Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ่านข้อเขียนของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชื่อ “คารวะพระ ว.วชิรเมธี” ในมติชนสุดสัปดาห์ (18-24 ก.พ.54) รู้สึกเหมือนได้อ่าน “บทยอเกียรติพระ” โดยเฉพาะบทกวีสรุปท้ายบทความที่ว่า

“พระผู้สร้างกุศลธรรมนำครรลอง                  พระผู้ครองสันโดษสมถะ
พระถึงพร้อมวิชชาจรณะ                             คารวะ พระ ว.วชิรเมธี
 
แน่นอนว่าธรรมชาติของ “บทยอเกียรติ” หรือ “ยอพระเกียรติ” ย่อมมีลักษณะ “เกินจริง” ดังบทเทศนายอพระเกียรติกษัตริย์ ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ที่ว่า
 
“สมเด็จพระบรมบพิตรพระ ราชสมภารเจ้า เสด็จอวตารมาสู่สยามภพพอเหมาะแก่กาลสมัย ราวกับเรื่องพระประถมสมโพธิว่า เหล่าเทวดาสันนิษฐานเห็นเป็นเวลา จึงพร้อมกันไปทูลเชิญอาราธนาพระโพธิสัตว์เพื่อจุติจากดุสิตพิภพมาอุบัติใน มนุษยโลก แลยังสัตว์นิกรผู้มีอุปนิสัยให้ข้ามพ้นโอฆสงสารฉะนั้นฯ...” (อ้างใน ปฐม ตาคะนานันท์.คณะสงฆ์สร้างชาติ สมัยรัชกาลที่ 5. [กรุงเทพฯ: มติชน, 2551], หน้า 28)
 
เช่นเดียวกันข้อความว่า “พระ ถึงพร้อมวิชชาจรณะ” ในบทกวีข้างต้น ชาวพุทธย่อมรู้ว่าข้อความนี้เป็นคำแปลมาจากภาษาบาลีว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” ซึ่งเป็นบทสวดสรรเสริญ “พระพุทธคุณ” ที่ระบุว่าคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าประการหนึ่งคือ “ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ” (หมายถึงมีปัญญาดับทุกข์สิ้นเชิงและมีความประพฤติบริสุทธิ์สะอาด)
 
การยอเกียรติพระไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ นิยมทำกันในสมัยพุทธกาล แม้จะปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอยู่บ้างว่า มีอุบาสกบางคนเปล่งวาจาสรรเสริญพระพุทธคุณหลังจากฟังพระพุทธองค์แสดงธรรมจบ ลงและเขาเกิดความปลื้มปีติในธรรม
 
ส่วนการยกย่องคุณความดีของพระสาวกก็เป็น เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงประกาศยกย่องให้เป็นแบบอย่าง โดยพิจารณาจากความสามารถตามที่เป็นจริงของพระสาวกรูปนั้นๆ ดังที่ทรงยกย่องพระสาวกเป็น “เอตทัคคะ” หรือมีความเป็นเลิศด้านต่างๆ เช่น พระสารีบุตรมีความเป็นเลิศด้านสติปัญญา เป็นต้น
 
การยอเกียรติพระในสังคมไทยน่าจะนิยมทำกันในยุคสมัยที่ “พระกับเจ้า” ถูกผนึกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนเกิดประเพณีแต่งตั้ง “สมณศักดิ์” หรือศักดินาของพระ ทำให้พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์อย่างเต็ม รูปแบบ ดังข้อเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ที่ว่า
 
“ศักดินา (กษัตริย์) แบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชให้เป็นขุนนางมีลำดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปีและแม้เงินเดือน...ศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำ เกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางการจัดการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา”
 
ในหนังสือเล่มดังกล่าว จิตรยังอธิบายต่อไปว่า ข้าทาสที่ศักดินาแบ่งปันให้แก่วัด เรียกว่า “เลกวัด” หรือ “ข้าพระโยมสงฆ์” และในกฎ “พระอัยการตำแหน่งทหารและพลเรือน” ซึ่งพระบรมไตรโลกนาถ ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.1998 นอกจากจะกำหนดให้บรรดาเจ้าขุนมูลนายตามชั้นยศต่างๆ ได้รับผลประโยชน์จากที่ดินแล้ว ยังจัดส่วนแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าวให้แก่พระสงฆ์ด้วย ตามอัตราส่วนดังนี้
พระครูรู้ธรรม                   เสมอนา              2,400 ไร่
พระครูไม่รู้ธรรม               เสมอนา              1,000 ไร่
พระภิกษุรู้ธรรม                เสมอนา              600 ไร่
พระภิกษุไม่รู้ธรรม            เสมอนา              400 ไร่
สามเณรรู้ธรรม                 เสมอนา              300 ไร่
สามเณรไม่รู้ธรรม             เสมอนา              200 ไร่
 
แน่นอนว่า การพูดถึงข้อเท็จจริงของ “เจ้า กับพระ” ในท่วงทำนองแบบจิตร ย่อมเป็นที่ “แสลงหู” ชาวพุทธไทย แต่สำหรับผู้เขียนแล้วนึกถึงคำสำคัญในพุทธศาสนาคำหนึ่ง คือ “ธรรมานุสสติ” หมายถึงการระลึกถึงธรรม หรือการตระหนักรู้ ตื่นรู้ใน “ธรรม” คือความจริงความถูกต้อง
 
แต่คำถามคือ บทยอเกียรติพระ กับบทวิจารณ์พระ (เช่น ที่จิตร ภูมศักดิ์ ทำ) อะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้เราเกิด “ธรรมานุสสติ” ได้แจ่มชัดกว่า!
 
คงจำกันได้ว่า เมื่อปี 53 คำ ผกา วิจารณ์ท่าน ว.วชิรเมธี (ผ่านการให้สัมภาษณ์ วิจักขณ์ พานิช) ค่อนข้างแรงว่า
 
“งานของท่าน ว.วชิรเมธี มันเป็นยากล่อมประสาท หลอกขายกันไปวันๆ ไม่ได้ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นการเอาตัวรอดคนเดียว...แขก เลยมองว่ามันเป็นการมอมเมาทางปัญญา สอนให้คนหลีกหนีปัญหา แล้วก็ทำให้มืดบอดต่อปัญหาของคนอื่นในสังคมด้วย คำพูดของ ว.วชิรเมธี มีอะไรที่ลึกซึ้งบ้าง ไม่มี แต่ทำไมคนถึงให้ความสำคัญ เพราะมันออกมาจากพระที่บอกว่าตัวเองอ่านพระไตรปิฎกเจนจบ เป็นศิษย์พุทธทาส (มติชนออนไลน์ 19 ส.ค.53)
 
คำวิจารณ์ดังกล่าวท้าทายจารีต “ยอ เกียรติพระ” อย่างจัง แต่จริงๆ แล้วการวิจารณ์เช่นนี้วิจารณ์จากจุดยืนวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ถือว่า “ทุกคนมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน” แม้สถานะทางสังคมจะต่างกัน โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะย่อมควรแก่การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ
 
ในทางพุทธศาสนาพระพุทธองค์ก็ยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ดังที่พระองค์วางหลักปฏิบัติแก่ชาวพุทธว่า “หากมีใครติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ชาวพุทธไม่ควรโกรธ ควรรับฟังอย่างมีสติ และจี้แจงไปตามความเป็นจริง”
 
