นักปรัชญาชายขอบ: 10 เมษา ประวัติศาสตร์ของความเชื่อ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่น่าเชื่อว่าประวัติศาสตร์ระยะใกล้ของเหตุการณ์สังหารประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า ท่ามกลางสายตาผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศ ทั้งเครื่องมือเก็บบันทึกภาพของหน่วยงานราชการและส่วนตัวของผู้ร่วมชุมนุมอีกจำนวนมาก แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์หลักฐานอย่างเป็นสาธารณะว่า “ข้อเท็จจริง” คืออะไร

ความตายร่วม 25 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 800 คน เป็นฝีมือใครกันแน่ เป็นฝีมือของทหารหรือชายชุดดำ และชายชุดดำเป็นใครมาจากไหน ทำไมการชุมนุมจึงเกิดการยกระดับกดดันแทนการเจรจาให้ได้ข้อยุติทั้งที่การยกระดับการชุมนุมเช่นนั้น ทั้งแกนนำเสื้อแดงและฝ่ายรัฐบาลต่างคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่า อาจต้องมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชน

ยิ่งนับถอยหลังไปยิ่งน่าสงสัยว่าเหตุใดฝ่ายรัฐบาลจึงเตรียมสรรพกำลังมากมายถึง 50,000 คน พร้อมยุทโธปกรณ์และงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง

และยิ่งดูจากหลัง 10 เมษา ถึง 19 พฤษภา แต่ละฝ่ายต่างเดินหน้าสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชน เพียงเพราะเดิมพันกันด้วยการ “เลือกตั้ง-ไม่เลือกตั้ง”

นี่ย่อมเป็นการเดิมพันที่ผิดปกติของความขัดแย้งทางการเมืองปกติ แล้วข้อหาเรื่องขบวนการล้มเจ้า และการก่อการร้ายถูกโยนใส่มวลชนเสื้อแดงเพียงเพราะฝ่ายรัฐบาลและขุนทหารต้องการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้นหรือ?

กองกำลังชุดดำมาจากไหน? กองกำลังทหารถูกจัดมาจากหน่วยไหนเป็นพิเศษ เบื้องหลังความเข้มแข็งของรัฐบาลอภิสิทธิ์คืออะไร? สังคมนี้พูดกันได้เพียง “อำมาตย์”  ”อำนาจนอกระบบ” “มือที่มองไม่เห็น” แต่พูดกันได้ในระดับที่เป็นเพียง “ความเชื่อ” เท่านั้น

เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์หรือซักไซ้ไล่เรียงด้วยเหตุผล และนำสืบพยานหลักฐานอย่างถึงที่สุดเพื่อแสดง “ข้อเท็จจริง” ของ “เบื้องหลัง” ได้อย่างตรงไปตรงมา

ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ 10 เมษา จึงยังคงเป็นประวัติศาสตร์ของความเชื่อ เป็นความเชื่อที่สร้างขึ้นจากการตีความ “ข้อเท็จจริง” ในมุมมองที่แตกต่าง

สำหรับฝ่ายรัฐ เสื้อเหลือง และเสื้อหลากสี ประวัติศาสตร์ 10 เมษา คือประวัติศาสตร์ของ “คนเสื้อแดงฆ่ากันเอง” แต่สำหรับคนเสื้อแดง ประวัติศาสตร์ 10 เมษา คือประวัติศาสตร์ของ “รัฐบาลและกองทัพฆ่าประชาชน” และดูเหมือนคนเสื้อแดงจะไม่เชื่อว่าลำพังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และกองทัพคงไม่กล้าที่จะรักษาอำนาจของพวกตนเองเอาไว้ด้วย “การฆ่าประชาชน”

อย่าลืมว่าคนเสื้อแดงชูประเด็น “โค่นอำมาตย” อย่าลืมว่าอีกฝ่ายกล่าวหาว่ามี “ขบวนการล้มเจ้า” ในมวลชนเสื้อแดง หากไม่มีข้ออ้างเรื่องขบวนการล้มเจ้า ไม่กลัวการ “โค่นอำมาตย์” เพียงแค่ไม่ต้องการยุบสภาอย่างเดียว จะมีน้ำหนักพอหรือจะกล้าพอที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะใช้กำลังมหาศาลปราบปรามประชาชนหรือ?

ปัญหาคือ “ขบวนการล้มเจ้า” ก็เป็นเพียง “ความเชื่อ” ที่สร้างขึ้นจาก “ผังการล้มเจ้า” ซึ่งเขียนขึ้นอย่างจับแพะชนแกะ ส่วน “โค่นอำมาตย์” ก็เป็นความเชื่อที่สร้างขึ้นให้สังคมกลัวว่ามี “นัยยะ” ที่เหนือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นไป

ฉะนั้น ปรากฏการณ์ 10 เมษา จึงซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่ “เงื่อน” ที่ซ่อนอยู่ก็ถูกนำมาพูดถึงโดย “นัยยะ” กันอย่างแพร่หลาย กระนั้นการพูดบนเวทีสาธารณะก็พูดกันได้เพียง “นัยยะ” ที่ยังไม่อาจสรุป “ข้อเท็จจริงอย่างเป็นสาธารณะ” ของ “นัยยะ” นั้นได้ สังคมจึงไม่อาจเขียนประวัติศาสตร์แห่งข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 10 เมษา ได้อย่างชัดเจน

แต่การที่ประวัติศาสตร์ 10 เมษา ยังคงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความเชื่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยควรลืมเลือน หากแต่สังคมควรต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสถานะจากประวัติศาสตร์แห่งความเชื่อให้เป็นประวัติศาสตร์แห่งข้อเท็จจริง

“ความเชื่อ” นั้นเป็นความคลุมเครือที่ชนชั้นนำหรือฝ่ายกุมอำนาจรัฐมักนำไปใช้เพื่อมอมเมาประชาชนตลอดมาทุกยุคสมัย ฉะนั้น พวกเขาจึงหลอกสังคมให้คล้อยตามได้ว่าการใช้กำลังปราบปรามประชาชนโดยข้ออ้างอย่างคลุมเครือเพื่อ “ปกป้องสถาบัน” เป็นข้ออ้างที่ชอบธรรม

หากสังคมยังอยู่กับประวัติศาสตร์ของความเชื่อที่คลุมเครือ ก็ยากอยางยิ่งที่สังคมเราจะข้ามพ้นความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองซ้ำรอยเดิมอีก หรือพูดตรงๆ ก็คือหากสังคมเราไม่สามารถเปลี่ยนสถานะประวัติศาสตร์ของความเชื่อที่คลุมเครือให้เป็นประวัติศาสตร์ของข้อเท็จจริงที่เห็นตรงกันได้ ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าสังคมเราจะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยสันติวิธี

ฉะนั้น ภารกิจของการเขียนประวัติศาสตร์ 10 เมษา จากประวัติศาสตร์ของความเชื่อที่คลุมเครือให้เป็นประวัติศาสตร์ของข้อเท็จจริงที่สาธารณชนเห็นตรงกัน จึงไม่ใช่ภารกิจของคนเสื้อแดงเท่านั้น หากแต่เป็นภารกิจของสังคมไทยทั้งสังคมที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยด้วยแนวทางสันติวิธี

จะเป็นเช่นนั้นได้ สังคมไทยต้องก้าวไปสู่การสร้างกฎหมายและวัฒนธรรมการตรวจสอบ “ทุกอำนาจสาธารณะ” อย่างเที่ยงธรรมและเท่าเทียม

เขียนประวัติศาสตร์ของข้อเท็จจริงให้ตาสว่างกันทั้งแผ่นดิน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลอกฆ่าประชาชนโดยอ้างความมั่นคงของอำนาจของพวกชนชั้นนำให้เป็น “ความมั่นคงของชาติ” อีกต่อไป !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท