Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. สังคมที่ชนชั้นนำผูกขาดอำนาจมักใช้ยากล่อมประสาททางการเมืองเป็นเครื่องมือในการปกครอง

2. ราษฎรจำนวนมิน้อยโดนยากล่อมประสาทเข้าไปเกินขนาด จนจำไม่ได้ว่า ตัวเองนั้นเป็นใคร จำไม่ได้แม้กระทั่งว่า ใครคือผู้เอารัดเอาเปรียบและกดขี่

3. ไม่มีอะไรมีประสิทธิภาพเท่ากับยากล่อมประสาททางการเมือง เพราะมันสามารถทำให้ผู้คนยินดีปรีดากับการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ บางคนโดนยากล่อมจนรู้สึกปลื้มกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ตนไม่มี หรือทำให้ไม่เคยคิดว่าสิทธิที่ตนพึงมีนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง รวมทั้งไม่ตระหนักว่า ปัญหาที่แท้จริงของสังคมคืออะไร เกิดอาการใช้ตรรกะไม่เป็นเรื้อรัง เกิดผลกระทบในการใช้ตรรกะจนพิการอย่างประเมินราคาค่าเสียหายต่อบุคคลเหล่า นั้นและสังคมโดยรวมอย่างประเมินค่ามิได้ แถมบางคนเกิดอาการคลั่งและติดยางอมแงม ต้องเสพยากล่อมเป็นระยะๆ ทุกวัน

4. แต่พวกดื้อยามักชอบซุบซิบนินทา ปล่อยข่าวลือ และเม้าท์กระจาย พวกที่ดื้อยา ยิ่งถูกอัดยากล่อมประสาททางการเมืองมากขึ้นเท่าไหร่ กลับยิ่งมีปฏิกิริยาต้านยา จนต้องมีการออกกฎลงความเห็น วินิจฉัย “พิพากษา” ว่าผู้ที่ดื้อยาและไม่ยอมเก็บอาการดื้อยาของตนให้มิดชิดจากสายตาสาธารณะ คือ “ผู้ป่วย” ต้องถูกนำส่งไปขังประจำใน “โรงพยาบาลบ้าทางการเมือง” เป็นเวลาตั้งแต่หลายเดือนจนถึงหลายปี ภายใต้ “กฎหมาย” จนกว่าจะ “รักษาหาย” หรือไม่ก็จนกว่า “ผู้ป่วย” จะเลิกแสดงอาการดื้อยาในที่สาธารณะอีกเป็นอันขาด (ในขณะเดียวกัน พวกที่พูดไม่ได้เพราะกลัวถูกจับเข้า “โรงพยาบาลบ้าทางการเมือง” กลับรู้สึกเกลียดชัง เก็บกดมากขึ้นเรื่อยๆ )

5. สื่อมวลชนกระแสหลักที่มักไม่รายงานข่าวหรืออธิบายว่า ทำไมระยะหลังจึงมีคนดื้อยากล่อมประสาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กลับไม่สนใจ (เพราะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้างสังคมยากล่อม ประสาทในปัจจุบัน) แถมกลับอัดฉีดยากล่อมประสาททางการเมืองให้สาธารณะมากขึ้นๆ จนกระทั่งผู้คนเกิดอาการดื้อยาและสงสัยมากขึ้นเป็นลำดับ พวกเขาสงสัยว่า ยานี้ดีจริงหรือ

6. จนเกิดข่าวลือ เรื่องเล่าขานซุบซิบนินทาและปรากฎมี “ผู้ป่วย” มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอาการปฏิเสธยาอย่างรุนแรง จนโรงพยาบาลแทบไม่มีห้องว่าง

แต่แท้จริงแล้ว
ในสังคมนี้
ใครกันแน่ที่ “ป่วย”?

ผู้ถูกยัดเยียดยา หรือผู้ให้ยากล่อมประสาทที่ไม่ยอมให้ประชาชนตั้งคำถามต่อสรรพคุณของยาในที่สาธารณะ?

7. และหากคนส่วนใหญ่ที่คิดว่า คนส่วนน้อย “ป่วย” กลับคิดผิด นั่นก็อาจแปลว่า สังคมนี้ คนส่วนใหญ่ต่างหากที่ “ป่วย” เสียเองใช่หรือไม่

8. หากเป็นเช่นนั้น ประเทศนี้ก็อาจไม่ต่างจากโรงพยาบาลบ้าขนาดมหึมา ที่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกกินยากล่อมประสาททางการเมืองจนป่วย และไม่กล้าเผชิญหน้ากับโลกแห่งความจริง ไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถามว่า การใช้ยากล่อมประสาทนั้นอันตรายและมีผลข้างเคียงอย่างไร พวกเขากลับเอานิ้วอุดหูและกล่าวซ้ำๆ ว่า ยานี้ดีประเสริฐแท้

9. จนอาจทำให้สังคมยากล่อมประสาทล่มสลายได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net