สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13 - 19 มี.ค. 2554

เตือนแรงงานไทย คิดไปทำงานลาว

นาย พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี เผยว่า กรมการจัดหางาน ได้รับแจ้งจากกรมการกงสุลว่าสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันบะเขตได้ช่วยเหลือแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานที่แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 115 คน ที่เดินทางไปทำงานกับบริษัทเอแอลพี พัฒนาครบวงจรและก่อสร้างชลประทาน จำกัด ประสบปัญหานายจ้างค้างค่าจ้าง ปัจจุบันยังมีการชักชวนเพื่อนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานกับบริษัทดังกล่าว โดยแรงงานไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูงมากแต่ไม่มีสัญญาจ้าง และไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องของกรมการจัดหางาน บริษัทจะให้พนักงานของตนเข้าไปติดต่อแรงงานไทยโดยตรง ทำให้ยากลำบากต่อการดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือ ขณะนี้สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับแจงว่าบริษัทฯ ได้ว่าจ้างแรงงานไทยชุดใหม่จำนวนประมาณ 20 คนเข้าไปทำงานอีก

สำนัก งานจัดหางานจังหวัดชลบุรี ขอแจ้งเตือนให้คนหางานและประชาชนได้ทราบว่าหากมีผู้มาชักชวนให้เกิดทางไปทำ งานต่างประเทศ โปรดอย่างหลงเชื่อ ควรตรวจสอบข้อมูลจากกรมการจัดหางานก่อนเพื่อมิให้ถูกหลอกลวง และเพื่อป้องกันคนหางานรายใหม่ที่อาจจะลักลอบเดินทางไปทำงานที่สาธารณรับ ประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่ผ่านขั้นตอนของกรมการจัดหางาน ขอให้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี เลขที่ 199 หมู่3 ถนนนารถมนตเสวี ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โทร 086-51652203 หรือ 038-398051

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 13-3-2554)

จี้แรงงานเร่งสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ในวาระใกล้ยุบสภาฯ

(13 มี.ค.54) โครงการ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย มูลนิธิแรงงานไทย สนับสนุนโดยสภาพัฒนาการเมือง จัดการเสวนาหัวข้อ "ยุบสภา! เลือกตั้งใหม่! เล่น(กับ)การเมืองอย่างไร? ให้แรงงานไทยมีอำนาจต่อรอง" ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์

ถามแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ทำไมกำหนดการเมืองไม่ได้
ลัด ดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง ปาฐกถาในหัวข้อ "สภาพัฒนาการเมืองกับแนวทางส่งเสริมสิทธิแรงงาน" ว่า ในวาระที่อาจมีการยุบสภาเร็วๆ นี้ มีคำถามท้าทายว่า ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ในสังคมได้ใช้ขบวนใหญ่ในทางการเมือง มากเพียงใด ได้เอาความคิดของผู้ใช้แรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อโยงกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเพียงใด

ลัด ดาวัลย์เปรียบเทียบว่า ก่อนหน้านี้ สภาพัฒนาการเมืองสนับสนุนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีบทบาทตัดสิน ใจนโยบายในชุมชน เช่นการทำถนน การดูแลป่า เพื่อสร้างฐานให้ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนแรงงานก็เช่นกัน ควรมีสหภาพที่เข้มแข็ง จัดการตนเองได้ มีสมาชิกที่ช่วยคิดทำให้สหภาพเข้มแข็ง โดยขณะที่ชุมชน มีบทบาทไปถึงระดับท้องถิ่น แรงงานก็ควรมีบทบาทในพื้นที่โรงงาน โดยให้เจ้าของโรงงาน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตทุกคน มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เพราะการใช้แรงงานเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ต้องไม่ให้ค่าสมองมากกว่าค่าแรงงานซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดผลผลิต เมื่อนั้น โรงงานก็น่าจะเติบโต

ลัด ดาวัลย์ กล่าวว่า อยากให้แรงงานตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และตั้งคำถามว่า ทำไมคนงานถึงปล่อยให้คนบางคนมาตัดสินใจแทน ทั้งที่เรามีจำนวนความคิดมากกว่า รวมถึงอยากเห็นพรรคแรงงาน ผู้ใช้แรงงานที่โดดเด่นเข้าไปนั่งใน สภาฯ เพื่อทำให้แรงงานเข้มแข็งขึ้น ให้ขบวนแรงงานขับเคลื่อนไปได้ ก้าวให้พ้นเรื่องค่าแรง สวัสดิการไปเรื่องอื่นๆ ให้มากขึ้น รวมถึงเกิดภาคีอื่นๆ มาร่วมกับแรงงาน

ชี้มีสัญญาณเตือนภัย ไม่มั่นใจมีเลือกตั้ง
ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน แสดงความเห็นว่า ยังไม่มั่นใจนักว่าจะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่ามีสัญญาณเตือนภัย เช่น เมื่อพูดเรื่องการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่มีโอกาสอยู่เสมอ เพราะดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยยินดีให้ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่อง มือแก้ปัญหาทางการเมือง นอกจากนี้ มองว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งจะไม่หายไป เพราะผู้ช่วงชิงอำนาจไม่มีฝ่ายใดมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งชัยชนะเด็ด ขาด และไม่มั่นใจกับกระบวนการเลือกตั้ง

ด้าน คู่ขัดแย้งทางการเมือง ศักดินากล่าวว่า กลุ่มเสื้อเหลืองพูดเรื่องการเมืองแบบเก่า มองหาอำนาจพิเศษมาเริ่มต้นการ เมืองใหม่ ส่วนกลุ่มเสื้อแดง พูดถึงการโค่นล้มระบอบเก่า สร้างรัฐไทยใหม่ มีการพูดถึงโมเดลอียิปต์พอสมควร ขณะที่ในการชุมนุมเมื่อคืน (12 มี.ค.) แกนนำมีสัญญาณว่าจะใช้ฐานเสื้อแดงลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คงขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะพัฒนาไปอย่างไร

นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวต่อว่า แรงงานไทย 37 ล้าน คนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในแง่การจัดสรรผลประโยชน์แล้ว สังคมผู้ใช้แรงงานควรมีรัฐบาลเป็นของตัวเอง แต่ในไทยยังไม่มี โดยยกตัวอย่างประเทศที่คนงานมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองว่า มีเงื่อนไขเรื่องระบบการเมืองที่เป็น ประชาธิปไตย โดยแบ่งหยาบๆ ได้ สามแบบคือหนึ่ง เสรีนิยม แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แบบที่ไทยเป็น สอง ประชาธิปไตยรวมศูนย์ ที่ใช้ในประเทศคอมมิวนิสต์ และสาม สังคมประชาธิปไตย ซึ่งคำนึงถึงความยุติธรรมทางสังคม ถ้าอยากให้คนงานมีส่วนทางการเมือง คนงานควรมีสิทธิเลือกว่าต้องการประชาธิปไตยแบบไหน ทั้งนี้ สังคมต้องเปิดต่ออุดมการณ์ที่เอื้อต่อชนชั้นแรงงาน รวมถึงมีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เป็นเอกภาพ ผู้ใช้แรงงานต้องมีจิตสำนึกทางชนชั้น ความตื่นตัวทางการเมือง

ศักดินายก ตัวอย่างการเข้าไปมีอิทธิพล ทางการเมืองของผู้ใช้แรงงานสองแบบ โดยแบบแรกคือเข้าไปเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองโดยตรง เช่น อังกฤษ สอง โดยอ้อม ทั้งนี้ไม่ว่าแบบไหน ล้วนแต่มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง มีสมาชิกจำนวนมาก เพื่อแข่งกับพรรคฝ่ายทุนได้ ขณะที่ไทยมีข้อจำกัด ทั้งประชาธิปไตยที่เราใช้เป็นแบบ เสรีนิยมที่เอื้อต่อทุน กำหนดโดยคนส่วนน้อย ทำให้คนงานทำได้แค่ผลักดัน ล็อบบี้ เรียกร้องบนท้องถนน ซึ่งเป็นไปอย่างจำกัด เพราะการเมืองบนท้องถนนก็กำลังถูกกีดกันด้วยกฎหมายการชุมนุมที่กำลังจะออก ด้านอำนาจต่อรอง ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง รวมถึงไม่มีการรวมตัวที่เข้มแข็งด้วย โดยมีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพฯ 1.3% ขณะที่เดนมาร์ก มีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากถึง 90%

นอก จากนี้ มองว่ายังไม่มีอุดมการณ์ร่วมที่จะเรียกร้องผู้ใช้แรงงานให้เป็นหนึ่ง เดียวกัน ขาดขบวนการสามประสาน ไม่มีวิสัยทัศน์ กลายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด และที่สำคัญ คนงานไม่ตื่นตัวทางการเมือง มองไม่เห็นความสำคัญของการเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง

สำหรับ ข้อเสนอระยะสั้น ศักดินาแนะนำว่า ต้องสร้างสายสัมพันธ์ เมื่อไม่มีพรรคของตัวเอง ก็ต้องสนับสนุนผู้ใช้แรงงานที่เข้าสู่การเมือง ส่วนข้อเสนอระยะยาว ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ขยายการจัดตั้ง เชื่อมขบวนการผู้ใช้แรงงานและเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน คิดเรื่องรูปแบบความสัมพันธ์ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไร

สุด ท้าย ศักดินาย้ำว่า ไม่มีทางลัดหรือเส้นทางพิเศษสำหรับผู้ใช้แรงงาน มีเพียงการทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง ซึ่งต้องใช้ความอดทนและมุ่งมั่นเท่านั้น

สุ นี ไชยรส นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไม่ว่ามีการเลือกตั้งหรือไม่ การเมืองก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะการเมืองเป็นเรื่องกำหนด นโยบาย แม้ไม่มีการเลือกตั้ง แรงงานต่อสู้ทางการเมือง โดยใช้พลังของแรงงานทุกรูปแบบ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในอดีต ยุคเผด็จการแรงงานก็เคลื่อนไหวได้

สุนีเสนอว่า ยังต้องต่อสู้แบบ "สาม ประสาน" ด้วยคือ การต่อสู้ร่วมกันของแรงงาน ชาวนาและปัญญาชน เพราะสังคมไทยไม่ใช่อุตสาหกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังต้องคาบเกี่ยวกับแรงงานภาคชนบท ถ้าไม่แก้ไขทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อต่อทุนทั้งระบบ จะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานในเมืองมีอำนาจต่อรองน้อยลง รวมถึงฝากว่าในวันแรงงานที่จะถึงนี้ ขบวนการแรงงานควรจะมีข้อเสนอต่อทุกพรรคการเมืองเพื่อกำหนดนโยบายในการเลือก ตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วย

ขณะ ที่ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แสดงความเห็นกรณีที่ให้เลือกตัวแทนของแรงงานด้วยกันเพื่อเข้าสู่การเมืองว่า คนเหล่านั้นจะต้องผูกโยงกับขบวนการแรงงานด้วย โดยทำพันธสัญญาต่อกัน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นลัทธิพรรคพวกไป

(ประชาไท, 13-3-2554)

กฟน.จี้รบ.เร่งเงินเดือน 5% พร้อมขรก. 1เม.ย.

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประจวบ คงเป็นสุข ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) พร้อมคณะ 10 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นยกรัฐมนตรีผ่านทางนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล  เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามติขอคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจ สัมพันธ์(ครส.) กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 21 ก.พ.54 ที่ให้ปรับขึ้นเงินเดือน 5 % .ให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ 3 กลุ่ม รวมทั้งปรับโครงสร้างของเงินเดือน   เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการในวันที่ 1 เม.ย.นี้ แล้วทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นทางสหภาพฯจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาและดำเนินการให้เงิน เดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจให้มีผลพร้อมกับข้าราชการเพื่อให้สอดคล้องกับค่า ครองชีพ

(เดลินิวส์, 14-3-2554)

ลูกจ้างกรมส่งเสริมการส่งออกโวยถูกเอาเปรียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า คณะลูกจ้างกรมส่งเสริมการส่งออกประมาณ 200 ราย ได้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาลูกจ้างกรมส่งเสริมการส่งออกที่ได้รับความเดือด ร้อนจากการกระทำของผู้บริหารที่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการจ้างจากลูกจ้างรับ เหมาบริการมาเป็นลูกจ้างตามระเบียบพัสดุ ทำให้ความมั่นคงในอาชีพหมดไป

เพราะ ไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างวันไหน เนื่องจากสัญญาจ้างทำเป็นแบบปีต่อปี จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์เข้ามาช่วยดูแล เพราะรัฐบาลดูแลแรงงานทั้งประเทศได้ แต่แรงงานของภาครัฐกลับไม่มีการดูแล ทั้งนี้ ในหนังสือระบุว่า เดิมการจ้างงานลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำตามระเบียบ ก.พ. และปรับฐานเงินเดือนขึ้นได้ตามวุฒิการศึกษา และปรับเงินเดือนขึ้นประจำปีละ 5% มี ประกันสังคม ประกันชีวิตหมู่ และมีค่าปฏิบัติงานล่วงเวลา แต่เมื่อปรับระบบการจ้างทำให้ลูกจ้างเดือดร้อนกันทั่วหน้าไม่มีสิทธิ์ได้รับ ค่าตอบแทนอื่นๆ นอกเหนือจากเงินค่าจ้าง

สำหรับ ลูกจ้างทั้งหมดจะ ถูกกรมส่งเสริมการส่งออกยกเลิกการเป็นลูกจ้างกับประกันสังคม และผลักภาระให้ไปจ่ายเอง สวัสดิการต่างๆ ก็ยกเลิก และยังมีแนวโน้มว่าผู้บริหารของกรมส่งเสริมการส่งออกจะทำการปรับลดเงินเดือน ให้เหลือตามวุฒิ ตามระเบียบการจ้างใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าคนทำงานมาเป็น 10-20 ปี จะกลับมามีเงินเดือนขั้นต่ำ 7,940 บาท ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะค่าครองชีพปัจจุบันนี้สูงขึ้นมาก นอกจากนี้ลูกจ้างตามระบบใหม่ยังได้รับผลกระทบจากการที่เงินเดือนออกไม่ตรง เวลา บางครั้ง 2 เดือนแล้วถึงจะออก

รวม ทั้งยังมีความเสี่ยงจากการปรับ ระบบการจ้างใหม่ โดยสิ้นเดือน มี.ค.นี้จะหมดสัญญาจ้าง ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร จะถูกจ้างต่อหรือเลิกจ้างหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันสำหรับลูกจ้างที่ต้องการขอหนังสือรับรองการทำงานเพื่อนำไป สมัครงานหรือเรียนต่อ แต่กรมส่งเสริมการส่งออกก็ไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำงานให้ โดยระบุว่าหากอยากได้ก็ให้ที่ทำงานใหม่แจ้งความประสงค์ขอหนังสือรับรองแนบ ประกอบคำขอเข้ามาถึงจะทำให้ ทั้งนี้ผู้บริหารได้ให้เหตุผลว่า ที่ต้องทำแบบนี้เพราะมีการขอหนังสือรับรองจำนวนมาก การออกให้ทำให้ต้องเสียเวลามาก

(บ้านเมือง, 14-3-2554)

แรงงานไทยกลับจากลิเบียรวมกว่า 10,000 คน อีก 2,000 คน ไม่ขอกลับ

ก.แรงงาน 15 มี.ค.- นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าของการอพยพแรงงานไทยกลับจากประเทศลิเบีย ว่า  ล่าสุดจนถึงเช้าวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามตารางการการอพยพคนงานกลับ มีแรงงานไทยเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้วจำนวน 10,107 คน โดยมาถึงในช่วงเช้า 47 คน ขณะที่ในช่วงบ่ายจะมีแรงงานไทยเดินทางมาอีกจำนวน 57 คน ซึ่งถือเป็นเที่ยวสุดท้ายของแรงงานไทยที่อพยพไปอยู่ที่เมืองตูนิส ประเทศตูนีเซีย  ตามตารางที่กระทรวงการต่างประเทศจัดไว้

อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีแรงงานไทยบางส่วน ที่เดินทางไปทำงานกับนายจ้างด้วยตนเอง ทยอยเดินทางกลับถึงไทย  จึง ยังคงเปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบใน ต่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน โดยคาดว่ายังมีแรงงานไทย ทำงานอยู่ในพื้นที่ทางภาคกลางของประเทศลิเบียที่ไม่มีสถานการณ์การสู้รบและ ไม่ประสงค์จะเดินทางกลับอีกกว่า 2,000 คน

(สำนักข่าวไทย, 15-3-2554)

ประกันสังคมช่วยลูกจ้างพีซีบีเซ็นเตอร์

รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด จำนวน 492 คน ซึ่งถูกเลิกจ้างกะทันหันเป็นการเร่งด่วน หลังบริษัทดังกล่าวประสบเหตุเพลิงไหม้โรงงานเสียหายอย่างหนัก ทำให้พนักงานร้องขอความช่วยเหลือเงินชดเชย ค่าจ้างบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างค้างจ่าย กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้อนุมัติเงินชดเชย และเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งสิ้นประมาณ 13 ล้านบาท ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเงินงวดแรกในเดือนมีนาคมนี้ สำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกในเรื่องของการมารายงานตัว เพื่อรับเงินชดเชยและเงินค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าว พร้อมทั้งเข้ารับอบรมฝีมือแรงงานตามความต้องการของผู้ถูกเลิกจ้างจากกรม พัฒนาฝีมือแรงงาน และได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชลบุรี และได้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือพนักงานเหล่านี้ ตลอดทั้งได้ทำการขายทรัพย์สินของบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อนำมาดำเนินการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างต่อไป

มีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงหรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรงให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด

(โพสต์ทูเดย์, 15-3-2554)

ขยายตลาดแรงงานไต้หวันได้อีก 3,000 อัตรารองรับแรงงานกลับจากลิเบีย

นาย สุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการเดินทางไปเยือนไต้หวันของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการแรงงานของไต้หวัน หรือ CLA ใน การขยายตลาดแรงงานเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากลิเบีย และผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยสามารถหาตำแหน่งงานว่างสำหรับแรงงานไทย ได้เพิ่มอีกกว่า 3,000 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้าง และพนักงาน ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน ทั้งกึ่งฝีมือและฝีมือ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อขอไปทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

นอกจากนี้ คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังเข้าไปช่วยดูแลปัญหาของแรงงานไทยใน ไต้หวันที่ล่าสุดมีจำนวนกว่า 65,000 คน ทั้งในส่วนของปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ควรเกิน 68,000-70,000 บาท โดยยังพบว่าแรงงานไทยบางส่วนยังถูกเรียกเก็บมากกว่า 100,000 บาท ซึ่งเตรียมให้ CLA จัด หาตำแหน่งงานจากนายจ้างและแจ้งกรมการจัดหางานโดยตรง รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การเก็บเงินค่าล่าม ค่าภาษีล่วงหน้า สวัสดิการที่พัก และอาหาร ไม่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งทาง CLA จะตกลงจะเข้าไปช่วยดำเนินการแก้ไข

นายสุธรรม กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน ยังมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกกักกันในไต้หวันเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 คน โดยช่วยเหลือในการสู้คดี ให้ได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาด้วย

(สำนักข่าวไทย, 15-3-2554)

เร่งให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในเมืองเซนได

นางจิราภรณ์ เกษรสุจริต รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกมล สวัสดิ์ชูแก้ว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่าย แรงงาน) สำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น (สนร.ญี่ปุ่น) รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า สนร.ญี่ปุ่น โดย นางเมทิกา สัตตานุสรณ์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (สอท. ณ กรุงโตเกียว) เดินทางไปยังเมืองเซนได จังหวัดมิยากิ เพื่อให้การช่วยเหลือแก่คนไทยและคนงานไทยอาศัยอยู่ที่ในจังหวัดมิยากิ ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยมีร้านอาหารไทยล้านนา ที่เมืองเซนได เป็นศูนย์กลางติดต่อกัน และให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จากการเยี่ยมคนไทย พบว่า ที่เมืองเซนได มีพ่อครัวไทย 3 คน ซึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมานานแล้ว และมีนักเรียนไทยประมาณ 30-40 คน และได้พบคนงานไทยที่นายจ้างจากประเทศไทยพาไปทำงานด้วยตนเอง 2 คน คือ นายวิษณุ เทียบถึง และ นายพิทักษ์ บุญกลาง ซึ่งทาง สอท.ณ กรุงโตเกียว ได้จัดเตรียมส่งรถไปรับคนไทยทั้งหมดกลับมายังกรุงโตเกียว ในวันที่ 15 มี.ค.2554 ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้น
      
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมกับกรมการจัดหางาน ทราบว่า ในเมืองมิยากิ ยังมีนายจ้างชื่อบริษัท Auto Cs Engineering ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี พาลูกจ้างไปทำงานด้วยตนเองอีก 2 คน ชื่อ นายสนอง บุญครอง และ นายคะนึง ทัศนเศรษฐ์ ซึ่งจากการสอบถามนายจ้างทราบว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวได้รับแจ้งจากโรงงานที่มิ ยากิว่าทุกคนปลอดภัยดี แต่หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อกันได้ ซึ่งทาง สนร.ญี่ปุ่น จะทำการตรวจสอบเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป สำหรับแรงงานไทย/คนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น หากต้องการติดต่อขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งข่าว ติดต่อ ศูนย์ให้การช่วยเหลือและบริการสอบถามข้อมูล ณ สถานเอกอัครราชทูต ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง สอท.ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับ สนร.ญี่ปุ่น และสำนักงานอื่นๆ ร่วมดำเนินการโดยติดต่อได้ที่ฝ่ายกงสุล โทร.090-4435-7812 หรือ ที่ สนร.ญี่ปุ่น 03-6272-5021-2
      
นอกจากนี้ นางจิราภรณ์ เผยถึงข้อมูลด้านการอพยพแรงงานไทยจากประเทศลิเบียไปยังสถานที่ปลอดภัยในต่าง ประเทศล่าสุด ณ วันที่ 13 มีนาคม 2554 ของศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน มีจำนวนแรงงานถึงประเทศไทยแล้ว 9,730 คน อยู่ในที่ปลอดภัยในต่างประเทศ 2,154 คน รวมทั้งสิ้น 11,884 คน และในวันที่ 14-15 มี.ค.2554 มีประมาณการคนไทยจะกลับมายังประเทศไทยจำนวน 548 คน ญาติพี่น้องแรงงานไทยทั้งกรณีลิเบียและสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนแรงงาน 1694 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พร้อมช่วยเหลือแรงงานไทย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-3-2554)

องค์การลูกจ้างร้องปลัดแรงงานหาทางออกสิทธิรักษาพยาบาลผู้ประกันตน

องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 7 สภา องค์การลูกจ้าง และสหพันธ์แรงงงานรัฐวิสาหกิจ เข้ายื่นหนังสือกับ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม ให้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหารือในกรณีที่มีการรณรงค์ให้ผู้ประกันตนหยุด ส่งเงินสมทบในส่วนของค่ารักษาพยาบาล สร้างความสับสนกับผู้ประกันตน

นาย มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข่าวที่เกิดขึ้นสร้างความสับสนให้กับผู้ประกันคนเกรงว่าจะส่งผลเสียกับกอง ทุนประกันสังคม หากมีการหยุดส่งเงินสมทบจริง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสอบถามจากผู้ประกันตนซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การ ลูกจ้างจำนวนมาก และเห็นว่าเรื่องนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องเร่งหาทางออก โดยเสนอให้ปลัดกระทรวง ทำหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์การนายจ้างลูกจ้าง และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมประชุมหาทางออกกับกรณีที่เกิดขึ้น

นาย มนัส กล่าวว่า สภาองค์การลูกจ้างฯ ได้เสนอทางออกให้ สปส.สร้างโรงพยาบาลต้นแบบในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการรักษาพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงในกรณีที่เป็นโรคร้ายแรง หรือประสบอุบัติเหตุ เพราะสิทธิรักษาพยาบาลด้อยสิทธิกว่า สปสช.หรือแนวคิดหาทางลดเงินสมทบ หากผู้ประกันตนไม่ได้ใช้สิทธิรักษากับ สปสช.

ด้าน นายสมเกียรติ กล่าวเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เตรียมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันต่อไป ส่วนการที่มีองค์กรรณรงค์หยุดส่งเงินสมทบนั้น ในแง่กฎหมายหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อหยุดส่งเงินสมทบจะมีความผิดตามกฎหมาย จึงขอฝากถึงกลุ่มนี้ด้วยว่าให้มองในระยะยาว หากให้รัฐอุดหนุนทั้งหมดจะเป็นการสร้างภาระแก่รัฐในอนาคต เพราะเงินที่มาอุดหนุนเป็นเงินภาษีทุกคน ไม่ส่งผลดีและไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

(สำนักข่าวไทย, 16-3-2554)

แรงงานลิเบียชาวลำปางโวยไม่ได้รับเงินช่วย

นาง สาวรัตนา อุทัยรัตน์ จัดหางานจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่าช่วงเช้าที่ผ่านมา บรรยากาศที่ สำนักงานจัดหางาน เป็นไปอย่างคึกคัก โดยในวันนี้ตลอดทั้งวัน มีแรงงานชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอำเภอเถิน และอำเภอสบปราบ ที่ไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ทยอยเดินทางกลับมาที่จังหวัดลำปาง แล้วเดินทางมาเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์ หลังได้รับผลกระทบจากการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งยอดรวมแรงงานเดินทางเข้ามาติดต่อขอรับเงินรวมแล้ว กว่า 363 รายแล้ว

ขณะ เดียวกัน เจ้าหน้าที่ ต้องทำงานกันอย่างหนัก เนื่องจากต้องตรวจเอกสารอย่างละเอียด พร้อมแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางกลับ ต้องบันทึกคำร้องด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แรงงานกว่า 363 ราย ทั้งหมด ที่มายื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์นั้น ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ แม้แต่รายเดียว เพราะทาง กรมการจัดหางาน ได้แจกจ่ายเงินตามจังหวัดที่มีแรงงานจำนวนน้อย ให้รับเงินไปก่อน ส่วนจังหวัดที่มีแรงงานเป็นจำนวนมากจะได้เงินภายหลัง

(ไอเอ็นเอ็น, 16-3-2554)

ลำพูนหวั่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นกระทบจ้างงานไทย

นาย สันติสุข วีรพันธ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่าช่วงบ่ายวันนี้ จะเรียกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามสถานการณ์เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ว่า จะส่งผลต่อภาวะการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนืออย่างไร

สำหรับ ประเด็นการหารือเร่งด่วนคือ การหาทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่น ผ่านทางนักลงทุนญี่ปุ่นในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และขอรับทราบข้อมูลรายงานผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ทั้ง นี้ หากเหตุการณ์ในญี่ปุ่นกระทบต่อการจ้างแรงงานในโรงงานของนักลงทุนญี่ปุ่น เชื่อว่ายังสามารถรับมือได้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกา และลุกลามไปทั่วยุโรป แต่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือยังมีการเลิกจ้างแรงงานน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่น.

(โพสต์ทูเดย์, 16-3-2554)

ลูกจ้าง บ.อาหารกระป๋องที่กระบี่ ก่อหวอดสไตรค์หลังไม่ได้ค่าแรง

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 16 มี.ค.  พนักงานบริษัทกูร์เมซเซ่ เวิลด์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 165 ม.8 ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ประมาณ 200 คน นำโดยนายวีรดล คงนคร อายุ 38 ปี ผู้จัดการฝ่ายคลังสินค้าของบริษัท นายประเสริฐ คงขำ หัวหน้าฝ่ายคลังสินค้า ได้มารวมตัวกันที่บริเวณประตูทางเข้าโรงงาน พร้อมถือป้าย ข้อความโจมตีเจ้าของโรงงาน และทวงเงินค่าแรง หลังไม่ได้รับค่าแรง มานานกว่า 1 เดือนเศษ พร้อมถือป้ายกระดาษข้อความประท้วงต่างๆ การประท้วงผ่านไปนาน 1 ชั่วโมง ยังไม่มีตัวแทนของทางบริษัท ดังกล่าวออกมาเจรจาพูดคุยกับกลุ่มผู้ประท้วงแต่อย่างใด

นาย วีรดล คงนคร ผู้จัดการฝ่ายคลังสินค้า บริษัทกูร์เมซเซ่ เวิลด์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทดังกล่าว เปิดเป็นโรงงานแปรรูอาหารทะเลส่งออก ประเทศญี่ปุ่น เปิดทำการมานานเกือบ 4 ปี แล้ว โดยมีเจ้าของและหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น การที่พนักงานพากันหยุดงานและออกมาประท้วงในวันนี้ สืบเนื่องจาก ทางบริษัท ไม่ได้จ่ายค่าจ้างพนักงาน มาเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนเศษแล้ว โดยตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ทางบริษัทเลื่อนการจ่ายค่าแรงพนักงานงานมาโดยตลอดจากปกติกำหนดจ่ายทุกวันที่ 1 ของเดือน แต่ระยะหลังเลื่อนเวลาจากเดิมออกไปเป็น 10 วัน บ้าง 15 วันบ้าง ทำให้พนักงานเดือดร้อน เพราะต้องกินต้องใช้

ผจก.ฝ่ายคลังสินค้า บริษัทกูร์เมซเซ่ฯ กล่าวต่อว่า ล่าสุดนัดจ่ายเงินในวันที่ 10 มี.ค.2554 ที่ผ่านมา แต่พอถึงเวลาก็ขอเลื่อนออกไปอีก 15 วัน และขอให้พนักงานทำงานต่อจนถึงสิ้นเดือน โดยทางเจ้าของบริษัทอ้างว่า ตั้งแต่เปิดบริษัทมาขาดทุนมากว่า 500 ล้าน บาทแล้ว ซึ่งตนเห็นว่าไม่มีความชัดเจน ตนและพนักงานคนอื่นๆ ไม่สามารถรอได้อีกต่อไป จึงได้นัดหยุดงานและมาประท้วงในวันนี้ หลังมีการประท้วงผ่านไป นานกว่า 1 ชั่วโมง ทางบริษัทยังไม่มีการส่งตัวแทนออกมาเจรจาแต่อย่างใด

นาย วีรดล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ได้ประสานไปยังแรงงานสัมพันธ์ กทม.เข้ามาช่วยเจรจาอีกทางหนึ่ง หากไม่สำเร็จ ทางบริษัทยังไม่มีคำตอบให้ในวันนี้ ทางพนักงานอาจจะเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเหนือคลอง เพื่อดำเนินการกับบริษัทดังกล่าวตามกฎหมาย ส่วนจะมีการชุมนุมยืดเยื้อหรือไม่นั้นต้องรอหารือจากแรงงานสัมพันธ์อีกครั้ง โดยจะเดินทางมาในช่วงเที่ยงวันนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ต่อมาเวลา 11.00 น.วัน เดียวกัน ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกระบี่ ได้เดินทางไปยังบริษัทดังกล่าว และนำตัวแทนพนักงานบริษัทขึ้นหารือกับทางผู้บริหารของโรงงาน โดย ขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

(ไทยรัฐ, 17-3-2554)

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ พ.ร.บ.ประกันสังคมขัดรัฐธรรมนูญ

นาย ปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ ประกันตน อาทิ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาองค์การนายจ้าง และชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน มาชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีการร้องเรียนว่าการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อนำไป เป็นค่ารักษาพยาบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า กฎหมายประกันสังคมในส่วนของการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนไปเป็นค่าดูแล สุขภาพ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ ระบุถึงการได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคล เพราะในขณะที่ สปส.เก็บเงินส่วนหนึ่งของผู้ประกันตนไปเป็นค่ารักษาพยาบาล แต่ สปสช.ดูแลสุขภาพคนทั้งประเทศในมาตรฐานเดียวกันโดยไม่ต้องจ่าย

ส่วนคำถามที่ว่าจะเป็นการสร้างภาระงบ ประมาณให้กับประเทศในอนาคตเพราะรัฐต้องจ่ายเงินค่าดูแลสุขภาพให้ผู้ประกันตน เกือบ 10 ล้าน คนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากในอนาคตประสบปัญหาเกี่ยวกับภาระงบประมาณ ก็อาจจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

นาย ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะเร่งทำหนังสือแสดงผลการวินิจฉัยถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะผู้รับผิดชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เนื่องจากขณะนี้กำลังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขอยู่ในสภา อย่างไรก็ตาม หากผู้เกี่ยวข้องยังเพิกเฉยก็จะพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ พิจารณาวินิจฉัยให้มีสภาพบังคับต่อไป

ด้าน นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ในฐานะผู้ยื่นคำร้องกล่าวว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินชัดเจนว่ากฎหมายประกันสังคมขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษา อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หารือกันไม่เกี่ยวกับว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลการรักษา พยาบาลผู้ประกันตน เพราะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการของรัฐ ตนในฐานะที่เป็นคณะกรรมการประกันสังคม เพียงอยากเห็นความเป็นธรรมของผู้ประกันตนเท่านั้น พร้อมเสนอให้นำเงินในส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ต้องจ่ายไปเพิ่มสิทธิ ประโยชน์ด้านอื่น เช่น เงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนแทน

(สำนักข่าวไทย, 17-3-2554)

"แรงงาน" ตื่นสั่งห้ามส่งคนงานไปญี่ปุ่นชั่วคราว

วันนี้ (17 มี.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กกจ.ได้มีคำสั่งให้หยุดการจัดส่งแรงงานไปทำงานสถานประกอบการขนาดกลางและขนาด เล็ก ประเทศญี่ปุ่น หรือ ไอเอ็มเอ็ม เป็นการชั่วคราว สืบเนื่องจากเหตุภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นประสบอยู่ โดยให้รอดูสถานการณ์ให้ผ่านเดือน เม.ย.ไปก่อน และวันที่ 23 มี.ค.นี้ ประธานไอเอ็มเอ็มญี่ปุ่น จะเดินทางมาเยือนไทย ซึ่งทางการไทยก็จะได้ขอรายงานเรื่องคนไทยในญี่ปุ่นว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร และมีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยหรือไม่

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า การจะนำกลับแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมี 2 แนวทาง คือ อายุการทำงานที่ทำไปแล้วไม่ถึงครึ่งหรือทำไปแล้วครึ่งหนึ่งของสัญญา และแรงงานที่ทำงานไป 80% ของ สัญญาให้เดินทางกลับมาประเทศไทยก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะได้รับเงินตามสัดส่วนเวลาที่เหลือของสัญญา ในขณะนี้มีคนไทยบางส่วนติดต่อขอกลับประเทศไทยมีทั้งผู้ที่เดินทางไปเอง นักศึกษา แรงงาน ซึ่งทางการไทยได้ส่งเครื่อง ซี 130 ไปรับวันนี้ (17 มี.ค.) คาดว่าจะออกเดินทางในเวลา 22.00 น. โดยจะนำคนไทยที่ไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินกลับมาพร้อมกลับเครื่อง ซี 130 ด้วย ทั้งนี้ทราบว่ามีแรงงานไทย 7 คนที่ไปทำงานเป็นพ่อครัวร้องขอกลับแล้ว

นาย จีรศักดิ์ ยังกล่าวถึงแรงงานไทยที่กลับจากประเทศลิเบียว่า กระทรวงแรงงานจะดำเนินการปิดศูนย์ช่วยเหลือที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 18 มี.ค. ทั้งนี้ได้มีการอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศ ลิเบีย 15,000 บาทไปแล้ว 1,710 คน เป็นเงิน 25 ล้านบาท และที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐานอีก 5,369 คน สำหรับเงินค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา 1,500 บาท อนุมัติจ่ายไปแล้ว 6,427 คน เป็นเงิน 9,640,500 บาท ส่วนกรณีความไม่สงบทางการเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลาง นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น อิหร่าน บาห์เรน เยเมน ซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะประเทศบาห์เรนสถานการณ์น่าเป็นห่วงเพราะมีแรงงานไทยทำงานอยู่เป็น จำนวนมากประมาณ 3,000 กว่าคน ซึ่งทางการไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง.

 (เดลินิวส์, 17-3-2554)

เฉลิมชัยเตรียมหาช่องแก้ กม.ให้ผู้ประกันตนเลือกระบบรักษาพยาบาล

วันนี้ (18 มี.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในส่วนของการเก็บเงินสมทบไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ว่า ทางกระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ประมาณ 2 สัปดาห์ ได้มอบหมายให้ นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการหาช่องทางแก้กฎหมาย หรือ อาจออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยเสนอแนวคิดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรักษาในระบบใดก็ได้
      
นาย เฉลิมชัย กล่าวว่า การที่จะให้เสนอแก้ไขกฎหมาย ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญแก้ไขกฎหมายประกันสังคมอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในอีกหลักการ ทั้งนี้ ข้อเสนอของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเพียงความคิดเห็น ส่วนกฎหมายประกันสังคมนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
      
ด้าน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด) กล่าวว่า หากได้รับหนังสือจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการ ตามลำดับชั้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายประกันสังคมได้มีการพิจารณากันเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็พูดถึงกันมา 30-40 ปี และผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรโดยที่ไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะถือว่าเป็นระบบสากลที่มุ่งเน้นให้ดูแลตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคม
      
เรายึดแนวทางนี้มาโดยตลอด ตอนหลังเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งในมาตรา 51 ระบุ ในทำนองว่าผู้ยากไร้ต้องได้รับบริหารด้านสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เอาเข้าจริงๆ ระบบของ สปสช.ก็เอาคนเข้ามาทั้งหมด ไม่ใช่แค่ผู้ยากไร้ การที่บอกว่าระบบประกันสังคมทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมอาจเป็นช่องทางให้นาย จ้างไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าประกันตนให้ลูกจ้างด้วยซ้ำนายสมเกียรติ กล่าว
      
ผู้ สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอของฝ่ายลูกจ้างที่ให้สร้างความเท่าเทียม กัน โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนให้ผู้ประกันตนเท่ากับผู้รับบริการของ สปสช.นายสมเกียรติ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ดี เพราะจะได้นำเงินในส่วนที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายไปใช้ต่อยอดในด้านอื่นๆ แต่ตนไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณมากพอที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่
      
นาย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการตัดสิน เพราะเป็นปัญหาที่เหลื่อมล้ำมานานมาก ควรที่จะพิจารณาแก้ไขโดยทันที โดยรัฐบาลต้องนำเงินมาสมทบให้ผู้ประกันตนในส่วนของการรักษาพยาบาลเพื่อให้มี สิทธิเท่าเทียมกัน เหตุใดผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่มในส่วนของการรักษาพยาบาล ในขณะที่คน 47 ล้านคนของ สปสช.ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาในส่วนดังกล่าว ทั้งที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-3-2554)

ปลัด ก.แรงงาน พร้อมส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมาย ก.แรงงาน พิจารณาหากมีการตีความว่ากฎหมายประกันสังคมขัดรัฐธรรมนูญจริง

นาย สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในส่วนของการเก็บเงินสมทบเป็นค่ารักษาพยาบาลเพราะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ กับผู้ประกันตน และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า ยังไม่ได้รับหนังสือการพิจารณาจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หากได้รับหนังสือก็จะส่งเรื่องให้ฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงแรงงาน พิจารณา ซึ่งหากได้ข้อยุติว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม มีข้อบกพร่องก็พร้อมพิจารณาแก้ไข และหากศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเชิญเข้าชี้แจงก็พร้อมเข้าชี้แจง แต่ในเบื้องต้นมีขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขกฎหมายอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการใช้กฎหมายประกันสังคมมีตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 51 ได้ กำหนดเรื่องการรักษาพยาบาล ว่า ผู้ยากไร้มีสิทธิ์รักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงไม่แน่ใจว่ากฎหมายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกกลุ่มตรงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนการที่ระบุว่าระบบประกันสังคมทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม อาจเป็นช่องทางให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างด้วย

ปลัด กระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า หากมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในส่วนของการรักษาพยาบาลให้กับ ผู้ประกันตนเท่ากับจ่ายให้ สปสช.ได้จริง ก็เป็นเรื่องที่ดี สปส.จะได้นำเงินในส่วนที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายในส่วนรักษาพยาบาลไป ต่อยอดด้านอื่นๆ ให้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นและดีกว่าระบบ สปสช. ทั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณมาอุดหนุนในส่วนนี้หรือไม่

(สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 18-3-2554)

จี้อาชีวะปรับปรุงภาษาก่อนโดนแย่งงาน

นาย พันธุ์ศักดิ์ โรจนากาศ รองเลขา ธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สอศ.ได้ร่วมมือกับสำนัก งานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนกระบวนการการเรียนรู้พัฒนาคุณภาพของงานวิจัย อาชีวศึกษา ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาให้เข้มแข็ง นำไปสู่การต่อยอด นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการคิดค้นของนักเรียนและครู ทั้งนี้ สิ่ง ประดิษฐ์ที่ผ่านมาของเด็กนักเรียนอาชีว ศึกษาเป็นสิ่งประดิษฐ์เชิงทดลองที่ผลิตได้แค่ชิ้นแรก แต่ผลิตชิ้นต่อไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้วิจัย ซึ่งที่ผ่านมาทาง สอศ.เคยร่วมมือกับ สกว.มาแล้วผ่านโครงการ อาทิ การสร้างครูนักจัดกระบวนการเรียนรู้ และโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นต้น

"ตอน นี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้นัก เรียนอาชีวศึกษาสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว เพราะแรงงานต่างประเทศพูดภาษาอังกฤษได้กันเกือบหมดแล้ว ต่อไปถ้ามีการทำหลักสูตรก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ และถ้ามีงบก็ต้องทำการวิจัยเพื่อออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนานักเรียน อาชีวศึกษาต่อไป"

ด้าน นายวีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนอาชีวศึกษาภาคเอกชนได้วางแผนรองรับกับการที่จะมีประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนไว้แล้ว โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาภาษาของแรงงานอาชีวศึกษา อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน ผ่านชุดการสอนต่างประเทศ และกิจกรรมที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติได้ในปีการศึกษา 2554 ที่จะถึง โดยจะเน้นนักเรียน ปวช. และ ปวส.ชั้นปีที่ 1 คาดว่าเมื่อนักเรียนเรียนจบตามหลักสูตรก็สามารถออกไปทำได้เลย

"ที่ ผ่านมาเรียนตามโครงสร้างมากเกิน ไปทำให้เด็กเรารู้แต่พูดไม่ได้ ทำให้เด็กมองว่าถ้าเราไม่มีการพัฒนาด้านภาษาก็จะเสียเปรียบในเวทีอาเซียนได้ เพราะแรงงานจากต่างประเทศมีความสามารถด้านภาษามากกว่า ทั้งๆ ที่ฝีมือแรงงานของเราฝีมือและความสามารถดีกว่า อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีแผนจะตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ทำหน้าที่เพิ่มความสามารถให้วิชาชีพทั้งฝีมือและภาษาให้แรงงาน เบื้องต้นอยู่ในขั้นตอนการรับรองของการกฤษฎีกา และวางโครงสร้างและบุคลากรอยู่" นายวีรวัฒน์กล่าว

(ไทยโพสต์, 19-3-2554)

ส.อ.ท.หนุนลดภาษีนิติบุคคลแลกขึ้นค่าแรง

นาย พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการรับได้กับแนวคิดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะลดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล เพื่อแลกกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยหากมีการปรับลดภาษีที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ร้อยละ 18-20 ก็ จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการปรับขึ้นค่าแรง โดยการปรับขึ้นค่าแรงนั้น ควรมีการพิจารณาผ่านกลไกของไตรภาคี อีกทั้งเห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการปรับองค์กฎหมาย เพื่อดูแลแรงงานต่างด้าวให้เกิดความถูกต้อง นอกจากนี้ เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการยกเลิกการควบคุมราคาสินค้าเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทางด้านกลไกตลาดที่ถูกต้อง

(ไอเอ็นเอ็น, 19-3-2554)

นายกฯ หว่านเอกชนลดภาษีเงินได้แลกกับขึ้นค่าแรง หวังสานนโยบายที่จะขึ้น 25% ใน 2 ปี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวปากฐถาพิเศษในการร่วมประชุมสภาอุตสาหกรรม 5 ภาค หัวข้อ "ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างภาครัฐและเอกชน" ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

โดยตอนหนึ่งนายกฯ กล่าวย้ำนโยบายขึ้นค่าแรง 25% ภายในสองปี ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ว่า ตนขออธิบายแนวคิดของตนและไม่ขออธิบายให้เพื่อไทย ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องการทำเรื่องค่าแรงถ้าดูสัดส่วนของค่าจ้างต่อร่ายได้ของ ประเทศ ถือว่าประเทศไทยยังมีสัดส่วนค่าจ้างค่อนข้างต่ำทำให้เรื่องโครงสร้างความ เป็นธรมมีช่องว่างตรงนี้ ซึ่งของไทยเกือบแย่ที่สุดในหลายๆภูมิภาค

นายกฯ กล่าวอีกว่า มีคนบอกว่าค่าจ้างจะสูงได้คุณภาพแรงงานต้องดีก่อน แต่ในวันที่ประชุมหน่วยงานด้านการศึกษาพบว่าขณะนี้การผลิตงานกับการสร้างคน ไม่ตรงกัน ซึ่งเรื่องอัตราค่าจ้างมันก็เป็นเหมือนไก่กับไข่ แต่ตนคิดว่าต้องปรับตรงนี้

นายกฯ กล่าวอีกว่า อีกปัญหาที่คนวิจารณ์มากคือเรื่องของแพง เวลาเราพูดเรื่องของแพงแล้วเราต้องควบคุมผู้ประกอบการตลอดเวลาซึ่งผู้ประกอบ การก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าเรามาเจรจากันตลอดว่าตลาดเท่านั้นเราต้องควบคุมเท่านั้นก็ทำให้กลไก ธุรกิจเดินไม่ได้  อย่าง เรื่องน้ำมันปาล์มที่ขาดตลาดเพราะการตกลงราคาไม่สอดคล้องกับต้นทุนจึง ไม่มีใครอยากขายขาดทุน ฉะนั้นถ้าเราบอกว่านี่เป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องมีกลไกควบคุมชัดเจน

"ต้อง เอาระบบการแข่งขันมาเป็นตัว ควบคุม เพราะถ้ามีการแข่งขันจริงก็เอารัดเอาเปรีบไม่ได้ แต่ชาวบ้านนั้นรายได้ต้องเพิ่มขึ้น ถ้าเราขึ้นค่าแรงได้การควบคุมราคาสินค้าก็จะลดลง ต้องนั่งเจรจาเรื่อย เช่น เรื่องน้ำตาลในตอนนี้ที่จะส่งเงินเข้ากองทุนหรือจะยังไงก็เถียงกันไป มา"นายกฯ กล่าว

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นนาย อภิสิทธิ์ กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า ดังนั้นเราต้องลดต้นทุนด้านอื่น คือลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทันทีที่นายกฯกล่าวประโยคนี้จบทำให้สมาชิกสภาอุตสาหกรรมที่นั่งฟังใน ห้องประชุมพากันปรบมือถือให้กับแนวทางนี้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อทันทีว่า "ปรบมือผมถือว่าท่านยอมเรื่องค่าแรงแล้วนะครับ"

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า จะต้องทำไปด้วยกันคือต้องดูนโยบายและผลกระทบให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ควบคู่กันไปเราจะให้ผู้ใช้แรงงานมีสวัสดิการหลักประกันความมั่นคง

(แนวหน้า, 19-3-2554)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท