Skip to main content
sharethis

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

(คลิกชม วิดีโอคลิป ด้านท้ายบทความ)

 

ใน งานชุมนุมปาฐกถา 70 ปีชาญวิทย์ เกษตรศิริ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แบ่งการนำเสนอสภาพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน เป็น 3 ส่วนคือ ในมุมมองขององค์กรต่างประเทศ, การศึกษาของนักวิชาการไทย, วิกฤตการณ์การเมืองและความถดถอยของเสรีภาพ

ในหัวข้อมุมมองขององค์กร ต่างประเทศ มีการหยิบยกรายงาน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.รายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน Reporters without Borders (RSF) ที่จัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อใน 167 ประเทศทั่วโลก โดยส่งคำถามให้องค์กรสมาชิกจำนวน 14 องค์กรทั่วโลก และเครือข่ายผู้สื่อข่าว 130 คน นอจกากนี้ยังมีคำตอบของนัก นสพ. นักวิจัย ผู้เชียวชาญด้านกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน แบ่งคำถามเป็นเรื่อง การสูญเสียเสรีภาพชัดแจ้ง ทางกาย การถูกขัง ทำร้าย, การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร, การถูกเซ็นเซอร์ หรือเซ็นเซอร์ตัวเอง, การผูกขาดระบบวิทยุโทรทัศน์, แรงกดดันทางเศรษฐกิจ รัฐบาลม, ถัดมาคือความเข้มข้นของความรุนแรง จำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหาร ทำร้าย บทบาทของรัฐในการคุ้มครอง

สำหรับข้อมูลประเทศไทย พบว่าก่อนรัฐประหาร ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 107 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่เคยไดรับ จากนั้นก็ตกมาที่ 122, 135, 124, 130 และปีล่าสุดอยู่ในอันดับเกือบรั้งท้าย สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มการเมือง ส่งผลกระทบด้านลบต่อการทำงานของสื่อ และสื่อถูกแบ่งขั้วในการทำงาน

รายงาน ระบุด้วยว่า ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่ต้องอยู่ในการตรวจสอบ  ส่วนหนึ่งของความตกต่ำมากจาก การปิดกั้นทางอินเตอร์เน็ต และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้มีการเซ็นเซอร์ กลุ่มการเมืองใช้ข้อหาหมิ่นฯ ทำลายฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ยังเซ็นเซอร์สื่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐ โดยเฉพาะสื่อเสื้อแดง

งานศึกษาวิจัยของ iLaw และอาจารย์สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุว่า มี URL ที่ถูกบล็อกโดยคำสั่งศาลระหว่างปี 2550-53 จำนวน 74,686 urls ต่อมาสำรวจใหม่อีกครั้งเมื่อต้นปี พบว่า มี 80,000-400,000 urls กลุ่มนี้ได้ส่งหนังสือขอกับกระทรวงไอซีทีเพื่อดูรายละเอียดแต่ได้รับการ ปฏิเสธ มีการยื่นหนังสือร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิฯ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเชิญไปพูดคุย แต่ ยังไม่ทราบว่าจะได้ความกระจ่างและการคุ้มครองสิทธิอย่างไร

รายงาน ระบุว่า เดือนมิถุนายน 2553 หลังเหตุการณ์ปราบปรามเสื้อแดง มีการตั้งสำนักงานปราบปรามอาชญากรรมคอมฯ เพื่อปกป้องสถาบันสถาบันกษัตริย์ มีการขอทรัพยากรเพิ่มเติมแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจอย่างเต็มกำลัง ส่วนกฎหมายที่เป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา คือ ม.112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานาภพนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กฎหมายที่ถูกนำมาใช้คู่กันในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความเห็นทางอินเตอร์ เน็ต คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่งตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร มีการดำเนินคดีหมิ่นสถาบัน 31 คดี เป็นคดีที่ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 11 คดี โดยมี 4 คดีถูกลงโทษจำคุกแล้ว จะเห็นได้ว่า การใช้กฎหมายเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ พร้อมกับมีการเสนอแนะให้เร่งแก้ไขกฎหมายโดยเร่งด่วน

2. รายงานเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต ปี 2011 จัดทำโดย Freedom House รายงานนี้อยู่บนพื้นฐานของหลักการเสรีภาพสากล ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 จัดทำใน 37 ประเทศ ในเรื่องอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะ เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่สำคัญมากในปัจจุบันและมีผลต่อการพัฒนาเรื่องเสรีภาพ ปชต.

มีกลุ่มคำถาม 21 กลุ่ม เน้นเรื่องสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมเสรีภาพเน็ต มีคำถาม 100 ข้อ เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อุปสรรคที่ปิดกั้นการเข้าถึง, มีการจำกัดเนื้อหา กรอง เซ็นเซอร์, ห้ามการใช้สื่อออนไลน์เพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองไหม, ละเมิดสิทธิผู้ใช้สื่อหรือไม่, ปกป้องสิทธิผู้ใช้สื่อในทางกฎหมายไหม, แทรกแซงความเป็นส่วนตัวไหม, มีการลงโทษจำคุก ทำร้าย ข่มขู่ไหม    

การ ให้คะแนน น้อยแปลว่าดี มากแปลว่าไม่ดี ไล่ตั้งแต่ 0-100 ในกลุ่ม 0-30 คะแนน หมายถึง มีเสรีภาพ  31-60 คะแนน หมายถึงมีเสรีภาพบางส่วน 61-100 คะแนน หมายถึงไม่มีเสรีภาพ

สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “ไม่มีเสรีภาพ” เป็นการสำรวจปี 2552-53 โดยมีสภาพใกล้เคียงกับ พม่า จีน คิวบา ซาอุดิอาระเบีย โดยไทยเราอยู่ลำดับที่ 61 เป็นประเทศแรกในกลุ่มที่ 3 หรือกลุ่มไม่มีเสรีภาพพอดี และไทยยังอยู่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอยู่ในอันดับต่ำกว่าอียิปต์ ซิมบับเว ปากีสถาน น่าสนใจว่าเรามถึงจุดนี้ได้อย่างไร

บทอธิบายประกอบในรายงาน ระบุว่า ผู้ใช้เน็ตที่ถูกควบคุม ปิดกั้น เพราะไปท้าทายชนชั้นนำทางการเมืองและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย นับแต่หลังรัฐประหารทำให้หน่วยงานความมั่นคงพยายามปิดกั้น การปิดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปริมาณและเนื้อหา

“สำหรับการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้น แนวโน้มสิทธิเสรีภาพจะถดถอยลงอีก เห็นได้จากกรณีล่าสุดที่มีการตัดสินให้ผู้ใช้เว็บไซต์ถูกจำคุกเป็นเวลา 13 ปี” รายงานระบุ

3. Asian Media Baronmeter จัดทำโดย ฟรีดิช อีแบร์ท เป็นการทำดัชนีชี้วัดสื่อเอเชีย ซึ่งเพิ่งมาทำการศึกษาในไทย โดยประเมินสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความหลากหลาย ความเป็นอิสระของสื่อมวลชน สำรวจว่ามีการปฏิรูปสื่อเป็นสื่อสารธณะหรือไม่ สื่อเป็นมืออาชีพแค่ไหน ในสถานการณ์ที่สื่อถูกทำให้เป็นสื่อการเมืองมากขึ้น

วิธี การประเมิน คือ เชิญตัวแทนนักวิชาชีพสื่อ, เอ็นจีโอด้านสิทธิม.,สิทธิเสรีภาพ 12 คนไปประชุมและร่วมประเมิน 4 เรื่อง คือ สิทธิเสรีภาพสื่อ , ความหลากหลายของสื่อ  ความเป็นอิสระของสื่อ, การปฏิรูปการสื่อสารสาธารณะ, ความเป็นวิชาชีพของสื่อ ซึ่งหากคะแนนออกมาน้อยแปลว่าไม่ได้มาตรฐาน

เรื่องสิทธิเสรีภาพได้ 2.6 ,เรื่องความหลากหลาย อิสระ 2.4 , การปฏิรูปสื่อสาธารณะ 3.6 , ความเป็นวิชาชีพ 2.3 รวม 2.72

อุบล รัตน์ หยิบยกความคิดเห็นของผู้ประเมินเฉพาะในส่วนที่1 เรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมานำเสนอว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐประหารจะมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้ แต่กฎหมายอื่นกลับคัดง้างสิทธิดังกล่าว ไม่ว่ากฎหมายความมั่นคง กฎหมายอาญา พลเมืองและนักหนังสือพิมพ์กลัวว่าแสดงความคิดเห็นถึง ศาล สถาบันกษัตริย์ เป็นความผิดจึงสยบยอมต่ออำนาจ พลเมืองหวาดกลัวการล่าแม่มดในอินเตอร์เน็ต ท่ามกลางความหวาดกลัว นสพ.หันมาเซ็นเซอร์ตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐประหาร รัฐเร่งออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ แต่มีกฎหมายจัดตั้งกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ซึ่งจะว่าไปแล้วคือยึดสถานีไอทีวีของทักษิณมาเป็นของรัฐ แล้วเปลี่ยนมาเป็นสื่อสาธารณะ มีการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างด่วนที่สุด เพื่อริดลอนสิทธิในการแสดงความเห็น ปรากฏผลให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนคดี

ที่สำคัญที่ประเทศไทยไม่ได้นำมาใช้มากนัก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 การเข้าถึงข้อมูลราชการยุ่งยากและล่าช้า ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าไม่ถึงเลย มีบทบัญญัติว่าห้ามเปิดเผยและห้ามสื่อรายงาน รวมทั้งไม่มีกฎหมายคุ้มครองแหล่งข่าว องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมีไม่มาก มีการแบ่งขั้วทางการเมือง บางองค์กรสนับสนุนให้ปราบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเสียด้วย

สภาพการณ์ ดังกล่าวทำให้เกิดสาธารณชนที่หิวกระหายข้อมูลข่าวสารที่มีอิสระ, มีวิทยุชุมชนที่มีชีวิตชีวา มีสื่อสาธารณะเกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ อย่างไรก็ตาม การแบ่งขั้วทางการเมืองทำให้การปฏิรูปสื่อต้องชะงัก สิทธิเสรีภาพของสื่อถูกแทนที่ด้วยการเซ็นเซอร์ตนเอง

อุบลรัตน์ กล่าวถึงหัวข้อที่สองเรื่องเสรีภาพจากการศึกษาของนักวิชาการไทย โดยหยิบยกรายงานการศึกษา สถานการณ์ ควบคุม ปิดกั้น สื่อออนไลน์ด้วยการอ้างกฎหมาย และแนวนโยบายแห่งรัฐไทย โดย iLaw และอาจารย์สาวตรี สุขศรี ที่นำเสนอเมื่อธันวาคม 2553  ซึ่งมีข้อมูลเชิงสถิติ บทวิเคราะห์และข้อสังเกตต่อจำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาในสื่อออนไลน์ และมีตัวอย่างจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกชิ้นหนึ่งผลงานของสาวตรี สุขศรี เรื่องกฎหมายไทยกับเสรีภาพสื่อสารมวลชน ตีพิมพ์ในวารสารวันรพี 2553 กล่าวถึงกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็น ในสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ ซึ่งทั้งหมดหาอ่านได้ในเว็บไซต์นิติราษฎร์ (www. Enlightened-Jurists.com)

อุบลรัตน์กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายเรื่อง วิกฤตการณ์การเมืองและความถดถอยของเสรีภาพว่า  หลังรัฐประหาร การใช้กฎหมายทั้งหมดกลายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เกิด ศอ.รส., ศอฉ. มีการทีวีรวมการณ์เฉพาะกิจอยู่เป็นประจำ มีโฆษกที่ทุกท่านรู้จักกันดี มีการเซ็นเซอร์สื่อท้องถิ่น ในภาวะที่ชาวบ้านบอกว่าพวกเขา ‘ตาสว่าง’ แล้วนั้น สื่อสำคัญคือ วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม แต่ทั้งหมดก็ถูกสั่งปิด เว็บไซต์ก็เช่นกัน ดัชนีทั้งในและนอกประเทศถดถอย

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การสั่งปิดกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐไปแล้ว” อุบลรัตน์กล่าวและว่า ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเปิดเผย จึงถูกติดตาม ตรวจสอบ คุกคามมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

“เราเคยพูด ถึงบรรายากาศแห่งความกลัวในสมัยทักษิณ ช่วงนั้นการข่มขู่คุกคามคือการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสูงๆ ขณะนี้ทุกวันนี้ใช้วิธีฟ้องร้องประชาชนรายบุคคล แล้วส่งเข้าคุกหลายๆ ปี” อุบลรัตน์กล่าวและว่า การเซ็นเซอร์ตนเองเพิ่มทวีคูณจนรัฐคิดว่าเป็นเรื่องยอมรับได้ของสังคม แต่แรงกดดันนี้อาจนำมาซึ่งการแสวงหาการแสดงออกในหนทางใหม่ๆ เพื่อธำรงสิทธิเสรีภาพตามหลักสากลและเป็นสิ่งที่พวกเราพึงมี

 

*เรียบ เรียงจากงานแสดงมุทิตาจิต “ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ณ หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พ.ค.54  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net