Skip to main content
sharethis

"นายกสมาคมต้านสภาวะโลกร้อน" ออกแถลงการณ์ถึงผู้ว่า กทม. ตั้งข้อสังเกตโครงการทางเดินลอยฟ้า 50 กิโลเมตร ใช้งบตกกิโลเมตรละ 300 ล้าน สูงกว่าโครงการที่กำลังก่อสร้างกว่า 5 เท่า เตือนให้ระวังทัศนอุจาด แนะจัดระเบียบทางเท้า ติงทำไมปล่อยให้พ่อค้าแม่ค้ามายึดแทนที่คนกรุงเทพ 5.7 ล้าน จะได้ใช้สัญจร

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2554 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ ถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเรื่อง “คัดค้าน กทม.ผุดทางเดินลอยฟ้า: นโยบายผลาญภาษีประชาชน” โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

 

แถลงการณ์สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
คัดค้าน กทม.ผุดทางเดินลอยฟ้า : นโยบายผลาญภาษีประชาชน

กรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ได้ออกมาเปิดตัวโครงการว่า กทม.มีแผนก่อสร้างโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หรือซูเปอร์สกายวอล์ก (Super Sky Walk) ระยะทางรวม 50 กม. เพื่อให้คนกรุงเทพฯมีทางเดินลอยฟ้าที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกมีระยะทาง 16 กม. วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 5,200 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนมี.ค.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน กำหนดแล้วเสร็จปี 2555 และระยะที่สองมีระยะทาง 32 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง 10,000 ล้านบาท คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2555 แล้วเสร็จปี 2557

และต่อมานายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.ออกมาแจงเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ กทม. เปิดตัวโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์กหรือทางเดินลอยฟ้าระยะทางรวมกว่า 50 กม.ทั่ว พื้นที่กทม.เพื่อความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชนสู่ ระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ แล้วนั้น ล่าสุด กทม.ได้ขยายผลโครงข่ายดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนก่อสร้างทางเดินเท้าลอยฟ้าเชื่อม โยงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์และประตูน้ำ ศูนย์การค้าแพลทินัมตอบรับข้อเสนอลงทุนเอง 100% โดยจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ เบื้องต้นรูปแบบทางเดิน จะเชื่อมโยงตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม ผ่านแยกราชประสงค์มุ่งหน้าไปยังคลองแสนแสบ ถนนราชดำริ ต่อเนื่องไปจนถึงศูนย์การค้าแพลทินัม รวมระยะทางประมาณ 500 เมตรนั้น

สมาคมฯ มีข้อสังเกตว่าการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าระยะทาง 50 กม. ของ กทม.ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อมูลการก่อสร้าง จะเห็นว่าบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าใต้แนวเส้นทางรถไฟฟ้า ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แบริ่ง รวมระยะทาง 17 กม. ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 58.82 ล้านบาทเท่านั้น แต่ทางเดินลอยฟ้าใหม่นี้ทำไมแพงกว่าถึง 5 เท่า และเงินที่นำมาใช้ก่อสร้างเป็นเงินจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายสุขุมพันธ์หรือของนายธีระชน ที่คิดอยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ที่สำคัญโครงการผลาญเงินดังกล่าวสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวแล้วหรือไม่อย่างไร

ประเด็นปัญหาที่ยกมาวิพากษ์ในวันนี้ นอกจากจะเรื่องงบประมาณที่สูงเกินเหตุแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตอีกประการถึงความเหมาะสมของการสร้างทางเดินลอยฟ้าใน พื้นที่เมืองว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ ประการใด เหตุใดจึงจ้องแต่จะเพิ่มสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุจจาดทัศน์ (Visual Pollution) ให้กับเมืองกรุงเทพฯเข้าไปอีก ทำไมไม่กลับไปจัดการทางเดินเท้าที่เป็นสมบัติสาธารณะของคนไทยและคนกรุงเทพฯ ทุกคนให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ทำไมปล่อยให้มีแม่ค้า-พ่อค้าแผงลอย ทั้งตัวจริงตัวปลอม มายึดพื้นที่ทางเท้าเต็มกันไปหมดทั้งบ้านทั้งเมืองล่ะครับ แถมยังเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลในโครงการประชาวิวัฒน์ในการขยายจุดผ่อนผัน เพิ่มให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้เพิ่มเข้าไปอีกกว่า 280 จุดอีก ขอถามหน่อยว่าพื้นที่สาธารณะทางเท้าเหล่านี้เป็นของนายสุขุมพันธ์หรือของนาย ธีระชนหรือของนายกรณ์หรือของนายอภิสิทธิ์หรืออย่างไร

ปัญหาดังกล่าว กทม.หมดปัญหาที่จะแก้ไขปัญหาทางเท้า ก็เลยยึดทางเท้าซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของคนกรุงเทพฯทั้ง 5.7 ล้านคนไปประเคนให้กับพ่อค้าแม่ค้าไม่ถึง 10,000 รายได้สร้างประโยชน์และผลกำไรมาจ่ายเทศกิจหรือกทม.ในรูปของค่าธรรมเนียมเท่า นั้นหรือ ขอถามหน่อยว่าสิทธิของคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ที่เขาต้องใช้ทางเท้าในการสัญจรไป มาหายไปไหน แล้วเขาเหล่านั้นเสียภาษีให้ กทม.ไปเพื่อการใด

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 43 ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน เมื่อโครงการดังกล่าวอยู่ในข้อยกเว้น กทม.จึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำโครงการดังกล่าวได้แต่อย่างใด

นอกจากนั้นในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 74 ยังระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี แล้วการที่ กทม.ทำโครงการนี้นั้นเป็นการรักษาผลประโยชน์ต่อส่วนรวมตรงไหน

แต่สิ่งที่กทม.กำลังดำเนินการอยู่นี้ท้าทายต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นการเอาสมบัติสาธารณะมามอบให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหรือเอกชนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งได้แสวงหาประโยชน์ หรือเพื่อผลประโยชน์ของเอกชน ให้กับบริษัทห้างร้านสรรพสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการเดินเข้ามาใช้บริการธุรกิจของตนฝ่ายเดียว หรือประโยชน์ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่ได้ใจต่อกลุมผู้ค้าฝ่ายเดียว แต่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายให้เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้ทางเท้า อันเป็นสมบัติสาธารณะอย่างชัดแจ้ง

ประเด็นดังกล่าว สมาคมฯเห็นว่ากทม. ดำเนินงานตามนโยบายที่ขัดต่อกฎหมาย ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างถนนคนเดินลอยฟ้าเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ส่วนถนนทางเดินเท้าด้านล่างที่มีอยู่ก็จะถูกนำไปจัดสรรให้กับพ่อค้า-แท่ค้า แผงลอยได้ใช้ประโยชน์กันเต็มบ้านเต็มเมือง และกทม.ก็จะใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่มีทางเดินเท้าที่โล่งเดินสบายบนทางเท้าเดิม ๆ ให้ประชาชนเดินได้ จึงต้องตั้งงบประมาณที่แสนแพงมาก่อสร้างหรือจัดทำทางเท้าลอยฟ้าให้เต็มบ้าน เต็มเมืองเต็มไปหมดได้อีก ที่สำคัญการทำทางเดินเท้าลอยฟ้าดังกล่าว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนขยายของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งต้องเขียนไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสียก่อน แต่เมื่อสมาคมฯตรวจสอบแล้วไม่มีปรากฏหรือเขียนไว้เลย จึงเข้าข่ายผิดต่อ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยตรง ซึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยทันที

สมาคมฯ จึงใคร่เรียนมายังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรัฐบาล เพื่อทบทวนหรือยุติโครงการทั้ง 2 ดังกล่าวเสียหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน หาก กทม.เพิกเฉยและยังคงจะดำเนินโครงการทั้งสองนี้ต่อไป สมาคมฯไม่มีหนทางอื่นใดที่จะยุติโครงการดังกล่าวได้ นอกจากการพึงกระบวนการศาลปกครองเท่านั้น

 

ประกาศมา ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554

นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net