สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1 - 7 พ.ค. 2554

นายกฯ รับ 9 ข้อเสนอจากแรงงานยืนยันเดินหน้าปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 1 พ.ค. 54 - นายกฯ รับข้อเสนอแรงงาน 9 ข้อ ยืนยันจะเดินหน้าปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ใน 2 ปี พร้อมดูแลราคาไข่ให้กลับเข้าสู่ปกติ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2554 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมรับข้อเรียกร้อง 9 ข้อจากตัวแทนผู้ใช้แรงงาน ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2.ขอให้รัฐบาลตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้ลูกจ้างกรณีสถานประกอบการปิด กิจการและเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน 3.ขอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมกับลูกจ้าง พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ 4.ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอย่างเข้มงวดและเอาผิดกับผู้ทำผิดกฎหมาย 5.ขอให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม ด้วยการนิรโทษกรรมผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ให้กลับเป็นผู้ประกันตนอีกครั้ง 6.ขอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และยกเลิกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ 7.ขอให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินค่าชดเชยและเงินราย ได้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย 8.ขอให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และให้รัฐบาลรวบรวมกฎหมายแรงงานทุกประเภท จัดทำเป็นกฎหมายฉบับเดียวและบังคับใช้ทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน และ 9.ขอให้รัฐบาลจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับผู้ใช้แรงงานว่า ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานมีความคืบหน้าไปมาก และเสร็จเรียบร้อยไปแล้วหลายเรื่อง โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานอีกหลายฉบับ และจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ยังคั่งค้างอยู่ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้าไปผลักดันศูนย์เด็กเล็ก ส่วนเรื่องค่าจ้างแรงงานนั้น ขอยืนยันว่า จะเดินหน้านโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ร้อยละ25 ภายใน 2 ปี และจะควบคุมราคาสินค้า โดยในสัปดาห์หน้าจะดูแลราคาไข่ที่สูงให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (สำนักข่าวไทย, 1-5-2554) “หมอประเวศ” แนะ 3 แนวทางสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงาน 1 พ.ค. 54 - “หมอประเวศ” แนะ 3 แนวทางสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงาน ทั้งจัดตั้งองค์กรของผู้ใช้แรงาน จัดสรรที่ดินทำกินให้ผู้ใช้แรงงาน และการบริหารจัดการที่ดีของสำนักงานประกันสังคม ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในงาน “วันต้อนรับวันแรงงาน” ที่อาคารศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต จัดโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงาน เพื่อการคุ้มครองสุขภาพและและสวัสดิการแรงงาน ร่วมกับ เครือข่ายกลุ่มสังคมเพื่อนและชมรมผู้ประกันตน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื่องในวันแรงงาน วันที่ 1 พฤษภาคม ว่า วันแรงงานเกิดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ แรงงาน สังคมของเราถูกมายาคติครอบงำ คิดว่าคนยากจน คนเล็กคนน้อยไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่ทุกคนเกิดมาโดยธรรมชาติ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การจะทำให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ประเทศก็จะดีขึ้น มีด้วยกัน 3 วิธีการคือ 1.จัดตั้งองค์กรของผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ โดยทุกคนมีส่วนร่วม เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 10-20 คน เชื่อมโยงกันเป็นองค์กรใหญ่ ทำหน้าที่จัดการในเรื่องต่าง ๆ ของผู้ใช้แรงงาน เช่น เรื่องสวัสดิการ จัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ ไปจนถึงจัดตั้งธนาคารขนาดใหญ่ที่เป็นของผู้ใช้แรงงานเอง 2. จัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ใช้แรงงาน มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงทางอาหาร ก็จะมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น 3.เปิดให้ประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและตรวจสอบการดำเนินการของกองทุนประกันสังคมที่ ขณะนี้มีเงินอยู่ในกองทุนประมาณ 8 แสนล้านบาท ให้มีการบริหารจัดการที่ดี จะเป็นเครื่องมือที่ใหญ่และสำคัญมากที่จะช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับ ผู้ใช้แรงงาน (สำนักข่าวไทย, 1-5-2554) ผู้ใช้แรงงานแนะรัฐเร่งควบคุมราคาสินค้า-ปรับโครงสร้างค่าจ้างใหม่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ 1 พ.ค. 54 - ในงานเสวนาเรื่อง “ข้อเสนอและยุทธศาสตร์ขบวนการแรงงาน ภายใต้ทุนนิยมครอบโลก” ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกันจัดขึ้นในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้คือรัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่ง คสรท.เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นเป็น 421 บาท ขณะที่ในระยะยาวจะต้องมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างของแรงงานไทย ตามฝีมือและอายุงานโดยไม่ผูกติดกับค่าจ้างขั้นต่ำ และเปลี่ยนค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นอัตราค่าจ้างแรกเข้าสำหรับผู้เริ่มต้นทำงาน เท่านั้น ขณะที่ นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ เสนอให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนสิทธิในการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน โดยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนอย่างยั่งยืน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานสามารถสะท้อนปัญหาที่ตนเองได้รับโดยตรง ขณะเดียวกันนายจ้างต้องปรับทัศนคติที่มีต่อผู้ใช้แรงงาน โดยเลิกมองลูกจ้างในลักษณะ “นายกับบ่าว” และเปิดเผยข้อมูลผลกำไรทางธุรกิจที่แท้จริงให้ลูกจ้างได้รับทราบ เพื่อลดความขัดแย้ง ส่วนการที่รัฐบาลให้ความสนใจในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น (สำนักข่าวไทย, 1-5-2554) คนงาน บ.เอเพ็ค พลาสติก ร้องศาลถูกเบี้ยวค่าแรง เมื่อเวลา 09.00 น. พนักงาน กลุ่มบริษัท เอเพ็ค พลาสติก จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลาสติก หนังเทียม และเฟอร์นิเจอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 32 ม.8 ต.หนองกี่ อ.กบินบุรี จ.ปราจีนบุรี จำนวน 130 คน เดินทางมายังศาลแรงงานภาค 2 เพื่อยื่นฟ้องบริษัท เรียกร้องค่าจ้างรายเดือน/รายวัน เนื่องจากบริษัทดังกล่าวได้ค้างค่าแรงเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินตรงเวลาแก่พนักงาน นอกจากเงินเดือนของพนักงานแล้วทางบริษัทยังไม่จ่ายเงินออมของพนักงานที่ฝาก ไว้กับทางบริษัท และเงินทุนเพชรน้ำหนึ่งที่พนักงานเอาไปลงทุนกับทางทางบริษัทเพื่อนำไปซื้อ วัตถุดิบมาผลิตสินค้า และเมื่อบริษัทได้กำไรก็ไม่นำมาแบ่งปันให้กับพนักงาน จากการสอบถามพนักงาน บอกว่า ล่าสุดทางเจ้าของบริษัทไม่ยอมติดต่อกับมายังบริษัท ไม่มีการพูดคุยว่าจะตกลงกันอย่างไร และกล่าวหาว่าแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ไม่ได้เข้ามาดูแลความเดือดร้อนของพนักงาน จึงไม่รู้จะไปพึ่งใคร ทางพนักงานทั้งหมด จึงได้เดินทางมายังศาลแรงงานเพื่อร้องขอความเป็นธรรม ให้นำเงินมาจ่ายค่าแรงที่เหลือ และเงินที่ติดค้างกับพนักงานทั้งหมดจำนวน 130 คน เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ศาลได้รับเรื่อง และจะดำเนินตามขั้นตอนต่อไป (ครอบครัวข่าว, 2-5-2554) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์เอกชนกำลังเผชิญภาวะแรงงานตึงตัว แนะเร่งปรับตัวสู้คู่แข่ง กรุงเทพฯ 2 พ.ค.- บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากนโยบายภาครัฐที่มีแนวคิดจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำร้อยละ 25 ในระยะเวลา 2 ปี เพิ่มเติมจากที่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งปรับขึ้นประมาณ 8-17 บาททั่วประเทศ และมีแนวคิดที่จะเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจไปพร้อม กับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดี ขึ้น โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังต้องเผชิญกับภาระราย จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และยังช่วยจูงใจให้แรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแนวโน้มเพิ่ม สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาด้านประสิทธิภาพของแรงงานไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลิตภาพการผลิตต่อหน่วยของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริงที่ขยับขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 3.5 ต่อปี ดังนั้น ภาครัฐจึงควรหามาตรการที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถทำการแข่งขันได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรมกำลังเสียเปรียบให้กับคู่แข่งบางประเทศ เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานที่มีสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ไทยมีอัตราค่าจ้างแรงงานประมาณ 1.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ขณะที่เวียดนามมีอัตราค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 0.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง เท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า นอกจากเครื่องมือทางภาษีที่รัฐบาลจะพิจารณาเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ แล้ว รัฐบาลน่าจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มี คุณภาพในระยะยาว โดยเริ่มต้นจากการจัดระบบการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรให้ สอดคล้องกับความต้องการของสาขาอาชีพ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดแรงงานและการใช้กำลังแรงงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา ขณะที่ผู้ประกอบการคงจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับต้นทุนแรงงานที่จะเกิด ขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานเป็นกำลังหลักในการขับ เคลื่อนธุรกิจ เช่น เกษตรกรรม ประมง และขนส่ง เป็นต้น และกลุ่มผู้ประกอบการที่รับจ้างการผลิตจากต่างประเทศที่ในอุตสาหกรรมนั้น มีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ต้องเตรียมพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องมีการกำหนดแผนระยะยาวในการพัฒนาต่อยอดทาง ธุรกิจมากขึ้น หันมาใช้เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีใหม่ ขณะที่กำลังแรงงานในวัยทำงานของไทยกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากกำลังแรงงานช่วงอายุ 25-39 ปี ที่จะเข้ามาเป็นแรงงานทดแทนมีปริมาณลดลงประมาณ 100,000 คนต่อปี สำหรับภาวะตลาดแรงงานไทยในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการว่างงานของไทยจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำประมาณร้อยละ 0.9-1.1 โดยการจ้างงานยังน่าที่จะเติบโตขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการขยายการลงทุนของภาค รัฐและเอกชน แต่ตลาดแรงงานปัจจุบันกำลังเผชิญกับภาวะตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างเป็นจำนวนมากทั้งโครงการขนาดใหญ่ของภาค รัฐหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีการลงทุนเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ พร้อมกันทำให้เกิดการแย่งชิงแรงงานขึ้น (สำนักข่าวไทย, 2-5-2554) ครม.อนุมัติงบขยายความคุ้มครองประกันสังคม นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบ 200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอเพื่อไปบริหารจัดการประชาสัมพันธ์การขยายความคุ้ม ครองประกันสังคม (โพสต์ทูเดย์, 3-5-2554) ก.แรงงานเอาจริง! เดินหน้าปราบนายหน้าจัดหางานเถื่อน 3 พ.ค. 54 - นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเปิดการสัมมนาและมอบนโยบายการปฏิบัติงานคณะทำงานตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์ ว่า ในช่วงก่อนเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ ให้เน้นการปราบปรามสายนายหน้าจัดหางานเถื่อน และให้ความรู้เรื่องของการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแก่สถานประกอบการ ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่แล้ว จะดำเนินการจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ไป แต่เพื่อความมั่นคงและเพื่อการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศอย่างถูกกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาทำงานก็ต้องนำมาทำให้เป็นแรงงานที่ถูกต้อง ตามกฎหมายเช่นกัน ซึ่งได้วางแนวทางในการดำเนินการไว้โดยในช่วงนี้ให้เน้นในเรื่องของการปราบ ปรามสายนายหน้าเถื่อนจัดหางาน นายสมเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่องของการจับกุมต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในช่วงนี้ก่อนที่จะมีการ กำหนดวันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ขอให้เป็นการให้ความรู้เรื่องของการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแก่สถาน ประกอบการ และหลังจากที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่แล้ว ต่อจากนี้ไปการดำเนินการจับกุมการใช้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิด กฎหมายจะดำเนินการอย่างเข้มข้นในการดำเนินการจับกุม ด้านนางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์ เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบด้วยคณะทำงาน 5 คณะรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 - 30 เมษายน 2554 สามารถดำเนินคดี นายจ้าง สถานประกอบการที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองได้ 365 ราย จับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานได้ 6,115 คน จับกุมสาย นายหน้าจัดหางาน 8 ราย (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-5-2554) แรงงานนอกระบบทยอยสมัครเข้ามาตรา 40 รวมแล้วกว่า 440,000 ราย 4 พ.ค. 54 - แรงงานนอกระบบยังทยอยสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เผยแรงจูงใจได้บำเหน็จไว้ใช้ยามแก่ชรา ขณะที่ เลขาฯ สปส.เผยยอดล่าสุดสมัครแล้วกว่า 440,000 ราย คาดถึง 1 ล้านคน ช่วงปลายปี บรรยากาศการรับสมัครแรงงานนอกระบบ เข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่บริเวณสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ซึ่งเป็น 1 ในจุดรับสมัครเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ รวม 216 แห่ง ยังคงมีประชาชนทยอยมายื่นใบสมัครอย่างต่อเนื่อง อาทิ นางอาภาภัทร คันชั่ง อายุ 51 ปี อาชีพรับจ้างเย็บเสื้อผ้า กล่าวว่า มาเลือกสมัครในแบบที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท แต่จ่ายจริงเพียง 100 บาท เพราะรัฐบาลอุดหนุน 50 บาท โดยมองว่าคุ้มค่า เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ถึง 4 กรณี โดยเฉพาะบำเหน็จชราภาพ ที่เสมือนการเก็บเงินไว้ดูแลตัวเอง ยามมีอายุมากขึ้น จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน และที่ผ่านมา เพื่อน ๆ ร่วมอาชีพเดียวกันได้ชักชวนมาสมัครแล้วหลายราย ด้าน นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ล่าสุดมีแรงงานนอกระบบทั่วประเทศมาสมัครเข้าสู่มาตรา 40 แล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 440,000 ราย ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เลือกสมัครแบบที่ 2 เพราะได้เงินบำเหน็จชราภาพ ขณะที่ สปส.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เปิดเป็นจุดรับสมัคร เช่น ที่ว่าการอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกแห่ง ห้างสรรพสินค้าโลตัสทุกสาขา โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ชุมชนต่าง ๆ รวมถึงสนามกอล์ฟ ทั้งหมดกว่า 1,000 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มาสมัครง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนนี้ สปส.จะทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ธ.ก.ส. สามารถจ่ายเงินตามมาตรา 40 โดยหักผ่านบัญชี ธ.ก.ส.ได้ทันที เชื่อว่าจะทำให้มีสมาชิก ธ.ก.ส.เข้าร่วมสมัครอีกจำนวนมาก คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ จะมีแรงงานนอกระบบ สมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 ได้มากกว่า 1 ล้านคน (สำนักข่าวไทย, 4-5-2554) สึนามิญี่ปุ่นพ่นพิษแรงงานได้รับผลกระทบแล้วกว่า 60,000 คน 4 พ.ค. 54 - สึนามิญี่ปุ่นพ่นพิษแรงงานได้รับผลกระทบแล้วกว่า 60,000 คน อีก 80,000 คน เสี่ยงได้รับผลกระทบ วอนลูกจ้าง-นายจ้างหันหน้าหารือกัน ขณะที่ผู้นำแรงงานไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 75 แนะรัฐช่วยแบ่งเบาภาระ นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้สถานประกอบการในประเทศไทยได้รับผลกระทบ ต้องลดกำลังการผลิต เนื่องจากวัตถุดิบไม่เพียงพอ ไม่มีการทำงานล่วงเวลา รวมทั้งใช้การหยุดกิจการตามมาตรา 75 รวมทั้งสิ้น 60 แห่ง ลูกจ้าง 60,704 คน โดย 5 จังหวัดแรก ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบ 16 แห่ง ลูกจ้าง 11,441 คน, สมุทรปราการ 7 แห่ง ลูกจ้าง 17,605 คน, ชลบุรี 4 แห่ง ลูกจ้าง 7,287 คน, ฉะเชิงเทรา 3 แห่ง ลูกจ้าง 4,500 คน และ ปทุมธานี 3 แห่ง ลูกจ้าง 2,670 คน นอกจากนี้ ยังมีประเภทกิจการที่ต้องเฝ้าระวังที่อาจจะได้รับผลกระทบ อีกทั้งหมด 302 แห่ง ลูกจ้าง 80,130 คน ในประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ประกอบรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตวิกผมส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานประกอบการที่ได้รับประโยชน์ในการเพิ่มกะการทำงาน