เรื่องเล่าจากศูนย์อพยพราษฎร: สันติเพลีย สันติพลาด ณ บ้านยายคำเผือ

เฮลิคอปเตอร์สีเขียวขี้ม้าของทหารส่งเสียงดังกระหึ่ม บินผ่านน่านฟ้าเมืองสุรินทร์อยู่เป็นระลอก เป็นหนึ่งสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความขัดแย้งยังไม่มีทางคลี่คลาย รวมถึงเสียงตุ้มๆ คล้ายพระตีเพลนั่น บางวันเสียงดังแต่เช้า บางวันเริ่มราวบ่ายจัดๆ ไปจนถึงดึกดื่น ยิ่งหากไปฟังที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ยิ่งได้ยินชัดเจนกว่าอยู่ชิดชายแดน เพราะมันเป็นแนวเส้นตรง ชาวบ้านหลายคนบอกเล่า

เรื่องเล่าจากศูนย์อพยพราษฎร: สันติเพลีย สันติพลาด ณ บ้านยายคำเผือ

เรื่องเล่าจากศูนย์อพยพราษฎร: สันติเพลีย สันติพลาด ณ บ้านยายคำเผือ

เรื่องเล่าจากศูนย์อพยพราษฎร: สันติเพลีย สันติพลาด ณ บ้านยายคำเผือ

เรื่องเล่าจากศูนย์อพยพราษฎร: สันติเพลีย สันติพลาด ณ บ้านยายคำเผือ

เรื่องเล่าจากศูนย์อพยพราษฎร: สันติเพลีย สันติพลาด ณ บ้านยายคำเผือ

คณะเรา ๓ คน เป็นเพื่อนๆ ที่ทำงานในแวดวงนักพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นสุรินทร์ ได้มีโอกาสลงไปเยือนพี่น้องในศูนย์อพยพราษฎรโรงเรียนโสตศึกษาวิทยาคาร ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท และโรงเรียนโคกตะเคียนวิทยา ตำบลโคกตะเคียน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ ๒๖ เมษายนที่ผ่านมา เพียงแค่บ่ายสามบ่ายสี่โมงเท่านั้น เสียงตูมแรกจากฝั่งชายแดนก็เปิดฉากขึ้นแล้ว ชาวบ้านในศูนย์อพยพคุยกันโขมงโฉงเฉงพลางวิเคราะห์ว่า เสียงแบบนี้เป็นเสียงปืนใหญ่จากฝั่งกัมพูชา และไอ้รัวตอบโต้เป็นสิบๆ ตูมตอนหลังนั้น มันเป็นเสียงปืนใหญ่ของไทยเราเอง

ท่ามกลางข่าวการปะทะกันระหว่างบ้านพี่เมืองน้องระลอกแล้วระลอกเล่า จนกระทั่งอีกครั้งนี้ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกระบุว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๒-๒๕ เมษายน ๒๕๕๔ มีทหารได้รับบาดเจ็บจากการปะทะจำนวน ๓๓ ราย เสียชีวิต ๕ ราย มีประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในท้องที่อำเภอกาบเชิง และพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ๕๗,๐๕๕ คน อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ๑๕,๘๘๔ คน มีศูนย์อพยพราษฎรทั้งสิ้น ๓๓ แห่ง ประชาชนในศูนย์อพยพฯประมาณ ๒๗,๐๐๐ คน

ยายคำเผือ ต้องถือดี อายุ ๖๗ ปี ราษฎรบ้านหนองแรด ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก หนึ่งในผู้อพยพกว่า๒,๐๐๐ ราย ในศูนย์อพยพฯโรงเรียนโสตศึกษาฯเล่าว่า “บ้านยายอยู่ห่างจากชายแดนประมาณ ๑ กิโลเมตร ตอนแรกได้ยินเสียงปืนเล็กก่อน วันที่ ๒๒ ประมาณ ๖ โมงเช้า นึกว่าทหารซ้อมรบเหมือนคราวก่อนๆ ไม่ได้เอะใจอะไร พอจะเอาวัวไปผูก ปืนใหญ่ก็ดังขึ้นอีก คราวนี้ทหารก็ประกาศให้ออกจากพื้นที่เลย ยายตกใจมาก ยังไม่ได้เตรียมข้าวของจำเป็นอะไรสักอย่าง หอบหลานได้ ลูกสาวก็พาขึ้นรถหนีออกมา เสื้อผ้าก็ไม่มี เปลหลานก็ไม่ได้เอามา”

พี่รัตน์-สุดารัตน์ ต้องถือดี อายุ ๓๕ ปี ลูกสาวยายคำเผือ อุ้มน้องกรลูกชายคนเล็ก ซึ่งนอนหลับอยู่คาอกเล่าบรรยากาศเพิ่มเติมว่า “ใน หมู่บ้านโกลาหลมาก สงสารก็แต่บ้านตรงข้าม เขามีลูกเล็กๆ สามคน ลูกร้องไห้กระจองอแงอยู่ข้างทาง แม่ก็ร้องโหวกเหวกขออาศัยรถคนอื่นมาด้วย เพราะแกไม่มีรถ ต่างคนต่างรีบ เห็นแล้วก็สงสารแต่ก็ไม่รู้จะช่วยยังไง พี่ก็มีแต่มอเตอร์ไซต์คันเดียว ไม่รู้จะให้ติดรถมายังไง”

“ส่วนไอ้นี่..ไม่รู้เรื่องรู้ราวกับเขา” พี่รัตน์หมายถึงน้องผึ้ง เด็กหัวหยิกผมฟูฟ่องอายุราว ๓-๔ ขวบ เป็นลูกสาวคนโตของพี่รัตน์นั่นเอง น้องผึ้งหูไม่ได้ยินจึงเป็นใบ้ไปด้วย พอเป็นใบ้ในสถานการณ์แบบนี้ น้องผึ้งจึงได้เปรียบคนหูดีตรงที่ ไม่ได้หวาดกลัวเสียงระเบิด จึงยังคงมึนงงทำหน้าเหรอหรา เมื่อแม่กับยายกุลีกุจอจับตนและน้องขึ้นรถมาอย่างโกลาหล จนกระทั่งบัดนี้ ก็อาจจะยังงงอยู่ว่า คนอื่นๆ รวมทั้งตนกับน้อง แม่และยาย มาอยู่ที่นี่ทำไม?

ไม่แค่นั้นตอนสัมภาษณ์ยายคำเผือ ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน น้องผึ้งยังได้แต่เขินอายม้วนต้วน กอดคอยายคำเผือไว้แน่นไม่ยอมเงยหน้าเงยตา เอาแต่ลอบมอง ยู อาสาสมัครหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่ลงพื้นที่มาด้วย ราวกับตนเป็นสาวรุ่นพบหนุ่มหล่อถูกใจ ตามประสาพัฒนาการบางช่วงวัยของเด็กก่อนอนุบาล ทำให้ไพล่คิดเตลิดไปถึงว่า ความรักในหัวใจของเด็กผู้ไม่รู้จักการเข่นฆ่า หรือไม่ประสีประสากับสงครามอย่างน้องผึ้ง อยู่ตื้นจนสัมผัสได้ง่ายๆ ต่างจากผู้ใหญ่อย่าง....บางท่าน

กลับมาหายายคำเผือ ผู้เคยร่วมประวัติศาสตร์ในช่วงศึกสงครามภายใน หรือกลียุคทางสังคมของประเทศกัมพูชา ราวปี พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๐ ยายคำเผือย้อนคิด..ตนอยู่ชิดชายแดน จึงได้เห็นผู้อพยพ เห็นการต่อสู้ หรือได้ยินเสียงปืนใหญ่มาแล้วตั้งแต่ครั้งลูกสาวเพิ่งเกิด นับเวลาก็ ๓๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว เพิ่งได้เห็นเหตุการณ์แบบนี้อีกครั้ง ใบหน้าของยายคำเผือในตอนนี้ จึงเต็มไปด้วยความกังวลครุ่นคิด

“ฝนมันเพิ่งตกหลังสงกรานต์มานี่เอง ยายกำลังหว่านข้าว ก็ต้องทิ้งไว้อย่างนั้น” ด้วยเหตุที่ต้องหนีเหตุการณ์ไม่สงบมาอยู่ที่นี่ นอกจากนั้น ยายคำเผือยังห่วงตาหรือสามีคู่ชีวิตอย่างยิ่ง “ตาไม่ได้มาด้วย แกบอกว่า แกแก่แล้วตายก็ไม่เป็นไร แกขออยู่บ้าน แกห่วงบ้าน ห่วงรถไถ ห่วงวัว” ไม่ต่างจากผู้ชายในหมู่บ้านคนอื่น ที่ได้แต่อาศัยท่อน้ำที่เขาทำฝายเป็นหลุมหลบภัยไปพลางๆ แม้จะมีพ่อบ้านหลายรายมาอยู่ที่นี่ แต่ส่วนมากช่วงกลางวัน เขาก็แอบกลับไปดูบ้าน ดูไร่นาวัวควายเขา ค่ำลงก็กลับมานอนที่นี่เป็นส่วนมาก

ยายคำเผือเล่าว่า อยู่ที่บ้านตาลำบากมาก กับข้าวก็ไม่มี ต้องอมข้าวแห้งเหมือนยามสงครามจริงๆ ส่วนวัวนั้นหญ้าก็ไม่ได้กิน อาศัยกินแต่น้ำลูบท้องไปก่อน ต่างจากยายคำเผือที่อยู่ที่นี่กับลูกหลาน อาหาร น้ำ หรือข้าวของจำเป็นอย่างอื่นก็ไม่ขาดแคลนนัก ดีกว่าวันแรกที่มาถึง ที่ขาดแคลน ฉุกละหุก และยังไม่มีระบบระเบียบแบบนี้ ไปรับอาหารก็ยังแย่งกันอยู่ พอวันต่อๆ มา คนภายนอกก็เข้ามาบริจาคของมากขึ้น และการดูแลของที่นี่ก็เป็นระบบขึ้น

แต่แม้ยายคำเผือจะได้รับการดูแลอย่างดีจากที่นี่ รวมทั้งคนภายนอกก็เห็นใจกันดี ดูจากของที่นำมาบริจาค รวมทั้งการเสียสละเวลาเข้ามาช่วยสร้างสรรค์บรรยากาศ เข้ามาสร้างความบันเทิงเริงรมย์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดแค่ไหน มันก็เป็นได้แค่ขนมหวานป้ายลิ้น ไม่นานความหวานก็คลาย จิตใจก็หมุนวนกลับมาหมกมุ่นเรื่องไร่นาสาโท และเหตุการณ์ไม่สงบทั้งหลายอยู่ดี ยายคำเผือจึงอยากให้เรื่องมันจบเร็วๆ ยายจะได้กลับบ้าน “ไม่รู้มันจะยิงกันทำไม เป็นพี่เป็นน้องกัน ก็ต่างคนต่างอยู่ไปว่ะ” ยายคำเผือทำหน้าเซ็ง

ติต่างว่าหน้าเซ็งของยายคำเผือ คือคำตอบว่า เห็นดีด้วยกับข้าพเจ้าที่แอบคิดอยู่ในใจว่า มนุษย์ไม่ว่าจะชาติพันธุ์หรือชนเผ่าไหน น่าจะได้ใช้เวลาไปเตรียมตัวเตรียมใจรับมือ “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ที่อาจจะเกิดขึ้นบนหลังคาบ้านใครเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างไม่ได้เลือกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ดีกว่ามานั่งเสียเวลาจับปืนขึ้นต่อสู้ประหัตประหารกันเอง ราวกับหากไม่ได้ยิงกันมันเสียชาติเกิด กระนั้น

ในช่วงท้ายของการสนทนา ข้าพเจ้าได้ถามยายคำเผือกับลูกสาวไปเล่นๆ ว่า เป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลเขาจะเลี้ยงความขัดแย้งเพื่อหาเรื่องใช้งบประมาณกัน เล่นๆ หรือเหตุการณ์การปะทะกันดังกล่าว เป็นแค่เกมการเมือง เพื่อต่อรองผลประโยชน์กันก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเฉยๆ

ยายคำเผือเบือนหน้าหนี บอกว่า “เรื่องนี้ยายไม่รู้” ส่วนพี่รัตน์นิ่งคิดไปสักพัก ก็ตอบกลับมาลอยๆ ว่า “พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน...แต่ถ้าเขาจะเอาชีวิตประชาชนเป็นเกมการเมือง เพื่อต่อรองอำนาจกันเฉยๆ เขาทำแบบนั้นได้ เขาก็ไม่ใช่คนแล้ว!!”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท