Skip to main content
sharethis

 

มล. พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. ระบุปัญหาพรมแดนไทย-เพื่อนบ้านเป็นผลจากปัญหาการลากเส้นเขตแดนและการใช้แผนที่ กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม และลักษณะรัฐข้าราชการของไทย

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยนอร์ทเธิร์นอิลลินอยส์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยระดับปริญญาเอกในงาน Bangkok Research Seminar ในหัวข้อ “ลักษณะของชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหลังยุคสงครามเย็น” โดยได้ใช้ศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ชายแดนไทยกับพม่าและกัมพูชาที่ยังคงมีความขัดแย้งทางการทหาร กับความสัมพันธ์ของพรมแดนไทยกับลาวและมาเลเซียที่มีความขัดแย้งน้อยกว่า และพบว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยหลักสามด้าน คือ ปัญหาการลากเส้นเขตแดนและการใช้แผนที่ กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม และลักษณะรัฐข้าราชการของไทย อนึ่ง ปัญหาชายแดนในที่นี้ ผู้วิจัยเจาะจงหมายถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศในความหมายดั้งเดิม คือการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับรัฐซึ่งอาจกระทบกับอำนาจอธิปไตย การเกิดปัญหาอาชญากรรมและการก่อความไม่สงบบริเวณชายแดน

การปกครองของอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงอาณานิคมได้ทิ้งมรดกปัญหาของการใช้แผนที่ในเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งสภาวะสงครามเย็นก็ได้ทำให้การปักปันเขตแดนระหว่างเพื่อนบ้านนั้นเกิดความลักลั่น ดังในเหตุการณ์เขาพระวิหารที่อาจมองได้ว่าสาเหตุหนึ่งของปัญหานั้นเกิดมาจากการตีความจากแผนที่คนละฉบับ นอกจากนี้ ในแง่ของกระบวนการกล่อมเกล่าทางสังคม การหล่อหลอมของสังคมไทยในเรื่องชาตินิยม ความเป็นเอกราช ความยิ่งใหญ่และความรู้สึกเหนือกว่าต่อเพื่อนบ้านรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตซ้ำเรื่องพระนเรศวรที่ไทยสามารถปลดแอกจากพม่า หรือการชูนโยบายชาตินิยมในสมัยรัฐบาลพิบูลสงคราม ต่างตอกย้ำจินตนาการความยิ่งใหญ่ของกองทัพไทย และนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐชาติไทยในระยะสมัยใหม่ด้วย พม่าและกัมพูชาจึงกลายเป็นเหยื่อของกระแสชาตินิยมไทยไปโดยปริยาย ในขณะที่ลาวและมาเลเซียไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนักเนื่องจากอาจมองได้ว่าลาวเป็นรัฐที่มีการเมืองภายในค่อนข้างนิ่งและดำเนินนโยบายต่างประเทศไม่ก้าวร้าว ส่วนมาเลเซียนั้นเป็นเพราะอยู่ไกลจากศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย นอกจากนี้ การเกิดอาชญากรรมในบริเวณชายแดนและการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มต่างๆ ยังส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของอำนาจอธิปไตยของรัฐอีกด้วย

พินิตพันธ์มองว่า ปัญหาชายแดนไทยและเพื่อนบ้าน มีต้นตอที่สำคัญมาจากกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งเป็นผู้ที่ตัดสินใจและดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยปัญหานี้แยกไม่ออกจากลักษณะของรัฐไทยที่มีข้าราชการเป็นใหญ่ หรือตามทฤษฎีรัฐข้าราชการ (Bureaucratic Polity) ของเฟรด ริกส์ (Fred Riggs) ซึ่งละเลยความสำคัญของกลุ่มพลังอื่นๆนอกรัฐในการกำหนดนโยบาย การมีส่วนร่วมของกลุ่มอื่นๆนอกข้าราชการในการกำหนดนโยบายจึงเป็นไปได้น้อย ประกอบกับเมื่อมีรัฐสภาที่อ่อนแอ ทำให้ระบบประชาธิปไตยของไทยไม่ทำงาน การกำหนดนโยบายระหว่างประเทศจึงขึ้นอยู่กับมุมมองและท่าทีของผู้นำประเทศในแต่ล่ะยุคเป็นหลัก เขายกตัวอย่างสมัยของเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ที่การร่วมมือระหว่างไทยกับลาวและพม่าเป็นไปได้อย่างราบรื่นและกว้างขวาง เนื่องจากเกรียงศักดิ์ไม่ได้มองอินโดจีนในขณะนั้นในฐานะศัตรูจากภัยคอมมิวนิสต์ จึงส่งผลให้นโยบายระหว่างประเทศในช่วงนั้นเฟื่องฟูจนไทยสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทยกับลาวได้สำเร็จในปีพ.ศ. 2530 ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเห็นได้จากการที่ผู้นำประเทศของไทย ไม่ว่าจะเป็นสมัยชาติชาย ชุณหะวัน ชวลิต ยงใจยุทธ และเชษฐา ฐานะจาโร เข้าเยี่ยมและพบปะโดยส่วนตัวกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ผ่านหน่วยงานทางการทูตเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ดังนั้น ความสัมพันธ์ชายแดนระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน จึงขึ้นอยู่กับท่าทีและมุมมองส่วนตัวต่อนโยบายต่างประเทศของผู้นำในแต่ละยุคสมัยด้วยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศของชนชั้นนำจะเป็นไปอย่างเป็นเอกภาพทั้งหมด ดังจะเห็นในสมัยทักษิณ ชินวัตรที่กองทัพไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในนโยบายที่ว่าด้วยการปราบปรามยาเสพติดในพม่า ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้นำไทยในท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพม่า เป็นต้น

กลุ่มเสวนา Bangkok Research Seminar เป็นกลุ่มที่ดำเนินการโดยรองศาสตราจารย์แดนนี่ อังเงอร์ (Danny Unger) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยนอร์ทเธิร์นอิลลินอยส์ จุดประสงค์ของการเสวนาเป็นไปเพื่อสร้างพื้นที่ที่แลกเปลี่ยนและถกเถียงทางด้านวิชาการในประเด็นต่างๆ โดยมีกลุ่มผู้สนใจเข้าร่วมอย่างหลากหลาย ทั้งนักวิจัย นักศึกษา คนทำงานด้านสื่อมวลชน และผู้สนใจในประเด็นสังคมและการเมืองทั่วไป

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net