Skip to main content
sharethis

คนจนผู้ถูกคดี 200 คนจากในขบวนพีมูฟ พึ่งศาลหลักเมือง ขอพรหวังให้ดลใจกระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมกับคนจน กรรมการปฏิรูปชี้การปล่อยให้ประชาชนติดคุกถือเป็นการทำลายความสงบสุข จี้รัฐบาต้องกล้าตัดสินใจ 

 

 
วันนี้ (25 ก.พ.54) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ผู้ถูกดำเนินคดีจากทั่วประเทศในนามขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่ธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ (P Move) จำนวน 200 คนได้เดินทางไปกรุงเทพมหานคร บริเวณสนามหลวง ตรงข้างพระบรมมหาราชวัง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และนั่งสมาธิตั้งจิตอธิษฐานเป็นเวลา 30.9 นาที เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่คนจนที่กำลังถูกจับกุมดำเนินคดีและถูกบังคับคดี ภายใต้กระบวนการยุติธรรมไทย
 
ในขณะนี้ สมาชิกของขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่ธรรม ถูกฟ้องรองดำเนินคดีทั้งหมด 88 คดี รวมทั้งสิน 309 ราย เช่น คดีบุกรุกที่ดินเอกชนที่เอกสารสิทธิโดยมิชอบ คดีแพ่งคิดค่าเสียหายตามมาตรา 97 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คดีของชุมชนแออัดที่ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และคดีบุกรุกของชาวเลที่ทำประมงพื้นพื้นบ้านในเขตอุทยานฯ
 
นายรังสรรค์ แสนสองแคว คนจนไร้ที่ดินจาก จ.ลำพูน กล่าวในฐานะตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดีในขบวนพีมูฟ ว่า พวกเราต้องดำรงชีวิตด้วยความหวาดผวา เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยานฯ เข้ามาทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ คุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ยึดเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพ รวมถึงการใช้ช่องของกฎหมายและอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าพวกเราไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยสำคัญทางการผลิตซึ่ง เป็นสิทธิขั้นฐานในการดำรงชีวิตได้
 
ด้านนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป ซึ่งมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า กรรมการปฏิรูป ได้จัดทำข้อเสนอให้ลดโทษให้กับชาวบ้าน เนื่องจากการทำมาหากินกับกฎหมายไม่สอดคล้องกัน ต้องแก้ทางนโยบาย หากปล่อยให้ชาวบ้าน 309 คนติดคุกนั้นถือว่าไม่สร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นการทำลายความสงบสุข ดังนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ นายกฯ ต้องกล้าตัดสินใจ ติดขัดตรงไหนก็ต้องแก้ ถ้ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ไม่เข้าใจก็ต้องดำเนินการ เรื่องนี้อยู่ที่อำนาจตัดสินใจของนายกฯ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต้องเข้าใจ สังคมต้องสนับสนุน หากสังคมไม่สนับสนุนก็ไม่เกิด
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนจน 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายชุมชนเพื่อปฏิรูปสังคมและการเมือง สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 5,000 คน ได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่ลานพระรูปทรงม้า โดยมีข้อเรียกร้องให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม การยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษยชน รวมทั้งสิ้น 77 กรณี
 
นอกจากนั้น พีมูปยังมีการออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 11 ระบุเนื้อหาดังนี้
 
 
แถลงการณ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฉบับที่ 11
“นายกรัฐมนตรี ต้องแสดงศักยภาพให้เห็นว่า นายกฯ มีอำนาจสูงสุดเหนือกระทรวงทรัพย์”
 
นับจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ปักหลักชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเจรจา เร่งดำเนินแก้ไขปัญหาตามกรอบและข้อเสนอตามที่ได้ยื่นต่อรัฐบาล จากวันวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 วันเต็มๆ ความพยายามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมในการผลักดันให้รัฐบาลมี มาตรการและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลากหลายวิธีการ เช่น การเคลื่อนขบวนไปชุมนุมกดดันหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เพื่อเรียกร้องให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ เร่งนำ 17 พื้นที่ที่อยู่ในความดูแลรับชอบของกระทรวงทรัพย์ฯ มาดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ได้มีการเคลื่อนขบวนไปฟังผล มติ ครม. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการนำเรื่องที่เป็นข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เข้า ครม. 4 ประเด็น และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ได้มีการเคลื่อนขบวนไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 4 ประเด็นหลัก มีการเปิดเจรจาระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหลายรอบ แต่ผลสรุปของการเจรจาก็ยังไม่มีความชัดเจน
 
มติ ครม.วันที่ 22 กุมภาพันธ์ แม้รัฐบาลจะได้มีการผลักดัน 4 ประเด็นหลักเข้าสู่การพิจารณา แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลยังคงแสดงให้เห็นว่าไร้ความสามารถ กล่าวคือ 1 ใน 4 กรณีปัญหาคือ ประเด็นเขื่อนปากมูลยังไม่ได้ข้อยุติ และ 3 กรณีปัญหา แม้จะได้ข้อสรุปและข้อสรุปเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยความคลุมเครือจนจับต้องอะไร ไม่ได้เลย อีกทั้งการเปิดเวทีเจรจากับกระทรวงทรัพย์ฯ เมื่อวานที่ผ่านมา ผลสรุปที่ได้ก็เสมือนไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน อีกทั้งในระหว่างที่มีการเปิดเจรจากับรัฐบาลอยู่นี้ เกษตรกรบ้านแพะใต้ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน จำนวน 9 ราย เป็นเกษตรกรผู้ทำการผลิตและร่วมปฏิบัติการการปฏิรูปที่ดินโดยองค์กรชุมชน แต่ได้ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก 1 ปี ซึ่งขณะนี้ได้ถูกจองจำอยู่ ณ เรือนจำกลางจังหวัดลำพูน สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นของคนจนอย่างอ ยุติธรรม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมมีข้อเรียกร้องดังนี้
 
1.   ให้รัฐบาลนำเรื่องที่ผ่านมติ ครม.แล้วทั้ง 3 เรื่อง ที่ยังคลุมเครือ มีความติดขัด และไม่มีความชัดเจน ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง และหากมีความจำเป็นก็ให้เสนอเรื่องเข้าในที่ประชุม ครม. เพื่อขอมติ
2.   ให้ รัฐเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้คนจนไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมเช่นที่ผ่านมาและกำลัง เป็นอยู่ในขณะนี้
3.   ให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงศักยภาพให้เห็นว่า นายกฯ มีอำนาจสูงสุด โดยการออกคำสั่งให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ เร่งเปิดเจรจากับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยฯ
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
25  กุมภาพันธ์ 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net