Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพลเมืองเน็ต และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ค้านนำร่าง พ.ร.บ.คอมฯ เข้า ครม. ชี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านนายกฯ เห็นพ้องร่างใหม่ยังมีปัญหาหลายจุด รับจะยังไม่นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ วันนี้ (19 เม.ย.54) เวลาประมาณ 8.30 นาฬิกา เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) นำโดย สฤณี อาชวานันทกุล และอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่อาคารรัฐสภา โดยตัวแทนทั้งสองได้เข้าไปคุยกับนายอภิสิทธิ์ภายในรัฐสภาเป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง หลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรี สฤณี อาชวานันทกุล และอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ รับจะยังไม่นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ โดยตนได้สอบถามไปยังนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งบอกเช่นกันว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขก่อน นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังมีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีปัญหาในหลายจุด เช่น การเอาผิดกับผู้ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เข้าข่ายมีความผิด ซึ่งจุดนี้ตนเองไม่เห็นด้วย และเห็นว่าไม่ควรพิจารณาร่างกฏหมายฉบับนี้ก่อนการยุบสภา อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw.or.th) กล่าวว่า จุดยืนของการเข้ายื่นหนังสือคัดค้านในครั้งนี้ก็คือ อยากให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน เช่น ผู้ให้บริการ โปรแกรมเมอร์ ผู้ใช้ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข ที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฏหมายเลย จึงอยากให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านมากขึ้น จะช่วยให้กฏหมายออกมาดีขึ้น สำหรับการระดมชื่อนั้น อรพิณระบุว่า จะมีต่อไปจนกว่าวันประชุมวันสุดท้ายของ ครม. ก่อนยุบสภา โดยผู้ที่ต้องการร่วมลงชื่อ สามารถแจ้งชื่อสกุลได้ที่เว็บไซต์ iLaw หรือทางเฟซบุ๊กที่ \หยุด\" ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือส่งรายชื่อได้ที่ ilaw@ilaw.or.th โดยล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อ 640 รายแล้ว สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต และเจ้าของบล็อก fringer.org กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฏหมายฉบับนี้เกิดจากกระทรวงไอซีที ซึ่งไม่ได้สะท้อนเสียงของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้อย่างแท้จริง หลักๆ แล้วเป็นการเพิ่มโทษมากกว่า เช่น การสำเนาข้อมูลก็มีความผิด ซึ่งมันขัดกับธรรมชาติของการใช้อินเทอร์เน็ต และเห็นด้วยกับบางประเด็นจากนายกรัฐมนตรีที่มีความเห็นว่า ยังไม่มีการแยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างการโพสต์ความคิดเห็นทั่วไป กับการตั้งใจโพสต์ข้อความยั่วยุ ปลุกระดม จากบุคคลที่มีเจตนาไม่ดี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ควรมีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนบังคับใช้กฏหมาย สฤณี เสริมว่า สำหรับระยะต่อไปของการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองเน็ตในเรื่องนี้คือ จะมุ่งทำงานเชิงวิชาการ ให้ประชาชนมีความรู้และตื่นตัวในเรื่องการถูกจำกัดเสรีภาพจากกฏหมายแบบนี้มากขึ้นรวมทั้งจะจัดทำร่างกฏหมายฉบับคู่ขนาน ซึ่งคาดว่าจะมีออกมาภายในปีนี้ “สังคมอินเทอร์เน็ตจะใช้แต่กฏหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเรียนรู้เรื่องมารยาท การเคารพสิทธิส่วนบุคคล และความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย กฏหมายช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ เพราะปัจจุบันโลกไซเบอร์มันซับซ้อนกว่านั้น” สฤณี กล่าวปิดท้าย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net