เนื่องจากยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้น 26 แห่ง ลูกจ้าง 23,016 คน ในประเภทกิจการแปรรูปอาหาร, เลี้ยงสัตว์ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตถ้วยเซรามิก ผลิตอลูมิเนียม ส่งออกผักและผลไม้ และผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง “ลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ผ่านมาจะได้รับค่าตอบแทนที่ดี และมีมาตรฐานชีวิตที่ค่อนข้างสุขสบาย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ก็อยากให้ลูกจ้างมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจให้กับนายจ้าง โดยต้องเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่หากมีสถานประกอบการใด ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าว ก็ขอให้แจ้งเข้ามาที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร.1546 ซึ่งทางกรมฯ พร้อมที่จะรับฟังและแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ควรดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และใช้จ่ายอย่างประหยัด โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว” นางอัมพร กล่าว ด้าน นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศมียอดการผลิตลดลงไปครึ่ง หนึ่งจากยอดเดิม ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา หลายบริษัทพยายามรักษาแรงงานเอาไว้ โดยที่ยังไม่ได้ตัดเงินเดือน แต่อาจมีบางบริษัทที่มีการผลิตน้อยลง โดยลดเวลาทำงานเหลือเพียงวันอังคาร-วันพุธ ทำให้ต้องลดเงินเดือนของลูกจ้างเหลือร้อยละ 75 อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยในการใช้มาตรา 75 ในการลดเงินเดือนของลูกจ้าง เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งดูได้จากยอดการสั่งจองรถของประชาชนที่มียอดจองสูงถึง 30,000 คัน โดยสหพันธ์ฯ ขอให้รัฐบาลช่วยดูแลในเรื่องของค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของแรงงาน เพราะบางบริษัทรับภาระนี้ไม่ไหว นายยงยุทธ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของบริษัทผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นค่อนข้างดีขึ้นแล้ว หลายบริษัทเริ่มกลับมาผลิตชิ้นส่วนอีกครั้ง ทำให้บริษัทในประเทศไทย เริ่มทยอยผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบ หลายบริษัทเริ่มนำแรงงานไปฝึกอบรมการประกอบรถยนต์มากขึ้นเพื่อรอชิ้นส่วนจาก ทางญี่ปุ่นส่งมายังประเทศไทย ทั้งนี้ อยากให้ลูกจ้างคลายความกังวล เพราะทางสหพันธ์ฯ จะเช็คสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา คาดว่า ไม่เกินปลายเดือนตุลาคมปัญหาทุกอย่างน่าจะคลี่คลาย (สำนักข่าวไทย, 4-5-2554) คนงาน \ฟูรูกาวา\" ยื่นหนังสือสถานทูตญี่ปุ่น ขอช่วยเจรจากลับเข้าทำงาน คนงานจากสหภาพฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์) ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เดินทางมายังสถานทูตญี่ปุ่น กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอความช่วยเหลือให้พวกเขาได้กลับเข้าทำงานตามปกติ หลังถูกนายจ้างไม่ให้เข้างานและแจ้งความหมิ่นประมาท (4 พ.ค.54) เวลา 11.00น. คนงานจากสหภาพฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์)จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เดินทางด้วยรถบัสจาก จ.สระบุรี มายังสถานทูตญี่ปุ่น กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอความช่วยเหลือให้พวกเขาได้กลับเข้าทำงานตามปกติ เนื้อหาหนังสือขอความเป็นธรรม ระบุว่า กรณีบริษัทฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์) จำกัด ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการแจ้งความดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรแก่งค่อย ในข้อหาความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ต่อคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ 11 คน และสมาชิกสหภาพแรงงาน 4 คน รวม 15 คน และมีคำสั่งฉบับลงวันที่ 21 เมษายน 2554 ให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ และสมาชิก 15 คน ไม่ให้เข้าบริเวณโรงงาน สหภาพแรงงานฯและสมาชิกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของนายจ้างที่มี คำสั่งไม่ให้เข้าไปทำงาน และดำเนินคดีข้อหาฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา สืบเนื่องจากกรณีที่ทางสหภาพแรงงานได้มีการประชุมร่วมกันตรวจสอบการที่นาย จ้างได้นำกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV มาติด ซึ่งทางสหภาพแรงงานเองได้ดำเนินการคัดค้านการกระทำของนายจ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างในขณะปฏิบัติหน้าที่ให้นายจ้าง โดยให้เหตุผลว่า การติดกล้องวงจรปิดเป็นการจับผิดลูกจ้าง จำกัดสิทธิ และเสรีภาพขณะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อการลงโทษ สหภาพแรงงานได้มีการได้มีการประชุมและมีมติร่วมกันให้มีการเข้าร่วม ชุมนุมโดยสงบ เพื่อทำการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายจ้างในการที่นำกล้องวงจรปิดมาติด ตั้งภายในบริเวณโรงงาน ซึ่งวันที่ 18 มีนาคม 2554 มีการปราศรัย เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงถึงเหตุผลที่ทางสหภาพแรงงานคัดค้านให้กับลูกจ้างและ สมาชิก เป็นการแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิลูกจ้างขณะปฏิบัติหน้าที่ให้กับ นายจ้าง ซึ่งทางสหภาพแรงงานไม่ได้มีเจตนาร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อนายจ้างให้ได้รับความเสียหาย การที่นายจ้างประพฤติปฏิบัติต่อคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯและสมาชิกจึงไม่เป็น ธรรม ทั้งนี้สหภาพแรงงานฯจึงขอยื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมต่อสถานทูต ญี่ปุ่นให้ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานให้ได้กลับเข้าทำงานตามปกติ เพื่อพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบการของญี่ปุ่นและลูกจ้างคนไทยก่อ เกิดความสงบสุขร่วมกัน นายสายัณห์ อะวิสุ ประธานสหภาพฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขานุการเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และบอกเล่าปัญหาผ่านล่าม โดยร้องขอให้ช่วยประสานกับทางบริษัท พร้อมยืนยันว่าคนงานอยากกลับเข้าทำงาน หากบริษัทต้องการให้ขอโทษหรือมีกระบวนการไกล่เกลี่ยก็ยินดี อยากให้เคลียร์กับสหภาพฯโดยตรง โดยไม่มีบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านนางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง บอกกับเลขาฯทูตญี่ปุ่นว่า ที่หนักใจคือ ช่วงหลังบริษัทได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งมีการใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินการกับคนงาน ทั้งที่น่าจะพูดคุยไกล่เกลี่ยกันได้ ทั้งนี้ คนงานได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานรัฐในพื้นที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จจึงเดินทางมาที่นี่ นอกจากนี้มีกระแสข่าวด้วยว่าบริษัทอาจจะขออำนาจศาลเพื่อเลิกจ้างคนงาน 15 คน หากเกิดขึ้นจะเป็นการสุมปัญหาขึ้นไปอีก นายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขาเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวเมื่อวานที่มีการติดต่อมา หลังจากนี้จะติดต่อกับผู้บริหารเพื่อพูดคุยต่อไป ทั้งนี้ เขากล่าวเพิ่มเติมว่าสถานทูตญี่ปุ่นไม่สามารถออกคำสั่งต่อบริษัทเอกชนได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ก็อยากจะแก้ปัญหานี้โดยเร็วและจะพยายามอย่างเต็มที่ ด้านนางสาววาสนา ลำดี ผู้ดูแลเว็บไซต์ voicelabour.org และผู้ประสานงานนักสื่อสารแรงงาน แสดงความเห็นกรณีที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทกับคนงานว่า อาจเป็นเพราะต้องการเบรกให้คนงานไม่พูดเรื่องในโรงงานออกไป รวมถึงอาจต้องการล้มสหภาพแรงงานด้วย นางสาววาสนา กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่คนงานถูกฟ้อง อาจเป็นความหวั่นใจของนายจ้างที่ทุกวันนี้นักข่าวไม่ได้อยู่ในสำนักพิมพ์ กระทรวงแรงงานหรือทำเนียบฯอีกแล้ว แต่อยู่ในโรงงานเลย ในส่วนเนื้อหาที่ถูกดำเนินคดีนั้น เธอมองว่า เป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้มีความพยายามทำลายสหภาพฯ ขณะที่ภาพประกอบซึ่งเป็นภาพป้ายข้อความรณรงค์ของคนงาน ก็เป็นเรื่องปกติของขบวนการแรงงานในการสื่อสารอยู่แล้ว พร้อมตั้งคำถามด้วยว่า หากภาพเหล่านี้ปรากฎในสื่อกระแสหลักจะมีการฟ้องร้องหรือไม่ จากนั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง และสหภาพแรงงานฟูรูกาวาฯ ได้เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ที่นายจ้างมีการฟ้องร้องในกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้น สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้รับปากจะดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป (ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท