นักวิชาการ-เอ็นจีโอ จวก ครม.ทำ ‘ร่างสถาบันฯ ธนาคารที่ดิน’ เพี้ยน หวั่นกระทบถึงธนาคารที่ดิน

นักวิชาการติงแหล่งรายได้ไม่ชัด เสนอ อปท.เพิ่มภาษีที่ดินร้อยละ 2 ช่วย แต่เงินอุดหนุนหลักต้องมาจากรัฐบาลกลาง เอ็นจีโอฟันซ้ำถ้ากฎหมายภาษีทรัพย์สินล้ม ธนาคารที่ดินก็ล้มด้วย ส่วนชาวบ้านมองธนาคารที่ดินเกิดหรือไม่อยู่ที่ความจริงใจรัฐบาล วันนี้ (19 เม.ย.54) เมื่อเวลา 9.00 น.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กับการแก้ไขปัญหาคนจนไร้ที่ทำกิน” เพื่อทำความเข้าใจในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมกำหนดทิศทางการทำงานและขับเคลื่อนให้การจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการกระจายการถือครองที่ดิน สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 เม.ย.54 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องยืนยันเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วยแล้ว ตามจุดมุ่งหมายของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เพื่อให้เป็นสถาบันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างรอการจัดตั้งธนาคารที่ดิน นักวิชาการเสนอ 3 แนวทางกระจายการถือครองที่ดิน ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความเห็นต่อร่างกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินว่า ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของกลไกของรัฐในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ซึ่งมีอีก 2 กลไกหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ กลไกตลาดโดยการใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกลไกฐานชุมชน โดยการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและถือครองที่ดิน เช่น การจัดทำโฉนดชุมชน อย่างไรก็ตาม ร่างกฤษฎีกาที่ผ่าน ครม.มานั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนจากร่างแรก โดยได้ตัดส่วนที่พูดถึงการคุ้มครองพื้นที่เกษตรออกไป อีกทั้งในส่วนที่มาของงบประมาณสนับสนุนก็เปลี่ยนจากเดิมที่เขียนเอาไว้ว่าเป็นงบประมาณประจำปีจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ถูกกำหนดให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามสมควร หมายความได้ว่าหากรัฐบาลจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ ทั้งที่ในส่วนนี้ควรต้องมีหลักประกันที่มาที่แน่นอนของแหล่งเงินทุน นอกเหนือจากเงินประเดิม จึงจะทำให้มั่นใจได้ว่าธนาคารที่ดินจะเดินไปได้ แนะเก็บภาษีที่ดินเพิ่มอีกร้อยละ 2 ของฐานเดิมช่วย แต่เงินอุดหนุนหลักต้องมาจากรัฐ ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อถึงอีกเรื่องที่ถูกตัดไปคือเงินรายได้ที่มาจากกฎหมายอื่นกำหนดว่า ได้ถูกปรับเป็นเงินอุดหนุนที่มาจากภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยในที่นี้อาจหมายถึงภาษีที่ดินที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุน ซึ่งตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนนี้เป็นเงินที่ของ อปท.ที่รัฐบาลไม่ควรดึงมาใช้ เพื่อให้เกิดอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม อปท.สามารถเก็บภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 2 บนอัตราภาษีที่ดินเดิมที่จัดเก็บ แล้วนำเงินส่วนที่ได้มาเป็นงบอุดหนุนธนาคารที่ดิน แต่เงินอุดหนุนธนาคารที่ดินส่วนใหญ่ต้องมาจากรัฐบาลกลาง ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวด้วยว่า การจัดเก็บภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 2 เป็นการเก็บเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อยไม่ได้กระทบมาก เช่น จากเดิมที่เก็บอยู่ 0.1 เมื่อเพิ่มเข้าไปร้อยละ 2 ก็จะเท่ากับจ่ายแค่ 0.12 และหากอัตราภาษีเดิมเก็บได้ 1 หมื่นล้านบาท ร้อยละ 2 ที่เพิ่มขึ้นมาก็จะเท่ากับ 200 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเงินจำนวนมากนัก ตรงนี้หากมีการคัดค้านคงน่าจะมาจากเหตุผลอื่นมากกว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ยังตั้งข้อสังเกตต่อมาถึงหมวดการยุบเลิกว่า การระบุอายุงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินไว้ที่ 5 ปี เมื่อมีธนาคารที่ดินขึ้นแล้วให้ยุบเลิกได้ ข้อนี้ไม่เป็นปัญหา แต่หากพ้นระยะเวลา 5 ปี แม้ไม่มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินก็ให้หยุดการทำงานไว้แค่นั้น เมื่อมองในแง่ดีก็ถือเป็นตัวเร่งรัดให้เกิดธนาคารที่ดินให้ได้เร็วขึ้น แต่การก่อตั้งธนาคารที่ดินยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งอาจส่งผลเป็นปัญหาเรื่องระยะเวลา และหากไม่มีธนาคารที่ดินเกิดขึ้นก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวด้วยว่า การมีธนาคารที่ดินเป็นไปได้ในการใช้กระจายที่ดิน NPL นอกเหนือจากนี้คงไม่มีอำนาจในการบังคับซื้อหรือเวนคืนที่ส่วนบุคคลได้ แม่ในส่วนกฎหมายอื่นๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอำนาจบังคับได้ขนาดนั้น ดังนั้นการกระจายการถือครองที่ดินในส่วนของที่ดินเอกชนและที่ดินรัฐต้องอาศัยจิ๊กซอว์ตัวอื่นๆ ด้วย คือภาษีอัตราก้าวหน้าที่จะช่วยควบคุมทุนในการถือครองที่ดินจำนวนมาก และยังต้องขึ้นอยู่กับการเข้าไปกำกับดูแลของผู้บริหารในส่วนท้องถิ่นด้วย แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือจิ๊กซอว์บางส่วนหายไป และบางส่วนยังไม่ถูกนำเข้ามา ฟันธงกฎหมายภาษีทรัพย์สินล้ม ธนาคารที่ดินก็ล้มด้วย ด้าน นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายที่ผ่าน ครม.ได้ตัดแนวคิดเดิมที่จะนำเงินจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาเข้าใช้ในธนาคารที่ดินนี้ ซึ่งสำคัญเพราะเป็นเรื่องที่มาของฐานรายได้ หากปล่อยให้อยู่ที่นโยบายรัฐเพียงแหล่งเดียวจะกลับไปประสบปัญหาเหมือนกับกองทุนเกี่ยวกับที่ดินแบบที่ผ่านมา ดังนั้นกฎหมายภาษีทรัพย์สินฯ จึงถูกผูกอยู่กับธนาคารที่ดินด้วย คือถ้ากฎหมายนี้ล้ม ธนาคารที่ดินก็ล้มด้วย นายไพโรจน์ กล่าวถึงประเด็นถัดมาว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการทั้ง 11 คน ซึ่งยังเห็นว่ามีสัดส่วนของภาคราชการมากเกินไป และได้ยินว่าจะเพิ่มส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อีกจากเดิมที่มีอยู่ 4 เป็น 5 คน ซึ่งในเชิงหลักการบริหารองค์การมหาชนไม่ใช่ราชการ ที่สำคัญคือปลัดกระทรวงทั้งหลายเหล่านี้ไม่เคยตัดสินใจหรือร่วมประชุม จึงเห็นว่าการออกแบบการทำงานไม่ควรเทไปที่ราชการมาก หากเป็นแบบนี้ก็ถือว่าผิดเจตนารมณ์ของการตั้งองค์กร “แนวคิดการตั้งธนาคารที่ดิน ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่ดิน แต่เกรงว่าจะผิดพลาดซ้ำรอย ถ้าดูจากกฤษฎีกาต้องทำคู่กับหลายเรื่อง ขณะที่กฎหมายบางฉบับก็ไม่เกิด การเจรจาขอเงินก้นถุงก็ยังไม่ได้ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จึงเป็นช่องทางที่ภาคประชาชนจะชูให้นักการเมืองนำไปเป็นนโยบายหลักให้ได้เพื่อทำให้เดินหน้า” นายไพโรจน์ กล่าว แจงหน้าที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน – การดำเนินงานเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดิน ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เครื่องมือที่ดีที่สุดในการกระจายการถือครองที่ดินที่สากลใช้ คือการใช้กลไกทางภาษีและกลไกตลาด โดยการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครอง ไม่ใช่ตามการใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายที่ดินโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันหากมีการออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน อาจจะทำให้รัฐมีต้นทุนสูงขึ้นในการจัดการที่ดิน และจะเป็นช่องทางในการใช้ข้อยกเว้นต่างๆ ของผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนอุตสาหกรรม ผศ.อิทธิพล กล่าวต่อมาว่า สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินทำหน้าที่สนับสนุนทางการเงินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และจะเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้ถือครองที่ดินทั้งรัฐและเอกชนเพื่อประสานงานระหว่างเจ้าของที่ดินและผู้ต้องการใช้ที่ดินในการทำข้อตกลง สัญญาค่าเช่า โดยค่าธรรมเนียมต่างๆ จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินจะมีข้อมูลของที่ดินรกร้างว่างเปล่า และซื้อที่ดินที่น่าสนใจเพื่อนำมาให้ประชาชนเข้าใช้ทำประโยชน์ ซึ่งจะต่างจาก สปก.ที่จะต้องประกาศเขตปฏิรูปที่ดินก่อน อีกทั้งยัง ทำหน้าที่ตอบสนองนโยบายรัฐเรื่องพื้นที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตร ซึ่งคำสั่งดังการออกมาเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้เล็งพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เนื้อที่ประมาณ 1 ล้านไร่เอาไว้ เพื่อที่รัฐจะเข้าไปดูแลคุ้มครองพื้นที่ไม่ให้มีอุตสาหกรรม และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินจะทำหน้าที่ช่วยเหลือ ปลดล็อคหนี้สินเกษตรกร ป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือจากภาคเกษตร หากมีคนต้องการขายก็จะรับซื้อในราคาตลาดและหาคนที่จะมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยใช้กติกาของโฉนดชุมชน อีกทั้งยังจะช่วยเหลือในการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ซึ่งหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้จะทำควบคู่ไปกับการดำเนินงานเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดิน ผศ.อิทธิพล กล่าวด้วยว่า ในอนาคตจะต้องมีการแก้กฎหมายปฏิรูปที่ดินในส่วนของ สปก. ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกและยุบรวมกองทุนที่ดิน หรือกองทุนฟื้นฟูซึ่งไม่ค่อยก้าวหน้า หรือกองทุนเล็กน้อยอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ใกล้เคียงกัน มารวมกับธนาคารที่ดิน ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบสถาบันการเงินเตรียมพร้อมไว้เพื่อมาดูแลด้านนี้ “ส่วนประเด็นกรรมการที่เข้ามา ผมว่าตรงนั้นไม่ใช่ปัญหาเพราะกรรมการมีหน้าที่กำกับดูแลให้องค์กรเดินได้ตามวัตถุประสงค์ ตัวสถาบันจริงๆ ต่างหากที่มีบทบาท ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการต้องรู้วิธีการทะลวงด่านต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดองค์กรที่ทำหน้าที่แบบที่ประชาชนต้องการ” ผศ.อิทธิพล กล่าว ผศ.อิทธิพล ชี้แจงด้วยว่า การเขียนร่างกฎหมายที่กำหนดอายุขององค์กรเท่ากับเร่งรัดให้คนในองค์กรรู้ตัวว่าต้องทำอะไร นั่นคือสาเหตุว่าทำไมต้องขีดเส้นไว้ที่ 5 ปี ส่วนประเด็นเรื่องงบประมาณ เพราะช่วงที่ร่างกฤษฎีกานี้ยังไม่มีร่างกฎหมายภาษีทรัพย์สินฯ แต่เมื่อใดที่ชัดเจนแล้วก็เขียนใส่ได้ เพราะการแก้กฤษฎีกาง่ายกว่ากฎหมายอยู่ ชาวบ้านเน้น “ธนาคารที่ดิน” เกิดได้หรือไม่อยู่ที่ความจริงใจของรัฐบาล ด้านนายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ ตัวแทนจาก คปท. กล่าวว่า ธนาคารที่ดินจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลและในส่วนของกลไกลรัฐเองว่าจะตอบสนองประชาชน หรือจะมองว่าเป็นการลิดรอนอำนาจที่เคยมี อย่างไรก็ตามหากโครงการนี้สำเร็จจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านแน่นอน โดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในเรื่องที่ดิน เพราะปัจจุบันนี้สังคมได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือประชาชนที่ต้องการใช้ที่ดินเพื่อปากท้อง กับราชการและนายทุนที่ต้องการใช้ที่ดินเพื่อสร้างฐานะและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งประเด็นที่ดินก็เป็นเรื่องที่ผูกโยงกับฐานพรรคการเมือง ดังนั้นนโยบายเพื่อการปฏิรูปที่ดินจะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่นักการเมืองด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท