Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม: เวียงแหง เมืองชายแดน ประวัติศาสตร์ตำนาน กับการคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ เหมือง ... แร่ (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

“ทรัพยากรมีไว้เพื่อความจำเป็น
แต่ไม่เพียงพอสำหรับความโลภของมนุษย์”

ถ้อยคำของท่านมหาตมะ คานธี นั้นถูกบันทึกไว้บนเอกสารของการจัดตั้ง ‘เครือข่าย ทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่’ ได้สะกิดให้หลายคนฉุกคิดเตือนย้ำเพื่อหาหนทางเรียนรู้ เกาะกลุ่ม ปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่น ร่วมกันต่อไป

‘เครือข่าย ทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่’ ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 การจัดตั้งเครือข่ายนี้ อาศัยอำนาจกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตามมาตรา 45 ที่ระบุไว้ว่า ‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การ เอกชน หรือหมู่คณะอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ ส่วนร่วมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ’

คำ ตุ่นหล้า บอกว่า แนวคิดเรื่องการจัดตั้งเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนอำเภอเวียงแหง ได้ริเริ่มเมื่อปี 2544 หลังจากได้ร่วมทำโครงการวิจัยเข้ามาทำในเรื่องของการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า รวมถึงการเข้าร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องของการคัดค้านเหมือง นักต่อสู้เรื่องสิทธิ ทรัพยากร เช่น เรื่องของการรุกพื้นที่ป่าเวียงด้ง อ.ฝาง และกรณีการมรณกรรมของพระสุพจน์ สุวโจ พระนักอนุรักษ์ เป็นต้น

“หลังจากมีโครงการสิทธิชุมชนศึกษา ให้องค์กรชาวบ้าน นักวิชาการ เข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องขององค์กรชุมชน หมายถึง การเอาผู้นำชุมชน ชาวบ้าน มาเรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิชุมชน ป่าไม้ ทรัพยากร หนี้สิน รวมไปถึงการเรียนรู้ ดูงาน เช่น แม่เมาะ บ่อนอกหินกรูด พอเริ่มเรียนรู้ ก็เกิดความตระหนักในเรื่องของการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการรวมตัวกัน” ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา บอกเล่าถึงที่มาของเครือข่ายฯ

และที่สำคัญ ภารกิจเร่งด่วนของเครือข่ายฯ ก็คือปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นโดยคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ลิกไนต์ในเขต พื้นที่อำเภอเวียงแหง

การจัดตั้งเครือข่ายฯ จึงเกิดขึ้นภายหลังการเข้ามาของ กฟผ.เพื่อสำรวจพื้นที่โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหงอีกรอบหนึ่ง ในปี 2544

การขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ช่วงนั้น จึงเน้นการรวมพลังคัดค้าน ต่อต้านการเข้ามาในพื้นที่ของทีมโครงการเหมืองแร่ เรียกร้อง ปกป้อง ต่อสู้ เคลื่อนไหว อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้านม่วงป๊อกได้ร่วมกันประชุมใหญ่ ก่อนลงมติไม่รับ โครงการเจาะบ่อบาดาลจากโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง โดยชาวบ้านหวั่นเกรงว่าอาจจะเป็นการแอบสำรวจดินและน้ำ

หลังจากนั้น ได้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก โครงการเหมืองถ่านหินหลายพื้นที่ร่วมประชุมกับ NGO ณ ตึก IC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมการคัดค้านประชุมเหมืองถ่านหินโลกจังหวัดลำปาง

และในขณะที่แกนนำและสมาชิกเครือข่ายฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการคัดค้านประชุมเหมืองถ่านหินโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ลำปาง อยู่นั้น ได้มีทีมคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA ) ในพื้นที่เวียงแหง และได้มีการติดตั้งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศออกจากพื้นที่ บริเวณโรงเรียนบ้านห้วยไคร้ โดยชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลรายละเอียดมาก่อน กระทั่ง เกิดการรวมพลังของเครือข่ายฯ และชาวบ้านนับ 1,000 คน มีการเจรจา ต่อรอง และกดดัน ให้คณะ EIA หน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศออกจากพื้นที่ ในช่วงขณะนั้น ได้มีตำรวจนายหนึ่งได้ชักปืนข่มขู่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ และเข้าแจ้งความดำเนินคดี แต่ร้อยเวรไม่รับแจ้งความ จึงสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน จึงพาเดินขบวนขับไล่ ส.ต.ท.สมชาย ออกจากพื้นที่อำเภอเวียงแหง สถานการณ์จนเกือบจะรุนแรง กระทั่งนายอำเภอเวียงแหง และผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเวียงแหงต้องออกมารับเรื่องและจะสอบสวนลงโทษทาง วินัย พร้อมเข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอเวียงแหงให้ทีมคณะวิจัยชุดดังกล่าว ยุติและออกจากพื้นที่โดยทันที ซึ่งในที่สุดทีมวิจัยชุดดังกล่าว ยอมยุติบทบาทและยกเลิกการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศในพื้นที่แต่โดยดี

ครั้นเมื่อหันไปยัง ทีมงานโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ของ กฟผ. ก็ยังคงเดินหน้า จัดกิจกรรม ดำเนินการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ให้ดูดีในสายตาคนทั่วไปอยู่ อย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่าง เช่น การเสนองบประมาณในการสร้างบ่อบาดาลให้กับชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่เกือบครึ่งล้านบาท แต่ชาวบ้านก็เรียนรู้ ตั้งรับ ไหวทันและคัดค้านไม่รับผลประโยชน์ที่ทาง กฟผ.หยิบยื่นให้ ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ประธานประชาคมเปียงหลวง และหนึ่งในผู้นำกลุ่มคัดค้านการทำเหมืองแร่ลิกไนต์เวียงแหงในขณะนั้น ได้บอกผ่านสื่อมวลชนว่า หลังจากที่ชาวบ้านอำเภอเวียงแหงได้ทำการขับไล่คณะศึกษาอีไอเอจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะไม่เชื่อทีมศึกษาอีไอเอ ชี้รับจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สุดท้ายผลการศึกษาก็เข้าข้าง กฟผ.อยู่ดี เรื่องก็เงียบหายไปนาน แต่ดูเหมือนทาง กฟผ.จะยังไม่ยอมหยุดเคลื่อนไหว

“ทางกฟผ.ได้พยายามเข้ามาในพื้นที่เวียงแหงอีกครั้ง โดยใช้กลวิธีด้วยการเสนองบสร้างบ่อบาดาลให้กับชาวบ้าน 8 หมู่บ้าน จำนวนงบประมาณกว่า 3 แสนกว่า อีกทั้งยังได้เสนอให้กับวัดและโรงเรียนด้วย หลังจากชาวบ้านยินข่าว ได้มีการประชุมร่วมกัน และลงมติว่า จะไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เพราะทุกคนหวั่นเกรงว่า เป็นความหวังดีที่แอบแฝงประโยชน์ หวังเพียงหาเล่ห์กลวิธีจะเข้าไปทำอีไอเอ สำรวจวัดคุณภาพของน้ำผิวดิน และใต้ดิน ก่อนจะนำมาสรุปเสนอให้มีการเปิดเหมืองในขั้นต่อไป" หรือแม้กระทั่ง การดำเนินการ โดยผ่านทาง ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้ทำการสุ่มสำรวจ ความเห็นของชาวบ้าน ผู้ที่มีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 3 ตำบล จำนวน 14 หมู่บ้าน(จากทั้งหมด 22 หมู่บ้าน) ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันว่าเป็นแนวคิดของ กฟผ.โดยอนุกรรมการชุดหนึ่งที่แต่งตั้งขึ้นมา เพื่อนำผลการสุ่มสำรวจครั้งนี้ เสนอให้คณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน ต่อไป ในรายงานชิ้นนี้ ได้มีการกล่าวอ้างว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแหงจำนวนมากได้มีความเห็น ที่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาเหมือง ซึ่งทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลและขัดต่อข้อเท็จจริง เพราะว่าทางเครือข่ายฯ ได้มีการสำรวจความเห็นประชาชน 14 หมู่บ้าน 3 ตำบล โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 94.66 มีความเห็นคัดค้าน มีประชาชนเพียงร้อยละ 5.34 เท่านั้นที่มีความเห็นเป็นกลาง และเห็นด้วย

แน่นอนว่า ผลการสำรวจอย่างเป็นธรรมและเป็นจริงที่ออกมานั้น ตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ทาง กฟผ.ได้นำเสนออย่างสิ้นเชิง

หรือแม้กระทั่ง มีความพยายามเสนอข้อมูลด้านดีของโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ผ่านทางสื่อมวลชน เช่น ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 ที่ผ่านมา ได้มีดำเนินการถ่ายทอดสดรายการ “หมายเหตุประเทศไทย” และรายการ”กรองสถานการณ์” ของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง

ซึ่งแน่นอน ทางเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนอำเภอเวียงแหง ก็ได้ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า ทาง กฟผ.ได้เป็นผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ช่อง 11 เพื่อดำเนินการถ่ายทอดสดรายการ “หมายเหตุประเทศไทย” และ รายการ”กรองสถานการณ์” โดยทาง กฟผ.จะดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าร่วมรายการ ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มคนที่เห็นด้วยและสนับสนุน แต่ในด้านของผู้เข้าชมส่วนหนึ่ง ถูกคัดเลือกจากหมู่บ้านที่เห็นด้วยกับโครงการ โดยได้รับค่าเดินทางหัวละ 200 บาท

นั่นเป็นเพียงภาพตัวอย่างของการขับเคลื่อนของ กฟผ.ที่ชาวบ้านเวียงแหงที่คัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองแร่ มองว่า ในแต่ละกิจกรรมที่ดำเนินอยู่นั้น ล้วนซ่อนแฝงและมีเงื่อนงำทั้งสิ้น!

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

กลยุทธ์ในการเคลื่อนไหว เรียกร้อง ต่อสู้
จากชุมชนท้องถิ่น ขยายเครือข่าย ไปสู่นานาชาติ

จากการเคลื่อนไหวรุกคืบของโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ทำให้เรามองเห็นการขับเคลื่อนของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนอำเภอ เวียงแหง อย่างมีพลังและมีทิศทาง

และยังได้ก่อให้เกิดพัฒนาการในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะพัฒนาการการเรียนรู้ข้อมูลความจริง ข้อเท็จจริง รวมไปถึงพัฒนาการการขับเคลื่อนขององค์กรชาวบ้าน การเชื่อมร้อยประสาน การพัฒนาเครือข่าย แนวร่วมในการทำงาน ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ในหลายๆ รูปแบบ

จากชุมชนท้องถิ่น ขยายไประดับประเทศและนานาชาติ โดยดูได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในหลายพื้นที่ หลายเวที เช่น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2547 ที่สถานวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าร่วมเวทีชุมชนท้องท้องถิ่นไทยและฟิลิปปินส์ร่วมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่าน หินและเรียกร้องให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หยุดสนับสนุนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุเป็นต้นตอทำลายวิถีชีวิต สังคมและยังเกิดสภาวะเรือนกระจกและโลกร้อน จนทำให้หลายล้านคนต้องตกอยู่ภาวะเสี่ยงต่อผลกระทบหลายๆด้าน

สมชาย ชิงะ ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.เวียงแหงหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เปิดเผยว่า ชุมชนของตนอยู่ในพื้นที่โครงการสร้างเหมืองถ่านหิน เราจำต้องมีการคัดค้าน เพราะที่ผ่านมา กฟผ.ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความยุติธรรม เนื่องจากคนในชุมชนไม่ส่วนร่วมในการดำเนินการต่างๆ และเมื่อเราได้ลงไปศึกษากรณีตัวอย่างจากชุมชนแม่เมาะ จึงรู้ว่า ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

"เราไม่อยากให้เกิดโศกนาฏกรรมแม่เมาะ มาเกิดขึ้นกับคนเวียงแหง และเราไม่เชื่อว่า กฟผ. จะแก้ไขปัญหานั้นได้ จึงของคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และของเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใช้พลังงานทดแทน"ตัวแทนชาวบ้านอำเภอเวียงแหง บอกย้ำเช่นนั้น

นอกจากนั้น ทางเครือข่ายฯ ยังได้จัดประชุม สัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการนโยบายสาธารณะในภาคพลังงานและปฏิบัติการสร้างสุขภาวะของภาคประชาชน ผลกระทบจากการสร้างเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงโม่หิน สาธารณสุข สิทธิชุมชน นอกจากนั้น ยังได้สร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย มีการจัดค่ายเยาวชน และจัดตั้งกลุ่มเยาวชนศิลปวัฒนธรรมสายรุ้ง

ในขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง ยังได้ขับเคลื่อนในการเรียกร้องสิทธิ โดยการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเหมืองถ่านหินเวียงแหง กับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด มหาวิทยาลัย และรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มกรีนพีชและเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน แห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง,เครือข่ายฯ เวียงแหง จ.เชียงใหม่, ชุมชนบ่อนอก ชุมชนทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อคัดค้านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย และเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์การต่อสู้กับถ่านหิน ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้านี้ด้วย โดยมีเป้าหมายสู่พลังงานหมุนเวียน มาตรการประสิทธิภาพทางพลังงาน การวางแผนทรัพยากรแบบบูรณาการ และการจัดการในด้านความต้องการที่จะก่อให้เกิดอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทย

ผลของพลังแห่งการขับเคลื่อนเรียกร้อง
กับรางวัลความภูมิใจของเครือข่ายฯเวียงแหง

จากพลังของการขับเคลื่อน เรียกร้องสิทธิชุมชน และร่วมกันปกป้องรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาวบ้านเวียงแหงได้รับรางวัลของความภูมิใจ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2547 เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหงฯ ได้รับรางวัล Leaders For a Living Planet Award จัดขึ้นโดย WWF ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก ที่จัดขึ้นเพื่อมอบให้กลุ่มองค์กรระดับท้องถิ่นจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายบุญยืน กาใจ เป็นประธานเครือข่ายฯ มี น.ส.ชวิศา อุตตะมัง เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อ.เวียงแหงในขณะนั้น

น.ส.ชวิศา อุตตะมัง ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อ.เวียงแหง ในขณะนั้น เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจ ที่องค์กรระดับโลก ได้มองเห็นความสำคัญของการทำงานของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียง แหง ซึ่งอาจจะมีผลในแง่ที่ว่า การต่อสู้คัดค้านการเปิดเหมืองถ่านหินลิกไนต์ของคนเวียงแหงนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงภารกิจเพียงแค่ชุมชนเวียงแหงจะเรียกร้องเพียงกลุ่มเดียว แต่มันจะมีผลกระทบต่อทุกส่วนของสังคม ของประเทศ และทั่วโลก

“ทุกคนจะต้องตระหนักว่า มันจะส่งผลต่อการวิถีชีวิต มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังร้อน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องหันมาคิดทบทวนเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้านพลังงาน ว่าสมควรหรือไม่ ที่จะหันมาใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทน” น.สชวิศา กล่าว

"ผลกระทบจากถ่านหินนั้นชัดเจนมาก โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น คนในชุมชนของเราที่เวียงแหงนี้ จะต้องไม่ถูกบังคับให้ยอมรับชะตากรรมนี้ เราทุกคนจะเรียกร้องให้หยุดโครงการถ่านหินในพื้นที่ และจะเรียกร้องสิทธิของเราในการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและกระบวน การตัดสินใจโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะมีขึ้นในพื้นที่ของเรา เพื่อให้เรามั่นใจว่าคุณภาพชีวิตที่เราเป็นอยู่จะไม่ถูกคุกคาม และทรัพยากรต่างๆ ยังคงมีถึงลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต…" นั่นเป็นเสียง ของกลุ่มเครือข่าย ที่ประกาศก้องให้หลายๆ คนได้รับรู้เสียงเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ประกาศก้องในวันรับรางวัล Leaders For a Living Planet

ทั้งนี้ องค์กร WWF เป็นองค์กรที่หลายๆ ประเทศรวมตัวกัน โดยมีภารกิจเป้าหมายหลัก คือ เพื่อหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก พร้อมไปกับการสร้างอนาคตใหม่ให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ด้วยการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สร้างหลักประกันให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และร่วมผลักดันให้เกิดการลดมลภาวะและลดการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง

ดังนั้น รางวัล Leaders For a Living Planet Award จึงเป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความชื่นชม ให้กำลังใจ ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มองค์กรและบุคคลที่ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยความเสียสละ ความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่น และความเป็นผู้นำ เพื่อที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ และหันมาสนับสนุนและใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทนในอนาคตอันใกล้ นี้

โดยในปีดังกล่าว ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ จำนวน 4 องค์กร คือ เครือข่ายสิทธิ์ฯ ผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง, เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่, กลุ่มพลังงานทดแทนกระบี่ จ.กระบี่, และสำนักงานเทศบาลกระบี่ จ.กระบี่

ข้อมูลประกอบ:

  • โครงการสิทธิชุมชนศึกษา กรณีลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน
  • เอกสารประกอบโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์เวียงแหง กฟผ.
  • สำนักข่าวประชาไท,สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net