ใบตองแห้งออนไลน์: เจ้าอังกฤษคือเซเลบส์

ท่ามกลางกระแสเห่อพิธีเสกสมรส “ครั้ง ประวัติศาสตร์” ระหว่างเจ้าชายวิลเลียม กับเคท มิดเดิลตัน ดูเหมือนคนไทยที่อยู่ใน “สังคมหวงห้าม” จะไม่ได้มองความเห่อของฝรั่งอย่างที่เป็นจริง
 
เมื่อ 2-3 วันก่อน สำนักข่าวเอพีออกบทวิเคราะห์ ชี้ว่าความเห่อข่าวพิธีเสกสมรส ของคนอังกฤษ ของคนอเมริกัน หรือของคนทั้งโลก ไม่ใช่ความเห่อเจ้า หรือรอแยลลิสต์แบบเดิมๆ แต่เป็นความสนใจแบบคนชอบดูข่าวดารา เซเลบส์ เพราะราชวงศ์อังกฤษกลายเป็นเซเลบส์ไปแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัยเจ้าหญิงไดอานา
 
ความเป็น “เซ เลบส์” เห็นได้จากข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ เรื่องชุดเจ้าสาว จะใช้ชุดของดีไซเนอร์รายไหน ทรงผม หรือความกังวลว่าเคท มิดเดิลตัน ผอมไปหน่อย ปาปาราซซีตามถ่ายภาพเธอมาตั้งแต่คบกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทั้งภาพความงามสง่า มาถึงภาพหลุด กระโปรงเปิด ยกขา ภาพนุ่งบิกินี หรือภาพที่เธอเดินแฟชั่นโชว์สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปีแรก (ซึ่งเจ้าชายวิลเลียมไปเชียร์อยู่หน้าแคทวอล์ก) ก็กลายเป็นภาพยอดฮิตในเน็ต
 
เจ้าหญิงได อานาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงราชวงศ์อังกฤษ จนต้องปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมป๊อป จากเดิมที่ราชวงศ์มีภาพของความเคร่งขรึม สูงส่ง และอยู่ห่างไกลจากประชาชน จนบางคนก็บอกว่าเย็นชาน่าเบื่อ เจ้าหญิงไดอานาก้าวเข้ามาพร้อมกับ “พลัง ดารา” ทั้งการแต่งตัวนำแฟชั่น ออกงานสังคม และชีวิตส่วนตัวที่มีสีสัน มีทั้งสุขทั้งเศร้า ด้วยการที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยังคงความสัมพันธ์กับเลดี้คามิลลา ปาร์คเกอร์ โบว์ล กระทั่งตัวเธอเองก็มีชู้ และเป็นโรคผิดปกติทางอารมณ์ทำให้กินแล้วอาเจียน
 
เจ้าหญิงได อานามีทั้งคนชอบและไม่ชอบเธอ แต่ทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบต่างสนใจ ติดตามข่าวเธอ นั่นแหละเซเลบส์ ปาปาราซซีตามติดถ่ายภาพ ถ่ายกระทั่งตอนที่เจ้าหญิงไดอานาถลกชุดราตรีก้าวลงจากรถ ไม่ต่างจากภาพดาราทั้งหลาย จนการไล่ตามของปาปาราซซีนำไปสู่จุดจบที่น่าเศร้า
 
ความตายของ ไดอานา สั่นสะเทือนราชวงศ์อังกฤษอย่างรุนแรง เพราะคนอังกฤษมองว่าความเคร่งครัดต่อขนบจารีตของราชวงศ์ผลักให้เธอไปพบจุดจบ ดังที่สะท้อนออกมาในหนัง The Queen ควีนอลิซาเบธตรัสกับนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ว่าสาเหตุที่ทรงมีพระพักตร์เคร่งขรึม ไม่แสดงความเศร้าโศกเสียใจ ไม่แสดงอารมณ์ เพราะถือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่คนให้ความเคารพ การแสดงออกต่อสาธารณะถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ขณะที่แบลร์แย้งว่าราชวงศ์ควรแสดงออกซึ่งความเศร้าเสียใจ แสดงอารมณ์ แสดงด้านที่เป็นมนุษย์เสียบ้าง
 
ตลอดสิบกว่า ปีหลังไดอานา ราชวงศ์อังกฤษพยายามปรับตัว ใส่ใจความรู้สึกของสาธารณชนมากขึ้น เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี ซึ่งได้รับความนิยมอยู่แล้วจากการเป็นโอรสของไดอานา ตอบสนองความต้องการของแฟนๆ “ผู้ บริโภค” ข่าวสารอย่างเต็มที่ ด้วยการให้สัมภาษณ์ เปิดเผยตัวตน แสดงออกเหมือนคนธรรมดาสามัญ ขณะที่ราชวงศ์ก็เปิดเว็บไซต์ เปิดเฟซบุค เปิดแอคเคานท์ Flickr ให้ผู้คนเข้าชมภาพ กระทั่งพิธีเสกสมรสครั้งนี้ สำนักพระราชวังก็ตอบสนองความต้องการของสื่ออย่างเต็มที่ เปิดรายละเอียดทางเว็บไซต์ YouTube Twitter และถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ต
 
แน่นอนว่า เคท มิดเดิลตัน ยังได้รับความนิยมจากการเป็นสามัญชนคนชั้นกลาง บรรพบุรุษเธอเป็นคนงานเหมืองถ่านหินด้วยซ้ำ แต่พ่อแม่สร้างตัวขึ้นจากการขายอุปกรณ์จัดงานปาร์ตี้ทางไปรษณีย์ จึงทำให้เรื่องของเธอเหมือน “เทพนิยาย” อย่างซินเดอเรลลา
 
ราชวงศ์ อังกฤษในรุ่นของเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี รวมถึงเจ้าหญิงยูจีนนี เจ้าหญิงบีทริซ พระธิดาของเจ้าชายแอนดรูว์ (ซึ่งชีวิตสมรสกับซาราห์ เฟอร์กูสัน ล้มเหลว) กลายเป็น “บุคคล สาธารณะ” ในวัฒนธรรมป๊อป บางครั้งก็เป็นข่าวซุบซิบในทำนองที่ไม่ต่างจากเดวิด-วิคตอเรีย เบคแฮม, เชอรีล โคล, ปารีส ฮิลตัน หรือว่านางแบบนมโต แคที ไพรซ์ แม้ยังมีขีดคั่นของการวางตัวอยู่บ้าง สาธารณชนยังเรียกร้องสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างความเป็นกันเอง เป็นมนุษย์ธรรมดาที่อยู่ใกล้เคียงสามัญชน ผ่อนความเคร่งจารีตลง
 
เจ้าหญิงยู จีนนีเป็นข่าวฮือฮาเมื่อเข้าไปเที่ยวบาร์อะโกโก้ และเคยมาเที่ยวภูเก็ตแบบนักท่องเที่ยวแบกแพค ขึ้นเครื่องชั้นประหยัด พักเกสต์เฮาส์คืนละ 500 บาท เมาขึ้นไปเต้นบนโต๊ะในผับ (ฟังน่ารักดีแต่สื่ออังกฤษวิจารณ์ว่าต้องเสียค่า รปภ.ไป 1 แสนปอนด์ ในช่วงที่เจ้าหญิงท่องโลกแบบซำเหมาพเนจร) นอกจากนี้ยังพบรักกับแจค บรูคสแบงก์ ซึ่งทำงานพาร์ทไทม์เป็นบริกร
 
ราชวงศ์รุ่น นี้มีอิสระในการใช้ชีวิต จะเห็นได้ว่า เจ้าชายวิลเลียมกับเคท มิดเดิลตัน อยู่ด้วยกันมาก่อนแล้วแบบหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เจ้าชายแฮร์รีถูกแซวเป็นเจ้าชายเสเพล แต่คนอังกฤษก็ไม่ว่าอะไร ยกเว้นตอนที่มีคลิปหลุด เจ้าชายเผลอใช้ถ้อยคำที่ส่อทางเหยียดเชื้อชาติ แม้ไม่เจตนาแต่ก็ถูกวิจารณ์ขรมและต้องขอโทษประชาชน
 
เสรีภาพใน การใช้ชีวิตส่วนตัว หลุดพ้นจากขนบจารีต ยังส่งอานิสงส์ถึงรุ่นเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าหญิงแอนน์ ที่เข้าพิธีเสกสมรสใหม่ ขณะที่เจ้าชายแอนดรูว์กับซาราห์ เฟอร์กูสัน ก็หย่าจากกันด้วยดี (แต่เฟอร์กี้เป็นหนี้ท่วมหัว)
 
ชายวัย 53 ที่ไปกางเตนท์รอพิธีเสกสมรสอยู่หน้ามหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ตั้งแต่วันจันทร์ กล่าวว่าเขาเป็นรอแยลลิสต์ เพราะชื่นชมเจ้าหญิงไดอานา เอาเข้าจริงไม่น่าจะใช่ “รอแยลลิสต์” แบบเดิมๆ ที่มีข้อหวงห้ามมีขีดคั่นระหว่างราชวงศ์กับประชาชน แต่เป็น “รอแยลลิสต์” ในวัฒนธรรมป๊อป ผสมผสานความเป็นเซเลบส์ แบบไฮโซ ดารานักร้อง เสียมากกว่า
 
แน่นอนว่าในอังกฤษมีพวก Republic ที่วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์อย่างเปิดเผย และคนอังกฤษร่วมครึ่งไม่ตื่นเต้นสนใจไปด้วยกับพิธีเสกสมรส แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ก็มักจะมุ่งไปที่เรื่องงบประมาณค่าใช้ จ่ายประจำปีมากกว่าเรื่องอื่น เพราะสถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่มีอำนาจและไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจ ทางการเมือง
 
ควีนอลิซา เบธทรงทราบแรงกดดันเรื่องนี้ พิธีเสกสมรสครั้งนี้ราชวงศ์จึงออกค่าใช้จ่ายเอง รัฐบาลเพียงออกค่าดูแลรักษาความปลอดภัย โดยถือว่ารัฐมีรายได้จากการท่องเที่ยวการขายของที่ระลึก เช่นเดียวกับการที่ “ทหารเสือราชินี” “ตบเท้า” ทุกวันที่พระราชวังบัคกิงแฮม ถือเป็นเครื่องดูดเงินเข้าประเทศ
 
ควีนอลิซา เบธเสียภาษีจากทรัพย์สินส่วนพระองค์มาตั้งแต่ราว 40 ปีที่แล้ว (เคยอ่านว่าเสียปีละ 10 ล้านปอนด์ ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่) โดยยังเปิดเผยรายละเอียดทรัพย์สินทั้งหมดต่อสาธารณะ ต่อมาก็ลงเว็บไซต์
 
อ.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ ท่านเลยเอารายละเอียดทรัพย์สินฯ ขึ้นเว็บไซต์เช่นกัน แต่ทำได้ปีเดียว ก็เลิกไปโดยไม่ทราบสาเหตุ นิตยสารฟอร์บส์เอาข้อมูลนี้แหละไปจัดอันดับว่าในหลวงของเราเป็นพระมหา กษัตริย์ที่รวยที่สุด ต้องโต้แย้งกันให้วุ่น
 
ที่สวีเดนก็ เพิ่งมีพิธีเสกสมรส เจ้าหญิงวิคตอเรีย มกุฎราชกุมารี เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งราชวงศ์กับรัฐบาลแบ่งกันออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง แม้ถูกคัดค้านจากประชาชนที่เข้าชื่อกัน 56,000 คนในเฟซบุค นอกจากนี้เจ้าหญิงยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ขรมกรณีที่รับของขวัญเป็นแพคเกจ ฮันนีมูนพร้อมพ็อคเกตมันนี่ เรือยอชท์ เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว มูลค่า 5 แสนยูโร จากมหาเศรษฐีอันดับสามของประเทศ โดยสาธารณชนเห็นว่าเมื่อทรงขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขในภายหน้าอาจใช้อำนาจ หน้าที่เอื้อประโยชน์ให้มหาเศรษฐีรายนี้ได้
 
สวีเดนเป็น ประเทศเดียวที่เจ้าหญิงเป็นมกุฎราชกุมารี ทั้งที่มีพระอนุชาคือเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป แต่เนื่องจากสวีเดน (ซึ่งปกครองโดยรัฐบาลพรรคสังคมนิยมยาวนาน) มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ในปี 1979 ให้สิทธิเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชายหญิง รัฐสภาจึงแก้กฎมณเฑียรบาลที่ใช้มาหลายร้อยปี กำหนดให้ราชโอรสหรือราชธิดาองค์แรกเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ แม้พระเจ้าคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ไม่ยินยอมพร้อมใจก็ตาม เจ้าชายคาร์ล ฟิลิป จึงพ้นจากมกุฎราชกุมาร เจ้าหญิงวิคตอเรียซึ่งอายุได้ 2 ชันษาเศษขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1980
 
 
                                                                        ใบตองแห้ง
                                                                        29 เม.ย.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท