Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสมัยปฏิรูปเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ของสยามตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ความคิด วัฒนธรรม ประเพณี ได้ถูกปรับเปลี่ยนและสร้างขึ้น ภายใต้การทำให้เป็น "ประเทศสมัยใหม่" ที่เจริญทัดเทียมกับชาติตะวันตก สิ่งเหล่านี้ได้เพิ่มความเข้มข้นในยุคถัดมาคือรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนี้สยามประเทศได้เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในสยามเอง ดังจะเห็นได้จากงานศึกษาหลายชิ้น ที่ให้ความสนใจกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มาก่อน เช่น งานของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล [1]  งานของชาตรี ประกิตนนทการ [2] งานของอรรถจักร สัตยานุรักษ์ [3] เป็นต้น

เช่นเดียวกับการพยายามที่จะกำหนดพรมแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ไปพร้อมกับการ สถาปนาอำนาจของรัฐจากส่วนกลาง รัฐได้พยายามเข้าควบคุมและจัดระเบียบคนในสังคมเช่นกัน การสร้างให้คนแต่ละกลุ่มเป็นไปตามที่รัฐต้องการจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของสยามเองที่สืบเนื่องมา จากสมัยต้นรัตนโกสินทร์ การเกิดขึ้นของชนชั้นพ่อค้า วัฒนธรรมกระฏุมพี ทำให้ชนชั้นสูงจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์และเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มคนขึ้น และยังสืบเนื่องต่อมาถึงเรื่องความเข้มแข็งของรัฐดังที่เปรียบกันว่าคนในแต่ ละกลุ่มก็เป็นแต่ละอวัยวะที่ประกอบกันขึ้นมาและมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น "หน้าที่" จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องยึดถือเอาไว้เพื่อเริ่มต้นทำให้ชาติมั่นคง การสร้างความเป็น "ผู้หญิง" ก็ถูกรวมอยู่ในการจัดการของรัฐเช่นกัน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การสถาปนาตนเองเป็น "ผู้รู้" ที่ติดต่อกับชาวตะวันตกมาตั้งแต่สมัยพระองค์ยังทรงผนวช และด้วยเงื่อนไขเรื่องอำนาจภายในสยามเอง ที่ทำให้พระองค์ต้องการแสดงความมี "อารยะ" ผ่านทางประชุมประกาศต่างๆ ผู้หญิงก็เป็นอีกกรณีหนึ่งเช่นกัน ได้กลายมาเป็นเครื่องแสดงว่าพระองค์ให้อิสรภาพและความเท่าเทียมกันระหว่าง ผู้หญิงกับผู้ชาย ดังจะเห็นได้จากประกาศทรงอนุญาตให้นางในกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเพื่อไป แต่งงานได้หรือกลับไปอยู่ที่บ้านได้ [4] และยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในราชสำนักได้ออกมาพบปะกับชาวต่างประเทศในบางโอกาสเพื่อแสดงว่าพระองค์นั้นมีความคิดก้าวหน้า

แต่ขณะเดียวกัน ในพระราชบัญญัติลักพาก็ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนหากผู้หญิงที่มีศักดินา มากกว่า 400 ไร่ ไปมีบุตรกับผู้ชายที่มีศักดินาต่ำกว่า บุตรนั้นจะต้องเป็นของฝ่ายหญิง และบิดาของผู้หญิงเหล่านี้ยังมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการไม่ให้บุตรสาวของตน ไปคบค้าสมาคมกับคนในชนชั้นต่ำกว่าอีกด้วย [5] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีการประกาศห้ามตามมาอีกมากมาย และพระบรมราโชวาทของพระองค์ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์มีพระราช ประสงค์ที่จะขีดแบ่งชนชั้นระหว่าง "เจ้า" กับ "ไพร่" อย่างชัดเจน โดยมีผู้หญิงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องถูกควบคุมเพื่อไม่ให้ไพร่มาปะปนกับ เจ้านายได้ และจากพระราชดำรัสของพระองค์เองที่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนตอนคราวที่ เจ้าเมืองตราดส่งผู้หญิงมาถวาย ความว่า “ประกาศเรื่องพระยาพิพิธฤทธิเดช ผู้สำเร็จราชการเมืองตราดส่งหญิงเข้ามาถวาย 3 คน อนึ่งหญิงบ้านนอกคอกนาเป็นลูกเลกไพร่หลวงไพร่สมทาสขุนนางในหลวงไม่เอาเป็น เมียดอก เกลือกมีลูกออกมาจะเสียพระเกียรติยศ แต่เมื่อผู้นำเอาหญิงงามๆมาให้ก็ดีใจอยู่ด้วยจะให้มีกิตติศัพท์เล่าลือว่า ยังไม่ชราภาพนักจึงมีผู้หาเมียให้เท่านั้นดอกจึงรับไว้” [6] นับว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวที่ต้องการจะแบ่งแยกความเป็นเจ้าออกมาจากไพร่อย่างแรงกล้า

แม้ว่างานศึกษาจำนวนมากจะอ้างว่าผู้หญิงในสมัยนี้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น จากวรรคทองที่ว่า "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" หรือจากประกาศพระราชบัญญัติลักพาที่ให้โอกาสผู้หญิงได้เลือกแต่งงานกับ ผู้ชายที่พึงพอใจกันได้เอง และประกาศพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร [7] แต่นี่ก็จำกัดอยู่เพียงอิสรภาพของผู้หญิงชนชั้นล่างและผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ ในวงจรการเชื่อมโยงของกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น สิทธิเสรีภาพที่ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้รับจึงแทบจะไม่ได้สร้างความแตกต่างอย่าง ใดกับสถานภาพที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เลย เพราะผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นเป็นตัวค้ำจุนทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่ต้องออก ไปค้าขายในสังคมและมีอิสระที่จะตัดสินใจได้เองอยู่แล้ว

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานภาพของผู้หญิงได้รับการเน้นให้สำคัญยิ่งขึ้นในฐานะของเพื่อนคู่คิดและ ภรรยาที่สามารถช่วยเหลือสามีได้ ดังที่เห็นได้ชัดในกรณีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถที่ได้เป็นผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์คราวที่เสด็จประพาสยุโรป เช่นเดียวกับในหนังสือที่นิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง "คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ชีวประวัติของผู้หญิงทุกคนล้วนแล้วแต่ได้รับการเน้นในฐานะของภรรยาและมารดา และผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อชาติทั้งสิ้นจนแทบจะไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้โรงเรียนที่เปิดสอนให้กับผู้หญิงก็ได้ถูกริเริ่มขึ้นในสมัยนี้เช่น กัน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะฝึกฝนผู้หญิงให้มีความรู้ในการออกรับแขก เข้าสมาคม และการเป็นแม่บ้านแม่เรือน

ผู้หญิงในสมัยนี้จึงมีลักษณะภายนอกที่สอดคล้องกับค่านิยมตะวันตก คือสามารถสมาคมออกรับแขกได้ มีความรู้พื้นฐานมากพอที่จะรับฟังปัญหาของสามีได้ อันเนื่องมาจากบริบทของสยามเอง ที่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมแบบวิคตอเรียน การแสดงพระองค์ว่ามีความศิวิไลซ์เช่นเดียวกับฝรั่งของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการสร้างมาตรฐานของผู้หญิงให้ออก มาในลักษณะดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตามบทบาทของผู้หญิงได้เริ่มถูกจำกัดและลดทอนให้เหลือเพียงสถานะ ของภรรยา มารดา และผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อชาติไปโดยปริยาย

และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครอบครัวเดี่ยวที่พระองค์พยายามจะเน้นมาตลอดทั้งรัชสมัยนั้นก็ทำให้ผู้หญิง กับผู้ชายมีหน้าที่ของตนเองทั้งสิ้น และหน้าที่ที่สำคัญที่สุดก็คือหน้าที่ต่อชาตินั่นเอง ในสมัยนี้ผู้หญิงได้รับการสนับสนุนให้ออกนอกบ้านมาทำงานทัดเทียมกับผู้ชาย มากขึ้น แม้ในตอนแรกจะจำกัดอยู่ในอาชีพที่ผู้หญิงมีทักษะมาก่อน เช่น นางพยาบาล ครู ช่างตัดเสื้อ แต่ต่อมาก็ได้เริ่มขยายอาชีพออกไปมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างไรก็ตามคุณลักษณะของผู้หญิงในสมัยนี้ได้ถูกเน้นให้เป็นผู้หญิงในแบบไทย ที่มีความเป็นกุลสตรีและยึดเอาธรรมะจากพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง วัฒนธรรมตะวันตกเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและไม่น่าเอาเยี่ยงอย่าง พระบรมราโชวาทและพระราชนิพนธ์ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนแล้วแต่เน้นหน้าที่ต่อชาติโดย มีคุณธรรมและคุณลักษณะแบบไทยเป็นหลักนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงที่ชาติต้องการจึงเป็นผู้หญิงในสถานะของ "ภรรยา" "มารดา” และผู้หญิงของชาติ ทั้งสิ้น แม้จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่เนื้อหาหลักล้วนสืบเนื่องต่อกันมา และผู้หญิงที่สามารถปฏิบัติตัวได้ตามนี้ก็ดูจะได้รับการยกย่องมาในทุกสมัย กรอบความคิดเช่นนี้ก็ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปมากเพียงใดก็ตาม แต่ความคิดเช่นนี้ก็ได้รับการตอกย้ำอยู่เสมอมา ผู้หญิงไทยจำนวนมากจึงมุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ในด้านของการประสบความสำเร็จของผู้หญิงในสถานภาพของภรรยาและมารดานั้น ความเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่สามารถจัดการงานภายในบ้านให้เรียบร้อยที่เคยชื่น ชมกันมาในยุคก่อนหน้า ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชายที่จะใช้เลือกผู้หญิงมาเป็นคู่ชีวิตได้ อีกต่อไปในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ผู้ชายและผู้หญิงต่างก็ออกมาทำงานนอกบ้าน ด้วยกันทั้งคู่ "ความสวย" จึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนพยายามจะไขว่คว้า ไม่ว่าจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆมากมายเพียงใดที่เริ่มตั้งแต่ศีรษะจรดปลาย เท้า ก็ดูจะไม่มีผู้หญิงคนใดยอมแพ้กับอุปสรรคดังกล่าว จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เราจะเห็นพวกเธอเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตัวเองไป ตามที่สมัยนิยมตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องมาจาก "ต้นทุน" ของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ต่างจากกลุ่มชนชั้นสูงในอดีต ที่มีทั้งต้นทุนทางสังคม สถานภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และยังรวมไปถึงทรัพย์สินจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน ชนชั้นกลางที่ปราศจากมรดก สินทรัพย์ที่ดิน และไม่มีสายตระกูลที่สามารถนับขึ้นไปได้หลายสิบหรือหลายร้อยปี จึงมีแต่ต้นทุนทางร่างกายเท่านั้นที่เป็นแรงดึงดูดสำคัญต่อเพศตรงข้าม

ผมที่ยาวสลวยเหยียดตรงหรือดัดหยิกเป็นลอนสวย ผิวขาวอมชมพูเปล่งปลั่ง ใบหน้าเรียบเนียนไร้รอบด่างดำ วงแขนขาวเนียนไม่แพ้ใบหน้า ขนอันไม่พึงปรารถนาที่มีอยู่ตามแขนและขาถูกกำจัดทิ้งอย่างไร้ที่ติ นี่ยังไม่นับรวมอุปกรณ์ภายนอกที่สามารถเพิ่ม "ความสวย" ให้กับผู้หญิงอย่างสมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็นขนตาปลอม วิกผม เครื่องสำอางที่สามารถเปลี่ยนผู้หญิงให้กลายเป็นอีกคนได้ในพริบตา เสื้อผ้า และรองเท้าส้นสูง (เป็นอุปกรณ์ที่นับว่าทรมานผู้หญิงอย่างยิ่งที่ต้องพยายามทรงตัวบนส้นแหลมๆ ตลอดทั้งวันนัยว่าเพื่อเสริมบุคลิกให้ดียิ่งขึ้น) จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่พาผู้หญิงบรรลุเป้าหมายที่จะหาผู้ชายสักคนแต่งงานและ ร่วมกันทำฝันของตนเองให้สำเร็จตามที่รัฐได้ปลูกฝังมา

ไม่ว่าจะเป็นความสวยหรือการเป็นแม่บ้านแม่เรือน เป็นกุลสตรีที่วางตัวอย่างเหมาะสม สิ่งที่ผู้หญิงพยายามจะไล่ล่าให้ทันอาจเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตของผู้หญิงไทยก็ยังคงย่ำเท้าอยู่กับที่เดิม เหมือนกับเมื่อหลายสิบหลายร้อยปีก่อน เหมือนกับยุคที่ผู้หญิงไม่อาจจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินใดๆ ได้และยังต้องพึ่งพาการตัดสินใจจากผู้ชายเช่นเดิม

นี่จึงเป็นเรื่องที่ลักลั่นต่อความรู้สึกของผู้หญิงเองอย่างยิ่ง ความเป็นสมัยใหม่ในปัจจุบันได้ทำให้ผู้หญิงสามารถยืนด้วยขาของตนเองได้ในที่ สุด การออกมาทำงานนอกบ้านและหาเลี้ยงตนเองได้ทำให้มุมมองของผู้หญิงต่อโลก เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ประสบการณ์ที่ผู้หญิงได้เรียนรู้ มีส่วนร่วมและพบเห็นมาทำให้ผู้หญิงไม่จำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายเพียงแค่การ เป็นภรรยาหรือเป็นมารดาอีกต่อไป แต่ยังสามารถที่จะเลือกเป็นบทบาทอื่นที่ต้องการได้ตามที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงคนเดียวไม่พึ่งพาผู้ชาย หรือแม้แต่เลือกที่จะรักเพศเดียวกัน

แต่ภายใต้กรอบคิดว่าด้วยความเป็น "ผู้หญิง" ของไทยที่จำกัดให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะของภรรยา มารดาและผู้หญิงของชาติยังถูกนำมาเล่าใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จักจบนั้นไม่ ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อีกแล้ว จึงทำให้ผู้หญิงใจหนึ่งก็ต้องการที่จะเป็นอิสระ ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือนหรือสวยเพื่อใคร แต่อีกใจหนึ่ง ค่านิยมบางส่วนที่ครอบงำอยู่ก็ทำให้ผู้หญิงยังคงคิดว่าจุดสุดท้ายในชีวิตของ พวกเธอก็คือการแต่งงานอยู่วันยังค่ำ

ผู้หญิงไทยในปัจจุบันจึงเป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่ทั้งความเป็นสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ผู้หญิงไทยแบบเดิมที่เรียบร้อยราวกับผ้าพับไว้และยึด คติที่ว่า "สามีเป็นฉัตรกั้นเกศ" อีกต่อไป เป็นผู้หญิงที่ไม่อาจจะเดินหน้าไปได้อย่างมั่นใจ และก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้หญิงในสังคมจำนวนมากที่ต้องรับบทหนักทั้งภาระนอก บ้านและในบ้านไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ยอมเหน็ดเหนื่อยด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งที่จะได้เป็นทั้งผู้หญิงเก่งและ ผู้หญิงที่ดีไปพร้อมกัน เราจะเห็นผู้หญิงที่พยายามจะทำตัวให้เป็นสมัยใหม่ แต่ก็ไปได้ครึ่งๆกลางๆ มิหนำซ้ำยังถูกค่อนขอดว่าไม่มีความเป็นไทย และยังเห็นผู้หญิงเกือบทั้งประเทศพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อไล่ล่าความ สวยและผู้ชายให้อยู่หมัด

ทั้งๆที่ความคิดดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปฏิรูปประเทศนั้นมี เป้าหมายหลักเพื่อใช้กับผู้หญิงชนชั้นสูง เพื่อควบคุมบังคับไม่ให้ชนชั้นสูงลงไปปะปนกับชนชั้นล่าง และเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มชนชั้นสูงเอง แต่ความคิดดังกล่าวกลับถูกนำมาใช้กับผู้หญิงทุกกลุ่มในสังคมไทยสืบตามาอีก เกือบร้อยปี โดยที่เราลืมไปอย่างสิ้นเชิงว่าทั้งบริบทและเงื่อนไขของสังคมมันย่อมเปลี่ยน ไปตามกาลเวลา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเงื่อนไขของผู้หญิงในแต่ละกลุ่มเองที่แตกต่างออกไปอีก ในสังคมย่อมไม่ได้มีแต่ผู้หญิงชนชั้นกลางเท่านั้น แต่ยังแยกออกไปอีกว่าชนชั้นกลางในเมืองหรือในชนบท ผู้หญิงที่ใช้แรงงาน ผู้หญิงที่รักผู้หญิงเหมือนกัน

จึงไม่แปลกที่ว่าเราจะยกย่องเชิดชูผู้หญิงชนชั้นกลางในฐานะที่สามารถทำ ตัวให้เป็น "ผู้หญิงที่ดี" ของรัฐได้เสมอมา ฐานที่ว่าพวกเธอเหล่านี้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ที่จะไปให้ถึงความฝันของการเป็น "เมีย" และ "แม่" ที่ดี ในขณะเดียวกันก็ยังจงรักภักดีต่อชาติอย่างสุดหัวใจ และมองว่าผู้หญิงชนชั้นล่าง ผู้หญิงชนชั้นแรงงาน ผู้หญิงที่รักผู้หญิง คือ ผู้หญิงที่ทำให้สังคมไทยเสื่อมเสีย ไม่ทำตัวเป็นกุลสตรี ไม่รักนวลสงวนตัว มองไม่เห็นคุณค่าของการเป็นภรรยาและมารดาที่ดีกลายเป็นผู้หญิงที่สมควรถูก ตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่พึงปรารถนา และพร้อมที่จะเบียดให้ผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม ไปโดยปริยาย

ปัญหาในเรื่องของผู้หญิงในตอนนี้ก็คือว่า ผู้หญิงควรจะสามารถกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในสังคมขึ้นมาได้ใหม่ สามารถต่อรองกับรัฐได้ว่าสิ่งที่พวกเธอต้องการจะเป็นคืออะไร และพร้อมที่จะสลัดคุณค่าของผู้หญิงในแบบที่รัฐสร้างให้ออกไปหากพวกเธอไม่พอ ใจ และถ้าหากผู้หญิงต้องการที่จะปฏิเสธกรอบกฎเกณฑ์ที่สังคมเคยกำหนดเอาไว้ให้ นั่นก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอมรับเช่นกัน เพราะอย่างน้อยที่สุด ผู้หญิงควรจะมีสิทธิที่จะตัดสินใจได้เองว่าเป้าหมายในชีวิตของพวกเธอคืออะไร โดยที่รัฐไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งวุ่นวายอีกต่อไป ที่สำคัญคือ ในแต่ละกลุ่มที่หลากหลายของผู้หญิงก็ย่อมที่จะมีสิทธิในตัวของพวกเธอเองเช่น กัน ไม่ใช่ผู้หญิงกลุ่มเดียวที่จะมีสิทธิตัดสินใจว่าความเป็น "ผู้หญิง" ที่จริงแล้วควรจะเป็นอย่างไร

กรณีของผู้หญิงเป็นแค่เรื่องราวหนึ่งในสังคมไทยปัจจุบันที่แสดงให้เห็น ว่ากรอบคิดเดิมหลายอย่างในสังคมไม่อาจจะอธิบายกลุ่มคนและสังคมโลกที่กำลัง เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างครอบคลุม การตั้งคำถามต่อชีวิต ความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่อาจจะหลีกเลี่ยง และยิ่งไม่ควรที่เราจะยอมทนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ในสภาพที่แม้แต่ตัวของเราเอง ก็ยังไม่รู้ว่าจุดสุดท้ายมันจะออกมาในทิศทางใดกันแน่

 

อ้างอิง:

  1. Thongchai Winichakul, Siam mapped : a history of the geo-body of a nation, (Honolulu : University of Hawaii Press ; Chiang Mai : Silkworm Books, c1994),
  2. ชาตรี ประกิตนนทการ, พระพุทธชินราช ในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2551),
  3. อรรถจักร สัตยานุรักษ์, สู่การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ.2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538),
  4. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ,ประชุมประกาศ เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 (องค์กรณ์การค้าของคุรุสภา : 2528), หน้า 85-87
  5. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ,ประชุมประกาศ เล่ม 3, พิมพ์ครั้งที่ 2 (องค์กรณ์การค้าของคุรุสภา : 2528), หน้า 284
  6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ,ประชุมประกาศ เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (องค์กรณ์การค้าของคุรุสภา : 2528), หน้า 98
  7. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ,ประชุมประกาศ เล่ม 3, พิมพ์ครั้งที่ 2 (องค์กรณ์การค้าของคุรุสภา : 2528), หน้า 276-287

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net