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานในบ้านเราคือ เวลาเกิดปัญหาทางพุทธศาสนา หรือแม้แต่ปัญหาบ้านเมือง สังคมมักนึกถึงพระสงฆ์ แต่ไม่ได้นึกถึงพระสงฆ์ที่เป็น “องค์กร สงฆ์” มักนึกถึงพระสงฆ์ที่เป็นปัจเจกบุคคล เช่นเมื่อสมัย 6 ตุลา 19 ในยุคที่รัฐปราบปรามนักศึกษาด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” สื่อมวลชนก็ไปสัมภาษณ์ กิตติวุฑฺโฒภิกขุ ทำนองว่าฆ่าคอมนิสต์บาปหรือไม่ ท่านก็ตอบว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป”
 
ในยุคปัจจุบันไม่รู้ว่าสื่อไปสัมภาษณ์ท่าน ว.วชิรเมธี อย่างไร ถึงมีการนำเสนอคำตอบออกมาว่า “ฆ่า เวลาบาปมากกว่าฆ่าคน” แต่เท่าที่ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ท่านได้รับคำอธิบายว่าท่านพูดประโยคนี้ใน บริบทการสนทนาเรื่อง “การรู้คุณค่าของเวลา” โดยในการสนทนานั้นไม่ได้มีการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อสื่อนำไปเสนอกลับนำเอาไปโยงกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง
 
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อวิจารณ์ของคำ ผกา ที่ว่า “คำพูดของ ว.วชิรเมธี มีอะไรที่ลึกซึ้งบ้าง...” ผู้เขียนคิดว่าคำวิจารณ์นี้อาจนำไปตั้งคำถามกับการแสดงทัศนะทางการเมืองใน บางประเด็นของท่าน ว.วชิรเมธี ได้ เช่นที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์ทีวีไทย (ช่วงปลาย ปี 51) ตอนหนึ่งว่า
 
“เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราเอาแต่พระราชอำนาจมา แต่ไม่เอาทศพิธราชธรรมมาด้วย” หรือ“ประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน แต่เราลืมไปว่าประชาชนมีศักยภาพในการใช้อำนาจหรือยัง” หรือ“ทหารพยายามเข้ามาแก้ปัญหาคอร์รัปชัน” เป็นต้น
 
ทัศนะทางการเมืองดังที่ยกตัวอย่าง (เป็นต้น) นี้ย่อมหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ “แบบ คำ ผกา” ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะใครที่เคยอ่าน “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ฉบับเต็มย่อมทราบว่า ประกาศฉบับดังกล่าวโจมตีการคอร์รัปชันและการกดขี่ของระบบกษัตริย์อย่าง รุนแรง
ส่วนคำถามถึงศักยภาพการใช้อำนาจของประชาชน หรือวาทกรรม “ประชาชน ยังไม่พร้อม” ก็เป็นวาทกรรมที่ ท่านรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ วิจารณ์มานานแล้ว (ทำนอง) ว่า “เป็นคำพูดที่ชนชั้นนำชอบดูถูกประชาชน”
 
ยิ่งวาทกรรม“ทหารพยายามเข้ามาแก้ปัญหาคอร์รัปชัน”  ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นวาทกรรมที่ไร้ความหมายแค่ไหน
 
และข้อเท็จจริงในปัจจุบันยิ่งชี้ชัดว่า ประชาชนที่ถูกดูถูกว่าโง่ ไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกซื้อ ฯลฯ กลับเป็นฝ่ายที่เรียกร้องการเลือกตั้ง หรือยืนยัน “เสรีภาพ ในการปกครองตนเอง” แต่ฝ่ายที่อ้างว่า มีการศึกษาดี มีศีลธรรมสูงส่ง กลับเป็นฝ่ายที่เรียกร้อง “อำนาจนอกระบบ” หรืออำนาจที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับ “เจตจำนงทั่วไป” ของประชาชน
 
ฉะนั้น เมื่อพระพูดการเมืองก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านอย่างเราๆ มีสิทธิ์วิจารณ์ “คำพูด” ของพระได้เช่นกัน จะให้นั่งพนมมือสาธุๆ!! หรือเอาแต่ “ยอเกียรติพระ” ไปทุกเรื่องคงไม่ดีแน่ๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net