รายงาน: การปิดถนน คุก และคดีความนับสิบ! เสียงสะท้อนชาวบ้านสระบุรี

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และกลุ่มต่อต้านบ่อขยะ ต.ห้วยแห้ง จ.สระบุรี รวม 5 คน ขึ้นศาลสืบพยานโจทก์นัดแรกคดีที่ชาวบ้านปิดถนนพหลโยธิน กม.98-99 บริเวณช่องทางด่วนขาเข้าและขาออกเมื่อเดือนกันยายนปี 2552
 
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์หนองแซงนั้นรวมกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท บริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมาตั้งแต่โครงการยังไม่ผ่านการประมูล เพราะพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องไร่ท้องนา ชาวบ้านจึงเกรงปัญหาด้านมลพิษ การแย่งใช้น้ำในหน้าแล้ง การระบายน้ำเสียลงคลอง ฯลฯ อีกทั้งโรงไฟฟ้ายังตั้งห่างจากชุมชนเพียงประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการผ่านแล้ว และกำลังดำเนินปรับพื้นที่มาตั้งแต่เดือนมกราคม 54
 
ก่อนหน้านี้ถ้ายังจำกันได้ในเดือนกรกฎาคม 2552 ชาวบ้านเชียงราย 3 คนก็ถูกศาลเชียงรายสั่งจำคุกคนละ 1 ปี หลังถูกกล่าวหาว่านำประชาชนไปปิดถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พาน พื้นที่ อ.พาน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวนาปรังที่ตกต่ำ ส่วนความผิดฐานร่วมกันโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 200 บาทแต่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิพากษา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 100 บาท
การปิดถนนกลายมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เดือดร้อนด้วยประเด็นต่างๆ แม้การชุมนุม การต่อสู้เพื่อชุมชนท้องถิ่นจะเป็นสิทธิที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการเช่นนี้อาจทำให้ทำให้เกิดคำถามตัวใหญ่สำหรับสังคมว่าเป็นเรื่องที่ทำได้แค่ไหน อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่การชุมนุมทางการเมืองเข้มข้น และรัฐเองก็พยายามจะจัดระเบียบการชุมนุมของทุกกลุ่มผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ  
 

ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี
 
 
 
‘ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี’ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์หนองแซง กล่าวถึงเหตุของการตัดสินใจปิดถนนว่า เขารู้อยู่แล้วว่าการปิดถนนนั้นจะเกิดผลกระทบด้านลบต่อขบวนชาวบ้าน รวมถึงคดีความที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและแกนนำ แต่เขาก็ไม่อาจทัดทานความต้องการของชาวบ้านในกลุ่มได้ หลังจากพวกเขาพยายามทุกวิถีทางในการเรียกร้องหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งถึงภาวะหลังพิงฝา
 
มันเกิดจากการคัดค้านในพื้นที่บ่อยมาก เป็นสิบๆ ครั้ง ชาวบ้านรู้สึกว่าไปทางไนก็ไม่มีทางออก ไปหาผู้ว่าฯ กระทรวงทรัพฯ กรมโยธา หน้าทำเนียบฯ ไปมาทุกที่แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเหมือนไม่มีทางออก แล้ววันก่อนเกิดหตุ ตำรวจเหมือนเป็นตัวกระตุ้น ช่วงนั้นโรงไฟฟ้าซึ่งอีไอเอยังไม่ผ่านได้เข้ามาขุดเจาะดิน โดยมีกลุ่มอันธพาลวัยรุ่น มีอาวุธ มาคอยคุ้มกันการดำเนินงาน ตำรวจอยู่ไกลๆ ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่สนใจลงพื้นที่ ชาวบ้านเขาก็รู้สึกกดดันจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งความก็ไม่อยากจะรับแจ้ง เขาก็ไม่รู้จะไปยังไงแล้ว จริงๆ ชาวบ้านหลายคนก็ชวนปิดถนนมาเป็นปีแล้ว เราก็ค้านไว้ ถึงตอนนั้นชาวบ้านก็ยืนยันว่าไม่มีทางออกแล้ว เราบอกว่าปิดถนนต้องคิดให้ดี เพราะมันจะมาลงที่ผม แต่ถ้าพร้อมก็ไปไม่ได้ว่าอะไร ปรากฏเขาก็ไปกัน”
 
ตี๋เล่าถึงเหตุผลของการปิดถนนของชาวบ้าน
 
“ถ้าสถานการณ์มันไม่ย่ำแย่จริงๆ คงไม่ทำกัน มันเป็นอะไรที่หนักและเหนื่อยมากๆ ตอนปิดถนนทุกคนจะเครียด กลางคืนดูแลความเรียบร้อยลำบาก ตำรวจบางทีปล่อยทิ้งเลย มีรถมาป่วนบ้างอะไรบ้าง ต้องคอยดูแลกันเอง” ตี๋กล่าว
 
ขณะที่นายนพพล น้อยบ้านโง้ง ชาวบ้านกลุ่มต้านบ่อขยะกล่าวถึงคัดค้านการดำเนินการของบ่อกำจัดขยะสารเคมี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด ในพื้นที่หมู่ 8 ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี ว่า ชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านบ่อกำจัดขยะดังกล่าวเนื่องจากส่งผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบราว 20,000 คนอันที่จริงเมื่อ 5 เม.ย.52 นายธนเษก อัศวานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้สั่งปิดชั่วคราวบ่อขยะแล้วเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่จากนั้นก็มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งปิดชั่วคราว ให้เป็นเพียงการสั่งปรับปรุงตามอำนาจที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 เม.ย.52 พนักงานจากบริษัทผู้ประกอบการขนส่งกับโรงงานกำจัดขยะนำรถบรรทุกมาปิดถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้าสระบุรี พร้อมกับมีพนักงานกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเรียกร้องรัฐมนตรีสั่งเปิดโรงงานกำจัดขยะดังกล่าว โดยระบุว่าหากโรงงานปิดตัวลงจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่พนักงาน และมีการทักท้วงจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่าการสั่งปิดดังกล่าวอาจผิดหลักการที่ต้องเปิดโอกาสให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องก่อน อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้บ่อกำจัดขยะยังคงเปิดดำเนินการได้และยังไม่เห็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
 
 
 
 
สำหรับการร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้านั้น นายนพพลกล่าวว่า เป็นการร่วมกันในฐานะผู้เดือดร้อนเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะมีการปรึกษา และเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาต่างไม่สามารถพึงพาหน่วยราชการหรือหน่วยอื่นๆ นอกพื้นที่ได้ ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านซึ่งคัดค้านเรื่องบ่อกำจัดขยะได้ชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเป็นเวลากว่า 1 เดือน ก็มีตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าหนองแซงมาร่วมขึ้นเวทีด้วย ส่วนการชุมนุมปิดถนนเมื่อเดือนกันยายน 52ของชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้านั้น นพพลบอกว่าพอทราบข่าวก็ได้แวะไปร่วมพูดคุยกับชาวบ้านเท่านั้น แต่ก็ถูกดำเนินคดีด้วย
 
อย่างไรก็ดี การปิดถนนของชาวบ้านห้วยแห้งเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาบ่อขยะ รวมถึงการปิดถนนของพนักงานบ่อขยะที่เรียกร้องให้เปิดบ่อขยะนั้นเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับที่ชาวบ้านหนองแซงปิดถนนประท้วงโรงไฟฟ้า แต่ทั้งสองกรณีไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านและพนักงาน
 
นพพลจึงมองว่าการฟ้องคดีครั้งนี้กิดขึ้นเพราะต้องการหยุดผู้ต่อต้านโครงการทั้งสองแห่งที่เริ่มรวมตัวกัน ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว
 
ไม่เพียงแต่คดีปิดถนนเท่านั้น ภายใน 2-3 ปีนี้ชาวบ้านหนองแซงที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ายังถูกดำเนินคดีอีกถึง 15คดี ในจำนวนนั้นมี 10 คดีที่อยู่ในชั้นศาล (ดูรายละเอียดในไฟล์แนบ) บางคดีมีจำเลยร่วมนับยี่สิบคน เฉพาะนายตี๋ก็เหมาคนเดียว 7 คดี โดยส่วนมากจะเป็นคดีอันเกิดจากเหตุการผลักดันกันในพื้นที่
 
“ผมโดนหลายคดี กักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจ ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อการประทุษร้ายโดยอาวุธ 22 มี.ค. วันเดียวกันนี้ก็โดนอีกคดีตอนเย็นพยายามฆ่าผู้อื่น ล่าสุดคดีปิดถนน และหมิ่นประมาท อยู่ชั้นอัยการ ส่วนที่อยู่ชั้นตำรวจ มีหมายเรียกเป็นคดีทำร้ายร่างกาย ไม่รู้ไปทำร้ายร่างกายคนงาน หรือพยายามฆ่าตอนไหน เพราะมันก็เป็นเหตุการณ์การผลักดันกันในพื้นที่ เหตุเกิดเพราะเวลาเขามาเขาปิดกั้นทางสาธารณะ ก็ดันกัน ทะเลาะกัน สองฝ่ายเจ็บทั้งคู่” ตี๋กล่าว
 
“ปัญหามันเกิดเพราะหน่วยงานรัฐพยายามปิดกั้นฝ่ายชาวบ้าน เช่น การขอข้อมูลระวาง ขอดูโฉนดจากที่ดินอำเภอหรือจังหวัด เขาก็มักอ้างว่าต้องเป็นหน่วยงานราชการถึงจะดูได้ ข้อเท็จจริงปรากฏทางสาธารณะ 3 เส้นในแผนผัง แต่ไม่ปรากฏในโฉนด หน่วยราชการก็บอกไม่มี ชาวบ้านไปร้อง เขาแก้ปัญหาด้วยการทำรั้วตาข่ายให้มองเห็นได้ ทั้งที่จริงๆ มันต้องให้คนเดินได้” ตี๋ยกตัวอย่างเรื่องทางสาธารณะ
                                          
พื้นที่หนองแซงเป็นพื้นที่ใหม่ในการต่อสู้เรื่องนี้ ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวและรวมตัวกันเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าเข้ามา แต่เมื่อหลายคนโดนคดีหลายคดีเช่นนี้ ทำให้ขบวนชาวบ้านอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด
 
“เขาพยายามหาคดีเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็แล้วแต่ เอาหมด แจ้งความหมด พอถูกคดีเยอะๆ ก็มีปัญหาการขับเคลื่อน มีข่าวปล่อย ข่าวลือสารพัด อย่าออกจากบ้านนะ จะถูกตำรวจอุ้ม อย่าไปไหนมาไหนมันอันตราย มีข่าวลือว่าเขาจะเก็บ ส่วนที่เหลือก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ไปไหนมาไหนก็อยากมีแกนนำไปด้วย พวกที่พอนำได้พอติดคดี มันก็จะทำให้การเคลื่อนไหวไม่ค่อยแรงเหมือนเมื่อก่อน แม้กระทั่งงานส่วนตัวก็เสียหายแทบไม่ได้ทำมาหากิน ขึ้นศาลนี่ไปแทบทุกวันในช่วงนี้ คดีคนอื่นเราก็ต้องไป เพราะเขาอยากให้ไปด้วย จนตอนนี้การขึ้นศาลกลายเป็นอาชีพหลัก”
 
“กระบวนการยุติธรรมบ้านเราปัญหาเยอะ ตั้งแต่ระบบกล่าวหา คำสั่งศาลผู้พิพากษาก็มักจะเขียนปิดประตูฟ้องกลับ เราก็ถูกกระทำแบบนี้เยอะมาก บริษัทเขามีทีมทนายประจำ คดีอะไรก็แล้วแต่ที่เขาสามารถเป็นโจทก์ร่วมได้เขาจะเข้าเป็นโจทก์ร่วม ของเรานั้นค่าใช้จ่ายก็ต้องควักกันเอง”
 
 
กระนั้นก็ตาม ตี๋และสมาชิกในกลุ่มอนุรักษ์ที่ยังเหลือยังคงตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าต่อไป แม้จะได้รับการอนุมัติอีไอเอ เหลือเพียงการขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และขณะนี้กำลังดำเนินการถมที่อยู่ ซึ่งตี๋ระบุว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครมาตรวจสอบ บังคับให้เป็นไปตามอีไอเอ
 
“เขาไม่สนอีไอเอ การปรับพื้นที่เริ่มทำตั้งแต่ตีสี่ถึงดึก มีเสียงดังรบกวนชาวบ้าน นั่งห่าง 300 เมตร เสียงเครื่องจักร รถบด รถเทรคเตอร์ ดังมากรบกวนตลอด ที่ว่าจะทำรั้วเหล็ก 1.3 ม.ม. ตรวจสอบแล้วก็พบว่ารั้วหนาไม่เกิน 0.4 ม.ม. หรือเมื่อเดือนเม.ย.มีฝนตก ตามอีไอเอบอกต้องมีบ่อน้ำกักเก็บ เขาไม่ทำ เขาสูบออกขางนอก”
 
ถึงที่สุด ชาวบ้านหนองแซงรู้ดีว่าเขาไม่อาจปฏิเสธการพัฒนาได้ และไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดโรงไฟฟ้า แต่พวกเขายังคงต้องทำหน้าที่เป็นผู้คัดค้าน ตรวจสอบต่อไป เพราะกฎ กติกา ของบ้านเราไม่เคยเกิดผลขึ้นจริง
 
“หัวใจคือ ถ้าหน่วยงานรัฐตรวจสอบ เคร่งครัดให้เป็นไปตามอีไอเอ เข้มงวด มันก็จะไม่เป็นปัญหา แต่อีไอเอมันใช้อะไรไม่ได้เลย ที่บอกจะทำ ไม่ทำเลย นี่คือสิ่งที่เป็นมลพิษใหญ่”
 
 
“ถึงที่สุด ผมยังเห็นว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นสิทธิ การออก พ.ร.บ.ชุมนุม เป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้าน ในกรณีที่เกิดปัญหา มันไม่มีใครดูแล ปัญหาที่เกิดมันเริ่มต้นที่กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่มันไปจบด้วยกฎหมายอาญาทุกที และพวกเราชาวบ้านก็เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ลำบากแสนเข็ญ”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท