Skip to main content
sharethis
กฟผ.นำกำลังเจ้า หน้าที่ กว่า 60 คน พร้อมเครื่องสำรวจขุดเจาะบุกที่ดินชาวบ้าน จ.อุดรธานี ปักเสาไฟฟ้าแรงสูงและวางแนวสายส่งไฟฟ้า ที่ไทยจะรับซื้อจากเขื่อนน้ำงึมในลาว ขณะที่ยังเป็นคดีอยู่ในชั้นศาลปกครอง
 
 
 
จากการติดตามกรณีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.พยายามลงพื้นที่สำรวจที่ดิน เพื่อทำการก่อสร้างเสาและวางแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 ที่ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม สปป.ลาว ซึ่งแนวสายส่งดังกล่าวพาดผ่านที่นาของชาวบ้านใน อ.เมือง และอ.กุมภวาปี ทำให้เกิดการคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยขณะนี้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 55 ราย ได้ยื่นฟ้องคดีขอให้ กฟผ.เพิกถอนการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวต่อศาลปกครองขอนแก่น และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอุดรธานี โดยมีการโอนคดีจากศาลปกครองขอนแก่นมายังศาลปกครองอุดรธานี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ กฟผ.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ อปพร.จากท้องที่ อ.เมือง อ.กุมภวาปี และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ช่างรังวัดและขุดเจาะสำรวจดิน จำนวนทั้งหมดกว่า 60 คน โดยมีอุปกรณ์ช่างและอาวุธพร้อมมือ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายยังได้เหน็บอาวุธปืนพกสั้นที่เอว ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ได้เดินทางไปที่บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในบริเวณที่นาของนายสง่า บุญโยรัตน์ และนางเคียม สุวรรณะ จากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้กรูลงไปในที่นาของชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านที่เฝ้าระวังพื้นที่อยู่พยายามทักท้วงและกั้นขวางไว้ไม่ให้เข้า ไปในพื้นที่ แต่ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยกันให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.และหน่วยช่างเข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่จนแล้วเสร็จ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายสง่า ซึ่งอยู่ในวัยเกือบ 70 ปี เป็นลมล้มฟุบลงไป ทำให้ลูกหลานต้องรีบนำไปปฐมพยาบาล ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ ได้แต่ต่อว่าเจ้าหน้าที่ บ้างก็ร้องห่มร้องไห้
 
จากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ยกกำลังพลจากบ้านเหล่ากล้วย ไปยัง บริเวณที่นาของนายบุญเลี้ยง โยทะกา ที่บ้านแม่นนท์ หมู่ 2 ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยนายบุญเลี้ยง และกลุ่มชาวบ้านที่เฝ้าระวังอยู่ได้ช่วยกันขัดขวาง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ด้วยเช่นกัน จึงเกิดการเข้าเจรจา ระหว่างทางเจ้าหน้าที่ กฟผ.กับชาวบ้าน โดย เจ้าหน้าที่ กฟผ.บอกว่าการเข้าสำรวจพื้นที่เป็นการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการฟ้องร้องเป็นเรื่องของศาลนั้นก็จะมีการดำเนินการจะทำควบคู่กันไป แต่นายบุญเลี้ยงยืนยันไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินของตน และระบุว่า กฟผ.และเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในพื้นที่เป็นผู้บุกรุก
 
“คุณกำลังขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานมีความผิดตามกฎหมาย” เจ้าหน้าที่ กฟผ.คนหนึ่ง กล่าว ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้นายบุญเลี้ยงออกไปเพื่อจะได้ขุดเจาะสำรวจดิน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่กลุ่มชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้มีการผลักดันกันอยู่นั้น ได้มีกลุ่มชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอีกประมาณ 50 คน เดินทางมาช่วยนายบุญเลี้ยง โดยได้ช่วยกันด่าทอ และขับไล่ อยู่เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จึงสามารถผลักดันให้เจ้าหน้าที่ออกจากที่นาของนายบุญเลี้ยง แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการขุดเจาะสำรวจดิน โดยขยับออกห่างจากจุดเดิมที่จะตั้งเสาไฟฟ้าในที่นาของนายบุญเลี้ยงไป ประมาณ 50 เมตร ขณะที่เจ้าของที่นาในแปลงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในบริเวณ
 
ผู้สื่อข่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้มีหนังสือแจ้งมายังกลุ่มชาวบ้านที่ถูกเสาไฟฟ้าและแนวสายส่งพาดผ่าน จำนวน 10 ราย ในพื้นที่บ้านแม่นนท์ หมู่ 2 ต.หนองไผ่ อ.เมือง และบ้านเหล่ากล้วย หมู่ 3 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี ว่าจะลงมาทำการก่อสร้างเสาและขอเข้าพื้นที่ โดยเริ่มเข้ามาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.53 แต่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 มี.ค.54 เจ้าหน้าที่ กฟผ.ก็ได้เดินทางเข้าไปในที่ดินของนายบุญเลี้ยง เพื่อเข้าสำรวจดินก่อนทำการก่อสร้างเสาไฟฟ้า แต่นายบุญเลี้ยง ได้ออกมาขัดขวาง และใช้เวลาเจราจาเกือบ 1 ชั่วโมง จนชาวบ้านข้างเคียงหลายสิบคน ทนดูพฤติกรรมของ เจ้าหน้าที่ กฟผ.ไม่ไหว จึงออกมาช่วยเหลือและให้กำลังใจนายบุญเลี้ยง จากนั้นเจ้าหน้าที่ กฟผ.จึงถอยกลับไป
 
ช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงทำหนังสือส่งไปถึง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงาน กฟผ. ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ กฟผ. ยุติการลงพื้นที่เพื่อเข้ามาดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงในบริเวณที่ดิน ของชาวบ้านในรายที่ยังไม่ยินยอม จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครอง และขอให้เลิกพฤติกรรมข่มขู่ชาวบ้าน หลังจากนั้นในวันที่ วันที่ 22 มี.ค.54 กกพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำบันทึกถ้อยคำชาวบ้าน ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ลดความตึงเครียดลง แต่ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์การเผชิญหน้าดังกล่าวขึ้นอีก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net