Skip to main content
sharethis
กองกำลังชนกลุ่มน้อยในพม่า 8 กลุ่ม ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามกองทัพพม่าโจมตีฐานชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน ด้าน “กองทัพรัฐฉาน-เหนือ” เผยกำลังถูกทัพพม่า “ตัดสี่” ขณะที่ “กองทัพรัฐฉาน-ใต้” กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือ ดีวีบี รายงานเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) ว่า แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ เอ็นดีเอฟ (the National Democratic Front - NDF) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ได้ประณามเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นโดยกองทัพพม่าในพื้นที่ขัดแย้งในรัฐฉาน
 
โดยทหารพม่าโจมตีกองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Army-North – SSA-N) และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progressive Party - SSPP) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับการยื่นคำขาดให้กองทัพรัฐฉานเหนือ ถอนกำลังออกจากฐานที่มั่นภายในวันที่ 20 มี.ค. และให้วางอาวุธทั้งหมดภายในวันที่ 1 เม.ย.
 
โดยแถลงการณ์ของ เอ็นดีเอฟ กล่าวว่า การโจมตีที่เกิดขึ้น ขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลพลเรือนประกาศว่าจะ “เดิน ไปตามเส้นทางประชาธิปไตย” ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่ามักจะประกาศอย่างเป็นทางการซ้ำไปมาว่าพม่ากำลังเปลี่ยนผ่านไป สู่การปกครองโดยพลเรือนหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ การโจมตีเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่บ้านหลวงเมืองออด อำเภอเมืองสู้ ซึ่งมีรายงานว่า “สูญเสียทั้งสองฝ่าย” โดยแถลงการณ์ของกองทัพรัฐฉานเหนือยังระบุด้วยว่า “ขณะนี้เป็นที่ชัดแจ้งสำหรับเราว่า ทหารพม่าเตรียมการใช้ ‘ยุทธวิธีตัดสี่’”
 
สำหรับยุทธวิธีตัดสี่ เป็นศัพท์ของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council - SPDC) อธิบายวิธีการโดดเดี่ยวและปิดล้อมกองกำลังกบฏ ซึ่งกองกำลังกบฏมักได้รับความสนับสนุนจากประชาชนท้องถิ่น ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกองทัพพม่าอธิบายยุทธวิธีของกองทัพพม่าว่าเหมือนกับการเผา ให้ราบ
 
แถลงการณ์ของเอ็นดีเอฟ ยังระบุว่า ยุทธวิธีของกองทัพพม่า “เป็น สาเหตุทำให้ ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไม่สิ้นสุด เนื่องมาจากการกระทำอันเลวร้ายของคณะรัฐบาลทหารพม่า”
 
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 มี.ค.) กองทัพพม่าจากกองพลทหารราบเบาที่ 33 ภายใต้กองทัพภาคตะวันออก บัญชาการโดย พล.ต.ซาน อู ได้โจมตีฐานทหารกองทัพรัฐฉานเหนือ ที่บ้านหัวน้ำ
 
ต่อมาในวันพุธที่ 16 มี.ค. มีรายงานว่า ทหารพม่าสามารถยึดพื้นที่ของกองทัพรัฐฉานเหนือที่บ้านน้ำเลา เมืองต้างยาน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองล่าเสี้ยว โดยทหารพม่าโจมตีฐานของทหารกองทัพรัฐฉานเหนือหลายแห่ง ซึ่งทหารกองทัพรัฐฉานเหนือระบุว่าเป็นการโจมตีอย่างหนักหน่วงโดยทหารพม่า โดยมีการระดมยิงปืนใหญ่ด้วย และยังมีรายงานว่ากระสุนปืนใหญ่ตกใกล้กับวัด ทำให้มีพระสงฆ์ 4 รูปมรณภาพ
 
พื้นที่การโจมตีของกองทัพพม่า นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ไม่เพียงแต่จะเป็นการต่อต้านกองทัพรัฐฉานเหนือ แต่ยังเป็นปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านกลุ่มที่มีกำลังมากกว่าอย่างกองทัพ สหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่าเกรงว่ากองทัพสหรัฐว้าจะร่วมมือกับกองทัพรัฐฉานอีกกลุ่มคือ กองทัพรัฐฉานใต้ (SSA–South) เพื่อช่วยเหลือกองทัพรัฐฉานเหนือ
 
จายหลาวแสง โฆษกกองทัพรัฐฉานใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวดีวีบีว่า ทหารพม่าเข้ามาลาดตระเวนในเส้นทางที่กองทัพรัฐฉานใต้สามารถเข้าไปในพื้นที่ กองทัพรัฐฉานเหนือได้ เช่นกัน พื้นที่ของว้าซึ่งข้ามไปอีกฟากของแม่น้ำสาละวิน ทหารพม่าก็ปิดกั้นเส้นทางที่จะข้ามจากเขตว้าเข้าไปในพื้นที่รัฐฉานเหนือเช่น กัน
 
ทั้งนี้กองทัพสหรัฐว้า มีกำลังราว 30,000 นาย ซึ่งมีรายงานว่ากองทัพสหรัฐว้าสามารถผลิตอาวุธขนาดเบาใช้เองได้ ถือเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ปราบได้ยากสุดสำหรับกองทัพพม่า ขณะที่กองทัพรัฐฉานใต้ ซึ่งแยกตัวจากกองทัพรัฐฉานเหนือ ก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังพลสนับสนุนขนาดใกล้เคียงกับกองทัพสหรัฐว้า
 
จายหลาวแสง ยังกล่าวด้วยว่า กองทัพรัฐฉานใต้ซึ่งนำโดย พล.ท.เจ้ายอดศึก กำลังหารือถึงการช่วยเหลือกองทัพรัฐฉานเหนือ อย่างไรก็ตามจายหลาวแสงระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่กล่าวถึงเรื่องนี้
 
สถานีโทรทัศน์ดีวีบี รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการเจรจากันระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าหลายครั้ง อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือทางการทหารในทางปฏิบัติยังคงล้มเหลว โดยการโจมตีกองทัพรัฐฉานเหนือล่าสุด จะกลายเป็นการชี้วัดว่ากองกำลังของชนกลุ่มน้อยต่างๆ จะมีเอกภาพเพียงพอที่จะต่อต้านกองทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าหรือไม่
 
แถลงการณ์ของเอ็นดีเอฟ ซึ่งใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าว ยังเตือนรัฐบาลทหารพม่าด้วยว่าการโจมตีจะเป็นการบีบให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย ร่วมมือกันต่อต้านและจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นที่เลวร้ายในพม่า ทั้งนี้นับเป็นความพยายามที่จะแสดงให้โลกเห็นความเป็นเอกภาพของกองกำลัง ชนกลุ่มน้อยในพม่า อย่างไรก็ตามผลในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของกองกำลังชนกลุ่มน้อยยังไม่ ปรากฏให้เห็น
 
ทั้งนี้กองทัพของรัฐบาลพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนรถหุ้มเกราะเบาซึ่งผลิตจากยูเครนและจีน มีกำลังพลราว 500,000 นาย ขณะที่ตัวเลขกำลังพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อยทั้งหมดรวมกันยังห่างจากจำนวนทหารพม่าอย่างมาก
 
ทั้งนี้กองทัพรัฐฉานเหนือถูกกดดันอย่าง หนักมาหลายเดือนแล้ว และมีการเคลื่อนกำลังของตนเข้าไปในพื้นที่ป่าของรัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถต่อต้านอำนาจการยิงที่เหนือกว่าของทหารพม่าได้ และสามารถตอบโต้ทหารด้วยวิธีจรยุทธ์
 
ทั้งนี้ สำนักข่าวฉาน ยังรายงานว่าผู้หญิงและเด็กในพื้นที่ปะทะได้ย้ายไปอยู่ในเมืองข้างเคียงแล้ว ขณะที่ผู้ชายได้รับการร้องขอให้ช่วยกองทัพรัฐฉานเหนือต่อต้านการรุกของกอง ทัพพม่า
 
สำหรับแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ เอ็นดีเอฟ ประกอบด้วยกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า 8 กลุ่ม ได้แก่ พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party (ALP) แนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front - CNF) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union - LDU) พรรคมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) องค์กรปลดปล่อยประชาชนปะโอ (Pa-O People’s Liberation Organization - PPLO) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปะหล่อง (Palaung State Liberation Front - PSLF) และองค์กรแห่งชาติว้า (Wa National Organization - WNO)
 
 
ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก
Burmese army in ‘heinous’ Shan assault, By JOSEPH ALLCHIN, DVB, 18 March 2011

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net