รายงาน: พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คุ้มครองหรือละเมิดสิทธิ?

ผู้ร่วมร่างฉบับแก้ไข แจงไม่มีธงต้องผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในรัฐบาลนี้ ชี้เทรนด์ภัยคุกคามทางไซเบอร์กำลังมา ต้องรีบรับมือ นักกฎหมายค้าน อังกฤษ-อเมริกา ภัยเยอะกว่ายังไม่ให้อำนาจเท่านี้ ผู้ก่อตั้งเว็บดังมอง คกก.ชุดใหม่อำนาจมากกว่า ศอฉ.  ด้านผู้ประกอบการโฮสติ้ง หวั่นประกาศใช้เมื่อไหร่ติดคุกสถานเดียว

รายการ คม-ชัด-ลึก เนชั่นชาแนล เมื่อวันที่ 21 เม.ย.54 มีการเชิญ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และรักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และอาจารย์พิเศษวิชากฎหมายเทคโนโลยี จุฬาฯ ปรเมศวร์ มินศิริ เว็บมาสเตอร์ kapook.com และอุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย  และ ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ร่วมพูดคุยในประเด็น "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่" แก้ปัญหาหรือละเมิดสิทธิ?  ดำเนินรายการโดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

สุรางคณา วายุภาพ ในฐานะผู้มีส่วนร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า หัวเรือในการแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ครั้งนี้คือ กระทรวงไอซีที โดยมีตัวแทนจากศาลยุติธรรมและสำนักงานกฤษฎีกาเข้าร่วม ส่วนตัวแทนจากหน่วยงานความมั่นคงนั้น มาในขั้นรับฟังความเห็น ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเปิดรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยเปิดให้ตัวแทนจากสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าแสดงความคิดเห็น

สำหรับสาระสำคัญที่มีการแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น มี 4 ส่วน ได้แก่ เรื่องนิยาม ฐานความผิด โครงสร้างคณะกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ และอำนาจเจ้าหน้าที่และพยานหลักฐาน

ในส่วน "นิยาม" สุรางคณาขยายความว่า แก้ไขเพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่กว้างมากขึ้น เพราะในอนาคต จะเข้าสู่ยุคที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้เชื่อมต่อออนไลน์ได้ โดยแนวโน้มของการเขียนกฎหมายของโลก จะขยายความ "คอมพิวเตอร์" ให้ครอบคลุมการทำงานในหน้าที่อื่นๆ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตด้วย

ขณะที่ "ฐานความผิด" เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เดิม กฎหมายเอาผิดกับบุคคลซึ่งเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยมิชอบ แต่โดยธรรมชาติของคนไทย ยังขาดความตระหนักและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงไม่ค่อยมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ทำให้เอาผิดกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือกรณีการทำสำเนา หากมีการนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปซ่อมที่ร้าน แล้วถูกนำข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไป บางกรณีอาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ แต่บางกรณีไม่ใช่ ส่วนที่แก้ไขนี้ก็จะเข้ามาเสริม ทั้งนี้กรณีที่มีความกังวลว่าเพียงการทำสำเนาข้อมูลอย่างการ cache ก็อาจกลายเป็นความผิดนั้น ผู้ร่างไม่ได้ตั้งใจให้กลายเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม รับว่าจำเป็นต้องเขียนให้ชัดขึ้

การครอบครองภาพลามกเด็กและ เยาวชน ปัจจุบัน เทรนด์ของเทคโนโลยีมาเร็ว เยาวชนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ทั้งนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ หากคนผิดไม่อยู่ในประเทศไทย หากจะขอความร่วมมือจากประเทศอื่น แต่ถ้าเราไม่กำหนดฐานความผิดแบบเดียวกันกับเขา ก็ขอให้ส่งมาไม่ได้

สุรางคณา ระบุว่า ด้วยเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรง ทุกอย่างจะสะดวก รวดเร็ว พร้อมด้วยอันตรายที่มากขึ้น โดยหลายประเทศมองไปถึงเทรนด์การจู่โจมประเทศทางออนไลน์ หรือก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ยกตัวอย่าง แฮกเกอร์มือดีอาจเจาะระบบของกรมการปกครอง เพื่อทำลายข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศ หรืออาจมีการแฮก เข้าไปควบคุมการผสมคลอรีนในน้ำประปา ซึ่งอาจส่งผลถึงตายได้ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องปรามภัยที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

มาตรา 6 “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยระบุตัวบุคคลจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเงินการธนาคาร หรือสังคมศาสตร์จำนวนสามคน โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี

ผู้ดำเนินรายการถามถึงจุดประสงค์ของการมีคณะกรรมการชุดดังกล่าว สุรางคณาชี้แจงว่า โดยเจตนารมณ์ ไม่ได้ต้องการให้เป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิด ศาลยังคงเป็นผู้ตัดสิน เพียงแต่คณะกรรมการนี้ จะดูเชิงนโยบายของประเทศโดยเน้นที่ความสงบสุขของประชาชนที่เป็นเหยื่อเป็นหลัก รวมถึงทำหน้าที่ประสานงานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน

กรณีที่มีผู้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายนั้น สุรางคณาระบุว่า ไม่ต้องกังวล เพราะต้องดูเรื่องของเจตนาประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าที่มีผู้กังวลกันคือกลัวว่าถ้าเขียนไม่ชัดจะถูกตีความให้เป็นแพะรับบาปได้ง่าย และเป็นภาระของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนนี้คิดว่าจะน้อมรับความคิดเห็นทุกกรณี เพื่อนำไปปรับให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น 

สุรางคณาย้ำว่า รมว.ไอซีทีไม่ได้ตั้งเป้าว่ากฎหมายจะต้องผ่านในรัฐบาลนี้ คาดว่าต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะมีการรับฟังความเห็นทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม สุรางคณา ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกันคือการสร้างสมดุลระหว่างสังคมส่วนใหญ่ของประเทศ กับสิทธิบางอย่างของประชาชนในลักษณะส่วนตัว รวมถึงการรับมือภัยทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังจะมาแน่ๆ และประเทศไทยยังอ่อนแอด้านนี้

ด้าน ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ผู้บังคับใช้ ส่วนตัวมองว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีความเสียหายจากการบังคับใช้กฎหมายผิดคิดเป็น 98% เพราะมีปัญหาทางเทคนิคเยอะ โดยเดิมถูกนำไปใช้กับเนื้อหาอย่างเว็บลามก หมิ่นสถาบัน กระทบความมั่นคง มากกว่าอยู่แล้ว ฉบับร่างแก้ไขนี้กลับเปลี่ยนจากโทษอาญาที่เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ ให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคง สถาบัน ความปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการใหม่เพิ่มขึ้นมา แต่กังวลเรื่องอำนาจของคณะกรรมการซึ่งมีที่มาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงถึง 90% และการให้อำนาจกับคณะกรรมการนี้แทนจากเดิมที่ไอซีทีดูแล รวมถึงเนื้อหาที่กลายเป็นด้านความมั่นคง

ไพบูลย์กล่าวว่า ร่างฉบับใหม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่และ เพิ่ม โทษมากกว่าเดิมเยอะ อาทิ การทำสำเนาโดยมิชอบ ทั้งที่การทำสำเนา หรือที่เรียกว่า cache หรือ temporary file นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว หากต้องการเข้าถึงข้อมูลหรือติดต่อระหว่างกันผ่านอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ นอกจากนี้ยังตั้งคำถามกรณีการใช้ภาพข่าวจากสื่อต่างๆ ว่า ตามกฎหมายลิขสิทธิ์บอกว่าไม่ผิดเพราะ เป็นการใช้อย่างเป็นธรรม หรือ fair use แต่มาตราที่แก้ไขไม่มีเรื่องนี้ เท่ากับระบุว่าแม้จะใช้อย่าง fair use ก็อาจจะผิดกฎหมายหรือไม่  ทั้งนี้ เขาเปรียบเทียบกับโทษปรับอื่นๆ ด้วยว่า ทำร้ายร่างกาย ชกหน้ากัน ปรับ 500 บาท แต่หากทำสำเนา ต้องจำคุก 3 ปี นอกจากนี้ นิยามของผู้ดูแลระบบตามร่างกฎหมายใหม่ user หรือผู้ใช้ ก็เป็นผู้ดูแลระบบด้วย เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ถือว่ามีสิทธิเข้าถึงเฟซบุ๊กของตัวเองที่ทำให้คนติดต่อกันได้ อาจเสี่ยงต่อการถูกตีความว่ากระทำความผิดได้

ไพบูลย์กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญาด้วยว่า โดยทั่วไป ตุลาการจะเป็นผู้ตีความใช้กฎหมาย จะไม่มีฝ่ายบริหารเข้ามากำหนดว่าอะไรเป็นความผิด ยกเว้นในสถานการณ์พิเศษ เช่น การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในอังกฤษและอเมริกาที่มีปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มากกว่าไทย ก็ยังแบ่งเป็นสองระดับ โดยฝ่ายบริหารของอังกฤษและอเมริกาจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคงจริง ฝ่ายบริหารของอังกฤษจะมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ต่อต้านการก่อการร้าย ขณะที่อเมริกา มีกฎหมายจลาจล

ทั้งนี้ เขามองว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องมีในกฎหมายลักษณะนี้ (ฉบับร่างแก้ไข) และว่าใช้เป็นไกด์ไลน์น่าจะดีกว่า

ไพบูลย์เสริมว่า สังคมอินเทอร์เน็ตไม่สามารถปิดกั้นได้ ต่อให้เพิ่มกฎหมายมา คนที่จะทำผิดก็จะย้ายไปใช้เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ทำให้กฎหมายเป็นหมัน ทั้งนี้ เสนอให้ใช้การบล็อคและการดูแลกันเองโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) หรือสมาคมต่างๆ

ปรเมศวร์ ในฐานะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปี 2550 ตั้งคำถามว่าถ้าจะขอประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไขร่างกฎหมายนี้ ทำไมผู้ร่วมร่างฉบับแรกจึงไม่เห็น พร้อมบอกว่า ตนเองเพิ่งเห็นร่างกฎหมายนี้หลังจากมีการแก้ไขและเป็นข่าวแล้ว

เขากล่าวว่า เข้าใจว่าการร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาดี แต่มองว่า เหมือนจะจับหนู แต่ฉีดยาจนทำให้ข้าวตายไปด้วย โดยอ้างถึงมาตรา 7(4) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ "ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นตาม พ.ร.บ.นี้หรือกฎหมายอื่น" ซึ่งเขามองว่า การให้อำนาจเช่นนี้ เท่ากับให้คณะกรรมการนี้ทำ อะไรก็ได้ ฟังดูใหญ่กว่า ศอฉ. เสียอีก นอกจากนี้สัดส่วนของคณะกรรมการฯ 90% ล้วนอยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ เรียกว่า กระบองใหญ่ขึ้น แค่เรียกไปก็กลัวแล้ว

ปรเมศวร์กล่าวถึงการทำสำเนาว่าอาจจะส่งผลให้การใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศช้าไปด้วย โดยอธิบายว่า ทุกวันนี้ที่อินเทอร์เน็ตเร็วเพราะไอเอสพีทำสำเนาข้อมูลไว้เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น วิดีโอคลิปจากต่างประเทศที่มีคนเรียกดูเยอะๆ ก็จะมีการทำสำเนาไว้ที่ไอเอสพี ทำให้ไม่ต้องเรียกดูจากต่างประเทศ ซึ่งวิธีนี้ในต่างประเทศก็ทำกัน ทั้งนี้ หากไม่ให้สำเนา เท่ากับต้องเรียกข้อมูลจากต่างประเทศโดยตรง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แปลว่าหากอยากให้บริการเร็วขึ้น ก็ต้องเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ปลายทางเพิ่มด้วย ขณะที่ "หนู" ที่ต้องการจะจัดการ สุดท้ายก็จับไม่ได้ คำถามคือจะแก้ไขเพื่อไปจัดการ "หนู" หรือทำให้ส่วนที่จะเป็นไปตามปกติมันไปไม่ได้


มาตรา 14 เพิ่มนิยามคำว่า "ผู้ดูแลระบบ" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเข้าถึงระบบคอมพิ
วเตอร์ที่ให้บริการแก่ผู้อื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของบุคคลอื่น

ในส่วนผู้ให้บริการ ฉบับร่างแก้ไข เพิ่มคำว่า "ผู้ดูแลระบบ" ตนเข้าใจว่าพยายามล้อกับผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะผู้ให้บริการเปรียบเทียบกับสำนักข่าวหรือสำนักพิมพ์ แต่ผู้ดูแลระบบดูจะเน้นไปที่ตัวบุคคล เหมือนกับกฎหมายสิ่งพิมพ์ ซึ่งผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเป็นตำแหน่งไว้ขึ้นศาล แต่การพูดถึงผู้ดูแลระบบในที่นี้ เขากลัวว่าจะกลายเป็นการจับยามกับภารโรงไปด้วย เพราะผู้ดูแลระบบนั้นเป็นฝ่ายเทคนิคที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาเลย ขณะที่ผู้ที่มีเจตนาทำเว็บผิดกฎหมายอาจไม่ถูกจับ

 
มาตรา 25 “ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 

แม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับเรื่องการครอบครองสื่อลามกเด็ก เพราะในต่างประเทศ การกระทำความผิดเกี่ยวกับเด็ก พัฒนามาจากการเป็นผู้ดูไปสู่ผู้กระทำเสียเอง แต่อาจต้องเขียนให้รัดกุมกว่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นยาแรงที่ถูกใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้ โดยยกตัวอย่างว่า หากเขาเขียนอีเมลโดยแนบรูปลามกเด็ก ทันทีที่อีเมลนั้นส่งเข้าไปใน inbox เท่ากับผู้รับมีความผิดทันที เพราะถือว่าครอบครอง


มาตรา 16 เพิ่ม “ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 

สหรัฐ อเมริกามีกฎหมาย Digital Millenium Copyright Act 1998 ซึ่งเอาไว้ดูแล การทำสำเนาโดยเฉพาะ แต่ของไทยมี 2 บรรทัด และโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งเป็นยาแรง อยากให้แยกออกมาต่างหากจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และลงรายละเอียดให้ชัดเจน
ขณะที่ภูมิจิต กล่าวว่า ในฐานะผู้ทำธุรกิจโฮสติ้ง หากดูตามร่างกฎหมายใหม่ คงต้องเลิกอาชีพนี้หรือไม่ทำธุรกิจในเมืองไทย เพราะเสี่ยงต่อการติดคุกอย่างยิ่ง โดยอธิบายผู้ที่ประกอบธุรกิจนี้ต้องเก็บไฟล์ทุกแบบ ไม่ว่าตัวหนังสือ รูป เสียง ภาพ เป็นไปได้ยากที่จะสแกนทุกข้อความในเครื่อง เพราะละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การจะตรวจภาพลามก แปลว่าต้องสุ่มเปิดเมลลูกค้า ว่ามีไฟล์ไหม ซึ่งลูกค้าคงไม่ต้องการให้เปิด หรือบางทีเขาก็ไม่รู้ว่าใครส่งมา ทั้งนี้ ภูมิจิต บอกว่า การทำสำเนา อาจเป็นระบบทำเอง หรือโดยอัตโนมัติ เดิม เนื้อหาอาจเข้าข่ายผิด แต่ฉบับร่างใหม่นี้กลายเป็นผิดที่วิธีการด้วย

ในฐานะผู้ให้บริการ ยากจะบอกว่าผู้ใช้ทำอะไรจนกว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว เพราะไม่สามารถเฝ้าได้ตลอด พร้อมยกตัวอย่างว่า การมีผู้เอาภาพละเมิดลิขสิทธิ์มาโพสต์ ก็เหมือนมีคนเช่าห้องแล้วเอาถ้วยกาแฟคนอื่นมาไว้ในห้องตัวเอง ถามว่าในฐานะเจ้าของบ้านเช่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการนำแก้วกาแฟของใครเข้ามาเมื่อใด สิ่งที่อยากให้เป็นคือ เมื่อเกิดความผิดบนเครื่องให้แจ้งผู้ให้บริการตามหลักเกณฑ์

นอกจากนี้ ภูมิจิต วิจารณ์ด้วยว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยากมากที่ผู้ให้บริการจะบอกว่าเราไม่ยินยอมให้ใช้ เธอมองว่าผู้ใช้กฎหมายไม่เข้าใจไอทีดีพอ ตีความตามใจฉัน ถ้าใช้ตาม พ.ร.บ.ฉบับร่างแก้ไขนี้คงติดคุกแน่ๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท