“ฟรีดอมเฮาส์” ลดอันดับเสรีภาพสื่อไทยเข้ากลุ่มประเทศ “ไม่เสรี”

 

"ฟรีดอมเฮาส์" เผยผลสำรวจปี 2011 จำนวนประชากรโลกที่เข้าถึงสื่อเสรีได้ลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบสิบปี ด้านไทยถูกลดชั้นจากกลุ่ม “กึ่งเสรี” เข้ากลุ่ม “ไม่เสรี” เทียบชั้นเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิวบา โซมาเลีย อัฟกานิสถาน อิหร่านและอีก 63 ประเทศทั่วโลก เผยเหตุลดชั้นมาจากการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.112 และความรุนแรงทางการเมือง

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อ สำรวจโดย “Freedom House” ในปี 2011 ประเทศไทย ลดอันดับลงจากกลุ่มประเทศ “กึ่งเสรี” เมื่อปีที่แล้ว (แสดงเป็นสีเหลือง) เป็นกลุ่ม “ไม่เสรี” (แสดงเป็นสีม่วง) (ดูภาพขนาดใหญ่คลิกที่นี่)

 

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อเปรียบเทียบ ตั้งแต่ปี 1980 ปี 1990 ปี 2000 ปี 2010 และล่าสุด ปี 2011 โดยกลุ่มประเทศ “เสรี” แสดงเป็นสีเขียว กลุ่มประเทศ “กึ่งเสรี” แสดงเป็นสีเหลือง และกลุ่มประเทศ “ไม่เสรี” แสดงเป็นสีม่วง

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อปี 1980 (ที่มา: Freedom House) (ดูภาพขนาดใหญ่ คลิกที่นี่)

โดยในปี 1980 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ “ไม่เสรี” เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีเพียงญี่ปุ่นที่เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม “เสรี” ขณะที่ไต้หวัน และเกาหลีใต้อยู่ในกลุ่ม “กึ่งเสรี”

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อปี 1990 (ที่มา: Freedom House) (ดูภาพขนาดใหญ่ คลิกที่นี่)

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อในปี 1990 ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ “กึ่งเสรี” เช่นเดียวกับมาเลเซีย ขณะที่ฟิลิปปินส์ได้รับการเลื่อนอันดับมาเป็นประเทศ “เสรี” ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีเพียงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเพิ่งเลื่อนอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศ “เสรี” ขณะที่ไต้หวันอยู่ในกลุ่ม “กึ่งเสรี”

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อปี 2000 (ที่มา: Freedom House) (ดูภาพขนาดใหญ่ คลิกที่นี่)

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อในปี 2000 ประเทศไทย ได้รับการเลื่อนอันดับมาอยู่ในกลุ่มประเทศ “เสรี” เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ ขณะที่อินโดนีเซียเลื่อนอันดับมาอยู่ในกลุ่มประเทศ “กึ่งเสรี” ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน และมองโกเลียอยู่ในกลุ่ม “เสรี” ขณะที่จีนและเกาหลีเหนืออยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี”

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อปี 2010 (ที่มา: Freedom House) (ดูภาพขนาดใหญ่ คลิกที่นี่)

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อในปี 2010 ประเทศไทย ลดอันดับมาอยู่ในกลุ่มประเทศ “กึ่งเสรี” เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ตะวันออก ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน อยู่ในกลุ่ม “เสรี” ประเทศมองโกเลียอยู่ในกลุ่ม “กึ่งเสรี” ขณะที่จีนและเกาหลีเหนืออยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี”

แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อปี 2011 (ที่มา: Freedom House) (ดูภาพขนาดใหญ่ คลิกที่นี่)

ขณะที่แผนที่แสดงเสรีภาพสื่อในปี 2011 ประเทศไทย ลดอันดับลงจากกลุ่มประเทศ “กึ่งเสรี” เป็นกลุ่ม “ไม่เสรี” เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ตะวันออกอยู่ในกลุ่มประเทศ “กึ่งเสรี” ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีประเทศญี่ปุ่น และไต้หวันอยู่ในกลุ่ม “เสรี” โดยเกาหลีใต้ และมองโกเลียอยู่ในกลุ่ม “กึ่งเสรี” ขณะที่จีนและเกาหลีเหนืออยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” (ที่มา: เรียบเรียงจากข้อมูลและแผ่นที่ของ Freedom House [1] , [2])

 

ตะวันออกกลางเสื่อมถอยในขณะที่เสรีภาพสื่อโลกถึงจุดต่ำสุด

วอชิงตัน – 2 พฤษภาคม 2011

รายงานของฟรีดอมเฮาส์เปิดเผยวันนี้ว่า จำนวนประชากรโลกที่สามารถเข้าถึงสื่อที่เสรีและอิสระได้ลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบสิบปี รายงานFreedom of the Press 2011: A Global Survey of Media Independence พบว่าประเทศที่สำคัญอย่างเช่น อียิปต์ ฮอนดูรัส ฮังการี เม็กซิโก เกาหลีใต้ ไทย ตุรกี และยูเครน เผชิญกับเสรีภาพสื่อที่เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาพรวมสากลนั้นมีประชากรเพียงหนึ่งในหกเท่านั้นที่อยู่ในประเทศที่มีสื่อเสรี จากรายงานนี้ยังพบว่า

  • ในปี 2010 ประเทศที่สำคัญอย่าง เม็กซิโก ถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ “ไม่เสรี” อันเป็นผลมาจากความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับการลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งนำไปสู่การโจมตีและการใช้ความรุนแรงต่อนักข่าว การเซ็นเซอร์ตนเองที่สูงขึ้น การละเว้นโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และความพยายามจากฝ่ายนอกรัฐที่ควบคุมและบงการกระแสข่าว

  • ในแถบภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เสรีภาพสื่อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในอียิปต์มีการปราบปราบประชาชนช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2010 สถานะของอียิปต์จึงลดไปเป็น “ไม่เสรี” ส่วนประเทศอื่นๆเช่น อิหร่าน อิรัก โมร็อกโก และเยเมน เสรีภาพสื่อยังคงลดลงเล็กน้อย การถดถอยลงของเสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ซึ่งก็มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้วในเบื้องต้น เมื่อประกอบกับเสรีภาพการแสดงออกที่ยังคงมีอยู่ปานกลาง และสิทธิทางประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ค่อนข้างกว้าง อาจกล่าวได้ว่าช่วยก่อให้เกิดการลุกฮือเรียกร้องการปฏิรูปที่เกิดเป็นลูกคลื่นในหลายประเทศช่วงต้นปี 2011

  • อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเสรีภาพสื่อจะตกต่ำไปเสียทั้งหมด ในบางประเทศก็มีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ในแถบซับซาฮาราของทวีปแอฟริกา และบางส่วนของประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต ในหลายประเทศนั้นเป็นผลมาจากการปฏิรูปกฎหมายและบทบัญญัติต่างๆ ส่วนประเทศที่มีการเปิดกว้างขึ้นของระบบการเมืองที่เห็นได้ชัดเจนก็อย่างเช่น ในกินี ไนเจอร์ และมอลโดวา ในขณะที่ประเทศเช่นโคลัมเบีย จอร์เจีย เคนยา เคอร์กิสถาน ไลบีเรีย เซเนกัล และซิมบับเวมีระดับเสรีภาพสื่อที่สูงขึ้นเล็กน้อย

“ประเทศที่นักข่าวไม่สามารถรายงานข่าวได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแทรกแซงจากรัฐบาลหรือกลุ่มใดๆ ย่อมมีความหวังที่ริบหรี่ในการดำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย” เดวิด เจ เครเมอร์ ผู้อำนวยการของฟรีดอม เฮาส์กล่าว “เราไม่แปลกใจมากนักในการเจอกับบรรยากาศที่อันตรายและคับแคบต่อนักข่าวในประเทศที่ระบอบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นในแถบตะวันออกกลางและประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แต่เรารู้สึกเป็นปัญหาอย่างมากที่ต้องพบกับการถดถอยของเสรีภาพสื่อในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคงนัก เช่นในเม็กซิโก ฮังการี และไทย”

จากทั้งหมด 196 ประเทศที่ได้ทำการสำรวจในปี 2010 พบว่า มี 68 ประเทศ (ร้อยละ 35) ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อเสรี อีก 65 ประเทศ (ร้อยละ 33) ถูกจัดให้ว่าเป็นกึ่งเสรี และอีก 63 ประเทศ (ร้อยละ32) จัดว่าไม่เสรี จากรายงาน ยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อเสรีภาพสื่อด้วย

  • การที่รัฐจงใจใช้ข้อกฎหมายและข้อบังคับต่างๆไปในทางที่ผิด กลายเป็นวิธีการหลักที่รัฐใช้ในการจัดการควบคุมสื่อ ผู้ปกครองในระบอบอำนาจนิยมได้ใช้วิธีการทางกฎหมายเพื่อบีบให้พื้นที่ข่าวสารมีอิสระลดลง ถือว่าเป็นความพยายามของรัฐในการโต้กลับการเติบโตของช่องข่าวอิสระทางวิทยุและโทรทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • รัฐบาลที่กดขี่เหล่านี้พยายามใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นเพื่อควบคุมการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ เช่นโทรทัศน์ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ รวมถึงที่มาของแหล่งข้อมูลข่าวสารนั้นด้วย รัฐประชาธิปไตยและกึ่งประชาธิปไตยบางรัฐยังได้พยายามจำกัดช่องทางต่างๆทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมถึงเกาหลีใต้และไทย ซึ่งรัฐบาลจงใจควบคุมเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น

  • ความรุนแรงที่มากขึ้นต่อสื่อมวลชน รวมถึงการละเว้นโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐ บีบให้นักข่าวต้องเซ็นเซอร์ตนเองหรือลี้ภัยไปต่างประเทศ ความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายที่มุ่งเป้าไปยังนักข่าวจากฝ่ายรัฐและไม่ใช่รัฐเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างมาก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบที่น่าหวาดหวั่นต่อวิชาชีพนักข่าว นอกจากนี้ การไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิด หรือไม่สามารถสืบสวนหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อนักข่าวนั้นยังสูงขึ้นอย่างผิดปรกติ

แนวโน้มในรอบ 5 ปี

จากการสำรวจพบว่าเสรีภาพสื่อได้ลดลงอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2005 ถึง 2010 และแนวโน้มดังกล่าวก็ยังปรากฏในทุกภูมิภาคของโลก อย่างไรก็ตาม การเสื่อมถอยที่ชัดเจนที่สุดนั้นเกิดขึ้นในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งการจำกัดพื้นที่สื่อเป็นไปในหลายประเทศ ภาวการณ์นี้ยังเกิดขึ้นด้วยในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและเผด็จการอำนาจนิยมในแถบยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศอดีตประเทศสหภาพโซเวียตด้วย

ในรอบห้าปีที่ผ่านมา จำนวนประเทศที่เสรีภาพสื่อลดน้อยลงนั้นสูงกว่าประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากขึ้นถึงสองเท่า ปรากฏการณ์ที่เสรีภาพสื่อเสื่อมถอยนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังจะหยั่งรากแต่ก็ถูกท้าทายโดยการลุกฮือทางการเมือง การแบ่งขั้วจากความขัดแย้ง การรัฐประหาร หรือสงครามกลางเมือง เช่นในโบลิเวีย เอกวาดอร์ ฟิจิ ศรีลังกา และไทย นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลมีความโน้มเอียงไปทางเผด็จการอำนาจนิยมมากขึ้น เช่นในอิหร่าน รัสเซีย และเวเนซุเอลา

ความจริงแนวโน้มเสรีภาพสื่อโลกที่เสื่อมถอยนี้ ดูเหมือนว่าจะลดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวก็ถูกตีกลับอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2011 อันเป็นผลมาจากการประท้วงระลอกใหญ่ในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ณ จุดนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าจุดสมดุลระหว่างส่วนที่เพิ่มขึ้นและส่วนที่ลดลงนั้นอยู่ที่ใดและจะช่วยให้ภาพรวมของโลกมีส่วนพัฒนาในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ในปี 2011

“ในปี 2010 เราได้เห็นแล้วว่ารัฐบาลในตะวันออกกลางได้ทำการปิดกั้นสื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก” คาริน ดุช คาร์เลคาร์ บรรณาธิการของรายงานฉบับนี้กล่าว “การปฏิรูปสื่อที่กว้างขวางและยั่งยืนจึงจำเป็นต้องกระทำให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นให้ดำรงอยู่ มิเช่นนั้น โอกาสนี้ก็อาจจะสูญหายไปได้”

สิ่งที่น่าสนใจจากภูมิภาคต่างๆ

อเมริกา

ในภูมิภาคนี้มีสองประเทศที่เปลี่ยนสถานะไปในทางลบ คือฮอนดูรัสและเม็กซิโกที่มีสื่อที่“ไม่เสรี” เช่นเดียวกันในอาร์เจนติน่า โบลิเวีย และเอกวาดอร์ ก็ประสบกับสภาวะเสรีภาพสื่อที่ลดลง นับว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2006 ที่จำนวนประเทศแถบทวีบอเมริกาถูกจัดให้เป็นประเทศ “ไม่เสรี” มากที่สุด และเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยในปี 2009 คะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคในปี 2010นับว่าแย่ลง อันเป็นผลมาจากการถดถอยทางด้านทางการเมืองและเศรษฐกิจ โคลัมเบียเป็นประเทศที่ดูมีความหวังมากที่สุดเนื่องจากมีการปรับปรุงในประเด็นการงดเว้นโทษของเจ้าหน้าที่รัฐ

เอเชียแปซิฟิก

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีคะแนนเฉลี่ยลดลง อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศสองประเทศคือ เกาหลีใต้ จาก “เสรี” เป็น “กึ่งเสรี” และไทยจาก “กึ่งเสรี” เป็น ไม่เสรี” นอกจากนี้ ในกัมพูชา ฟีจิ อินเดีย และวานูตูเสรีภาพสื่อก็ยังถดถอยลงด้วย ในขณะที่ในฟิลิปปินส์และบังคลาเทศนั้นมีอัตราดีขึ้นเล็กน้อย ภูมิภาคนี้ยังประกอบไปด้วยรัฐที่มีสถานะสื่อแย่ที่สุดคือพม่าและเกาหลีเหนือ รวมถึงจีนซึ่งจัดเป็นรัฐที่มีสถานะเสรีภาพสื่อที่ตกต่ำและขนาดใหญ่ที่สุดด้วย ในจีน การปราบปรามการเสรีภาพการแสดงออกยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 2010

ยุโรปกลางและตะวันออก/ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต

คะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ยังเท่าเดิมในปี 2010 อย่างไรก็ตาม ความคงที่ดังกล่าวเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวที่ปรากฏในแถบภูมิภาคสองแห่ง กล่าวคือ ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่เคยมีแนวโน้มเสรีภาพสื่อที่ดีกลับลดลงในภาพรวม ในขณะที่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่สื่อเป็นไปอย่างปิดกั้นได้พัฒนาขึ้นจากการเปิดเสรีทางการเมืองโดยเฉพาะในมอลโดวา รวมทั้งในจอร์เจียและเคอร์กิสถานก็ดีขึ้นเล็กน้อย ในสองภูมิภาคย่อยนี้ ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจัดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน และรัสเซีย ยังคงเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วง ในขณะที่แนวโน้มเสรีภาพสื่อทางลบก็ปรากฏขึ้นในฮังการีและยูเครน

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ภูมิภาคนี้ประสบกับภาวะถดถอยมากที่สุดในภูมิภาคอื่นๆ อียิปต์ถูกลดสถานะจาก “กึ่งเสรี” เป็น “ไม่เสรี” และคะแนนของอิรัก อิหร่าน คูเวต โมร็อกโก และเยเมนก็ยังลดลงอีกด้วย ลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย และตูนิเซียยังคงติดลำดับประเทศที่แย่ที่สุดด้านความอิสระและเสรีภาพสื่อ

แถบซับซาฮาราในทวีปอัฟริกา

ในปีนี้แถบซับซาฮาราแอฟริกาจัดว่าเป็นแถบที่มีคะแนนค่าเฉลี่ยสูงขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ เนื่องจากในปี 2009 คะแนนเฉลี่ยในภูมิภาคนี้เสื่อมถอยลงอย่างมากแต่กลับกระเตื้องขึ้นมาได้ใหม่ในปี 2010 กินี ไลบีเรีย และไนเจอได้ปรับเปลี่ยนสถานะจาก “ไม่เสรี” มาเป็น “กึ่งเสรี” คะแนนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดปรากฏในเคนยา มอริทาเนีย เซเนกัล แซมเบีย และซิมบับเว อย่างไรก็ตามก็มีการถดถอยในแองโกลา โกตดิวัวร์ กีเนียบิสเซา มาดากัสการ์ และซูดาน

ยุโรปตะวันตก

ในภูมิภาคนี้คะแนนค่าเฉลี่ยลดลงอย่างกว้างขวางที่สุดเป็นอันดับสอง โดยเฉพาะการเสื่อมถอยลงในเดนมาร์ก ไอซแลนด์ และตุรกี นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากกฎหมายกบฏที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ในขณะที่การแทรกแซงจากทางภาครัฐในสื่อที่รัฐบาลเป็นเจ้าของส่งผลให้อิตาลีถูกจัดอยู่ในประเภท “กึ่งเสรี”

(ตกต่ำ) ที่สุดของที่สุด

ประเทศที่ติดอันดับสิบที่แย่ที่สุดคือ เบลารุส พม่า คิวบา เอควาทอเรียล (Equatorial) กินี (Guinea) เอริเทรีย (Eritrea) อิหร่าน ลิเบีย เกาหลีเหนือ เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ประเทศเหล่านี้ ไม่ปรากฏว่ามีสื่ออิสระ หรือถ้ามีก็ไม่สามารถทำงานได้ สื่อจึงกลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองในระบอบไปโดยระเบียบ นอกจากนี้ ความสามารถของพลเมืองในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ก็ถูกจำกัดอย่างร้ายแรง และผู้ที่เห็นต่างในสังคมก็ถูกกำจัดโดยวิธีการเช่นการจำคุก การซ้อมทรมาน และมาตรการอื่นๆ

จากตารางแสดงให้เห็นว่าสถิติของเสรีภาพสื่อในเอเชียแปซิฟิกได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2007 และตกต่ำที่สุดในระยะห้าปีที่ผ่านมา โดยจากรายงาน ฟรีดอมเฮาส์ได้ระบุว่าในปี 2010 ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย แรงกดดันต่อสื่อมวลชนส่งผลให้คะแนนของประเทศไทยลดลงสี่จุดคือจาก 62 เป็น 58 และเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่เสรีภาพสื่อเป็น “กึ่งเสรี” มาเป็น “ไม่เสรี” ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดังกล่าวคือการใช้กฎหมายพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่จงใจปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ รวมไปถึงการดำเนินคดีกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้ ความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองยังทำให้นักข่าวได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และนำไปสู่การเซ็นเซอร์แหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ด้วย

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท