รายงาน: ทุน การเมือง และความสำเร็จอีกขั้นของวงการลูกหนังไทย?

ในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าวงการฟุตบอลลีกของไทยกลับมาคึกคักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และความคึกคักของสโมสรต่างๆนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่ม“ทุน” และ “การเมือง” ที่ทยอยเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวงการลูกหนังไทย

 

ต้องเท้าความก่อนว่าก่อนที่ฟุตบอล “ไทยพรีเมียร์ลีก” จะประสบความสำเร็จนั้น สืบเนื่องมาจากสาเหตุบางประการที่ช่วยเป็นยากระตุ้นให้วงการฟุตบอลของไทยหัน มายกเครื่องเปลี่ยนแปลงการบริหารโครงสร้างลีกฟุตบอลอาชีพ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดทางให้กับกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองเข้ามา มีบทบาทอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของความสำเร็จนี้

(1)

กว่าจะเป็น “ไทยพรีเมียร์ลีก”

ก่อนจะกำเนิดเป็นฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกนั้น ฟุตบอลในระดับลีกสูงสุดของไทยในยุคแรก คือฟุตบอล “ถ้วย ก.”เริ่มต้นการแข่งขันตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2459 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 การแข่งขันฟุตบอลในระดับลีกสูงสุดของไทยก็ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก” หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “ไทยลีก”แต่วงการลูกหนังอาชีพของไทยนั้นก็สร้างความคึกคักแค่ในช่วงยุคแรก เท่านั้น หลังจากนั้นวงการลูกหนังของไทยก็เข้าสู่ภาวะซบเซามาเป็นเวลานานกว่าหลายสิบ ปี

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 ทางสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี (AFC - Asian football confederation) ได้ออกมาประกาศนโยบาย “Vision Asia”เพื่อปฏิรูปวงการฟุตบอลของชาติสมาชิกให้มีความเป็นมืออาชีพอย่างเต็ม ตัว โดยกำหนดให้ทุกชาติที่จะส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย (ACL-AFC Champion League) นั้นต้องผ่านการตรวจมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่ทางเอเอฟซีกำหนด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับฟุตบอลอาชีพของเอเชียให้เทียบเท่ากับ มาตรฐานของลีกยุโรปให้ได้

กล่าวโดยสรุปคือ ฟุตบอลลีกอาชีพของแต่ละชาติสมาชิกต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารให้ สอดคล้องกับระบบตลาด สโมสรต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บุคลากรต้องมีคุณภาพ สนามแข่งต้องได้มาตรฐานและต้องมีการจำหน่ายบัตรผ่านประตู จำนวนผู้ชมในสนามต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 คน สโมสรต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การบริหารต้องเป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ เป็นต้น หากชาติใดที่ไม่ผ่านการตรวจมาตรฐานจากเอเอฟซี สโมสรของชาตินั้นก็ต้องถูกตัดสิทธิ์ไปแข่งเอเอฟซี แชมป์เปี้ยนลีก (ปัจจุบันไทยได้สิทธิ์ไปแข่งในรายการเอเอฟซี คัพ ซึ่งเป็นฟุตบอลถ้วยในระดับที่เล็กกว่า)

มาตรการฉบับใหม่ของเอเอฟซีจึงกลายเป็นยากระตุ้นให้วงการฟุตบอลไทย “จำเป็น” ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาฟุตบอลภายในประเทศอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารให้ตรงตามแบบสากลดังที่ทางเอเอฟซี กำหนด และเป็นที่มาของการกำเนิดเป็น “ไทยพรีเมียร์ลีก” ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2551 ในนามของบริษัท “ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด” (Thai Premier League Company Limited) หรือ TPLC โดยมีระบบการบริหารจัดการธุรการตามหลักสากลแบบครบวงจร และเป็นอิสระจากภาครัฐอย่างเต็มรูปแบบ

 

(2)

กลุ่มทุนการเมือง กับวงการลูกหนัง

อันที่จริงแล้วเบื้องหลังของสโมสรฟุตบอลไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีนักการเมืองและกลุ่มทุนการเมืองเข้ามาเป็นผู้สนับสนุน หรือแสดงตนเป็นเจ้าของทีมอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เช่น กลุ่มตระกูล “คุณปลื้ม” ที่ให้การสนับสนุนสโมสรชลบุรี เอฟซี และสโมสรภายในท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และสามารถสร้างทีมจนประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ตอนนั้น

อย่างไรก็ตามสโมสรฟุตบอลไทยในขณะนั้นก็ไม่ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการ สร้างกระแสทางการเมืองมากเท่าไหร่นัก แต่ในช่วงสองถึงสามปีนี้ เมื่อฟุตบอลลีกของไทยกลับมาสร้างความนิยมอย่างคึกคัก กลุ่มการเมืองต่างๆก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวงการลูกหนังไทยมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือสโมสรของจังหวัดหรือสโมสรท้องถิ่นหลายทีมที่เริ่มก้าวขึ้น มาสร้างชื่อเสียงและความสำเร็จในระดับลีกสูงสุด โดยมีนักการเมืองและกลุ่มทุนท้องถิ่นเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนสำคัญอยู่เบื้อง หลัง

จุดที่น่าสนใจสำหรับการเข้ามาทำทีมของนักการเมืองในช่วงระยะหลังคือ นักการเมืองเหล่านี้จะสร้างทีมโดยใช้วิธีเลือกซื้อทีมแบบ “สำเร็จรูป” เพื่อนำทีมมาควบรวมกับทีมท้องถิ่นตน และทำให้สามารถสร้างทีมของตนให้ยิ่งใหญ่ได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ อย่างเช่น สโมสรบุรีรัมย์ พีอีเอของกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ก็เกิดจากการลงทุนซื้อสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อดีตแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกปี 2008 ซึ่งเป็นเสมือนสโมสรประจำจังหวัดอยุธยาเข้ามาควบรวมกับสโมสรท้องถิ่นของตน ซึ่งในขณะนั้นก็เกิดกระแสคัดค้านจากแฟนบอลชาวอยุธยาเป็นจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุดแล้วนายเนวินก็สามารถควบรวมและสร้างสโมสรของตนขึ้นมาได้สำเร็จ

แม้ว่าสโมสรหลายแห่งจะสามารถเรียกความสนใจแก่แฟนบอลท้องถิ่นได้เป็นอย่าง สูง แต่อย่างไรก็ตามสโมสรประจำจังหวัดหลายทีมที่คนคุ้นชื่อกันนั้น ส่วนใหญ่ก็คือทีมของจังหวัดใหญ่ๆหรือไม่ก็เป็นทีมที่มีทุนหนามากพอที่จะ สร้างทีมขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีสโมสรท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่ไม่ประสบความสำเร็จกับการ สร้างทีม เพราะทีมท้องถิ่นเหล่านี้เริ่มต้นสร้างทีมของตนจากศูนย์ และไม่มีเงินทุนหนาพอที่จะสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จได้เทียบเท่ากับสโมสร อื่น จึงทำให้สโมสรฟุตบอลไทยในปัจจุบันนั้นกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เพียงไม่กี่ จังหวัด

 

(3)

ท้องถิ่นนิยมไม่ใช่คำตอบเดียวของความสำเร็จ

ความสำเร็จของฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลต่อกระแสความนิยมฟุตบอลภายในประเทศมากขึ้น ยิ่งมีสโมสรจากจังหวัดหลายแห่งขึ้นมาอยู่ในลีกก็ยิ่งเกิดแรงกระตุ้นให้ผู้คน ทั่วประเทศหันมาสนใจฟุตบอลในประเทศมากขึ้น สโมสรแต่ละแห่งต่างก็พยายามนำความเป็น “ท้องถิ่น” มาเป็นสัญลักษณ์ของทีมในการสร้างจุดขายและดึงดูดกระแสความนิยมจากผู้คนใน พื้นที่ท้องถิ่นให้เกิดความรู้สึก “ร่วมกัน” ว่าเป็นทีมของตน เช่น ทีมสมุทรสงครามที่เลือกใช้ปลาทูขึ้นมาเป็นมาสคอตประจำทีม พร้อมตั้งฉายาของทีมว่าปลาทูคะนอง ส่วนทีมดังอย่างบุรีรัมย์พีอีเอ ก็นำภาพปราสาทหินมาออกแบบเป็นโลโก้สโมสร พร้อมตั้งฉายาของทีมว่าปราสาทสายฟ้า ซึ่งมีที่มาจากปราสาทหินพนมรุ้ง สถานที่ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์นั่นเอง

นายอาจินต์ ทองอยู่คง นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “แฟนบอล:ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของแฟนสโมสรฟุตบอลไทย” จากประสบการณ์ที่เขาเป็นทั้งแฟนบอลและเป็นผู้ที่ไปสัมผัสกับแฟนบอลท้องถิ่น โดยตรงนั้น เขาพบว่าความตื่นตัวของแฟนบอลในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้มีมากขึ้น อาจินต์มองว่าว่า “จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การรวมลีกเมื่อปี 2007 ถึง 2009 ที่สื่อเริ่มหันมา ‘เล่นข่าว’ กับฟุตบอลไทยอย่างจริงจังจึงทำให้มีคนดูเพิ่มขึ้น แต่จริงๆก่อนหน้านั้นบางทีมก็มีคนดูเยอะอยู่แล้ว อย่างชลบุรีหรือนราธิวาส แต่มันก็ยังไม่ได้เป็นกระแสระดับประเทศ”

อาจินต์มองว่าความเป็นท้องถิ่นนิยมไม่ได้ตอบโจทย์ความสำเร็จให้กับสโมสร ฟุตบอลได้ในทุกพื้นที่ เขาเห็นว่าความสำเร็จของสโมสรในพื้นที่ต่างๆนั้นมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ ต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น “สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งก็คือขนาดของจังหวัดกับธุรกิจในจังหวัดว่าดีแค่ไหน ด้วย ถ้าลองไปไล่ๆดูแล้ว จะเห็นว่าจังหวัดที่คนดูเพิ่มขึ้นเยอะมันก็คือจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆที่ ธุรกิจดี เพราะว่าการเป็นแฟนบอลมันเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินมันขึ้นอยู่กับกำลังซื้อ ด้วย” อาจินต์ชี้ว่าแฟนบอลกลุ่มหลักหรือแกนนำแฟนบอลของแต่ละทีมนั้นเป็นกลุ่มที่ ติดตามทีมของตนกันมานานแล้ว และค่อยๆก่อตัวมาจนเกิดเป็นแฟนบอลกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดกลุ่มแฟนบอลเพียงเพราะกระแสในไม่กี่ปีมานี้

 

(4)

ฟุตบอลกับการเมืองคือการเกื้อหนุนกันทางธุรกิจ

เมื่อวงการลูกหนังไทยกลับมาคึกคัก อาชีพนักฟุตบอลของไทยที่หลายคนเคยมองว่าเป็นอาชีพที่ไร้อนาคต ก็กลับกลายมาเป็นอาชีพในฝันของนักฟุตบอลรุ่นเยาว์อีกครั้ง ปัจจุบันเส้นทางลูกหนังอาชีพของไทยสามารถสร้างรายได้ให้กับบรรดานักเตะชื่อ ดังได้อย่างมหาศาล

นครินทร์ ฟูปลูก อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย และอดีตนักเตะของสโมสรบีอีซี เทโร ศาสนและศรีษะเกษ เอฟซี ปัจจุบันเขาเล่นให้กับสโมสรอาร์แบค เอฟซี ในระดับลีกดิวิชั่นหนึ่ง นครินทร์เป็นนักฟุตบอลคนหนึ่งที่เติบโตมาในยุคที่ฟุตบอลอาชีพของไทยอยู่ใน ช่วงล้มลุกคลุกคลาน เขามองว่าการที่นักการเมืองเข้ามาสนับสนุนสโมสรนั้นก็ส่งผลดีต่อวงการฟุตบอล ไทยอยู่ด้วยเช่นกัน “การที่นักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกับทีมก็เป็นผลดีต่อทีมและเป็นผลดีต่อ นักกีฬาด้วย เพราะตอนนี้นักการเมืองเป็นผู้ที่มีส่วนทุกอย่างกับกับธุรกิจของจังหวัด ของพื้นที่เขตที่ทีมนั้นๆตั้งอยู่ เรื่องการของบหรือขอผู้สนับสนุนมันก็ต้องออกมาจากปากของนักการเมืองคนนั้น ซึ่งเราก็รู้ว่ามันคือการเกื้อหนุนกันทางธุรกิจ” นครินทร์เห็นว่าสโมสรต้องพึ่งพากลุ่มทุนเหล่านี้ในการทำทีม ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปได้ยากที่ทีมจะประสบความสำเร็จเหมือนกับสโมสรอื่นๆ

เช่นเดียวกับการหวังผลทางการเมืองในอนาคตที่จะเป็นความสำเร็จจากการลงทุน ไปกับสโมสร นครินทร์มองว่าเพราะฟุตบอลไทยกำลังเป็นกระแสดังอยู่ในช่วงนี้ นักการเมืองจึงเลือกที่จะมาลงทุนกับฟุตบอลและก็เป็นส่วนหนึ่งของการเกื้อ หนุนกันทางธุรกิจ นครินทร์เห็นว่า “นักการเมืองก็ต้องรักษาชื่อเสียงและรักษาคะแนนเสียงตลอดเวลา ซึ่งการใช้ ‘กระแส’ก็เป็นวิธีการรักษาคะแนนเสียงที่ดีที่จะให้คนจำชื่อได้ แล้วตอนนี้กระแสฟุตบอลมันกำลังบูม คนเป็นพันเป็นหมื่นอยู่ที่สนามฟุตบอล คะแนนเสียงก็อาจจะอยู่ตรงนั้นเช่นกัน มันเป็นการลงทุนต่ำแต่ได้ผลสูง”

สำหรับมุมมองต่อวงการฟุตบอลอาชีพของไทยในอนาคตนั้น นครินทร์กล่าวว่ายังคาดเดาได้ยากว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน แต่ส่วนตัวเขาเห็นว่าหน่วยงานภูมิภาคหรือหน่วยงานจังหวัดควรเป็นผู้ที่จะ ต้องหันมาให้ความสนใจกับการจัดการดูแลสโมสรของจังหวัดตนเอง เพื่อสร้างสโมสรให้เกิดเป็นทีมประจำจังหวัดซึ่งเป็นเป็นทีมท้องถิ่นที่แท้ จริงให้กับแฟนบอลในพื้นที่นั้น

 

(5)

ฟุตบอล การเมือง และการเลือกตั้งในอนาคต

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวคราวของวงการฟุตบอลไทยควบคู่ไปกับข่าวความเคลื่อน ไหวในวงการทางการเมืองนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาทำทีมของกลุ่มการเมืองต่างๆนั้นไม่ได้ทำเพื่อหวัง ผลทางการเมืองในอนาคต แต่ทว่าสิ่งที่กลุ่มการเมืองหวังนั้นจะสร้างความสำเร็จทางการเมือง ผ่านกระบวนการสร้างทีมฟุตบอลของพวกเขาได้หรือไม่

ในมุมมองของนายอาจินต์ จากประสบการณ์ที่เขาเข้าไปคลุกคลีอยู่กับกลุ่มแฟนบอลของสโมสรต่างๆนั้น เขามองว่าจำนวนแฟนบอลและผู้ชมในเวลานี้ยังไม่สามารถตัดสินถึงการเลือกตั้ง ได้ เพราะความนิยมฟุตบอลในตอนนี้เพิ่งจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพียงในช่วงเวลา สั้นๆ “ผลกระทบต่อฐานเสียงอันนี้ผมเองก็ไม่กล้าฟันธง เพราะถ้ามันจะมีผลก็คงในระยะยาวมากๆ ยังไม่น่าชัดในเวลาอันใกล้นี้ ช่วงนี้ถ้ามีผลก็น่าจะมีแค่นิดหน่อยไม่มากนัก เพราะเอาเข้าจริงๆคนดูบอลมันยังไม่เยอะขนาดที่จะมีผลตัดสินการเลือกตั้งอะไร มาก” อาจินต์เห็นว่าการซื้อใจมวลชนผ่านการสร้างทีมฟุตบอลนั้นเป็นเรื่องที่ต้อง ใช้เวลานานพอสมควร

อาจินต์เล่าต่อไปว่า “จากที่คุยๆกับพวกแฟนบอลมา ผมรู้สึกว่าพวกนี้เขาจะมองนักการเมืองในแง่ลบมาอยู่ก่อนแล้ว แต่พอนักการเมืองมาทำสโมสรบอลมันก็เกิด Paradox ขึ้นมาว่าตกลงจะเอายังไงกับความรู้สึกตัวเองดี แฟนบอลส่วนใหญ่ก็เลยพยายามจะแยกบทบาททางการเมืองกับบทบาทในการทำสโมสรของตัว คนที่เข้ามาทำ” อาจินต์เห็นว่ากลุ่มแฟนบอลที่ตนได้เข้าไปสัมผัสนั้นจะแยกเรื่องฟุตบอลออกจาก เรื่องการเมือง กล่าวคือแต่ละคนต่างก็มีบุคคลหรือพรรคการเมืองในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีกลุ่มการเมืองหรือนักการเมืองคนใดเข้ามาสนับสนุนทีม แฟนบอลเหล่านี้ก็ยินดีที่จะให้เข้ามาสนับสนุน แต่สุดท้ายแล้วแฟนบอลเหล่านี้ก็ตัดสินใจที่จะเลือกนักการเมืองขวัญใจคนเดิม อยู่ดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของวงการฟุตบอลไทยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะ นี้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้ามาของกลุ่มทุนการเมืองเหล่านี้ และไม่ว่า “ความหวัง” ที่กลุ่มการเมืองฝากไว้กับการลงทุนในกีฬาฟุตบอลนั้น จะกลายเป็นคะแนนเสียงในเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ แต่อย่างน้อย การสร้าง “กระแส” ผ่านวงการฟุตบอลของบุคคลเหล่านี้ก็ช่วยทำให้ชื่อของเขาไม่ได้ถูกลืมไปจาก หน้าข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท