Skip to main content
sharethis

 

จากข้อมูลพื้นฐาน ระบุไว้ว่า อำเภอเวียงแหงมีพื้นที่ทั้งหมด 705 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาและผืนป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะที่มีพื้นที่อยู่อาศัย 52 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,500 ไร่

ในพื้นที่ของอำเภอเวียงแหงนั้น จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง จึงมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์ จากสภาพป่าที่มีลักษณะของระบบนิเวศน์เฉพาะถิ่นตั้งแต่พื้นที่ป่าสองฝั่งลำน้ำแตง ลำห้วยสายต่างๆ และในพื้นที่หุบเขาและบนภูเขาสูงชัน

ป่าคือคุณค่า ลมหายใจของความหลากหลาย

เมื่อดูสภาพพื้นที่ป่าในเขตลุ่มน้ำแม่แตงโดยรวม เราจะรู้ว่าสภาพพื้นที่ป่าในแถบนี้มีความหลากหลาย ซึ่งพอแบ่งประเภทได้ ดังนี้

‘ป่าดิบเขา’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร ประกอบด้วยพรรณพืชในตระกูลก่อ เช่น ก่อตาหมู่น้อย ก่อเดือย ก่อเลือก ก่อแป้น เป็นต้น นอกจากนี้ในตระกูลก่อ ยังมีพืชชนิดอื่นอีก เช่น ยมหิน และทะโล้ เป็นต้น

‘ป่าสนเขา’ เป็นสังคมพืชที่ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกกลาง 700 เมตร ประกอบด้วยพรรณพืชชนิดต่าง ๆ เช่น สนสองใบ สนสามใบ และไม้ในวงศ์ก่อ เช่น ก่อแอม ก่อสีแสด เป็นต้น

‘ป่าดิบแล้ง’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 750 เมตร ประกอบด้วยพรรณพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ตะเคียงหิน ยางขาว และพลอง เป็นต้น

‘ป่าเบญจพรรณ’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 – 1,000 เมตร ประกอบ ด้วย พรรณพืชชนิดต่างๆ เช่น เต็งรัง และเหียง เป็นต้น

‘ป่าบนเขาหินปูน’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางมากว่า 1,000 เมตร ขึ้นไป ประกอบด้วยพรรณพืชจำพวกไม้เตี้ยหรือไม้แคระ เป็นต้น

นอกจากความสำคัญของพรรณพืชชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังมีการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง มีทรัพยากรสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ช้างป่าอย่างน้อย 60 ตัว ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง กวางผา ไก่ฟ้าหางลายขวาง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้แก่ กระทิง วัวแดง เลียงผา เก้ง กวาง หมี เสือโคร่ง เสือปลา เสือดาว เสือลายเมฆ ชะนี ลิง ค่าง หมูป่า หมาหริ่ง นิ่ม (ลิ่น) นกยูง ไก่ฟ้า นกเงือก เต่าปูลู และสัตว์ชนิดอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีกนกชนิดต่างๆ สัตว์เลื้อยคลาน งู ตะกวด สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เขียดแลว(กบภูเขา) และสัตว์น้ำรวมทั้งปลาชนิดต่างๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่มีกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง

แม่น้ำแตง คือสายเลือดของคนลุ่มน้ำแม่แตง-เวียงแหง

ลุ่มน้ำแม่แตง จัดเป็นลุ่มน้ำย่อยส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำแม่ปิง มีขนานกลางมีพื้นที่ 1,978 ต.ร.ม.หรือ1,236,250 ไร่ ทางด้านทิศเหนือของลุ่มน้ำติดกับชายแดนไทย–พม่า ทางด้านทิศใต้ติดกับลุ่มน้ำปาย ทางด้านทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำปิง และทางด้านทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำปาย ลุ่มน้ำแม่แตง

หากเดินขึ้นไปถึงต้นกำเนิดของสายน้ำแม่แตง ก็จะพบว่า ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแดนลาว บริเวณรอยต่อระหว่างชายแดนไทยกับประเทศพม่า ไหลจากทิศเหนือลงสู่ด้านล่างทางทิศใต้ ไหลผ่านมาตามแนวเทือกเขา ซอกเขา ผ่านมายังเขตพื้นที่ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห และตำบลเมืองแหง ของอำเภอเวียงแหง ก่อนไหลลงผ่านตำบลเมืองคอง ของอำเภอเชียงดาว แล้วไหลต่ำลงไปยังพื้นที่ตำบลกึ้ดช้าง ตำบลอินทขิล ของอำเภอแม่แตง ก่อนจะไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่ปิงที่บริเวณตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

แม่น้ำแตง มีความยาวจากต้นธารถึงปลายน้ำ ประมาณ 180 กิโลเมตร
ความยาวของลำน้ำแม่แตงเพียง 180 กิโลเมตร ทว่ากลับมีคุณค่ามหาศาล

เพราะเพียงแค่ปริมาณน้ำดิบ ซึ่งโครงการชลประทานแม่แตง ได้มีการเก็บกักน้ำไว้และปล่อยไหลเป็นน้ำประปาสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนอำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็ถือว่าคุ้มค่ามากมายแล้ว

แต่เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว แม่น้ำแตง นั้นได้มอบประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับสรรพสิ่งตลอดของสองฟากฝั่ง โดยเฉพาะการมีส่วนสร้างระบบนิเวศน์ เช่น สังคมของพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นตามสองฝั่งลำน้ำแล้ว แม่น้ำแตงยังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตอยู่ของชุมชนสองฝั่งมาเป็นเวลายาวนาน โดยได้ให้ประโยชน์กับผู้คนใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรม ตลอดถึงการเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อรองรับกิจกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

เมื่อหันมามองภาพเฉพาะในเขตพื้นที่ของอำเภอเวียงแหง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ระบบนิเวศน์มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยดูได้จากการก่อให้เกิดลำน้ำ ลำห้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาย่อยของลำน้ำแม่แตงมากมาย เช่น ลุ่มน้ำแม่แตะ ลุ่มน้ำแม่แพม ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำฮ้องจุ๊ ลุ่มน้ำห้วยไคร้ ลุ่มน้ำห้วยนายาว

จากข้อมูล พบว่า ในลุ่มน้ำดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์จากเหมืองฝายทั้งหมดมากถึง 20 ฝาย ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 16,659 ไร่ ที่ผ่านมาชาวบ้านและกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 1,828 ราย ได้ใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในเรื่องระบบเหมืองฝายมาปรับใช้ในการจัดระบบชลประทานได้สอดคล้องกับระบบภูมิเวศน์เป็นอย่างดี ซึ่งภูมิปัญญาความรู้ของชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนมาตลอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และมีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง

ระบบเศรษฐกิจเกษตรแบบดั้งเดิม พึ่งพาและสันติสุข

เมื่อพูดถึงอาชีพของคนเวียงแหง ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเวียงแหงนั้นผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ โดยการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม พืชผลิตที่สำคัญ ได้แก่ การทำนาข้าวเป็นข้าวนาปี และข้าวไร่ กระเทียม หอมแดง ข้าวโพด ขิง ท้อ บ๊วย มะม่วง เผือก พริก กะหล่ำปลี รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร ไก่ เป็ด และปลา เป็นต้น นอกจากนั้น เมื่อว่างจากการทำการเกษตร ชาวบ้านบางกลุ่มยังหาเวลาว่างด้วยการ การทอผ้าและทำย่าม เป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งด้วย

แต่พืชเกษตรที่ขึ้นชื่อและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในอำเภอเวียงแหงมากที่สุด ก็คือ ‘กระเทียม’ และเป็นพื้นที่แหล่งปลูกกระเทียมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

พระ ดร.ฐานี ฐิตวิริโย จากสำนักปฏิบัติธรรมปลีกวิเวก วัดกองลม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ได้ยกตัวอย่าง เฉพาะพื้นที่ปลูกกระเทียมบ้านม่วงป๊อก ซึ่งถือว่าเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีศักยภาพในการปลูกกระเทียมสูงมาก

“มีการทำสำรวจวิจัยเรื่องการปลูกระเทียมกันเล่น ๆ ว่าปีหนึ่ง บ้านม่วงป๊อกทำไร่กระเทียมกันมากน้อยเท่าไร ปรากฏว่า บ้านม่วงป๊อก พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกระเทียมได้ 8 ถัง ขายผลผลิตได้ 4,000 กิโลกรัม เมื่อผลผลิตออกมา ขายกิโลกรัมละ 10 บาท จะขายได้ประมาณ 40,000 บาท ฉะนั้น รวมปลูกกระเทียมเฉพาะบ้านม่วงป๊อก ประมาณ 500 ไร่ ดังนั้น จะขายกระเทียมได้ทั้งหมู่บ้าน ประมาณ 20 ล้านบาท นี่เฉพาะบ้านม่วงป๊อก ที่ปลูกกระเทียม โดยใช้เวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน มีรายได้เข้าหมู่บ้านได้ถึง 20 ล้านบาท ฉะนั้นลองคำนวณต่อไปสิว่า ถ้า10 ปีกี่ล้านบาท แล้วถ้าเรารวมพื้นที่ปลูกกระเทียมทั้งหมด ทั้งอำเภอเวียงแหง ชาวบ้านจะมีรายได้ทั้งหมดกี่พันล้านบาท” พระ ดร.ฐานี บอกเล่า

เป็นการบอกเล่า ให้เห็นภาพของอาชีพเกษตรกรรมของคนเวียงแหง ว่าผูกพันกับดิน น้ำ ป่า และการเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเป็นการบอกเล่า ให้เห็นภาพว่าคนเวียงแหงนั้น มีวิถีชีวิตที่ปกติสุข สันติสุข ไม่ได้เดือดร้อนหรือทุกข์ใจในเรื่องวิถีชีวิตและการดำรงอยู่

สมกับที่หลายคนบอกไว้หลายคำหลายนิยามว่า เวียงแหง คือเมืองในหุบเขา เมืองแห่งวัฒนธรรม เมืองแห่งการเกษตรกรรม เมืองแห่งชีวิต!

แต่แล้วชาวบ้านต้องเผชิญกับความแปลกแยกแปลกเปลี่ยน เมื่อจู่ๆ มีโครงการเหมืองแร่คืบคลานเข้ามา

ว่ากันว่า โครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ได้เริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 มีการเข้ามาทำการสำรวจแหล่งถ่านหินเวียงแหงเป็นครั้งแรก และเข้าทำการสำรวจขั้นรายละเอียดอีกครั้งในปี 2530 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2531 ให้กันพื้นที่แอ่งเวียงแหงให้กับ กฟผ. เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังผลการศึกษาทางธรณีวิทยา พบว่า มีปริมาณถ่านหินสำรองประมาณ 139 ล้านตัน แต่เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในห้วงเวลานั้น มีการสรุปว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน จึงส่งคืนแหล่งเวียงแหงตามประสงค์ของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำไปเปิดประมูล ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2535

เรื่องการเปิดเหมืองเงียบไปนานหลายปี พอถึงเดือนตุลาคม 2542 ทาง กฟผ. ได้เสนอเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อขอทบทวนมติ ครม. 10 มี.ค.2535 จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) และกฟผ. ซึ่งได้มีมติให้ทาง กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง และดำเนินการในรูปของบริษัทร่วมทุน ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ดำเนินการขอประทานบัตรควบคู่ไปกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะต้องสอดคล้องตามโครงสร้างการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

เดือนมิถุนายน 2543 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สศช. และคณะกรรมการกำกับงานนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ

เดือนกันยายน 2544 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) ได้อนุมัติให้ กฟผ. เข้าไปใช้โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ. จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง หากรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ให้ กฟผ. นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นี่คือที่มาที่ไป... ของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยรัฐอย่างเงียบๆ โดยที่ชาวบ้านคนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนล่วงหน้าว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนหรือไม่!?

พื้นที่ตั้งโครงการเหมือง ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งอำเภอ ทั้ง 3 ตำบล

พื้นที่ตั้งของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ บ้านกองลม ต.เมืองแหง บ้านปางป๋อ บ้านม่วงป๊อก บ้านมหาธาตุ บ้านสามปู ต.แสนไห บ้านจอง บ้านม่วงเครือ บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง โดยพื้นที่ของโครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าลุ่มน้ำฝาง และเส้นทางขนส่งหน้าดินและถ่านหินลิกไนต์บางช่วงอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

ที่สำคัญก็คือ พื้นที่ตั้งโครงการเหมืองถ่านหิน อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร และมีชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่ล้อมรอบ ซึ่งเป็นจุดเปราะบางมาก เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทราบข่าว จึงเกิดการตื่นตระหนกตกใจกับความแปลกเปลี่ยนที่จะเข้ามาในวิถีชีวิต

มีข้อมูลบอกว่า การดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหินเวียงแหง จะใช้วิธีทำเหมืองเปิด โดยการขุดเปิดเปลือกดิน แล้วขนไปยังที่ทิ้งดินที่กำหนดไว้ แล้วจึงขุดตักถ่านหินไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผลการศึกษาทางธรณีพบว่า แหล่งถ่านหินที่เวียงแหง มีปริมาณสำรองรวมกันทั้งสิ้น ประมาณ 139 ล้านตัน มีปริมาณสำรองที่คุ้มทุนประมาณ 15 ล้านตัน

ว่ากันว่า...พื้นที่เขตบ้านปางป๋อ มีศักยภาพมากที่สุดในการเปิดเหมืองแร่เวียงแหง และถ่านหินที่เวียงแหงมีคุณภาพดีกว่าที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง คือเป็นถ่านหินประเภท Lignite และ Subbituminous

และมีการกล่าวถึงเอกสารลับของ กฟผ. ที่รายงานอีกว่า ในพื้นที่เปิดเหมืองถ่านหินเวียงแหงนั้น เมื่อมีการเจาะลึกลงไปประมาณ 800- 2,400 เมตร มีก๊าซธรรมชาติอยู่ใต้ชั้นฐานลึกอยู่จำนวนหลายล้านลูกบาศก์ฟุต และในโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือตอนบน ระบุว่า มีแผนการจะจัดตั้งโรงงานผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากลิกไนต์เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและใช้ในครัวเรือน

นั่นคือเหตุผลที่ทาง กฟผ. และรัฐพยายามดึงดันให้มีเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหง และก็ทำให้คนเวียงแหงต้องออกมาคัดค้านกันอย่างหนักและต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา...

"เฮาบ่อยากล้มป่วยล้มตายเหมือนชาวบ้านที่แม่เมาะ หากใครไปเห็นชาวบ้านที่นั่น พวกเขาทรมาน และน่าสงสารมาก…" หญิงวัยกลางคน พูดออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

"ขนาดชาวบ้านได้สำรวจความคิดเห็นกันแล้วว่า 95% ชาวบ้านคัดค้านไม่เห็นด้วย ไม่ให้สร้างเหมืองที่เวียงแหง แล้วทำไมถึงต้องดึงดันจะสร้างอยู่ต่อไป ทำไมไม่ฟังเสียงของชาวบ้านกันบ้าง…" ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ตัวแทนคนเวียงแหง เอ่ยออกมาด้วยความรู้สึกไม่เข้าใจในกระบวนการของรัฐ

หากใครมีโอกาสมาเยือนเวียงแหง ก็จะพบว่า เวียงแหง เป็นอำเภอเล็กๆ ตั้งอยู่ในหุบเขาคล้ายแอ่งกระทะ โดยมีภูเขาสูงโอบล้อมรอบ อากาศจึงหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี หน้าหนาว-หมอกขาวปกคลุมเมืองทั้งเมืองจนถึงเที่ยงวัน อากาศปิดเช่นนี้ทำให้กระแสลมหมุนวนอยู่ที่เดิมอยู่อย่างนั้น...

แน่นอน ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตและสงสัยกันว่า หากเกิดเหมืองลิกไนต์ขึ้นที่นั่น วิถีชีวิตของคนเวียงแหงจะเป็นเช่นไร!? ไม่แน่ หมอกขาวนวลตามธรรมชาติของเมืองในหุบเขานั้น อาจถูกปกคลุมด้วยหมอกควันที่เต็มไปด้วยมลพิษของเหมืองแร่ลิกไนต์แทนก็เป็นได้.

(โปรดติดตามอ่าน ตอนหน้า)

ข้อมูลประกอบ:

  • โครงการสิทธิชุมชนศึกษา กรณีลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน
  • เอกสารประกอบโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์เวียงแหง กฟผ.
  • สำนักข่าวประชาไท,สำนักข่าวประชาธรรม

 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net