Skip to main content
sharethis

 

ในขณะที่เครือข่ายชาวบ้านเวียงแหง กำลังเกาะกลุ่มรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและมีพลัง
ในขณะที่ทางด้าน มวลชนสัมพันธ์ กฟผ.หลายฝ่ายต่างมองว่ากำลังสับสนและอ่อนแอ

กระทั่ง เริ่มมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ โดยทีมอนุกรรมการเหมืองแร่เวียงแหง ได้ร่วมกันถกถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยได้มีการเสนอให้เปลี่ยนกลยุทธ์ หลังล้มเหลว ให้หันมาเน้นเชิงรุกมวลชน ด้วยยุทธวิธี "ป่าล้อมเมือง"

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2547 ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีการประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ หลังประเมินการดำเนินงานล้มเหลว เนื่องจากกลุ่มคัดค้านกดดันเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เสนอแผนเชิงรุก"ป่าล้อมเมือง"

นายธงชัย วงษ์เหรียญทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การดำเนินงานโครงการนี้ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และผลกระทบทางสังคม(SIA) และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง

นายธนวิชญ์ ชุลิกาวิทย์ ผู้อำนวยการสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำการศึกษาผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานตอนนี้ก็คือ คณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ ซึ่งมีทั้งตัวแทน กฟผ. ตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนสื่อมวลชน แต่ก็ติดขัดที่อนุกรรมการบางคนที่เป็นชาวบ้านที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับ โครงการ ไม่เข้าร่วมประชุมและลาออกไป

ทั้งนี้ ในวงประชุมได้มีการสรุปการทำงานที่ผ่านมาว่า มีปัญหาที่กลุ่มเอ็นจีโอและชาวบ้านบางกลุ่มคัดค้านขัดขวางการทำงาน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับแผนใหม่ โดยใช้มวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่เป็นหลัก ใช้วิธีเข้าแทรกซึมในลักษณะป่าล้อมเมือง ลงพื้นที่เข้าไปสร้างความเข้าใจและให้ความรู้แก่ชาวบ้าน

"โดยจะเน้นการเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในเรื่อง น้ำ ดิน และสุขภาพอนามัย อาจของบประมาณระยะสั้นจากทาง กฟผ.เข้าไปดำเนินการ เช่น การขุดบ่อบาดาล การพัฒนาที่ดิน การสร้างเตาอบขนมปัง เพื่อซื้อใจชาวบ้านให้ได้" นายธนวิชญ์ กล่าว

ทางด้าน ผศ.สุเมธ ศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่และพยายามบอกว่า นี่เป็นเรื่องของประเทศชาติ เราพยายามชี้แจงว่าเราไม่ได้ดื้อดึงที่จะทำ หากมีเหตุผลก็เอาพูดคุยกัน ซึ่งตนเห็นว่า การทำมวลชนเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

นายบูรพา มหาบุญญานนท์ อดีตนายอำเภอเวียงแหง กล่าวว่า เราต้องรู้ว่าที่ชาวบ้านไม่ต้องการเพราะอะไร แต่หลังจากที่ตนได้เข้าไปในพื้นที่ ได้พูดคุยกับชาวบ้านแล้ว พบว่า 1.ชาวบ้านกลัวสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าว ปลูกกระเทียม 2.ชาวบ้านกลัวถูกอพยพโยกย้าย และ 3. ชาวบ้านเขาคำนึงถึงตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงส่วนรวม

"นี่คือปัญหา ว่าจะต้องบอกให้คนเวียงแหงเข้าใจได้ว่า เมื่อมีการเปิดเหมืองแล้ว จะไม่เสียผลประโยชน์ และต้องอธิบายปัญหาเรื่องแม่เมาะที่คั่งค้างอยู่ให้ชัดเจน" นายบูรพา กล่าว

ทางด้าน รศ.บุญญวาส ลำเพาพงศ์ อดีตคณบดี คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาของคณะอนุกรรมการที่ผ่านมา เราทำไปโดยยังไม่มีการเปิดเผย แม้ว่าในที่สุดแล้ว จะเปิดเหมืองหรือยุติหรือไม่ แต่เราต้องเตรียมแผนเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหมือนประเด็นเรื่องผลกระทบจากสารแคดเมียมที่แม่สอด ก่อนนั้นตนเคยเสนอไปแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ มาตอนนี้จึงมีปัญหาเกิดขึ้น

ในขณะที่ นายชีวิน ปานันท์ กำนันตำบลเมืองแหง และประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเวียงแหง ก็พูดในวงประชุมว่า ต้องยอมรับว่า ประชาสัมพันธ์ของโครงการพัฒนาเหมืองฯ นี้อ่อนมาก เพราะก่อนนั้นคนเวียงแหงทั้งหมดต่างเห็นด้วย แต่มาถึงตอนนี้ ถูกกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มชาวบ้าน แม้กระทั่งพระสงฆ์เข้ามาคัดค้าน

ทั้งนี้ นายธงชัย วงษ์เหรียญทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จำเป็นต้องมีแผน โครงการ มีทิศทางที่ชัดเจน ต้องรู้ข้อมูลทุกอย่างว่า มีจำนวนกลุ่มผู้คัดค้าน ผู้เห็นด้วย ผู้วางตัวเป็นกลาง รวมไปถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหว จำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหน อย่างไร ซึ่งต้องเปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์ทั้งเชิงรุกและรับ

"จุดสำคัญและจุดแตกหักอยู่การประชาสัมพันธ์ กับมวลชนในพื้นที่ ที่โครงการนี้จะสร้างหรือไม่สร้าง" นายธงชัย กล่าว

แน่นอน พอมีการรายงานข่าววงประชุมของอนุกรรมการฯเหมืองแร่เวียงแหง ชุดนี้ออกมาสู่สาธารณะ กลับยิ่งสร้างความไม่พอใจและเกิดการรวมตัวของเครือข่ายฯ กันมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเสียงคัดค้าน ต่อต้าน ไม่เอาเหมืองแร่ลิกไนต์ รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

"นี่ขนาดชาวบ้านได้สำรวจความคิดเห็นกันแล้วว่า 95% ชาวบ้านคัดค้านไม่เห็นด้วย ไม่ให้สร้างเหมืองที่เวียงแหง แล้วทำไมถึงต้องดึงดันจะสร้างอยู่ต่อไป ทำไมไม่ฟังเสียงของชาวบ้านกันบ้าง…" ตัวแทนคนเวียงแหง เอ่ยออกมาด้วยความรู้สึกไม่เข้าใจในกระบวนการของรัฐ

"เราขอคัดค้านการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ที่เวียงแหงจนถึงที่สุด…" เสียงของชาวบ้านเวียงแหงอีกคนหนึ่ง เอ่ยออกมา เพราะชาวบ้านรู้ดีว่า โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลของอำเภอเวียงแหง คือ ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห และตำบลเมืองแหง ซึ่งมีการคาดว่าจะมีถ่านหินที่สามารถมาใช้ได้ประมาณ 15-20 ล้านตัน การทำเหมืองจะใช้ระยะเวลาประมาณ 17-20 ปี ในพื้นที่ในการทำเหมืองรวมทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ โดยจะทำเหมืองในลักษณะเหมืองเปิด หลังจากนั้นถ่านหินที่ผลิตได้จะถูกนำขนส่งทางรถยนต์ไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

และยิ่งเมื่อชาวบ้านรู้ข้อมูลที่คณะนักวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาพายัพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 1 โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ร่วมกันทำงานวิจัยในหัวข้อ ‘วิถีชุมชนของประชาชนเวียงแหง’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีชุมชนประชาชนเวียงแหง ศึกษาความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง และความคาดหวังต่อการพัฒนาเมืองเวียงแหงในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบทางสุขภาพจาก โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง เมื่อปี พ.ศ.2546 ก็ยิ่งรู้สึกว่า คนเวียงแหงจะได้รับผลกระทบมากกว่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดเหมือง

ซึ่งผลการวิจัย โดยการรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ การสัมภาษณ์ และการประชุมกลุ่ม พบว่า ประชาชนเวียงแหงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองถ่านหิน เนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น กลัวว่าจะมีมลพิษทางอากาศ กลัวอากาศจะร้อน มีฝุ่นมาก กลัวเสียงดัง กลัวควัน กลัวน้ำจะปนเปื้อนและเหือดแห้ง กลัวจะสูญเสียป่าไม้ กลัวว่าจะเป็นโรคฝุ่นในปอดหรือโรคที่เกิดจากฝุ่นแร่ กลัวว่าวิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป กลัวครอบครัวจะล่มสลาย และกลัวการอพยพ เป็นต้น

 

ชาวบ้านเผย มีการแอบทำ EIA ชุมชนไม่มีส่วนร่วม
เป็นที่สังเกตว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวคัดค้านโครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหง นี้อย่างหนัก นั้น คงเป็นเพราะทาง กฟผ.ได้ดำเนินการว่าจ้างทีมนักวิชาการทำการสำรวจ โดยไม่มีผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด รวมไปถึงชาวบ้านได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในพื้นที่ชุมชนแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ลิกไนต์ และรู้ว่าชาวบ้านแม่เมาะ ต่างได้รับผลกระทบกันมายาวนาน จนกระทั่งหลายคนต้องล้มป่วยด้วยโรคทางลมหายใจและเสียชีวิตไปหลายรายแล้ว ก็ยิ่งส่งผลทำให้ชาวบ้านในเขตเวียงแหง ต่างเชื่อกันว่า หากทางกฟผ.ดำเนินการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ จะกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในอำเภอเวียงแหง อย่างแน่นอน

แน่นอน ทำให้การคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ได้ขยายและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน แม้กระทั่งชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง ชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.เวียงแหง อาทิ นายก อบต. ประธานสภา อบต. สมาชิก อบต. รวมทั้งเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน ต่างผนึกกำลังรวมตัวกันคัดค้านกันอย่างหนักแน่น โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2549 ชาวบ้านเวียงแหง ทุกฝ่ายได้มาจับมือและร่วมกันวางแผน วางบทบาทกลไกการทำงาน ‘กำกึ๊ด เดียวกัน’ โดยมีกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาแลกเปลี่ยนดูงาน การร่วมกิจกรรมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งการจัดเวทีประชุมชาวบ้าน เพื่อตั้งรับ ปรับแนวทางการทำงาน เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหว

วันที่ 25 มิ.ย.2550 กลุ่มชาวบ้านได้ออกยืนยันและแสดงจุดยืน ด้วยการออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์และผลการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังจากที่ สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเวทีประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นครั้งที่ 3 ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยการจัดเวทีครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอ เอ)และผลกระทบด้านสังคม(เอสไอเอ)

โดยในแถลงการณ์ระบุใจความว่า ...ตามที่ กฟผ.ได้ว่าจ้างสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับโครงการ พัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ พวกเราในนามตัวแทนของชุมชน อ.เวียงแหง ขอแถลงการณ์และข้อเรียกร้องดังนี้

1. ขอประณามการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่ได้เกิดมาจากความยินยอมของพี่น้องในชุมชนเรา และพี่น้องในชุมชนไม่มีส่วนร่วม คณะผู้จัดเก็บข้อมูลมีพฤติกรรมปล้นข้อมูลเยี่ยงโจร

2. เวทีการนำเสนอข้อมูลอีไอเอผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูล ต่อชาวบ้านและสาธารณะชน และจะต้องให้ความสำคัญกับชุมชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ใส่ใจ กลับมาจัดเวทีนอกพื้นที่

และ 3.ขอให้ยุติทุกกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปิดเหมืองลิกไนต์ และเราขอยืนยันว่าจะคัดค้านการดำเนินการจนถึงที่สุด เราจะไม่ยอมเป็นเหยื่อการพัฒนาที่ไม่มีส่วนร่วมจากชุมชน

“...ที่ผ่านมานั้นการดำเนินการต่างๆรวมทั้งการจัดเวทีในพื้นที่ อ.เวียงแหงไม่เคยมีสักครั้ง ชาวบ้านเวียงแหงไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการใดๆแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันชาวบ้านเองไม่เคยเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดมาเก็บข้อมูลอย่าง จริงๆจังๆ แต่อยู่ๆวันนี้กลับมีการเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผลกระทบ ด้านสังคมขึ้นมา ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความไม่ชอบมาพากล” นายพยอม คารมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มคัดค้านโครงการ บอกย้ำถึงการดำเนินโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามสำหรับในเวทีการประชุมสัมมนาครั้งนั้น ศ.ดร.มนัส สุวรรณ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบด้านสังคม(SIA) กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าจะเปิดเหมืองหรือไม่ เพราะเรื่องนี้อำนาจอยู่ที่รัฐบาล แต่ตนทำหน้าที่แค่นำเสนอผลการศึกษาเท่านั้น ขณะที่โครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหงนั้นถือเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่มี การศึกษาผลกระทบทางสังคม(SIA) ควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) อีกทั้งยังพยายามให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการมากที่ สุดแม้จะถูกต่อต้านในพื้นที่บ้างก็ตาม

ศ.ดร.มนัส กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหงนั้นสามารถสรุปได้ว่าหากมี การเปิดเหมืองลิกไนต์จะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะสาธารณูปโภคต่างๆจะมีการพัฒนามากขึ้น อาทิ ไฟฟ้าที่ปริมาณกระแสไฟฟ้าจะคงที่มากขึ้น ประปาก็จะดีกว่าปัจจุบันเพราะการประปาส่วนภูมิภาคจะเข้ามาให้บริการ อีกทั้งการคมนาคมและการสื่อสารก็จะมีการพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย

“นอกจากนี้ เรื่องการท่องเที่ยวก็จะเฟื่องฟูมากขึ้น กล่าวคือเวียงแหงเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หากมีการเปิดเหมือง มีการพัฒนาถนนหนทาง และสาธารณูปโภคต่างๆธุรกิจการท่องเที่ยวที่นี่ก็จะบูม ขณะที่บริเวณเหมืองภายหลังการพัฒนาก็อาจมีการปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้ด้วย โดยภาพรวมของผลกระทบนั้นจะเป็นบวกมากกว่าเป็นลบ จะมีผลดีมากกกว่าผลเสีย ขณะที่ผลเสียหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นก็สามารถจัดการแก้ไขได้” ศ.ดร.มนัส กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้นำชุมชนนำโดย นายอ่อง จองเจน ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง พร้อมผู้นำชุมชน จากชมรมองค์กรส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนกว่า 50 คน ได้ออกมาอ่านแถลงการณ์คัดค้านโครงการและผลการศึกษาอีไอเอ ว่าไม่ได้รับความยินยอมจากชุมชน ทั้งที่ผู้นำชุมชนเคยทำหนังสือผ่านนายอำเภอเวียงแหงให้จัดเวทีในพื้นที่ก่อ สร้างแต่ก็หลีกเลี่ยงมา 3 ครั้ง แสดงถึงความไม่ชอบมาพากลของทีมศึกษาผลกระทบ

"ชาวเวียงแหงส่วนใหญ่ไม่ยอมรับโครงการพัฒนาที่จะนำความเสียหายมาสู่ ไม่ต้องการตกนรกแบบคนแม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ต้องทนอยู่กับสารพิษจากถ่านหินลิกไนต์ เราพอใจชีวิตชนบทแบบพอเพียงด้วยการยังชีพแบบวิถีเกษตรทั้งการปลูกข้าว กระเทียม และพริก" นายอ่องกล่าวอย่างหนักแน่น

 

 

 

 

ในความนิ่งมีการเคลื่อนไหว
เชื่อมีการรื้อขบวนการอีไอเอหรือเอสไอเอกันใหม่

ผ่านมาได้อีกระยะเวลาหนึ่ง ทาง กฟผ.ยังมีการเคลื่อนไหวกันอย่างเงียบๆ ในขณะที่ชาวบ้านนั้นก็ยังคงตื่นตัวและเตรียมพร้อมลุกขึ้นมาคัดค้านตลอดเวลา

นายพยอม คารมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ในขณะนั้น ในฐานะตัวแทนกลุ่มคัดค้านโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กฟผ.เริ่มเข้ามาแล้วเพื่อต้องการที่จะให้มีการรื้อขบวนการอีไอเอ หรือเอสไอเอกันใหม่ ซึ่งใน อีไอเอ ที่ศึกษาเรื่องผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เอาแยกทำเป็นฉบับหนึ่ง เป็นเล่มเล็กๆซึ่งที่ผ่านมา ทางชาวบ้านเคยขอผลการศึกษา ฉบับสมบูรณ์ มาตั้งแต่ 2-3 ปีมาแล้ว ก็ยังไม่ได้แต่ชาวบ้านเข้าใจว่าการดำเนินโครงการ คงจะหยุดชะงักมีปัญหาเรื่องของ อีไอเอ พอสมควรเพราะหลังจากที่มีการไปฉีก อีไอเอ ที่โลตัสปางสวนแก้ว แล้วก็เงียบหายไป “แต่คิดว่าหลังจากเงียบ ตอนนี้เข้าใจว่ากำลังจะกลับเข้ามาใหม่ ความวุ่นวายเริ่มที่จะมีการก่อตัวอีกแล้ว”

 

เผย กฟผ. เริ่มทำมวลชนแบบเจาะกลุ่มฐานผู้นำชุมชน
นายพยอม คารมณ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เท่าที่สังเกต จะรู้ว่าทาง กฟผ. เริ่มเข้ามาเจาะกลุ่มผู้นำว่าใครที่เป็นประธานชมรมครูชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ชมรมอบต.โดยการเข้ามาเอาข้อมูลและเอากลุ่มเหล่านี้เข้าไปวางแผนก่อนนอกจาก นั้น ก็ใช้วิธีเจาะผ่านเข้าไปในโรงเรียน โดยวิธีการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน เพื่อซื้อใจผู้ปกครอง

“ซึ่งเงินที่เข้ามาสู่โรงเรียน เราก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน หากเป็นเงินที่เข้าไปทำมวลชนของ กฟผ.ซึ่งก็เป็นอันตรายพอสมควรในเรื่องค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในที่ผู้ปกครองโดน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นทุนการศึกษา อาหารกลางวันซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านที่เป็นผู้ปกครองนักเรียน รู้สึกคล้อยตาม เห็นดีเห็นงามไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าวิตกและน่ากลัวกว่าเดิมยิ่งตอนนี้ มีเงินโครงการไทยเข้มแข็ง ไม่แน่อาจเอาเงินมาทำในลักษณะของมวลชนเข้มแข็งและอาจจะอ้างให้เอาเงินส่วน นี้มาทำให้มวลชนพอมาทำมวลชนเสร็จก็เกิดการได้ใจ ได้เรื่องของความเห็นร่วม ซึ่งเมื่อก่อน ก็มีกลุ่มที่สนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง มากพอสมควร และเป้าหมายนั้นก็ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควรแต่สังเกตการณ์เคลื่อนตัวของ โครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ตอนนี้ เชื่อว่าเขากำลังเริ่มรุกและเริ่มใหม่อีกครั้ง” นายพยอม กล่าวถึงความไม่ชอบมาพากล

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในอำเภอเวียงแหงที่คัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน ต่างเตรียมพร้อมรับมือและต่อสู้กันจนถึงที่สุดหาก กฟผ.ยังไม่คิดล้มเลิกโครงการ

“ก็ต้องทำให้ชาวบ้านเห็นก่อนว่า กฟผ. กำลังจะกลับเข้ามา และชาวบ้านนั้นจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้างซึ่งตอนนี้ เราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะเข้ามาแต่ครั้งหลังสุดเราก็เริ่มรู้ว่าเริ่มมี การแทรกซึมเข้ามาทีละเล็กทีละน้อยเล่นมวลชนแบบซึมลึก ซึ่งน่ากลัวกว่ารอบแรกที่กฟผ.เข้ามาเสียอีกอันตรายอย่างมากและตอนนี้รู้ตัว ชัดเจนแล้วว่าใครเป็นใคร”

นายคำ ตุ่นหล้า แกนนำกลุ่มคัดค้านอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า กรณีของชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ตอนนี้ก็ไม่ได้เงียบเสียทีเดียวแต่ก็ยังมีการเฝ้าระวังกันอยู่ว่าเขาจะเข้า มาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างไรรูปแบบไหน

“ซึ่งตอนนี้ เราก็รู้อยู่ว่า ทางกฟผ.เขามาในแนวของการแจกทุนการศึกษา แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็ยังคงมีความคิดเหมือนเดิมอยู่ยังคงคัดค้าน ไม่เอาเหมืองถ่านหิน” นายคำ ตุ่นหล้า กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นเช่นเดิม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net