Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมชอบอ่านงานของโจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) ไม่ใช่เพราะเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล หรือเคยทำงานที่ธนาคารโลก แต่เพราะเขาเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” ที่มีความลุ่มลึกและสามารถโยงความคิดทางทฤษฎีที่ซับซ้อนเพื่อช่วยให้คนทั่วไปทำความเข้าใจกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในโลกได้อย่างง่ายดาย เขามีวิธีคิดและแจงเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ไม่บ่อยนักที่จะเห็นคนออกมาโต้แย้งเขาในแง่ของความถูกต้องของข้อมูล เพราะสิ่งที่เขานำเสนอมักได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากข้อมูลที่ผ่านการวิจัยของเขาและคณะ งานของเขาที่ผมเริ่มต้นอ่านอย่างจริงจังคือ The Three Trillion Dollar War (“สงครามสามล้านล้านเหรียญ”) ที่กล่าวถึงผลกระทบของสงครามในอิรักครั้งใหม่ (ครั้งที่สอง สมัยประธานาธิบดีบุช) ชื่อของหนังสือก็บอกอยู่แล้วว่า เขาพยายามพิสูจน์ว่าสงครามครั้งนั้นมีต้นทุนสูงมาก และไม่ใช่เฉพาะต้นทุนการเงินเท่านั้น หากยังรวมถึงต้นทุนด้านสังคมอื่นๆ อีกมากมาย สรุปว่า “ไม่คุ้ม” บางคนอาจมองว่าเขาเป็นเดโมแครตถึงได้พูดแบบนี้ (เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ หรือ Chair of the Council of Economic Advisors สมัยรัฐบาลนายคลินตัน) แต่ผมว่าการพูดเช่นนั้น ออกจะด่วนสรุปเกินไป ให้ลองอ่านข้อมูลที่เขานำเสนออย่างถี่ถ้วนก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรมมากสุดอย่างหนึ่งของการทำสงครามคือ การผลักภาระต้นทุนสงครามมหาศาลที่เกิดขึ้นให้กับคนรุ่นต่อไป ข้อเสนออย่างหนึ่งในหนังสือคือการที่รัฐบาลจะต้องแบกภาระการเงินทั้งหมดของสงครามในชั่วคนปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง หมายถึงต้องมีการเก็บภาษี “สงคราม” มากขึ้น เพื่อนำเงินไปแบกรับค่าใช้จ่ายจากการสงครามให้หมดในชั่วคนปัจจุบัน ไม่ใช่ไปผลักภาระให้กับคนรุ่นต่อไป ผมว่าข้อเสนอเช่นนี้ จะทำให้การทำสงครามแทบจะเป็นทางเลือกที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนๆ ในโลก งานเล่มล่าสุดของเขาในปีนี้ได้แก่ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy เป็นการวิพากษ์ถึงข้อบกพร่องของระบอบทุนนิยมที่เป็นอยู่ ซึ่งความจริงเขาได้เคยทำก่อนหน้านั้นแล้ว (เช่น Globalization and Its Discontents และ Making Globalization Work) แต่คราวนี้เขาใช้ภาษาง่ายๆ พยายามโยงคุณค่าอื่นๆ ในทางสังคมและจิตวิญญาณ นอกเหนือจากแง่มุมด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่ออธิบายถึงข้อบกพร่องของวิกฤตในปัจจุบันและหายนะที่กำลังเกิดขึ้นเนื่องจากระบอบทุนนิยมอย่างที่เป็นอยู่ แต่เสน่ห์งานเขียนของเขายังเหมือนเดิม คือมีข้อเสนอในการปฏิรูประบบที่เป็นอยู่เพื่อนำไปสู่ทางออกของสังคม เช่นกัน เป็นข้อเสนอเรียบง่ายที่สามารถปฏิบัติได้จริง ในบทความล่าสุดอีกชิ้นหนึ่งที่ชื่อ Meltdown: not just a metaphor เขากล่าวถึงเหตุการณ์หลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเนื่องจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่น่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 25,000 คน โดยชี้ให้เห็นว่าวิกฤตการหลอมละลายครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์ที่สะท้อนความเลินเล่อของมนุษย์ที่มองข้ามผลกระทบจากความเสี่ยงร้ายแรง สะท้อนถึงความรู้น้อยของมนุษย์ที่มีต่อความซับซ้อนของความเสี่ยง เป็นการมองข้ามและอ้างว่าวิกฤตร้ายแรงนั้น “นานๆ ถึงจะเกิดที” ไม่น่าเป็นห่วง ไม่น่าแปลกที่เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวในไทยเมื่อเร็วๆ นี้ สิ่งที่นักสร้างเขื่อนทั้งหลายทำคือการยืนยัน (และนั่งยัน) ว่าตาม “ทฤษฎี” แล้วเขื่อนของพวกเขาสามารถทนทานต่อความสั่นไหวของพระแม่ธรณีได้มากเท่านั้นเท่านี้ โดยไม่ให้ความสำคัญกับวิกฤตในลักษณะที่เป็น “ฝนพันปี” สติกลิตซ์มองว่าวิธีคิดแบบเลินเล่อเช่นนี้เป็นการมองข้ามความน่าจะเป็นของความเสี่ยงที่ “นานๆ จะเกิดขึ้นที” แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า “สิ่งที่ควรเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในรอบศตวรรษ เริ่มเกิดขึ้นทุกรอบทศวรรษ และเราไม่เพียงประเมินความถี่ที่จะเกิดความเสี่ยงเหล่านี้ต่ำเกินไปเท่านั้น หากเรายังประเมินความเสียหายมหาศาลที่จะเกิดขึ้นต่ำกว่าความจริงด้วย ดังกรณีของวิกฤตการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เป็นปัญหาของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ตลอดมา” ในทำนองเดียวกันกับบริษัท TEPCO (Tokyo Electric Power Company) ก็คงอ้างถึงโอกาสเสี่ยงที่น้อยมากเช่นนี้เมื่อตอนที่ขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อสี่ทศวรรษก่อน โดยไม่ต้องจินตนาการเลยว่าคงมีการอ้างถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ สติกลิตซ์กล่าวเช่นนี้ เพราะว่าในอดีตนั้นตั้งแต่ก่อนยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Recession) บรรดาผู้นำธนาคารกลางไปจนถึงนักการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ต่างก็อวดอ้างว่าได้ค้นพบวิธีการใหม่ที่จะแก้ไขวิกฤตการเงินของโลกได้แล้ว ในตอนนั้นพวกเขากล่าวถึงนวัตกรรมใหม่ด้านการเงิน อันได้แก่ อนุพันธ์ (derivatives) หรือตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง (credit default swaps) ซึ่งในเวลาต่อมาเราตระหนักดีแล้วว่า ไม่เพียงเป็นเรื่องหลอกลวงสำหรับคนอื่นๆ ทั้งหมดในสังคม แต่เป็นเรื่องหลอกลวงสำหรับตัวเราเองด้วย เพราะวิกฤตครั้งใหญ่ยังเกิดขึ้นอยู่ดี และเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน สติกลิตซ์กล่าวถึงวิกฤตการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เกิดขึ้นจากการพึ่งพาระบบการ “แบ่งปันภาระความเสี่ยง” ในรูปของตราสารและอนุพันธ์ทั้งหลาย ดังวิกฤตการเงิน (วิกฤติ Subprime) ในสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้เป็นตัวอย่าง ฉันใดก็ฉันนั้น วิกฤตการหลอมละลายของแท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในครั้งนี้ก็มีลักษณะแบบเดียวกัน บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักลงทุนทั้งหลายต่างอวดอ้างกับโลกว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ดี หรือการอวดอ้างว่าพลังงานนิวเคลียร์มีต้นทุนต่ำกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ และจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังถึงจุดตีบตัน แต่เหตุการณ์อุบัติภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะในครั้งนี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ข้ออ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์คือการผลักภาระความเสี่ยงเหล่านี้ให้กับบุคคลอื่นๆ ในสังคม อาจจะไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่เท่านั้น แต่ยังอาจรวมถึงคนในประเทศข้างเคียงอื่นๆ ด้วย และไม่เฉพาะผลกระทบต่อคนในรุ่นปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังอาจรวมถึงผลกระทบที่มีต่อคนรุ่นต่อๆ ไปซึ่งไม่ควรเข้ามาแบกรับความรับผิดชอบด้วยซ้ำ ไม่น่าประหลาดใจที่ก่อนจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใดๆ รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บรรษัทผู้ลงทุนในโรงไฟฟ้าต้องแบกรับความเสี่ยงกรณีที่เกิดอุบัติภัยขึ้นทั้งหมด (Nuclear Liability Act) ไม่เช่นนั้นแล้วย่อมไม่มีหน่วยงานสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันภัยใดๆ ที่พร้อมหรือสามารถเข้ามาสนับสนุนโครงการที่มีการลงทุนมหาศาลเช่นนั้น สติกลิตซ์จึงสรุปได้ว่า “การดำรงอยู่ของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ต้องพึ่งพาอย่างมากกับการอุดหนุนต้นทุนของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว หมายถึงต้นทุนที่สังคมต้องแบกรับเมื่อเกิดอุบัติภัยด้านนิวเคลียร์ขึ้นมา” ทั้งหลายทั้งปวงก็มีพื้นฐานมาจากการผลักภาระความเสี่ยงให้กับสังคม ระบบเช่นนี้ สำหรับสติกลิตซ์ เป็นการ “ผลักความสูญเสียให้สังคมแบกรับและส่งเสริมให้เอกชนได้รับผลกำไร ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด” (A system that socialises losses and privatises gains is doomed to mismanage risk.) นี่ยังไม่พูดถึงกากปฏิกรณ์จากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ไม่มีวันย่อยสลายลงง่ายๆ และการจัดเก็บหรือการแปรรูปที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็มีลักษณะค่อนข้าง “ชั่วคราว” ไม่มีการกำจัดหรือการแปรรูปที่ถาวร ส่งผลให้เกิดภาระความเสี่ยงต่อคนรุ่นต่อไปค่อนข้างยาวนาน เหมือนกับเอาโลกเป็นเดิมพันเพื่อประโยชน์ของคนจำนวนน้อย ครับ สติกลิตซ์กำลังพูดถึงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่เหมือนการเล่นพนันอย่างหนึ่ง เขามองว่าสังคมทั้งหมดกำลังเล่นพนันกับบรรดาธนาคารขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั้งหลาย โดยมีโลกเป็นเดิมพัน บรรดานายธนาคารและนักลงทุนต่างเอาเศรษฐกิจของโลกและเอาโลก ธรรมชาติเป็นเดิมพัน พวกเขาสามารถเดินออกไปจากโรงพนันด้วยผลกำไรมหาศาล แต่ปล่อยภาระความเสี่ยงทั้งหลายให้กับคนทั่วไปในโลก หมายเหตุ (1) บทความเรื่อง Meltdown: not just a metaphor มาจาก http://www.guardian.co.uk/commentisfree/cifamerica/2011/apr/06/japan-nuclearpower (2) อ่าน บทสัมภาษณ์โจเซฟ สติกลิตซ์: สู่ยุคเศรษฐกิจถดถอย ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลได้ที่ http://www.prachatai.com/journal/2008/04/16302

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net