเทศไทยใช้ทรัพยากรในระบบยุติธรรมสูง โดยใช้งบประมาณตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ สูงกว่าประเทศส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 1.26 ของ GDP (ราคาผลผลิตทั้งหมดของประเทศ)

ประเทศไทยใช้บุคลากรในระบบยุติธรรมค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประชากรหนึ่งแสนคน จะมีบุคลากรในระบบยุติธรรมถึง 400 คน ซึ่งมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน

ในงานศึกษายังพบว่า มีคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลกว่าหนึ่งแสนคดี มีนักโทษมากกว่าจำนวนที่เรือนจำรองรับได้ถึงร้อยละ 70 โดยประเทศไทยมีอัตราส่วนนักโทษ 339 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งสูงเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว

จากการสุ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคดีต่างๆ 8 ฐานความผิดที่สำคัญ 400 คดี รวมถึงคำตัดสินของศาลฎีกา พบว่า ต้นทุนโดยเฉลี่ยที่ต้องใช้ต่อคดี ในชั้นตำรวจจะมีต้นทุนสูงถึง 15,798 บาท ชั้นอัยการมีต้นทุน 8,325 บาท แต่เมื่อถึงขั้นตอนการลงโทษจำคุกจะมีต้นทุนสูงถึง 55,704 บาท ส่วนการคุมประพฤติใช้ต้นทุนอยู่ที่ 9,573 บาท

และแนวทางการตัดสินคดีของศาลชั้นต้น มีแนวโน้มลงโทษจำคุกมากกว่าการปรับ โดยคดีที่ลงโทษจำคุกทุกคดีคือ เรื่องความผิดเกี่ยวกับเช็ค รองลงมาคือ ลักทรัพย์ ร้อยละ 73.3 ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 51.9

ค่าใช้จ่ายที่สูง เมื่อเทียบกับผลที่ได้เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาประสิทธิภาพของกระบวนการ ยุติธรรมทางอาญาไทย ที่อาจกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้

 
โทษจำคุกรัฐมีต้นทุนสูง โทษปรับต้นทุนถูกกว่า

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงต้นทุนของการดำเนินคดีทางอาญาในแต่ละประเภทว่า การลงโทษจำคุก ต้นทุนคือ รัฐต้องจัดการคุก ต้องมีราชทัณฑ์ พัศดี ค่าอาหารนักโทษ และนักโทษผู้นั้นจะถูกกันจากตลาดแรงงาน รวมถึงในอนาคตก็จะถูกกีดกันเพราะถูกตีหน้าว่าเป็นคนขี้คุก เมื่อตลาดแรงงานไม่รับเข้าทำงาน อาจทำให้หันมากระทำความผิดอีก

ในส่วนโทษการปรับนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า เป็นเพียงการโยกเงินจากจำเลย โอนเข้าสู่รัฐบาล การปรับมีต้นทุนการบริหารจัดการ การจัดเก็บค่าปรับต่ำกว่า ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพผู้ถูกปรับ และถ้ามีการปรับที่เหมาะสมก็สามารถป้องปรามการกระทำความผิดได้

นอกจากนี้ นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการกำหนดโทษปรับของเราต่ำกว่าความเหมาะสมมาก ซึ่งไม่ได้ปรับขึ้นตามเวลาผ่านไปที่ค่าครองชีพสูงขึ้น กฎหมายออกมาเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ถึงปัจจุบันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้คู่กรณีเห็นว่าโทษปรับไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่ตามมาคือ ต้องนำโทษจำคุกเข้ามาดำเนินการกับผู้กระทำความผิดทั้งที่การกระทำบางอย่าง สามารถลงโทษปรับเพื่อให้หลาบจำได้

ส่วนการลงโทษให้บริการสังคมนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ใช้แต่ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งการบริการสังคมมีต้นทุนสูงแต่ไม่เท่าจำคุก เพราะต้องมีหน่วยงานรัฐดูแล แต่มีงานเกิดขึ้นเป็นมูลค่าแก่สังคม

 

 

เสนอทางเลือกการปฏิรูปกฎหมาย
ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ได้เสนอทางเลือกในการปฏิรูปกฎหมาย ไว้ 5 ทาง คือ หนึ่ง ทบทวนกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ซึ่งบังคับใช้อยู่ทั้งสิ้น 350 ฉบับ ว่าฉบับใดไม่จำเป็นต้องมีโทษทางอาญาก็ให้ยกเลิก รวมถึงทบทวนว่าความผิดที่เป็นส่วนตัว เช่น การหมิ่นประมาท การใช้เช็ค หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบางอย่าง ควรมีโทษอาญาหรือไม่

สอง เพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพสังคม ให้สอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และวางกลไกในการเพิ่มโทษปรับโดยอัตโนมัติตามภาวะเงินเฟ้อ

สาม ควรเพิ่มทางเลือกในการลงโทษ เช่น การใช้มาตรการปกครอง โดยหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเรื่องนั้นๆ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคม พิจารณาการใช้โทษ “ประจาน” ทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่หมดไปกับการใช้โทษจำคุก

สี่ ควรลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล เช่น ใช้การไกล่เกลี่ย ให้อัยการมีบทบาทกลั่นกรองคดีก่อนขึ้นสู่ศาล

และ ห้า ต้องเพิ่มแรงจูงใจในการฟ้องคดีแพ่ง โดยปรับปรุงการคิดค่าเสียหายให้ครอบคลุมกับความเสียหายที่แท้จริง เช่น ค่าเสียหายทางจิตใจ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกให้ผู้เสียหายไม่ต้องมาฟ้องคดีอาญาได้

หากทำสำเร็จ สามารถลดต้นทุนของรัฐได้ถึง 1,867 ล้านบาท จำนวนนักโทษจะลดลง 8,586 คน และสามารถทำงานมีรายได้ถึง 465 ล้านบาทต่อปี
 

 

ตัวแทนวิชาชีพเห็นพ้อง ส่งเสริมกระบวนการทางแพ่ง ยกเลิกโทษอาญา
หลังการนำเสนอผลการวิจัย มีเวทีอภิปรายในหัวข้อ “ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” โดยตัวแทนจากสาขาวิชาชีพต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม

 

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า อาชญากรรมเป็นภาวะปกติของสังคม สังคมใดปราศจากอาชญากรรม ย่อมเป็นสังคมในฝัน แต่หากมากเกินไปก็ไม่ดี ฉะนั้น อาชญากรรมจะต้องมีไม่มากและไม่น้อยเกินไป ทางเลือกคือ ควรใช้วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมมากกว่า ซึ่งปัจจุบันรัฐยังเอางบประมาณมาใช้ในการป้องกันเช่นนี้น้อยอยู่

พ.ต.อ.ทวี เสนอด้วยว่า ควรมีทางเลือกที่เอางานทั้งหลายให้เอกชนทำ เช่น องค์การทหารผ่านศึกมียามทั่วประเทศดูแลหมู่บ้านซึ่งอาจดีกว่าตำรวจ พนักงานสอบสวนต้องไม่ควรหวงอำนาจไว้ที่เดียว

ด้านนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายที่มีโทษอาญา เพราะปัจจุบันกฎหมายไทยมีโทษอาญาเต็มไปหมด เกิดจากการสร้างกฎหมาย ตรากฎหมาย แก้ไขกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่ต้องการอำนาจ โดยผลักภาระให้กับประชาชนทั้งหมด ประชาชนต้องทำตาม มิฉะนั้นติดคุก จะประกอบอาชีพก็ถูกจำกัดเรื่องใบอนุญาต มีการเก็บค่าธรรมเนียมราคาแพง

นายสักยังกล่าวด้วยว่า มีบางเรื่อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า ทางองค์การการค้าโลก (WTO) บอกว่าเป็นความรับผิดทางแพ่ง แต่ไทยเรากลับเป็นโทษทางอาญาเสียหมด ทำให้เกิดเรื่องที่มีคนขายซีดีเก่า ถูกพิพากษาจำคุก และปรับ

นายสัก เสนอด้วยว่า กรณีหมิ่นประมาทบุคคลไม่ควรมีความผิดทางอาญา ควรใช้ทางแพ่งมาเยียวยา แต่ต้องมีการกำหนดมาตรการให้เหมาะสม เช่น หากเป็นบุคคลสาธารณะก็ต้องมีโทษปรับที่สูงขึ้น รวมถึงใช้การไกล่เกลี่ยที่มีประสิทธิภาพ

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลปี พ.ศ. 2553 มีคดีเข้าสู่ระบบศาลชั้นต้น 1,500,000 คดี ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากระบบการกลั่นกรองนำคดีเข้าสู่ศาลไม่มีคุณภาพ แต่ปัจจุบันปัญหาการดำเนินคดีล่าช้ามีน้อยลง โดยมากจะพิจารณาเสร็จภายในประมาณ 1 ปี

ในส่วนการยกเลิกกฎหมายนั้น นายสราวุธ กล่าวว่า เคยมีแนวความคิดที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นให้มีโทษอาญา เพราะกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาประกาศใช้แล้วแต่ไม่มีสภาพบังคับประชาชนคิด ว่าทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์

นายสราวุธ กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ประชาชนใช้กระบวนการทางอาญามากกว่าทางแพ่ง เพราะทางแพ่งใช้เวลามาก และประสิทธิภาพไม่ดีพอ ดังนั้นมาตรการในทางแพ่งจะต้องมีประสิทธิภาพ และสามารถเยียวยาผู้เสียหายได้โดยที่ไม่ต้องให้ผู้เสียหายไปฟ้องเป็นความผิด ทางอาญาอีก

ทางด้านนางจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่า มีคดีที่ไม่มีเหยื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถึงร้อยละ 65.3 เช่น คดียาเสพติด คดีหลบหนีเข้าเมือง และคดีการพนัน ทำให้ศาลพิจารณาคดีอาญาที่แท้จริง แค่ร้อยละ 34.7 ดังนั้น หากเราตัดคดีที่ไม่ควรเป็นอาญาออกไป พื้นที่ในกระบวนการยุติธรรมจะมากขึ้น สิ่งที่จะเป็นคดีอาญาที่แท้จริงก็จะเข้ามา

 


หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://ilaw.or.th/node/772

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net