Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วย ผ่านบทความ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ทางสื่อต่างๆ ทางเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ต่อกรณีกระทรวงวัฒนธรรมออกโรงให้เซ็นเซอร์บทบาทของ เรยา ในละครดอกส้มสีทอง และกรณีแก้กรรมของแม่ชีทศพร เป็นต้น สะท้อนปรากฏการณ์ที่ศีลธรรมอำนาจนิยมกำลังถูกท้าทายมากขึ้นๆ “ศีลธรรมอำนาจนิยม” หมายถึง ศีลธรรมที่มาตรฐานถูก-ผิด ดี-ชั่ว ขึ้นอยู่กับอำนาจกำหนดนิยาม ตัดสิน ชี้นำ ปลูกฝัง โดยชนชั้นนำในสังคม เช่น ชนชั้นปกครอง ผู้มีอำนาจรัฐ ผู้มีอำนาจเหนือรัฐ พระสงฆ์ ปัญญาชนที่ถูกยกย่องว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมหรือเป็นปูชนียบุคล เป็นเสาหลักทางจริยธรรมของสังคม โดยมาตรฐานตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว นั้น อ้างอิงอยู่กับหลักศีลธรรมทางศาสนาที่แข็งทื่อตายตัว ขนบจารีตประเพณีที่ขัดแย้งกับเสรีภาพในการเลือกและการใช้เหตุผล หรือกล่าวโดยรวมๆ คือมาตรฐานตักสินทางศีลธรรมที่อ้างอิงรูปการจิตสำนึก หรือจินตนาการความเป็นไทยที่ยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ศีลธรรมอำนาจนิยมในความหมายดังกล่าว เรียกร้อง (requirement) ศรัทธา ความเชื่อฟัง ความจงรักภักดี มากกว่าเรียกร้องการใช้เหตุผล เสรีภาพหรือความมีอิสระในการตัดสินถูกผิดด้วยวิจารณญาณของตนเองของปัจเจกแต่ละคน ฉะนั้น “คนดี” ที่ถูกบ่มเพาะภายใต้ระบบการปลูกฝังศีลธรรมอำนาจนิยม จึงเป็นคนดีแบบ “เด็กดี” ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของความเป็นคนว่านอนสอนง่าย รู้ที่ต่ำ ที่สูง รู้กาลเทศะ พูดความจริงได้เฉพาะเรื่องที่ไม่ระคายเคืองหูของผู้มีอำนาจ ทำดีได้แต่อย่าเด่นจะเป็นภัย เป็นต้น และแน่นอนว่า ภายใต้ระบบศีลธรรมอำนาจนิยมดังกล่าว ใครหรือฝ่ายใดประกาศตนเองว่ากระทำสิ่งต่างๆ บนจุดยืนของศรัทธาในศาสนา บนจุดยืนของความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เขาย่อมกลายเป็นคนดีที่ควรยกย่องเชิดชูขึ้นมาทันใด ขณะที่คนที่ตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าว หรือถูกกล่าวหาว่าอยู่ตรงข้างกับจุดยืนดังกล่าว เขาก็จะถูก “พิพากษา” ว่าเป็นคนเลวทันที โดยไม่ต้องสนใจเหตุผลของเขา หรือถามหาพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งใดๆ อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมอำนาจนิยมก็ถูกท้าทายโดย “ศีลธรรมแห่งเหตุผล” ตลอดมาทั้งโดยตรง โดยอ้อม หรือโดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนที่เป็นไปตามสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป แม้ว่าผู้ที่ออกมาท้าทายนั้นๆ จะประสบชะตากรรมต่างๆ เช่น ถูกสังคมประณาม ถูกจับติดคุก ถูกเนรเทศ ออกไปอยู่ในป่า ถูกฆ่า ฯลฯ ส่วน “ศีลธรรมแห่งเหตุผล” คือระบบศีลธรรมที่อยู่บนความเชื่อพื้นฐานที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” และมีเสรีภาพในการใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินดี-ชั่ว ถูก ผิด ได้ และมีเสรีภาพที่จะเลือกและรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆ ด้วยตนเอง ศีลธรรมเช่นนี้เรียกร้องเสรีภาพ ความเท่าเทียมในความเป็นคนเป็นจุดตั้งต้น หรือเป็นรากฐานรองรับการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมทางสังคมที่รองรับความงอกงามของศีลธรรมเช่นนี้คือวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่ยอมรับในความมีเหตุผล เสรีภาพ และความเท่าเทียมในความเป็นคนของสมาชิกทุกคนของรัฐ แต่ดูเหมือนว่าในสังคมไทย ศีลธรรมอำนาจนิยมครอบงำ แทรกซึมอยู่ในแทบทุกมิติของการปลูกฝังอบรม ทั้งในครอบครัว สถานศึกษา สถาบันศาสนา สถานที่ทำงาน สื่อ และ ฯลฯ ใครที่สมานทานศีลธรรมแห่งเหตุผลอาจกลายเป็นตัวประหลาด พวกหัวรุนแรง พวกนอกคอก พวกขวางโลก ฯลฯ กระนั้นก็ตาม ศีลธรรมแห่งเหตุผลดูเหมือนจะสอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นคนมากกว่า เคารพความเป็นมนุษย์มากกว่า สอดคล้องกับโลกร่วมสมัยมากกว่า มันจึงมีเสน่ห์ดึงดูดรสนิยมของคนรุ่นใหม่มากกว่า แต่ทว่าในประสบการณ์ของผมเอง ผมพบ “ความขัดแย้ง” ระหว่างศีลธรรมแห่งเหตุผลกับศีลธรรมอำนาจนิยมภายในความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจ เช่น ผมยกประเด็นเรยาในดอกส้มสีทองมาชวนนักศึกษาคุย ปรากฏว่านักศึกษาทั้งห้องไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบศีลธรรมอำนาจนิยมของกระทรวงวัฒนธรรมเลย พวกเขาคิดแบบศีลธรรมแห่งเหตุผลว่า คนดูละครเขาสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองในการแยกแยะผิด-ถูกได้ ไม่ควรให้ผู้มีอำนาจมาคิดแทน หรือตัดสินถูก-ผิดแทน เป็นต้น แต่พอผมยกกรณีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาล้มเจ้าและการสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรงของอำนาจรัฐ กลับไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียวที่แสดงความคิดเห็นที่ “บ่งบอก” ได้ว่าเข้าใจเหตุผลและอุดมการณ์ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง หรือเข้าใจ “ศีลธรรมแห่งเหตุผล” ของคนเสื้อแดงซึ่งมีสาระสำคัญที่ไม่ต่างจากศีลธรรมแห่งเหตุผลที่นักศึกษาใช้โต้แย้งศีลธรรมอำนาจนิยมแบบกระทรวงวัฒนธรรม หลังจากคุยเรื่องดังกล่าวจบ ผมเปิดคลิปเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่มีภาพจิตร ภูมิศักดิ์ ให้นักศึกษาฟัง (เพื่อรำลึก 45 ปีการเสียชีวิตของจิตร) ปรากฏว่านักศึกษาบางคนบอกว่าเคยฟังเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา แต่ไม่มีสักคนที่รู้ว่าชายในรูปภาพคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้แต่งเพลงนี้ ไม่มีใครเลยสักคนรู้ว่าจิตรเป็นใคร มีผลงานทางปัญญาอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศนี้ แน่นอนว่า ผมไม่โทษนักศึกษาใดๆ ที่พวกเขาใช้หลักคิดแบบศีลธรรมแห่งเหตุผลโต้แย้งศีลธรรมอำนาจนิยมแบบกระทรวงวัฒนธรรม แต่ไม่เข้าใจเหตุผลและอุดมการณ์ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ยืนอยู่บนหลักศีลธรรมแห่งเหตุผลเช่นกัน และไม่รู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อการก่อเกิดแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมบนจุดยืนของศีลธรรมแห่งเหตุผล แต่ผมสะเทือนใจกับ “ผลงาน” ของระบบศีลธรรมอำนาจนิยม ที่สร้างเยาวชนของชาติขึ้นมาให้มีคุณลักษณะที่สับสน ขัดแย้งในตัวเองทั้งในเชิงวิธีคิด จุดยืนทางศีลธรรม จนทำให้ “มโนธรรมแหว่งวิ่น” ศีลธรรมแห่งเหตุผลของพวกเขาไร้ราก ขาดมิติเชื่อมโยงทั้งในทางหลักปรัชญาและทางประวัติศาสตร์ เพราะระบบการศึกษาแบบทางการ การอบรมบ่มเพาะ การขัดเกลาจิตใจภายใต้วัฒนธรรมแห่งศีลธรรมอำนาจนิยมไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้รู้จักและชื่นชม “คนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์” จึงเป็นไปได้ ที่คนรุ่นใหม่จะอ้างอิงศีลธรรมแห่งเหตุผลโต้ตอบศีลธรรมอำนาจนิยมกรณี เรยา ทว่ายอมรับศีลธรรมอำนาจนิยมได้ในกรณีรัฐบาล กองทัพ อำมาตย์ ใช้วิธีรุนแรงปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคน เพราะอิทธิพลครอบงำอย่างหนาแน่นของศีลธรรมอำนาจนิยม และสภาวะไร้รากของศีลธรรมแห่งเหตุผล ทำให้เกิดสภาวะขัดแย้งในตัวเองดังกล่าว !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net