'มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก' โดย เบน แอนเดอร์สัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภัควดี ไม่มีนามสกุล แปลจากปาฐกถา เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 54 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่<--break- />

เบเนดิก แอนเดอร์สัน

 

ผม ได้รับเชิญให้มาเสนอทัศนะของ “คนนอก” เกี่ยวกับการเมืองไทยให้เพื่อนๆ ทั้งหลายฟัง ผมจะพยายาม แต่ไม่แน่ใจว่า ความหมายของ “คนนอก” จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ มันเป็นแค่คำสุภาพที่ใช้แทนคำว่า “ฝรั่ง” ซึ่งหมายถึงชาวตะวันตกที่ไม่ใช่พลเมืองไทย พอรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเมืองไทยและได้เปรียบที่มีระยะห่าง แต่เสียเปรียบที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งและสม่ำเสมอ นัยยะที่แฝงอยู่ก็คือ ฝรั่งที่เขียนเกี่ยวกับสยามย่อมมีมุมมองที่แตกต่างอย่างมากจากชาวไทยที่มี การศึกษา แต่ผมกลับคิดตรงกันข้าม

ผมรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว นักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการฝรั่งต้องพึ่งข้อมูลและความคิดเห็นจากนัก หนังสือพิมพ์และนักวิชาการไทยอย่างมาก ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิชาการอย่างคริส เบเกอร์ ซึ่งมีความเป็นอังกฤษมาก พำนักอาศัยในสยามมายาวนาน มีความรู้ภาษาไทยดี และเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการเมืองไทยได้อย่างโดดเด่นยอดเยี่ยม คริส เบเกอร์ กับ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ร่วมกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยสมัยใหม่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังร่วมกันแปลวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นวรรณคดีเอก ของไทยด้วย เราควรเรียกคริส เบเกอร์ว่า “คนนอก” หรือเปล่า? แต่จริงหรือไม่ว่ามีชาวสยามหลายล้านคนที่อาจถือเป็น “คนนอก” เช่นกัน?

ผม จะเล่าเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจให้ฟัง ไม่กี่เดือนก่อน ผมได้คุยกับคนขับรถแท็กซี่ที่ขับพาผมไปสนามบินหนองงูเห่า เขาอายุกว่า 50 ปี และมีพื้นเพมาจากย่านเยาวราช ผมถามว่าเขาคิดอย่างไรกับทักษิณ คำตอบของเขาทำให้ผมแปลกใจ“ทักษิณสุดยอด ผมสนับสนุนเขา 100%” พอผมถามว่าทำไม เขาตอบว่า “เพราะทักษิณเป็นจีนแคะเหมือนผม จีนแคะเป็นคนจีนที่ดีที่สุด กล้าหาญ เข้มแข็ง ซื่อสัตย์และขยัน จีนแคะเป็นผู้นำกบฏไต้ผิงที่เคยยึดภาคใต้ของจีนไว้ได้และเกือบโค่นล้ม ราชวงศ์ชิงของแมนจูเรีย ศัตรูของทักษิณในเมืองไทยเป็นจีนฮกเกี้ยน ไหหลำ และแต้จิ๋ว ต้นตระกูลของอภิสิทธิ์เป็นฮกเกี้ยนผสมเวียดนาม สนธิ ลิ้มทองกุลเป็นไหหลำ และคนในวังส่วนใหญ่เป็นแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยนเป็นพวกขี้ประจบ ขี้เกียจ ขี้โกหก ไหหลำสกปรกและฉวยโอกาส ส่วนคนแต้จิ๋วเป็นพวกเจ้าเล่ห์และไม่ซื่อสัตย์” ผมถามว่า แล้วคนไทยล่ะ เขาตอบว่า คนไทยเป็นคนง่ายๆ เอาแต่สบาย ไม่ค่อยรับผิดชอบ คิดแต่เรื่องกินกับเรื่องเซ็กส์ ลงท้ายผมเลยพูดขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้น การเมืองสยามก็เหมือนการเมืองในสามก๊กสิใช่ไหม? คนขับแท็กซี่ก็หัวเราะเห็นด้วย

คนมลายูในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้คิดอย่างไรต่อการเมืองไทย? ชาวเลหรือชาวขแมร์ในอีสานตอนใต้หรือคนธรรมดาในต่างจังหวัดคิดอย่างไรต่อการ เมืองไทย? แน่นอน มีการสำรวจความคิดเห็นอยู่บ้าง แต่ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจก็ต้องตอบตามกรอบความคิดที่เป็นที่นิยมในหมู่นัก สำรวจ ผมยังไม่เคยเจอใครที่พยายามมองการเมืองไทยผ่านสายตาของชนกลุ่มน้อย ประชาชนในเมืองเล็กๆ หรือในชนบท เพื่อนๆ ลองคิดดูก็ได้ว่า ประชาชนเหล่านั้นอาจเป็น“คนนอก” ยิ่งกว่านักข่าวฝรั่งหรือนักวิชาการฝรั่ง เสียอีก โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงทัศนะแบบภูมิภาคนิยมที่เริ่มปรากฏให้เห็นในช่วง 15 ปีหลังมานี้ รวมทั้งความไม่พอใจและไม่ไว้ใจใน “กรุงเทพ” ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย คราวนี้ผมจะขอแสดงทัศนะของตัวเองบางอย่าง ซึ่งอาจจะผิดก็ได้

อ.เกษียร เตชะพีระ หนึ่งในนักศึกษาที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยสอน เขาบรรยายถึงระบบการเมืองไทยในปัจจุบันว่าเป็น“กึ่งประชาธิปไตย” นี่คือคำ นิยามที่พบมากที่สุดที่คนนอกมักใช้อธิบายระบบการเมืองในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย แต่ในทัศนะของผม ประเทศเหล่านี้ รวมทั้งสยามด้วย จริงๆ แล้วอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มคณาธิปไตย มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป กลุ่มคณาธิปไตยเหล่านี้มักเป็นกลุ่มเครือญาติ ลูกหลานไปโรงเรียนเดียวกัน มีธุรกิจเกี่ยวโยงกัน แต่งงานเกี่ยวดองกันเอง รวมทั้งมีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่แข่งขันกันเอง พวกเขามีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน บางครั้งอย่างดุเดือดด้วย แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาตัดขาดจากคนกลุ่มอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง พวกเขามีความยืดหยุ่นพอที่จะดูดคนอื่นที่เป็นกึ่งคนนอกจากกลุ่มต่างๆ เข้ามา แต่ต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่พวกเขาตั้งขึ้นเท่านั้น พวกเขามีหลักจรรยาบรรณบางอย่างด้วยซ้ำ เช่น ไม่ใช้เรื่องอื้อฉาวทางเพศมาโจมตีกันเอง เป็นต้น สัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นคณาธิปไตยอย่างชัดเจนก็คือการไม่มีฝ่ายค้าน เป็นกลุ่มก้อนที่มีระบบจัดการที่ดี อีกสัญญาณหนึ่งคือการที่ ส.ส. ย้ายพรรคกันง่ายๆ และรวดเร็วเวลามีการจัดตั้งรัฐบาลผสม เนวินเคยเป็นมือขวาของทักษิณ แล้วจู่ๆ ก็ย้ายมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งต่อต้านทักษิณ

สิ่ง ที่สำคัญมากที่จะทำให้ระบอบคณาธิปไตยตั้งมั่นอยู่ได้ก็คือความเชี่ยวชาญใน การควบคุมระบบการเลือกตั้ง เมื่ออินโดนีเซียจัด “การเลือกตั้งเสรี” ขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากโค่นล้มซู ฮาร์โตลงได้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่สื่อตะวันตกโหมประโคมว่าเป็นการวางรากฐานระบอบ ประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ผมบังเอิญได้พบกับเพื่อนร่วมงานอาวุโสชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และอันที่จริงก็เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อผมถามความคิดเห็นของเขา เขาส่ายหน้าและบอกว่า “อินโดนีเซียมีระบบการเลือกตั้งที่แย่ที่สุดเท่าที่ผม เคยเจอมา นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุหรือสัญญาณของความโง่เขลา ผู้นำทางการเมืองที่นั่นรู้ดีว่าตัวเองกำลังทำอะไรในระหว่างที่ร่างกฎหมาย การเลือกตั้ง”

ลักษณะของคณาธิปไตยอีกประการหนึ่งที่สามารถ สังเกตเห็นได้ก็คือ ภาษาแบบลำดับชั้นที่ชนชั้นนำใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม คำที่เป็นกุญแจสำคัญคือคำว่า “ให้” ระบอบคุณพ่อใจดีจะ “ให้”การศึกษาเกือบ ฟรีแก่ลูกหลานของชาติ เงินอุดหนุนแก่เกษตรกร อุปกรณ์เตือนภัยสึนามิ เงินกู้ดอกเบี้ยถูก คอมพิวเตอร์สำหรับโรงเรียนประถม ผ้าห่มและเมล็ดพันธุ์แก่ชนกลุ่มน้อย “ล้าหลัง” ฯลฯ ผมเองไม่ได้ชื่นชมระบบการเมืองของสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร แต่ประชาชนในสองประเทศนี้คงรู้สึกแปลกหรือกระทั่งรู้สึกเหมือนถูกดูถูก หากประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีในประเทศของพวกเขาพูดอะไรอย่าง เช่น “ให้” งานใหม่หนึ่งล้านตำแหน่ง ผมเกรงว่าแม้แต่นักวิชาการระดับแนวหน้าของไทยก็ไม่ได้ใส่ใจต่อภาษาแบบ คณาธิปไตยในประเทศไทยมากพอ ในอินโดนีเซียวันนี้ เราจะพบบ่อยๆ ว่า กลุ่มคณาธิปไตยมักบ่นว่า rakyat masih bodoh หมายความว่า มวลชนยังโง่/ไม่รู้เรื่อง สำนวนประโยคนี้เกิดขึ้นในยุคหลังประกาศเอกราชเมื่อ 60 ปีก่อน เมื่อคนอินโดนีเซียคิดว่าความโง่เขลาของประชาชนที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมจะ หายไปในเร็ววัน จนถึงทุกวันนี้ พวกคณาธิปไตยก็ยังใช้ภาษาแบบเดิมอย่างไม่ละอายแก่ใจ โดยส่อความหมายชัดเจนว่า มวลชนจะโง่แบบนี้ตลอดไป และเพราะเหตุนี้เอง ระบอบคณาธิปไตยแบบคุณพ่อใจดีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประเทศ

ไม่ ใช่เรื่องน่าประหลาดที่ความหลงใหลในความเจ้ายศเจ้าอย่างแบบศักดินาจอมปลอม เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในหมู่ชนชั้นกลางที่หวังไต่เต้า แต่สำหรับชนชั้นนี้ไม่มีคำว่า “ให้” ใน ค.ศ. 1910 เกือบหนึ่งในสามของประชากรผู้ใหญ่ในนิวยอร์กทำงานเป็นแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก คนขับรถ ยาม ฯลฯ ยี่สิบปีต่อมา เมื่อมีการผลิตเครื่องมือในการทำความสะอาดและดูแลบ้านจนกลายเป็นสินค้าของคน หมู่มากไปแล้ว ประชากรที่ทำงานประเภทนี้ก็ค่อยๆ สาบสูญไป แต่ไม่ใช่เช่นนั้นสำหรับชนชั้นกลางในประเทศคณาธิปไตยแห่งอุษาคเนย์ ทั้งๆ ที่ทุกบ้านก็มีเครื่องมือพวกนี้อยู่แล้ว แต่คนรับใช้กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะอย่างหนึ่ง และมักถูกแม่หรือย่ายายในครอบครัวกระฎุมพีกดขี่รังแกทั้งทางร่างกาย จิตใจและการเงิน นี่บอกอะไรเราได้ไม่น้อยเกี่ยวกับทัศนคติของเฟมินิสต์ชนชั้นกลางบางคนที่ จ้างคนรับใช้เอาไว้ ในสมัยก่อน ผู้ดีศักดินาถือว่าคนรับใช้เป็นบริวาร และมักรักษาความสัมพันธ์กันแบบระยะยาว ชนชั้นกลางไม่ได้มองว่าคนรับใช้เป็น“บริวาร” จึงจ่ายค่าจ้างให้อย่างขี้ตืด และไล่คนรับใช้ออกเป็นนิจสิน คนรับใช้มักถูกมองว่าเป็นคนไว้ใจไม่ได้ ขี้โกหก ขี้ขโมยและขี้เกียจ ไม่ใช่คนที่น่าไว้ใจ ตลอดเวลากว่า 10 ปี ผมมอบโบนัสปีใหม่ให้แก่ยาม แม่บ้านและพนักงานในออฟฟิศที่ทำงานในคอนโดระดับชนชั้นกลางที่ผมอาศัยอยู่ ผมทึกทักมาตลอดว่าผู้อาศัยอื่นๆ อีก 250 รายในคอนโดนั้นคงทำอย่างเดียวกัน เพิ่งปีนี้เองที่ผมพบว่า มีเพียงอาจารย์ชาญวิทย์กับผมเท่านั้นที่ทำแบบนี้ ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมองว่าคนทำงานเหล่านี้เป็นแค่ “คนรับใช้” ชื่ออะไรยัง ไม่สนใจอยากรู้จักและไม่ควร “ตามใจ” ให้เสียคน การตามใจมีไว้สำหรับลูกๆ ของพวกเขาที่มักเสียเด็กอยู่แล้ว เวลาไปภัตตาคารและห้างสรรพสินค้า เราจะเห็นชนชั้นกลางวัยกลางคนเรียกบริกรและพนักงานขายว่า “น้อง” ฟังดูก็ เหมือนมีอัธยาศัยดี แต่คนพวกนี้ไม่เคยสนใจอยากรู้ชื่อของ “น้อง” พนักงาน และจะโกรธด้วยถ้าหากน้องพวกนี้บังอาจเรียกเขาว่า “พี่” คนในแวดวง มหาวิทยาลัยมักแสดงปาฐกถาโดยเรียกผู้ฟังด้วยคำยุคศักดินาว่า“ท่าน” มากกว่า คำอย่าง “สหาย” หรือ “เพื่อน” ประเทศนี้ยังมีคุณหญิงและท่านผู้หญิงเยอะแยะ ซึ่งในความรู้สึกของผม มันเป็นสิ่งที่น่าขันมากสำหรับยุคสมัยใหม่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “brothers” เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมและความสมานฉันท์ แต่คำนี้แปลเป็นไทยไม่ได้ คนไทยต้องใช้คำที่มีลำดับชั้นคือ พี่ หรือ น้อง ซึ่งมีนัยยะซ่อนเร้นถึงความไม่เท่าเทียมและการยอมอยู่ใต้อำนาจ เราสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยซ้ำไปว่า มีลำดับชั้นแบบกึ่งศักดินาฝังรากลึกอยู่ในภาษาไทย

คราว นี้ผมขอกล่าวถึงแง่มุมอื่นๆ ที่สำคัญอีกสองประการในการเมืองยุคปัจจุบัน ก่อนที่จะสรุปความคิดเห็นง่ายๆ สองสามประการเกี่ยวกับอนาคตที่อาจเป็นไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปไม่ค่อยมีการพูดหรือเขียนถึง

ประการ แรกคือภูมิภาคนิยม ใครก็ตามที่ไปร่วมการชุมนุมขนาดใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงต้นๆ เมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว คงจะสังเกตเห็นว่า ป้ายผ้าส่วนใหญ่บ่งบอกว่าผู้ประท้วงมีพื้นเพมาจากภาคอีสาน แต่เรื่องที่สะดุดใจผมคือ ผู้ชุมนุมชาวอีสานส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหนุ่มสาว ไม่ใช่วัยรุ่น ไม่ใช่นักศึกษา แต่เป็นประชาชนอายุราว 50 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผมสงสัยว่าเคยมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสยามมาก่อนหรือเปล่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? โดยเฉพาะในเมื่อภาคอีสานขึ้นชื่อในเรื่องการซื้อเสียงและอิทธิพลของเจ้าพ่อ ด้วย 

ในทัศนะของผม การจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ต้องอาศัยประวัติศาสตร์สมัยใหม่เท่านั้น จวบจนกระทั่งปลายทศวรรษ 1970 กล่าวในทางการเมืองแล้ว อีสานเป็นพื้นที่ของฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากความยากจนและการดูถูกดูหมิ่นจากกรุงเทพและภาคกลาง พคท. มีฐานสนับสนุนเข้มแข็งที่สุดในภาคอีสาน ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงครั้งหนึ่งในสยาม อีสานเป็นภาคเดียวที่เลือก ส.ส. จากพรรคสังคมนิยมและพรรคพลังใหม่ อีสานเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการกดขี่ทางการทหารภายใต้ยุคเผด็จ การสฤษดิ์และหลังจากนั้น และเป็นภาคที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการล่มสลายของ พคท.ที่เจ็บปวดที่สุด หลังจาก พ.ศ. 2519 สยามไม่เหลือพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีความสำคัญบ้างอีกเลย 

ดัง นั้นเอง การที่ชาวอีสานหันไปหาการขายเสียง จึงเป็นหนทางเดียวในการได้รับประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ จากระบบการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบคณาธิปไตย คนหนุ่มสาวที่เติบโตขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1970 ตอนนี้อยู่ในช่วงวัย 50 หรือ 60 ปี และทักษิณเปิดโอกาสให้พวกเขากลับเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองอีกครั้ง ซึ่งมากกว่าการขายเสียงง่ายๆ และการยอมจำนนต่อเจ้าพ่อ ชาวอีสานหลายแสนคนอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ นอกภาคอีสาน (แม้แต่ในย่านเยาวราชเดี๋ยวนี้ก็มีชาวอีสานมากกว่าชาวจีนเสียอีก) สื่อมวลชนที่มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็สะท้อนสถานะของชาวอีสานในสังคมไทยเป็นอย่างดี คุณเคยเห็นความงามผิวคล้ำแบบชาวอีสานในหนังหรือละครทีวีครั้งสุดท้ายเมื่อ ไร? ผู้บริโภคชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็น “ลูกจีน” ดังนั้น จินตภาพของความงามในทีวีจึงห่างไกลจากความเป็นอีสานมากที่สุดเท่าที่จะมาก ได้ “หน้าตา” ที่ชวนใฝ่ฝันต้องเป็นแบบลูกจีนหรือลูกครึ่ง ชาวอีสานถูกกดให้อยู่แต่ในบริบทของละครตลก ตลกคาเฟ่และตัวตลกทะลึ่งตึงตังในบทของคนรับใช้เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่แนวคิดภูมิภาคนิยมของอีสานยังมีประเด็นอื่นมากกว่านั้น 

ระหว่าง การชุมนุมของเสื้อแดง ผมสังเกตว่านักปราศรัยที่เจนเวทีอย่างณัฐวุฒิและจตุพรแทบไม่เคยเอ่ยถึงสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ทั้งๆ ที่ประชาชนในสามจังหวัดนั้นถูกกดขี่ร้ายแรงยิ่งกว่าชาวอีสานเสียอีก ยอดผู้ถูกสังหารในกรุงเทพฯ ซึ่งมีบ้างที่เสียชีวิตจากน้ำมือเสื้อแดง แต่ส่วนใหญ่ตายเพราะกองทัพมากกว่า เป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงและสื่อในกรุงเทพฯ กล่าวขวัญถึงว่าเป็นโศกนาฏกรรมระดับชาติ ไม่มีใครเอ่ยขึ้นมาเลยว่า การฆาตกรรมที่ตากใบแห่งเดียวก็มีจำนวนมากกว่าคนตายที่กรุงเทพฯ นี่ยังไม่นับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสงครามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความเป็นภูมิภาคนิยมของอีสานทำให้ทุกอย่างโฟกัสอยู่ที่ปัญหาของตัวเองเท่า นั้น ส่วนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ยิ่งไม่แยแสปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแค่ความรู้สึกว่า ตราบที่อาณาเขตนี้ยังเป็นของ “ไทย” ชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นนั้นจะล้มหาย ตายจากไปอย่างไรก็ไม่สำคัญ

ประการที่สองคือ การเมืองของชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีในกรุงเทพฯ ทั้งกระฎุมพีใหญ่และกระฎุมพีน้อย ความเชื่อส่วนหนึ่งเกี่ยวกับความก้าวหน้าและประชาธิปไตยในโลกตะวันตกมัก ยกย่องให้ชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีมีบทบาทสำคัญมาก ความเชื่อนี้ไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด (แม้มักจะลืมกันไปง่ายๆ ว่า มีประชาชนถูกประหารในช่วงเวลาแค่สองสัปดาห์ที่ชนชั้นกลางทำลายปารีสคอมมูนใน ค.ศ.1871 ในจำนวนที่มากกว่าตลอดช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยซ้ำ) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเบ่งบานของนักเขียนนวนิยาย จิตรกร กวี นักเขียนบทละคร สถาปนิก นักคิดทางสังคมและนักปรัชญาจำนวนมากในสมัยศตวรรษที่ 19 เป็นผลมาจากการที่ชนชั้นกลางก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ส่วนสยามช่างแตกต่างตรงกันข้ามจนไม่มีอะไรจะชัดไปกว่านี้ 

เท่า ที่ผมรู้ กรุงเทพฯ ยังไม่เคยให้กำเนิดนักเขียนนวนิยาย กวี นักเขียนบทละคร นักปรัชญา สถาปนิกหรือนักคิดทางสังคมที่ยิ่งใหญ่แม้แต่คนเดียว แต่กลับกลายเป็นขอนแก่น ไม่ใช่กรุงเทพฯ ที่ให้กำเนิดแก่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งอายุยังไม่ถึง 40 ปี ก็ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติแล้วว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ระดับ แนวหน้าของโลก และปีนี้ก็ได้รับรางวัลปาล์มทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เพื่อนๆ คงคาดหวังว่า ศิลปินที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องขนาดนี้น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของก ระฎุมพีชาวสยามที่กระหายหาการได้โอ้อวดความสำเร็จของคนไทยในระดับสากล แต่เปล่าเลย กระฎุมพีสยามก็ยังหลับหูหลับตาบริโภคหนังขยะฮอลลีวู้ด หนังขยะกังฟูจีนที่แสนซ้ำซาก นำเข้าวิดีโอเกมกับละครงี่เง่าต่อไป ถ้าเราดูจากโฆษณาทั้งหลาย ก็จะเห็นว่าชนชั้นกลางกรุงเทพฯ สนใจแต่อาหารดีๆ แฟชั่นจากต่างประเทศ รีสอร์ตหรูๆ และการไปเที่ยวช้อปปิ้งในเอเชียตะวันออกกับยุโรป การจะหาตึกอาคารสาธารณะสักแห่งที่สวยจริงๆ ในเมืองหลวงไทยเป็นเรื่องยากมาก และไม่มีวัดไทยวัดไหนเลยที่พอจะประชันกับวัดเชียงทองในหลวงพระบาง 

การ ปลุกระดมอย่างหน้าด้านๆ ในเรื่องปราสาทพระวิหารนั้นเป็นแค่วิธีการหนึ่งในการปกปิดเรื่องที่ทุกคนควร รู้แก่ใจดี นั่นคือ ไม่มีโบราณสถานไทยๆ แห่งไหนเลยที่เทียบได้กับนครวัดของกัมพูชา บุโรพุทโธของชวาหรือพุกามของพม่า ใครๆ ก็อาจนึกสงสัยว่า กรุงเทพฯ มีปมด้อยซ่อนอยู่ลึกๆ ในเรื่องนี้ ใครก็ตามไปยืนชมปราสาทพระวิหารสักสองนาที ถ้าเขาพอมีสมองอยู่บ้างก็ต้องรู้ทันทีว่า โบราณสถานอันงามสง่านี้เป็นของเขมร ไม่ใช่ของไทย ชาวไทยบางคนก็เลยทนไม่ได้ มันจึงต้องเป็น “ของเรา”

คงยากที่จะคาดหวังอะไรจาก ชนชั้นกลางเมืองหลวงเหล่านี้ พวกเขาเคยสนับสนุนการชุมนุมในเดือนตุลา 2516 อย่างกล้าๆ กลัวๆ แต่แล้วก็หันหลังให้นักศึกษาใน พ.ศ.2519 พวกเขาสนับสนุนนโยบายสังคมในยุคต้นของทักษิณอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็หันหลังให้ทักษิณ พอตอนนี้ก็แสดงตัวสนับสนุนสถาบันกษัตริย์กับเสื้อเหลืองกันอย่างอึงมี่ ผมอยากกล่าวว่า ในลักษณะนี้ กระฎุมพีชาวกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างจากกระฎุมพีชาวมะนิลา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ และจาการ์ตาสักเท่าไร ขี้ขลาด เห็นแก่ตัว ไร้วัฒนธรรม คลั่งบริโภคและไม่เคยมีภาพอนาคตของประเทศอยู่ในหัว ทำไมเป็นเช่นนี้ นี่เป็นเรื่องที่นักวิชาการเพิ่งเริ่มต้นค้นคว้าสำรวจ ผมนึกถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคลีมงโซที่เคยทำนายอนาคตสหรัฐอเมริกา ไว้ในทางร้าย เขาบอกว่า สหรัฐฯ จะก้าวข้ามจากความป่าเถื่อนไปสู่ความเสื่อมทรามโดยไม่มียุคศิวิไลซ์คั่นกลาง

ท้าย ที่สุด ผมขอพูดถึงอนาคตแบบกล้าๆ กลัวๆ บ้าง กรัมชี มาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่เคยเขียนวรรคทองอันโด่งดังว่า “เมื่อสิ่ง ที่เก่าแก่ไม่ยอมตาย และสิ่งใหม่ดิ้นรนที่จะเกิด ย่อมเกิดอสุรกายขึ้น” ตอนที่เขียนประโยคนี้ กรัมชีคิดถึงการขึ้นสู่อำนาจของมุสโสลินี อดีตนักสังคมนิยมที่กลายเป็นจอมเผด็จการประชานิยมปีกขวา ผู้สร้างคำว่า “ลัทธิฟาสซิสต์”และจับกรัมชีไปคุมขังหลายปี ผมอยากให้เพื่อนๆ ลองพิจารณาความคิดนี้ที่อาจจะขยายความเกินจริงไปบ้าง

ความ รู้สึกของผมก็คือ สิ่งเก่าๆ แก่ๆ กำลังจะตายแต่ไม่ยอมตาย อะไรคือตัวชี้วัดให้คิดเช่นนี้? ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ รายงานข่าวสั้นๆ ว่า สิบปีที่แล้ว มีชายไทยถึง 6 ล้านคนห่มผ้าเหลือง ทั้งในฐานะพระหรือเณร ทุกวันนี้ ตัวเลขลดฮวบลงมาเหลือแค่ 1.5 ล้านคน หรือหายไปถึง 75% ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การลดลงอย่างฮวบฮวบนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านความเป็นพาณิชย์นิยม ของวัด เรื่องฉาวโฉ่ทั้งการเงินและเพศที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ฯลฯ ซึ่งสะท้อนออกมาอ้อมๆ ในหนังเรื่อง นาคปรก ที่ถูกห้ามฉาย แต่อีกส่วนหนึ่งย่อมมาจากความรู้สึกของชนชั้นกลางด้วยว่า การส่งลูกชายเข้าวัด ถึงแม้ระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่มันก็เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ผมรู้จักผู้ชายวัยผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่เคยบวชและไม่คิดที่จะบวชเลยแม้เพียง ไม่กี่สัปดาห์ก็ตาม ไม่กี่เดือนก่อน อาจารย์นิธิเขียนแสดงทัศนะที่น่าสนใจในคอลัมน์ของเขา เกี่ยวกับการที่เด็กหญิงและวัยรุ่นหญิงในเมืองชอบใช้ภาษาหยาบคาย อาจารย์นิธิให้เหตุผลว่า เด็กสาวเหล่านี้ใช้ภาษาหยาบของผู้ชายและวัยรุ่นผู้ชายเพื่อยืนยันถึงสิทธิใน ความเท่าเทียมและปฏิเสธลำดับชั้นทางเพศ ผมไม่สงสัยเลยว่า เหตุผลของอาจารย์นิธิมีส่วนถูกต้อง ถึงแม้การสังเกตที่มีข้อจำกัดมากของผมพบว่า ภาษาหยาบมักแพร่หลายในหมู่เด็กผู้หญิงล้วนๆ มากกว่าในกลุ่มที่คละกันทั้งสองเพศ แต่ประเด็นนี้อาจตีความได้ซับซ้อนกว่านั้น ละครทีวีตะวันตกที่เด็กสาวมักใช้คำหยาบแบบเดียวกับเด็กผู้ชายอาจมีอิทธิพลก็ ได้ ละครน้ำเน่าในทีวีกรุงเทพฯ มักวนเวียนอยู่ที่เด็กสาวนิสัยเสียที่ชอบร้องกรี๊ดๆ และพูดจาน่าตกใจหรือน่าถูกลงโทษ ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจสะท้อนทั้งความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือการทำให้ ภาษาสาธารณะมีความหยาบคายมากขึ้น 

หลักปฏิบัติของ พวกคณาธิปไตยที่จะไม่ปริปากเรื่องเพศถูกละเมิดเป็นครั้งแรกโดย “ไอ้เหลิ ม” ซึ่งกดดันพลเอกเปรมจนยอมลงจากเก้าอี้ด้วยการขู่จะเรียกนายพลชราผู้นี้ ว่า “ตุ๊ด” ในการอภิปรายในรัฐสภา แต่จริงๆ แล้วต้องนับที่ณัฐวุฒิด้วย ณัฐวุฒิเป็นนักปราศรัยที่ปราดเปรื่องคนแรกในสยามยุคสมัยใหม่ เขาเป็นคนโจมตีเปรมอย่างเปิดเผย (จะให้เขาไปโจมตีใครอื่นอีกล่ะ?) ว่าเป็นตุ๊ด ถึงแม้ชีวิตทางเพศของเปรมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเมืองของเขา เลยก็ตาม การที่ณัฐวุฒิละเมิดหลักปฏิบัตินี้ แต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น สะท้อนออกมาให้เห็นในเหตุการณ์ที่เขาต้อนรับกระเทยวัยรุ่นหน้าตาดีคนหนึ่งบน เวทีราชประสงค์ กระเทยคนนี้เพิ่งกลายเป็นเสื้อแดงได้ไม่นาน ถึงแม้เด็กหนุ่มจะสารภาพอย่างเขินอายว่า ผัวแสนดีของเธอเป็นทหาร ณัฐวุฒิเป็นผู้นำในการตบมือต้อนรับเกรียวกราวต่อหนุ่มตุ๊ดคนนั้น ในยุโรปตะวันตกมีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับการโจมตีชนชั้นปกครองด้วยเรื่องเพศ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เราแน่ใจได้เลยว่า แนวโน้มเหล่านี้จะไม่รีบร้อนหายไปไหน การสร้างความเป็นประชาธิปไตยหมายถึงทั้งสิทธิของไพร่ที่จะเรียกร้องแทนที่จะ คอยรับการ “ให้” รวมทั้งภาษาหยาบคายอีกมากมายที่จะใช้ด่าพวกคณาธิปไตย (ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองดูภาษาหยาบคายน่าเกลียดที่พวกฝ่ายขวาอเมริกันใช้ด่าโอบามาสิ)

อีก ด้านหนึ่งของพัฒนาการนี้ ซึ่งยิ่งย้ำให้เห็นชัดจากวัฒนธรรมใหม่ของการเขียนบล็อก ใช้มือถือ ยูทิวบ์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ กันตลอดเวลา ก็คือ วิกฤตการณ์ของพวกคณาธิปไตยที่พยายามจะเปลี่ยนโฉมใหม่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในสยามเท่านั้น นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระบอบกษัตริย์ในยุโรปตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก พร้อมๆ กับการขยายตัวของการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนทั่วไป หนังสือแทบลอยด์ ฯลฯ ฯลฯ สาเหตุพื้นฐานประการหนึ่งก็คือชัยชนะที่แน่ชัดของวัฒนธรรมฆราวาส (secular culture) เดิมทีนั้น กษัตริย์ถูกยกให้เป็นคนพิเศษที่พระเจ้าโปรดปราน กษัตริย์มีแม้กระทั่งพลังอำนาจที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ข้าราษฎรด้วยการ วางมือกษัตริย์สัมผัสเท่านั้น อำนาจนี้ยุติลงในอังกฤษเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 และในฝรั่งเศสอีกสองสามทศวรรษให้หลัง จากนั้นจึงเกิดแนวความคิดเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมา และเป็นการสิ้นสุดประเพณีดั้งเดิมที่เชื่อว่าความเป็นกษัตริย์มีบารมี ปาฏิหาริย์ สถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวกับการเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมภายในจักรวรรดิ โบราณที่มีประชากรหลายเชื้อชาติ โดยที่กษัตริย์จำต้องผูกพันตัวเองเข้ากับขบวนการชาตินิยมอันใดอันหนึ่ง สถาบันกษัตริย์ยังต้องรับมือกับความคาดหวังของกระฎุมพีที่มีอำนาจมากขึ้น ด้วย ยุคที่ในวังเต็มไปด้วยความสำส่อนทางเพศต้องถึงกาลสิ้นสุดลง การแพร่หลายของหนังสือพิมพ์ก็มีส่วนในเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว ในแง่นี้ ระบอบกษัตริย์แบบกระฎุมพีจึงต้องเกิดขึ้นแทนที่ระบอบกษัตริย์แบบศักดินา ความคิดเก่าๆ เดิมๆ ว่า การล่มสลายของราชวงศ์หนึ่งหมายถึงการเกิดขึ้นของราชวงศ์ใหม่ ค่อยๆ หายไปจนหมดสิ้น กษัตริย์ทั่วทั้งยุโรปเริ่มตระหนักว่า ถ้าราชวงศ์ของตนล่มสลาย จะไม่มีราชวงศ์อื่นมาแทนที่อีกแล้ว 

ความ กลัวนี้ปรากฏกลายเป็นจริงระหว่าง ค.ศ. 1911-1920 เมื่อราชวงศ์ในจีน รัสเซีย ออสโตร-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมันและเยอรมนี ล่มสลายลงพร้อมๆ กับการก่อตั้งสันนิบาตชาติ เหลืออยู่แต่ในสหราชอาณาจักรกับเครือจักรภพที่ชนะสงครามเท่านั้นที่ระบอบ กษัตริย์เกรดเอยังอยู่รอดมาได้ และระบอบกษัตริย์อังกฤษก็ต้องประพฤติตัวเป็นกระฎุมพีที่ดีเท่าที่จะทำได้ (แต่สถาบันกษัตริย์ที่ไร้บารมีปาฏิหาริย์ย่อมประสบความลำบากไม่น้อย เนื่องจากความชอบธรรมตามประเพณีได้มาจากบารมีปาฏิหาริย์) ในสหราชอาณาจักร สถาบันกษัตริย์แบบนี้อยู่รอดมาได้ค่อนข้างดีจนกระทั่งการสมรสของฟ้าชาย ชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่าจบลงอย่างไร้ความสุข การที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษแปรสภาพเป็นแบบฆราวาสไปแล้ว หมายความว่าหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ รวมทั้งความช่วยเหลือจากนักเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ ช่วยกันเปิดโปงว่า ทั้งสามีและภรรยาต่างก็มีชู้ ในตอนนั้น ไดอาน่าค้นพบวิถีทางใหม่ที่ง่อนแง่นในการสร้างรัศมีบารมีขึ้นมา เนื่องจากเธอเป็นคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง เธอจึงค้นพบวิถีทางนี้ในสื่อมวลชน นั่นคือการสร้างสถานะซูเปอร์เซเลบขึ้นมา เมื่ออยู่ท่ามกลางดาราภาพยนตร์และร็อคสตาร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สวยกว่า เก่งกว่าและฉลาดกว่าเธอ แต่เธอถือไพ่ไม้ตายไว้ใบหนึ่ง นั่นคือ เธอมีสถานะราชนิกูลที่นักร้องหรือดาราหนังไม่มีทางมีได้ แต่เธอไม่เข้าใจว่า ในขณะที่เซเลบคนดังทั้งหลายสามารถสร้างชื่อเสียงได้จากเรื่องอื้อฉาวทางเพศ และเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ ราชนิกูลทำแบบเดียวกันไม่ได้ เธอไม่ได้ตระหนักด้วยว่า การเป็นเซเลบนั้นมันไม่ยั่งยืน มันช่วยสร้างรัศมีบารมีได้แค่ช่วงสั้นๆ เหมือนดาราหนังทุกคน ไดอาน่าจึงสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์แบบกระฎุมพีเอาไว้ โชคดีที่ไดอาน่ามีชีวิตอยู่แค่เป็นเจ้าหญิงเท่านั้น ถ้าหากเธอมีชีวิตอยู่ต่อไปจนได้เป็นราชินีและยังใฝ่ฝันจะเป็นเซเลบ เธออาจนำพาสถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรถึงซึ่งกาลอวสานก็ได้ เราสามารถเรียนรู้อะไรมากมายจากเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท