Skip to main content
sharethis

“คน เฒ่าคนแก่ที่พูดว่า- -ในอนาคต จะมีสัตว์ร้ายอย่างหนึ่งที่เข้ามาหาพวกเรา มันเข้ามาแล้ว มันจะดูดกลืนเราทั้งหมด...ตอนแรกเราก็งง แต่มาตอนนี้เราถึงบางอ้อ คือคนเฒ่าคนแก่บอกว่าสัตว์ร้าย เป็นงูยักษ์นั้น เราก็เข้าใจว่า อาจจะเป็นถนนโค้งเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้คนในหมู่บ้านนี้ถูกดูด กลืนเด็กวัยรุ่นเข้าไปในเมืองแล้วก็คายกลับมา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ กินเหล้ากินยา วัฒนธรรม ค่านิยมที่ผิดๆ แล้วเขาก็อ้วกกลับมา ให้กับหมู่บ้าน ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนไปมาก ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง”

นพรัตน์ ฤทัยกริ่ม
เยาวชนปกาเกอะญอ มูเจะคี อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่

 

มูเส่คี หรือ มูเจะคี ที่คนชนเผ่าปกาเกอะญอในแถบป่าสนวัดจันทร์เรียกขานกัน ว่ากันว่า แต่ก่อนนั้นเป็นดินแดนที่ผู้คนมีวิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสอดคล้อง แนบแน่นและกลมกลืนมาช้านาน ท่ามกลางป่าสนธรรมชาติผืนใหญ่นับแสนๆ ไร่ อันเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำแจ่ม ที่ไหลลงไปหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิงในตอนลุ่มน้ำตอนท้ายของ จ.เชียงใหม่

ทว่า มูเจะคี ในวันนี้ เริ่มมีเสียงครวญจากคนในพื้นที่มากขึ้นแล้วว่า เริ่มเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว หลังจากมีสิ่งใหม่ในนามของ ‘ความ เจริญ’ และ ‘การพัฒนา’ เดินทางเข้ามาตามถนนใหญ่จากถนนฝุ่นกลายเป็นถนนลาดยางคดโค้งอ้อมป่าอ้อมดอย จากเขต อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เข้ามาสู่ชุมชนวัดจันทร์ และที่สำคัญ เมื่อล่าสุด, พื้นที่มูเจะคี หรือวัดจันทร์ ได้กลายเป็นอำเภอกัลยานิวัฒนา อำเภอใหม่ล่าสุดของ จังหวัดเชียงใหม่

... อำเภอที่ชาวบ้านบอกว่า รัฐตั้งใจจะให้เป็นเป็นอำเภอต้นแบบ อำเภอแห่งสนพันปี อำเภอการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศ

แน่นอน ว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้มีหลายสิ่งหลายอย่างได้เข้ามากระชากวิถีชีวิตชนเผ่าให้ต้องปรับตัว เรียนรู้กันยกใหญ่ สองข้างทาง จึงมองเห็นความแปลกใหม่ที่คนในชุมชนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น แต่ต้องรับรู้และยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ เช่น ร้านค้าขายเหล้าเบียร์ ร้านอาหารและเกสเฮ้าส์ผุดขึ้นมาให้เห็น แม้กระทั่งร้านเสริมสวย หรือไก่หมุน ที่เด็กๆ หลายคนเรียกกันว่า ‘เค เอฟซีดอย’ ก็ถูกตั้งวางขายริมข้างถนนที่ยังเป็นฝุ่นสีแดงฟุ้งกระจายอยู่ยามรถยนต์วิ่ง สวนทางกันไปมา และนั่นอาคาร ธกส.และบริษัทปล่อยเงินกู้สินเชื่อชื่อดัง ได้มาเปิดสาขาถึงบนดอยแห่งนี้ เพื่อรองรับให้ชาวบ้านบนดอยที่ไม่มีเงิน ได้มากู้หนี้ยืมสินกันถึงในเขตชุมชนของตนเองได้รวดเร็วมากขึ้น

เงินและระบบทุนนิยม จึงทำให้ตรรกะการใช้ชีวิตของคนบนดอยจึงเปลี่ยนไป
จากเดิม ไม่มีเงิน ไม่มีหนี้ = มีความสุข
ต้องเปลี่ยนเป็น ไม่มีเงิน กู้ได้ มีหนี้ = มีแต่ทุกข์

และที่หลายคนเริ่มเป็นวิตกกังวลกันมาก ก็คือ ถนนและความเจริญได้ดึงวัยรุ่นคนหนุ่มคนสาว บ้างถูกฉุดกระชากลากไปสู่วิถีเมืองใหญ่ ก่อนหวนกลับคืนมาสู่หมู่บ้านเกิดของตนอย่างสะบักสะบอม บ้างนำสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นอารยะ เช่น การเสพเหล้า บุหรี่ วัฒนธรรมข้างล่าง อย่างการแต่งกาย การแต่งรถ ขับรถชิ่ง ขึ้นมาระบาดไปหลายชุมชนบนดอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้ พวกเขารวมกลุ่มกัน วิเคราะห์และหาทางออกกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างเรียนรู้ อย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน โดยเยาวชนปกาเกอะญอกลุ่มนี้ ตั้งชื่อกลุ่ม โช โพเก่อเรอ บ้านหนองเจ็ดหน่วย’ จนกระทั่งได้กลายเป็น ‘กลุ่มละครเร่มูเจะคี’ ขึ้น มา เพื่อช่วยกันสะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนให้เด็กๆ เยาวชน คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ได้ฉุกคิดตรึกตรอง ตระหนักและหาหนทางแก้ไขร่วมกันในอนาคต ผ่านตำนานเรื่องเล่าและ ละคร 2 เรื่อง ซึ่งล้วนบ่งบอกถึงบางสิ่งที่กำลังเข้ามาและบางอย่างกำลังสูญหายไปจากชุมชน

เรื่องแรก คือ ฉ่าอิ๊เกระ’ เป็นเรื่องของชุมชนหนึ่ง มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกันมาก นับวันยิ่งมีจำนวนผู้คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้อาหารการกินใน ชุมชนน้อยลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา  และทำให้ผู้คนเริ่มกักตุนอาหารไว้ให้มากขึ้น ซึ่งทำให้แม่บ้านคนหนึ่ง ต้องการกักตุน กุ้ง หอย ปู ปลา เหมือนกับคนอื่นบ้าง เธอจึงออกไปหามาไว้ในบ้าน แต่หามาแล้ว เธอยังไม่พอ ยังมีความอยาก มีความต้องการได้อีก เพื่อที่จะได้กินเก็บตุนไว้ให้ได้หลายๆ มื้อ หลายๆ วัน ไปในลำห้วย เจอรูที่ไหนก็ล้วงที่นั่น ล้วงไปล้วงมา มือเธอก็เลยติดอยู่ในรูนั้น ดึงเท่าไหร่ก็ไม่หลุดออก พอติด สามีก็เดือดร้อน ลูกๆ ก็เดือดร้อน ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็เดือดร้อน จนสุดท้ายเอามือออกมาไม่ได้ เธอหมดสติและเสียชีวิตอยู่ตรงนั้ ทว่าพอสิ้นลมหายใจ มือของเธอกลับหลุดออกมาจากรูนั้นได้อย่างง่ายดาย...

ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ สรุปให้ฟังตอนท้ายว่า ละครเรื่องนี้ พยายามจะสื่อว่า บางทีเราก็ต้องดูกำลังของเรา ตามวิถีของเราเอง กินเท่าที่เรามี ทำเท่าที่เราจะกิน แต่ถ้าเราทำเกินกว่าที่เรากิน เรากินเกินกว่าที่เรามี มันจะมีปัญหา”

 

เรื่องที่สอง เป็นเรื่อง หน่อเดะโพ’ หญิง สาวกับกระบอกไม้ไผ่ที่ใส่น้ำ แต่กระบอกไม้ไผ่ได้ตกหล่นลงไป แล้วก็ลอยไปตามน้ำ พอมันลอยไปตามกระแสน้ำ เธอก็ตามไป ไปถึงต้นกล้วย เธอก็ไม่ได้ตัด ไปเจอต้นซุง เธอก็ไม่ล้ม พอไปเจอหิน ก็ไม่ล้ม หลังจากนั้นกระบอกไม้ไผ่ก็ลงไปในน้ำวน...หลังจากหญิงสาวตกเข้าไปใน วังวนของทรายในน้ำนั้น ก็ไปเจอยักษ์ตนหนึ่งก็พยายามจะกลืนเธอ เธอก็พยายามบอกว่า “อย่ากินฉันเลย ฉันจะไปทำอาหารให้ ฉันจะไปช่วยปรนนิบัติ” เธอก็พยายามบอกว่า เธอทำอะไรได้บ้าง...จากนั้น เธอจึงได้อยู่ร่วมกับครอบครัวของยักษ์ ดูแลปรนนิบัติยักษ์นั้นอย่างดี จนได้รับความรัก ความไว้เนื้อเชื่อใจ

....หลังจากนั้น ยักษ์ก็ให้เลือกระหว่างกระบุงเก่า กับกระบุงใหม่ เธอก็เลือกกระบุงเก่าเพราะมันมั่นคงถาวรกว่า และมีสิ่งที่มีค่าอยู่ในนั้น หลังจากนั้นยักษ์ให้ห่อข้าวมาสี่ห่อ   ขี้ไก่ กับขี้คน เธอไม่เอา แต่ได้เลือกเอาข้าวกับไข่ไก่...ฯลฯ

ชิ สุวิชาน อธิบายถึงสัญลักษณ์ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ซ่อนไว้ในนิทานในละคร ให้เข้าใจได้ชัดขึ้นว่า ต้นกล้วย หมายถึง ความอุดมชุ่มชื้นของทรัพยากร โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ต้องดูแลอย่าไปมองข้าม, ต้นซุง คือผืนป่าและทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติ ก็ต้องดูแล ต้นซุงอาจหมายถึงความชรา ผู้อาวุโส เพราะฉะนั้น ผู้รู้แขนงต่างๆเหล่านั้น เราอย่าไปมองข้าม, หิน หมายถึงสิ่งที่มั่นคง อาจหมายถึงที่ดิน ถ้าที่ดินยังอยู่กับเรา เรายังสามารถกำหนดอะไรเองได้แต่ถ้าที่ดินอยู่ในมือคนอื่นเราหมดสิทธิ์ และน้ำวน อาจหมายถึง วังวนของการพัฒนาของระบบทุนนิยม!

ส่วนในเนื้อเรื่องละครตอนท้าย ที่ให้เลือกกระบุงเก่ากับกระบุงใหม่ และห่อข้าวกับห่อขี้ไก่ขี้คน นั้นอาจต้องการสื่อให้ลูกหลานชนเผ่าได้รู้จักเลือกรับ เลือกปฏิเสธกับสิ่งที่กำลังเข้ามาในวิถีชีวิต

ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมของเรา ซึ่งนับวันมันกำลังลอยไปตามกระแสการพัฒนา กระแสการเปลี่ยน เหมือนกับกระแสน้ำในละคร ในนิทาน” ชิ สุวิชาน กล่าวในตอนท้าย

เช่นเดียวกับ นายนพรัตน์ ฤทัยกริ่ม เยาวชนปกาเกอะญอที่มานั่งชมละคร ก็บอกเล่าความรู้สึกหลังดูละครเรื่องนี้จบลงว่า เรื่องนี้ เขาต้องการสื่อให้รู้ว่า สมัยปัจจุบันนี้ไม่เหมือนกับยุคเมื่อก่อน คือเมื่อก่อนจะมีความไว้ใจ มีความซื่อตรงมากกว่าสมัยนี้ แต่สมัยนี้มันเปลี่ยนไปมาก เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น

ละครเรื่องนี้ก็จะสะท้อนให้ชาวบ้านรู้ว่า เราอยู่ในหมู่บ้านนี่เรากำลังจะมีของขวัญชิ้นใหญ่มา บางทีอาจเหมือนชาวบ้านบอกว่า เราจะมีอำเภอเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ให้ชาวบ้าน แล้วการมาของของขวัญนั้น คือห่อมาอย่างดี แพ็คกล่องแต่งด้วยลวดลายอย่างดี ซึ่งเราไม่อาจเดาได้ว่าข้างในนั้นเป็นอะไร เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้และเห็นได้ คือ ถ้าเราแกะออกมา เราก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่แม้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราก็ต้องระวังตัวเอาไว้ เราต้องไม่ลุ่มหลงหรือว่าเชื่อ และไม่โลภ ถ้าภายนอกมีอะไรมา เราต้องคิดถึงสิ่งเดิมๆ หรือสิ่งเก่าๆ ของเราเอาไว้ มันก็มีค่า ควรจะรักษาไว้ไม่ให้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาทดแทนหรือว่าทำให้มันสูญหายไปได้”

เยาวชนคนนี้ ยังบอกเล่าถึงคำสอนของคนเฒ่าคนแก่ที่พูดว่า- -ในอนาคตมันจะมีสัตว์ร้ายอย่างหนึ่งที่เข้ามาหา มันเข้ามาแล้วมันจะดูดกลืนเราทั้งหมด

ตอนแรกเราก็งง แต่มาถึงตอนนี้ถึงบางอ้อ ว่าสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่ที่บอกว่าสัตว์ร้าย และเขาระบุด้วยว่าเป็นงูยักษ์ เราก็มานั่งวิเคราะห์จากคำทา ซึ่งมันอาจจะเป็นถนนหรือเปล่า ถนนที่โค้งเข้ามาในหมู่บ้าน แล้วเข้ามาดูดกลืนเด็ก วัยรุ่นเข้าไปในเมือง แล้วก็คายกลับมา พร้อมสิ่งร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ กินเหล้ากินยา วัฒนธรรม ค่านิยมที่ผิดๆ แล้วเขาก็อ้วกกลับมาให้กับหมู่บ้าน”

กลุ่มละครเร่มูเจะคี ที่เยาวชน ‘โช โพเก่อเรอ บ้านหนองเจ็ดหน่วย’ ได้เดินทางสัญจรไปแสดงตามโบสถ์ ตามชุมชน หลายๆ หมู่บ้านในเขตพื้นที่มูเจะคี ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆ เยาวชน คนหนุ่มคนสาว ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นอย่างมาก

ละครเร่มูเจะคี เป็นการนำเอาละคร นิทาน เรื่องเล่าของพี่น้องปกาเกอะญอที่ทุกคนเคยรับรู้รับฟังมากระตุ้นให้ชาวบ้าน ได้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ใช้ละครเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความตระหนักร่วม ในการเลือกรับและเลือกปฏิเสธ สิ่งที่จะเข้ามาในแต่ละชุมชน โดยให้เด็กเป็นคนสื่อสารซึ่งอาจดีกว่าให้ผู้ใหญ่สื่อสาร เด็กเขาก็ทำได้ดี เราก็แค่เป็นคนเอื้ออำนวย เหมือนกับว่าเราได้สายเลือดใหม่เข้ามาที่จะสืบสานต่อยอดความคิดต่อไป” ชิ สุวิชาน กล่าวในตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net