Skip to main content
sharethis

ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดี 3 ส.ว. ฟ้องสื่อมวลชนหลายแห่ง ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ระบุโจทก์เบิกความยอมรับเองว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ จำเลยจึงมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของโจทก์ทั้งสามได้

วันนี้ (31 มี.ค. 2554) เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา บัลลังก์ 901 ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล และ พลตำรวจตรีเกริก กัลยาณมิตร และพลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ 1, บริษัท วัชรพล จำกัด ที่ 2,นายสุนทร ทาซ้าย บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ และสื่อมวลชนอื่นๆ รวม 8 คน เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 จำเลยที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 8 ได้นำเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์

โดยเฉพาะเว็บไซต์ไทยรัฐ พาดหัวข่าว “เรืองไกร เล่นแรง ยื่น ป.ป.ช.-กกต. สอย ก๊วนรสนา” และรายงานข่าวต่อไปว่า กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญ....นายเรืองไกร จึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการกระทำของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธร รมาภิบาล วุฒิสภา และ ส.ว.คนซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย มีการกระทำใดๆ ไม่ว่าทางตรง หรือ ทางอ้อมอันเป็นการขัดขวาง หรือ แทรกแซงการเสนอข่าว หรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรคหนึ่งหรือวรรคสองหรือไม่ และถือเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรคสามหรือไม่...ทำให้เข้าใจว่าได้ใช้สถานะ หรือ ตำแหน่งการเป็น ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ... อันเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามต่อบุคคลที่สามและสาธารณชนโดยทั่วไป โดยประการที่ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือ ถูกเกลียดชัง

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ถึงกรณีที่ตนยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.และ กกต. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสามว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งคำว่า “หรือไม่” นั้น เป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความสงสัยและไม่ยืนยันว่าโจทก์ทั้งสามกระทำผิดจริงหรือไม่ อีกทั้งปรากฏจากคำถามค้านของทนายจำเลยและโจทก์เองก็ได้เบิกความยอมรับว่า โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของโจทก์ทั้งสามได้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาไม่สุจริตและหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสาม นอกจากนี้ ปรากฏจากคำถามค้านของทนายจำเลยถึงคำว่า “ก๊วน” ที่โจทก์อ้างในฟ้องหมายความว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ดี โจทก์เองก็มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าไม่ดีอย่างไร ทั้งโจทก์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านก็ไม่ทราบว่า คำว่า “ก๊วน” ไม่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรม แสดงว่าที่โจทก์อ้างว่าคำว่า “ก๊วน” ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายนั้นเป็นความเข้าใจของโจทก์เอง และโจทก์ก็ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของเว็บไซต์ไทยรัฐหรือไม่ คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลพอที่ศาลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง

เรียบเรียงจาก ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net