Skip to main content
sharethis

ตัวแทนพรรคการเมืองรับฟังข้อเสนอแนวทางปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นจากเครือข่ายองค์กรท้องถิ่น เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-การเมืองใหม่และประชากรไทย เห็นด้วย-รับปากนำไปกำหนดเป็นนโยบาย วันที่ 20 เม.ย. 2554 ที่ ห้องคัทลียา โรงแรมรามาการ์เดนท์ เครือข่ายองค์กรท้องถิ่นนำเสนอข้อเสนอการปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่นต่อตัวแทนพรรคการเมือง โดยมีนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ นายวิทยา บูรณศิริ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ธนบดี ภู่สุวรรณ ประชากรไทย ประเสริฐ เลิศยะโส พรรคการเมืองใหม่ร่วมรับฟัง นายชาตรี อยู่ประเสริฐ เป็นตัวแทนนำเสนอ ข้อเสนอในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น 10 ข้อ โดยมีประเด็นหลักคือ 1. จัดตั้ง “สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” ให้เป็นกลไกกลางในการประสานให้เกิดการพัฒนาระบบการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาระบบที่มีความยืดหยุ่นตามพื้นฐานทางวัฒนธรรม มีเอกภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่นทั้งด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านการงบประมาณ และด้านการบริหารจัดการองค์กร 2. จัดสรรงบประมาณแก่ อปท. ในระดับที่พอเพียงต่อการดูแลประชาชน โดยเบื้องต้นให้ใช้สัดส่วนงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้ของรัฐบาล ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นไป และให้มีกระบวนการตรากฎหมายเฉพาะว่าด้วยการถ่ายโอนภารกิจให้ อปท.ของส่วนราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีผลการบังคับใช้และมีบทลงโทษที่ชัดเจนกรณีที่ไม่ดำเนินการ 3. ใช้มาตรการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวของประชากรในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และประกันรายได้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทสำหรับพื้นที่ที่มีความยากลำบากและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมพื้นฐาน 4. ตรากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ และแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เป็นไปโดยกลไกภาคประชาชน ทั้งการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงการตรวจสอบและรับรองผลการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นมีความสมบูรณ์ 5. จัดตั้ง “กองทุนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เป็นกลไกการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพของคนในพื้นที่ที่การศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดำเนินการได้และส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการจัดการศึกษาที่บนฐานวัฒนธรรมของตนเอง โดยกองทุนดังกล่าว เป็นการสมทบงบประมาณร่วมกันจากรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน 6. ใช้มาตรการสมทบงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่นที่พัฒนาระบบการจัดการตนเองและมีระบบการเงินการคลังของชุมชนด้วยการจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีระบบบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับของชุมชน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนประกันราคาผลผลิตด้านเกษตร เป็นต้น เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน 7. จัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการสำหรับบุคคลากรของท้องถิ่น” ให้มีความเสมอภาคกับสวัสดิการที่รัฐให้กับข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้จะเป็นการให้ความสำคัญกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดเมื่อเทียบเคียงกับหน่วยราชการส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงการสร้างขวัญกำลังให้แก่บุคลากรที่ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมและผลตอบแทนไม่สูงนัก 8. ผลักดันข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการยุบราชการส่วนภูมิภาค 9. ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว 10. จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่เป็นอิสระ ภายหลังการรับฟังข้อเสนอ นายวิทยา บูรณศิริ ตัวแทนพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอและบางข้อนั้นสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยพรรคการเมืองใดก็ทำได้ อย่างไรก็ตาม นายวิทยาแสดงความเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องช่วยเหลือตัวเองและดำเนินการในบางเรื่องได้ด้วยตัวเอง และได้เสนอสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรทำ 2 เรื่อง คือการสร้างความโปร่งใส่ และการตราข้อบัญญัติขององค์กรท้องถิ่นเอง ในส่วนของพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่สอดคล้องอยู่แล้ว คือ ถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้กับท้องถิ่นให้ครบถ้วนภายใน 4 ปีและสนับสนุนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งจนกระทั่งเป็นรูปแบบพิเศษได้ เช่นภูเก็ต แม่สอด หรือสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่รูปแบบพิเศษใดๆ อยู่ที่บริบท ด้านนายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ไม่ได้หนักใจหรือท้าทายในการตัดสินใจแต่อย่างใด พร้อมแสดงความเห็นว่าการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินมาสู่ระยะที่สองแล้ว โดยระยะแรกคือการปฏิรูปเชิงโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงหวังว่าการปฏิรูปรอบสองจะเป็นการปฏิรูปปรับแต่งให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องปรับตัวเองให้มีความพร้อมอย่างเต็มกำลังและต้องจัดโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เปิดโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะชุมชนไม่ควรอยู่ในฐานะเป็นเพียงผู้รับบริการ แต่ควรมีบทบาทในการบริหาร จัดการและร่วมมือในการตัดสินใจ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า หลังจากนี้เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องขับเคลื่อนกันต่อไป เพื่อให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้มาร่วมรับฟังวันนี้ได้ฟังความเห็นและข้อเสนอของเครือข่ายฯ ต่อไป โดยกล่าวว่าสิ่งที่เครือข่ายมุ่งหวังคือการทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เพราะการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชนด้วย น.พ.ประเวศ วะสี กล่าวในตอนท้ายของการประชุมว่า วิกฤตสังคมไทยขณะนี้ มีความพยายามแก้ไขจากหลายฝ่าย แต่มีข้อเสียคือเรื่องวิธีคิด ไม่คิดเชิงระบบ มองเป็นเรื่องดีชั่ว เอาพระมาสอนธรรมะ ขณะที่ปัญหาที่แท้จริงเป็นเรื่องของโครงสร้าง “เราอยากเห็นการเมืองดีกว่านี้ ราชการดีกว่านี้ กองทัพไม่ทำรัฐประหาร แต่เราไปจับปลายเหตุ” โดย น.พ.ประเวศมองว่าต้นเหตุของปัญหาวิกฤตสังคมไทยก็คือการรวมศูนย์อำนาจรัฐ ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำรัฐประหารได้ง่าย เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจส่วนกลางกับวัฒนธรรมท้องถิ่น การกระจายอำนาจท้องถิ่นจะช่วยให้จัดการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net