Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จำได้ว่าสมัยผมเป็นสามเณร ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ยุคแรกๆ ที่บ้านเราเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตก คณะสงฆ์มีกฎเหล็กห้ามพระเณรไปเรียนภาษาอังกฤษ ด้วยข้ออ้างที่ว่าเป็น “เดรัจฉานวิชา” (วิชาชั้นต่ำ,วิชาสัตว์เดรัจฉาน) ก่อนหน้านั้นราวสมัย ร.4 ขึ้นไป เมื่อความรู้แบบวิทยาศาสตร์ตะวันตกเข้ามาในสยามประเทศใหม่ๆ ชาวพุทธก็มองว่าวิทยาศาสตร์คือ “มิจฉาทิฐิ” ไม่สมควรเรียนรู้ และเป็นเรื่องที่ประหลาดมากในยุคโลกไร้พรมแดนเช่นนี้ คำว่า “มิจฉาทิฐิ” ยังเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้าง “วัฒนธรรมการใช้เหตุผล” ในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ หากมองในมิติวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อของคนไทยจะพบว่ามีรากมาจากวัฒนธรรมพุทธเถรวาท (แบบไทย) และหากไปดูในคัมภีร์ของพุทธศาสนาจะพบว่า พุทธศาสนามี “ท่าที” ต่อความเห็นต่างว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” มาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในคัมภีร์พุทธศาสนามีการจัดความเห็นต่างที่พุทธศาสนามองว่าเป็นมิจฉาทิฐิไว้อย่างน้อย 62 ความเห็น หรือ 62 ลัทธิความเชื่อ ใน 62 ลัทธิความเชื่อนั้น บางลัทธิความเชื่อก็เป็นศาสนา และปรัชญาสำคัญที่คนสมัยนั้นเชื่อถือกันเป็นจำนวนมาก เช่น ศาสนาเชน ปรัชญาของครูทั้ง 6 ความเชื่อเรื่องอัตตาของพราหมณ์ ฯลฯ คำว่า “มิจฉาทิฐิ” มีความหมายสองอย่าง ความหมายแรกมิจฉาทิฐิคือความเห็นไม่ตรงตามเป็นจริง ความหมายที่สองคือเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ถ้าพูดในระดับจิตใจคือเห็นตามอำนาจอวิชชาตัณหา หรือมีอคติต่างๆ เป็นตัวกำหนดหรือเป็นกรอบในการมอง การตีความ การคิดปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ แต่ที่จริงความเห็นต่าง เช่น ในอินเดียสมัยพุทธกาลอย่างน้อย 62 ความเห็นนั้น ก็มีคนอินเดียจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นความเห็นที่ตรงตามเป็นจริง ถูกทำนองคลองธรรม หรือเป็นความเห็นที่มีเหตุผลยากที่จะถูกหักล้างได้ ซึ่งหมายความว่าคนที่เชื่อต่างออกไป ศาสนาอื่น ปรัชญาอื่นๆ เขาก็ยืนยันว่าความเห็น ความเชื่อของเขาไม่ใช่ความเห็นที่ผิดบาปหรือชั่วร้ายใดๆ ซึ่งก็เท่ากับว่าแต่ละฝ่ายต่างยืนยันว่าความเชื่อหรือความเห็นตามหลักศาสนาและปรัชญาของตนเองเป็นสัจธรรม และต่างก็โจมตีว่าความเชื่ออื่นๆ เป็นมิจฉาทิฐิ (เทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าก็เริ่มด้วยการวิพากษ์ว่า กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยคเป็นความเชื่อที่ผิด) อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าความเห็นใดเห็นหนึ่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ หรือทั้งระบบของความเชื่อใดความเห็นหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ก็ย่อมสามารตัดสินได้หากพิสูจน์ได้หรือมีหลักฐานมีเหตุผลเพียงพอว่าความเห็นนั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ หรือทั้งระบบของความเชื่อนั้นๆ เป็นสิ่งที่ผิด และหากเป็นการตัดสินเพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเห็นที่ผิดกับความเห็นที่ถูก หรือเพื่อชี้ข้อเสียของความเห็นที่ผิด ชี้ข้อดีของความเห็นที่ถูก แต่ปัญหาคือ คำว่า “มิจฉาทิฐิ” ที่ใช้กันมาอย่างเป็นจารีตนั้น มันมีความหมายในเชิงคุณค่าแฝงอยู่อย่างมีนัยสำคัญว่า 1) มิจฉาทิฐิเป็นความเห็นที่ผิด ที่ชั่ว คนที่มีมิจฉาทิฐิจึงเป็นคนผิดคนชั่ว เป็นคนไม่น่าเสวนาด้วย ไม่น่าคบหาสมาคม (เป็นต้น) ไปด้วย และ 2) มักมีการใช้คำว่า “มิจฉาทิฐิ” ไปตัดสินความเห็น ความเชื่อ ความรู้ ภูมิปัญญาอื่น ฯลฯ อย่างมีอคติ เช่น ในอดีตที่ตัดสินกันว่าวิทยาศาสตร์เป็นมิจฉาทิฐิ ความรู้แบบตะวันตกเป็นมิจฉาทิฐิ ภาษาอังกฤษเป็นเดรัจฉานวิชา ฯลฯ ผลของการใช้มิจฉาทิฐิในความหมายดังกล่าว ทำให้ประณามความเห็นต่าง คนที่เห็นต่าง ศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ อุดมการณ์ที่ต่างจากเราว่าไม่ถูก ไม่ดี ชั่วช้า ฯลฯ ทำให้หลงตัวเองว่าดี ถูก อยู่ฝ่ายเดียว มีท่าทีเป็นศัตรูกับมุมองที่แตกต่าง เป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน ไปๆ มาๆ ความจริงความเท็จ ความถูก ความผิด ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันเป็นความเชื่อของคนที่มีสถานะใด (ผู้ใหญ่ ผู้น้อย พระ หรือคนธรรมดา ฯลฯ) ศาสนาของฝ่ายใด อุดมการณ์ของฝ่ายใด หรือหนักเข้าก็แค่ว่าเป็นใคร พวกใคร สีไหน ฯลฯ (ไม่ต้องสนใจเนื้อหาความคิด เหตุผล หลักฐาน เจตนาจริงๆ ของเขาคืออะไร) เช่น ในอดีตเมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ วิจารณ์การมอมเมาชาวบ้านด้วยศาสนาแบบจารีตที่เอาบุญกุศลมาเป็นสินค้า เขาต้องถูกประณามว่าเป็นมิจฉาทิฐิและถูกจับติดคุก ดังจิตรได้กล่าวถึงความเรียง ผีตองเหลือง ไว้ในคำแถลงการณ์ปิดท้ายของจำเลย ก่อนที่ศาลทหารกรุงเทพฯ จะพิพากษาคดีของตน ไว้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2507 ซึ่งกล่าวพาดพิงไปถึงกรณีการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาฯ ปี 2496 อันเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนาว่า \จำเลย จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาเหตุผล ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาชี้ขาดให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ซึ่งได้ถูกกักขังทรมานมาเป็นเวลา 6 ปีเศษแล้ว ให้ได้รับอิสรภาพอันมีเกียรติ ขอศาลได้ชี้ว่า การกระทำโดยสุจริตเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อความดีงาม เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระศาสนา อันเป็นสิ่งที่แม้พระศาสนา พระภิกษุ และชาวพุทธที่แท้ทั้งหลายย่อมกระทำกันนี้ เป็นความผิดและต้องรับโทษหรือ และจำเลยเองในฐานะที่เป็นสาราณียกร ซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่า บทความนี้เป็นบทความเพื่อพิทักษ์พุทธศาสนา และกำจัดสิ่งโสโครกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายบรรดาที่เข้ามาแอบแฝงอาศัยศาสนาหากิน ซึ่งพระศาสดาพระพุทธสาวกที่แท้ทั้งหลายได้ต่อสู้เพื่อทำลายให้หมดไปนี้ พึงต้องได้รับโทษ หรือคำพิพากษาของศาลย่อมจักเป็นประวัติศาสตร์อยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน\" (http://www.reocities.com/thaifreeman/jit/yonbok/yonbok.html) หากพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ข้อวิจารณ์ของจิตร ใน “ผีตองเหลือง” เป็นการพูดถึงความจริงอีกด้านหนึ่งของศาสนาที่เอาเปรียบสังคม มอมเมาผู้คนให้อยู่ในโลกของมายาคติ ความเพ้อฝัน ความเชื่อที่หวังพึ่งพาการดลบันดาลความสุขในชีวิต หรือการใช้ศาสนาเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจรัฐ ศาสนาในความหมายที่สอนให้คนสยบยอมต่อชะตากรรม มุ่งความสุขสบายส่วนตัว อยู่ในโลกของความเชื่อ ไม่สนใจโลกที่เป็นจริง ไม่สนใจปัญหาสังคม ฯลฯ ที่สำคัญคือไม่ได้สนใจความเป็นธรรม หรือการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นด้วยการใช้สติปัญญาของตนเอง และการมีส่วนร่วมทางสังคม ฉะนั้น หากพิจารณาในแง่สาระ คนที่วิจารณ์ความจริงในด้านมืดของศาสนา และใส่ใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรืออุทิศตัวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมอย่างจิตรต่างหาก ที่น่าจะถือว่าเป็นคนมีศาสนาในความหมายที่ถูกต้องมากกว่า ศาสนาที่ถูกต้องคือศาสนาที่เป็นชีวิตหรือวิถีชีวิต หรือศาสนาที่มีอยู่ในตัวคนที่แสดงออกเป็นมโนธรรมสำนึก ความเชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์ ความรักความปรารถนาความดีงาม ความเป็นธรรม เสรีภาพอิสรภาพ สันติภาพ โดยไม่แยกความดีงามส่วนตนออกจากความสัมพันธ์เชิงสนับสนุนกันกับความดีงามหรือความเป็นธรรมทางสังคม มองจากแง่นี้ จิตรอาจเป็นคนมีศาสนาในความหมายนี้มากกว่าฝ่ายที่โจมตีว่าเขาเป็นมิจฉาทิฐิ จะเห็นว่าจารีตของการใช้ “มิจฉาทิฐิ” ในทางศาสนานั้น เป็นการใช้เป็นเครื่องมือปกป้องศาสนาเชิงสถาบัน สังเกตว่าเวลาคนพูดถึงความมั่นคงของศาสนาเขาไม่ได้พูดถึงศาสนาในชีวิตคน เขาพูดถึงศาสนาเชิงสถาบัน แต่ศาสนาเชิงสถาบันนั้นแข็งทื่อเต็มไปด้วยเปลือก รูปแบบพิธีกรรมการปลูกฝังทัศนคติเพื่อปกป้องตัวสถาบันนั้นเอง ศาสนาที่นำไปสู่สงคราม การเข่นฆ่า ความแตกร้าวที่เป็นมาในอดีตจนถึงปัจจุบันไม่ใช่ศาสนาในชีวิตคนแต่เป็นศาสนาเชิงสถาบัน โลกตะวันตกมีประสบการณ์เกี่ยวกับอันตรายของศาสนาเชิงสถาบัน จึงเกิดการวิพากษ์พิษภัยของศาสนาเชิงสถาบันจนตกผลึกและได้ข้อสรุปว่า ต้องแยกศาสนาเชิงสถาบันออกจากการเมือง ไม่ให้สถาบันทางศาสนามีอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป อย่างที่เรียกว่าแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ให้รัฐเป็นเรื่องของส่วนรวม แต่ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ว่าศาสนาในชีวิตคนก็ยังอยู่กับคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นนักกฎหมาย นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ ศาสนาในชีวิตเขาอาจเป็นพลังหรือแรงบันดาลใจบางอย่างให้เขาทำชีวิตตนเองให้มีคุณค่า ความสุขภายใน แต่เขาก็แยกแยะความเชื่อทางศาสนาส่วนตัวของเขากับบทบาทหน้าที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอีกต่างหาก เช่น เมื่อนิวตันคิดสืบค้นความจริงทางวิทยาศาสตร์ เขาก็ไม่เอาความเชื่อทางศาสนามาตัดสิน เมื่อเข้าโบสถ์ก็ไม่เอาความจริงทางวิทยาศาสตร์ไปตัดสินความเชื่อทางศาสนา เช่นเดียวกันก็เป็นไปได้ที่นักต่อสู้ทางการเมืองบางคนจะมีความเชื่อทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง มีศาสนาเป็นแรงบันดาลใจในการอุทิศตนเสียสละ การเผชิญกับความทุกข์ส่วนตนและทุกข์ทางสังคมอย่างมีสติ แต่เขาก็จะแยกแยะออกระหว่างศาสนากับการเมือง เขาจะไม่เอาความเชื่อทางศาสนาของตนเองไปกำหนดอุดมการณ์หรือจุดประสงค์ทางการเมือง ไม่เอาวาระทางศาสนาที่ตนเชื่อไปเป็นวาระทางการเมือง แม้กระทั่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ศาสนาที่ตนนับถือ โดยถือว่าความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางศาสนาที่ตนนับถือคือสิ่งสำคัญกว่าระบบหรืออุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น ที่สำคัญคนมีศาสนาในชีวิตจริงๆ ย่อมเปิดใจเคารพสิทธิที่จะเห็นต่าง และพร้อมเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้ “ดาบมิจฉาทิฐิ” ไปฟาดฟันใครง่ายๆ มองการวิจารณ์เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่เหตุผลที่ดีกว่า ไม่ปิดกั้นตัวเอง ไม่แม้แต่เรียกร้องให้ใครมาเห็นด้วยกับตนเอง และไม่ปรามาสคนที่วิจารณ์ “ความคิด” ของตัวเองว่า คือคนที่มากดดันหรือพยายามเปลี่ยนความคิดของตนเองให้คิดเหมือนเขา หรือให้ไปเป็นพวกเดียวกับเขา เพราะโลกสมัยใหม่ไม่ใช่โลกของการเทศนาอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นโลกของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และเราอาจค้นพบปัญญาได้ด้วยการออกจาก “ถ้ำ” มาอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่เป็นโลกของการสร้างวัฒนธรรมเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม!"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net