Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศาสนาอาจมีคุณูปการต่อชีวิตและโลกไม่น้อย แต่อีกด้านหนึ่งศาสนาก็ได้สร้างบาดแผลในประวัติศาสตร์มนุษยชาติตลอดมา แม้ว่าในด้านหนึ่งศาสนาอาจมีคุณูปการต่อชีวิตและโลกไม่น้อย แต่อีกด้านหนึ่งศาสนาก็ได้สร้างบาดแผลในประวัติศาสตร์มนุษยชาติตลอดมา อาจจะตั้งแต่มีศาสนาขึ้นมาในโลกจวบปัจจุบัน และกระทั่งจะมีต่อไปในอนาคต เช่น การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม การครอบงำทางความคิดความเชื่อ ตั้งแต่การสวมขื่อคาพันธนาการชีวิตปัจเจกบุคคลให้ติดอยู่ในกับดักแห่งศรัทธาที่งมงาย การเข้าไปแทรกแซงตีกรอบพื้นที่ความเป็นมนุษย์แทบทุกมิติ การวางกรอบประเพณีรองรับสถานะที่ไม่เท่าเทียมของมนุษย์และการจำกัดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ การสร้างความแตกแยกแบ่งเป็นเขาเป็นเรา การก่อการร้ายและสงครามในนามศาสนา เป็นต้น คือตัวอย่างของบาดแผลที่ศาสนาสร้างขึ้น เพราะมองเห็นอันตรายที่เป็นไปได้อย่างไม่จำกัดดังกล่าวของศาสนา พระพุทธองค์จึงเตือนให้ระมัดระวังในการนับถือศาสนา โดยเปรียบเทียบว่าการนับถือศาสนาต้องระมัดระวังเหมือนกับการจับใบหญ้าคา ใบหญ้าคาที่คมกริบหากใช้มือกำรวบถอนขึ้นอย่างไม่ระมัดระวังอาจถูกหญ้าคาบาดมือเลือดสาดได้อย่างง่ายดาย การนับถือศาสนาอย่างขาดการไตร่ตรองหรือเลือกเฟ้น “แก่นสาร” อย่างรอบคอบ อาจทำให้เกิดบาดแผลในชีวิตและบาดแผลทางสังคมได้ง่ายๆ เช่นกัน วันหนึ่งผมเห็นนักศึกษาชมรมพุทธนั่งท่องบทสวดก่อนรับประทานอาหารกลางวัน เมื่อเรานั่งคุยกันผมจึงทราบว่านี่เป็นกิจวัตรที่เขาทำกันเป็นประจำก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ เขาเล่าเรื่องการไปปฏิบัติธรรมให้ผมฟัง และชวนผมไปร่วมกิจกรรมด้วย จะว่าไปแล้วผมค่อนข้างคุ้นเคยกับเด็กกลุ่มนี้ พวกเขาเป็นเด็กดี ว่านอนสอนง่าย อยู่ในกฎระเบียบ เป็นเด็กกลุ่มที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชื่นชม พอคุ้นเคยกันได้ระยะหนึ่ง ผมลองชวนพวกเขาคุยเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง เช่น เรื่องรัฐประหาร การสลายการชุมนุม เรื่องความเป็น-ไม่เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ ปรากฏว่าพวกเขามองว่าเป็นเรื่องทางโลกไม่เกี่ยวกับทางธรรม ถ้าจะปฏิบัติธรรมก็ไม่ควรไปสนใจการเมือง ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังมองว่าคนดีๆ จะไม่ไปยุ่งกับการเมือง พวกที่ลงเล่นการเมืองส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นพวกที่ไม่มีธรรมะ เป็นพวกมุ่งแต่อำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง สรุปแล้วการเมืองเป็นเรื่องของความวุ่นวาย คนเราจะสนใจศาสนาสนใจการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กับสนใจการเมืองไม่ได้ แน่นอนว่า ผมย่อมเคารพความคิดความเชื่อของพวกเขา แต่วันหนึ่งเมื่อเราคุยกันเรื่องเสรีภาพกับความเป็นมนุษย์และเสรีภาพทางการเมือง ปรากฏว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ความคิดเรื่องเสรีภาพก็เป็นแค่ความคิดของนักปรัชญา เป็นแค่สมติสัจจะเป็นความจริงสมมติที่หักล้างได้ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะที่โต้แย้งไม่ได้เหมือนคำสอนของพุทธศาสนา” คำพูดดังกล่าว (และท่าทางของผู้พูดที่ดูมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าตนเองพูดถูกต้อง) ยังติดอยู่ในความทรงจำของผม ทำให้ผมอดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า ทำไมนักศึกษาที่เข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นประจำ เมื่อออกมาอยู่นอกวัดแล้วพวกเขาจึงเอา “กำแพงวัด” มาด้วย มันคือกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้พวกเขาเปิดใจเรียนรู้ความคิดอื่น ภูมิปัญญาอื่นที่ต่างออกไป มันคือกำแพงที่ปิดกั้นพวกเขาจากความดีงามในความหมายอื่นๆ เช่น ความดีงามในความหมายของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเป็นธรรมทางสังคม-การเมือง เป็นต้น มองอย่างผิวเผิน เด็กกลุ่มนี้คือเด็กดี เข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นประจำ พวกเขากระตือรือร้นรับใช้วัด มีกฐิน ผ้าป่า งานบวชระดับชาติ หรือโครงการปฏิบัติธรรมใหญ่ๆ พวกเขาก็ส่งข่าว และแวะเวียนมา “บอกบุญ” กับผมและอาจารย์คนอื่นๆ เป็นประจำ แต่หากมองลึกลงไป ผมรู้สึกถึง “บาดแผล” บางอย่างที่ศาสนาได้สร้างขึ้น นั่นคือบาด “แผลแห่งมโนธรรมทางสังคม” ศาสนาได้สร้างให้เยาวนชกลุ่มหนึ่งเชื่ออย่างฝังหัวว่า การรับใช้วัดคือการรับใช้สังคม คำสอน ความเชื่อตามแนวทางของวัดคือสัจธรรมหนึ่งเดียวที่ประเสริฐสุด ส่วนความรู้อื่น ภูมิปัญญาอื่น หรือมโนธรรมทางสังคม เช่น ความรักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม ตลอดถึงความรู้สึกสะเทือนใจต่อการที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน กลายเป็นเรื่องที่ไม่ควรใส่ใจ ไม่มีคุณค่าที่ควรนำมาไตร่ตรอง เพราะไม่ใช่เรื่องทางธรรม ไม่เกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีเพื่อการมีชีวิตที่ดี (ส่วนตัว) และหากจะว่าไปแล้ว ระบบการปลูกฝังศีลธรรมแบบพุทธในบ้านเราไม่ใช่ระบบศีลธรรมที่สอนให้เราเชื่อมั่นในเสรีภาพ เหตุผล หรือวิจารณญาณของตนเอง หากแต่เป็น “ระบบศีลธรรมอำนาจนิยม” หมายถึง ระบบศีลธรรมที่สอนให้เชื่อฟังผู้มีอำนาจ ไม่ว่าผู้มีอำนาจนั้นจะเป็นผู้มีอำนาจรัฐ ผู้มีอำนาจเหนือรัฐ พระสงฆ์ นักเทศน์ นักวิชาการ ปัญญาชนที่สังคมยกย่องกันว่าเป็น “คนดีมีคุณธรรม” หรือ “ปูชนียบุคคล” ทว่าในวิกฤตกว่า 5 ปีที่ผ่านมา บรรดาผู้มีอำนาจในความหมายต่างๆ ดังกล่าวล้วนแต่ถูกตั้งคำถาม ถูกท้าทายอย่างถึงราก ทำให้ “พระชื่อดัง” ออกมาบ่นว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งความสับสน เป็นยุคที่ศีลธรรมเสื่อม ผู้คนไม่เคารพ “คนดี” ไม่เคารพ “ความดี” หรือบ้างก็ออกมาพูดกันว่า “ยุคนี้เป็นยุคกระเบื้องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม...” คำถามคือ หากความสับสนคือบาดแผลอย่างหนึ่งของยุคสมัยของเรา ศาสนามีส่วนสร้างบาดแผลนี้หรือไม่? เมื่อ “พระชื่อดัง” โยนธรรมะใส่สังคม เช่น “ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน” หรือ “เป็นกลางหมายถึงเลือกข้างความถูกต้อง ธรรมอยู่ฝ่ายไหนต้องเลือกฝ่ายนั้น” หรือ “ตราบใดที่นักการเมืองยังคอร์รัปชันก็ต้องมีรัฐประหารเพราะมันเป็นเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปัจจยตา” ฯลฯ ธรรมะที่โยนใส่สังคมดังกล่าว (เป็นต้น) ทำให้สังคมหายสับสน หรือทำให้สังคมเกิด enlightenment อย่างไรไม่ทราบครับ? ประชาชนจำนวนมากเขาชัดเจนอยู่แล้วว่า รัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่ถูกต้อง สองมาตรฐานไม่ถูกต้อง ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนไม่ถูกต้อง อำนาจนอกระบบที่แทรกแซงการเมืองไม่ถูกต้อง ระบบอำนาจนิยมแบบจารีตที่ปิดกั้นเสรีภาพและขัดแย้งกับหลักความเสมอภาคในความเป็นคนไม่ถูกต้อง ฯลฯ และจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ลองทบทวนดูให้ดี อย่างไม่มี “อคติ” (เห็นพระนักเทศนาชอบใช้คำนี้) ว่าระบบการปลูกฝังศีลธรรมแบบอำนาจนิยมของศาสนา และผู้มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดทางสังคมในความหมายต่างๆ ดังกล่าวมาใช่หรือไม่ ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้าง “บาดแผลแห่งความสับสน” จนกลายเป็น “บาดแผลแห่งยุคสมัย” ที่ยากจะลบเลือนไปจากประวัติศาสตร์สังคมไทย!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net