Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์ปะทะในเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์ฯ ย้ำเวทีขาดความชอบธรรม ปิดกั้นการแสดงความเห็น ปชช. วานนี้ (8 เม.ย.54) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ทำเอกสารเผยแพร่ชี้แจงข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ปะทะ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.54 ในเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อกำหนดขอบเขตงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ที่สำนักงานเทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยระบุรายละเอียดดังนี้ ชี้แจงข้อเท็จจริง จากเหตุการณ์ปะทะในเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อกำหนดขอบเขตงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ที่สำนักงานเทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ................................................... สืบเนื่องจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับบริษัทเอพีพีซี ได้จัดฉากเกณฑ์ชาวบ้านให้ไปร่วมเวทีประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ณ โรงแรมเซ็นทารา จ.อุดรธานี แล้วแอบอ้างว่า ได้มีการชี้แจงเรื่องการปักหมุดรังวัดให้กับประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว พอรุ่งเช้าก็เร่งรีบทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ในพื้นที่ขอสัมปทานโครงการเหมืองแร่โปแตซ แหล่งอุดรใต้ 4 แปลง พื้นที่ 26,446 ไร่ (ครอบคลุมเนื้อที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม) ทันที ทั้งๆ ที่ในเวทีเป็นการประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 และเป็นการชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ใช่การประชุมเพื่อการชี้แจงปักหมุดรังวัดตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร แต่อย่างใด ดังนั้นปักหมุดรังวัดในครั้งนี้จึงไม่ชอบธรรมและผิดกฎหมาย กลุ่มชาวบ้านจึงไม่ยอมรับและคัดค้าน ในวันที่ 5 เมษายน 2554 บริษัทเอพีพีซี และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ได้ร่วมกันจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อกำหนดขอบเขตงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ที่เทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ ซึ่งตามข้อเท็จจริงการจัดเวทีดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดให้มีตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และตามประกาศโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 67 วรรค 2 เนื่องจากว่ากรณีโครงการเหมืองแร่โปแตซไม่เข้าข่ายโครงการรุนแรงตามประกาศนี้ แต่บริษัทเอพีพีซี ต้องการจะสร้างภาพอีกครั้ง โดยการเกณฑ์ชาวบ้านเพื่อไปร่วมรับฟัง แล้วให้ยกมือสนับสนุนการปักหมุดรังวัด และโครงการเหมืองแร่โปแตซ โดยสถานการณ์ตั้งแต่เย็นของวันที่ 4 เม.ย.54 เจ้าหน้าที่ อปพร.โนนสูง-น้ำคำ ได้นำแผงเหล็กมากั้นขวางถนนเส้นทางที่จะเข้าสู่หอประชุม และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรยามตลอดทั้งคืน พอถึงช่วงเช้าของวันที่ 5 เม.ย.54 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มแรกราว 30 คน เดินทางไปถึงสถานที่ตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยมีเจตนาเพื่อเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในเวที แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ อปพร.พนักงานบริษัทเอพีพีซี และกลุ่มชายฉกรรจ์ที่บริษัทฯ จ้างมาคุ้มกันเวทีก่อนมีการยื้อยุดตรงหน้าทางเข้า เพื่อกันไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าไปข้างใน จนเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในระหว่างชุลมุนก็ได้มีชายฉกรรจ์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทเอพีพีซี ใช้ไม้ยาวฟาดลงมาท่ามกลางกลุ่มชาวบ้านอย่างแรงโดนศีรษะของนางหนูพิณ อันสา อายุ 42 ปี ชาวบ้านจากบ้านสังคม ต.ห้วยสามพาด เข้าอย่างจัง แล้วเหวี่ยงจนล้มเป็นลมหมดสติ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลกุมภวาปีอย่างเร่งด่วน (เดิมนางหนูพิณ มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวอีกด้วย) ในเวลาไล่เลี่ยกันกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถรวมตัวกันได้กว่า 700 คน ทำให้กลุ่มคนฝ่ายบริษัทฯ ไม่กล้าขัดขวาง กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเข้าไปนั่งจนเต็มหอประชุม เวลาประมาณ 09.00 น.บริษัทฯ ประเมินสถานการณ์ว่าไม่สามารถจัดการประชุมได้ จึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งประมาณ 100 คน เข้าไปในสวนย่อมในเกาะที่มีสระน้ำล้อมรอบทั้งสามด้านมีถนนทางเข้าด้านเดียว ซึ่งอยู่ตรงข้ามบริเวณที่ทำการเทศบาลฯ และ ให้เจ้าหน้าที่ อปพร.กว่า 50 คนตั้งแถวคุ้มกันไม่ให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าไปได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกประมาณ 50 นายตั้งแถวป้องกันไว้ในแนวถนนอีกด้านหนึ่ง ส่วนบรรยากาศการประชุมในสวนหย่อมกลางน้ำนั้นชาวบ้านที่เข้าร่วมนั่งพื้นดินและยืนใต้ร่มไม้ พร้อมกับมีอาการละล้าละลัง เวลาประมาณ 10.00 น.กลุ่มอนุรักษ์ฯ เคลื่อนขบวนไปประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพยายามเจรจาต่อรองเพื่อจะเข้าไปร่วมเวที ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมแตกตื่นและหวาดวิตกว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯ จะบุกเข้าไปอีก จึงค่อยๆ ทยอยเดินออกไป จนเหลืออยู่ไม่ถึง 50 คน และการประชุมบนเกาะกลางสระน้ำก็ถูลู่ถูกังไปจนถึงเวลาเกือบ 12.00 น. ดังนั้น การจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อกำหนดขอบเขตงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ในครั้งนี้ จึงไม่มีความสง่างาม และขาดความชอบธรรมอย่างยิ่ง อนึ่ง เห็นได้ชัดเจนว่าต้นตอของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สืบเนื่องมาจากการปักหมุดรังวัดอันฉ้อฉลของ กพร.กับบริษัทเอพีพีซี (โดยมีผู้ว่าฯ อุดร เปิดทางให้) ซึ่งนับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น มิหนำซ้ำการเปิดเวทีสาธารณะของบริษัทฯ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ก็ยังถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่พึงจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 นี่หรอกหรือ “โครงการอุดรโพแทช เหมืองของโจร ทำคนแตกแยก” ... ด้วยจิตคารวะ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 8 เม.ย.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net