Skip to main content
sharethis

 

(7 พ.ค.54) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีอภิปรายสาธารณะเรื่อง การคอร์รัปชั่นอำนาจ: รากเหง้าการเมืองน้ำเน่าและการรัฐประหาร ที่ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

แถลงเตรียมจัดงาน 19 ปีพฤษภาประชาธรรม 
เริ่มสร้างอนุสาวรีย์วีรชน พ.ค.35 วันที่ 18 พ.ค.นี้

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวแสดงความผิดหวังต่อรัฐบาล หลังรอคอยการสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภา 35 จนขึ้นปีที่ 19 แล้วก็ยังไม่มีการสร้าง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการก่อสร้างด้านสถานที่ และนายปรีดา เตียสุวรรณ์ เจ้าของบริษัทแพนด้า จิลเวอรี่ และกรรมการมูลนิธิญาติวีรชนพฤษภา 35 สนับสนุนด้านเงินทุน

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวถึงสาเหตุที่การสร้างอนุสรณ์สถานให้วีรชนที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17-18 พ.ค.35 ยังไม่เป็นผล เพราะติดขัดที่การอนุมัติจากคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจทั้งที่คณะกรรมการอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ไม่น่าเกิดปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ญาติวีรชนจะนำอัฐิของผู้เสียชีวิตและรูปถ่ายของผู้สูญหายมาใส่ในผอบ เพื่อวางเรียงที่ฐานของอนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม โดยมีแผนสร้างให้เสร็จในปีหน้า ซึ่งจะครบ 20 ปีพฤษภา 35 เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงผู้เสียชีวิต ประชาธิปไตยที่ได้มาจากการสละเลือดเนื้อของวีรชน และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่คนไทยจะเสียเลือดเนื้อกันอีก

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องสัมปทานสื่อและโทรคมนาคม 19 ปีหลังพฤษภาประชาธรรม” ว่า ในสมัยรัฐบาลชาติชาย มีการแจกสัมปานอภิโปรเจค 1.โครงการรถไฟฟ้าลาวาริน 2.โฮปเวล และ 3.โครงการโทรศัพท์ทั่วประเทศสามล้านเลขหมายที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สัมปทานไป แต่ก่อนการลงนามในสัญญาฉบับที่สามนี้ก็เกิดการรัฐประหารโดย รสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ)ขึ้น โดยข้อกล่าวหาหนึ่ง คือ บุฟเฟต์คาบิเน็ต เมื่ออานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ออกเป็นสองส่วน โดยสองล้านเลขหมายใน กทม. เป็นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ต่อไป และที่เหลือ ในต่างจังหวัด นำมาประมูลใหม่ ซึ่งทีทีแอนด์ทีได้ไป

นอกจากนี้ รัฐบาลอานันท์ยังออกกฎหมายว่าด้วยการร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชน หรือกฎหมายร่วมทุน เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมสัมปทานเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป โดยให้โครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างใหม่ ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้โดยสภาพัฒน์ ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิม ต้องมีการศึกษาโดยกระทรวงการคลัง ก่อนเซ็นสัญญาต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบต่อการทำสัญญาที่เกิดขึ้น และเมื่อเซ็นแล้วต้องตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน ดูแลสัญญาด้วย

ส่วนที่มีการวิจารณ์ในช่วงเหตุการณ์ พ.ค.35 ว่าสื่อสารมวลชนในขณะนั้นไม่ได้รายงานเหตุการณ์อย่างที่ควรจะเป็น เมื่อรัฐบาลอานันท์มา จึงมีการปฏิรูปสื่อโดยตั้งสถานีไอทีวี อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น สัมปทานต่างๆ ทั้งไอทีวีและโทรคมนาคม ก็ถูกแก้ไขโดยไม่ทำตามขั้นตอนที่รัฐบาลอานันท์กำหนดไว้ สุดท้ายไอทีวี กลับไปเป็นของรัฐบาลในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ เพราะไม่สามารถจ่ายสัมปทานค้างจ่ายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ และถูกโอนเป็นทีวีรูปแบบใหม่ พ้นจากรูปแบบสัมปทาน กลายเป็นทีพีบีเอส ซีกโทรคมนาคมมีการแก้สัญญาโทรคมนาคม-โทรศัพท์มือถืออย่างไม่ถูกต้อง จนเมื่อปีที่แล้วจะประมูลคลื่นโทรศัพท์สามจี ที่สุดก็ถูกล้มประมูลไปจากการฟ้องศาลของ กสท.โทรคมนาคม มาปีนี้ ก็มีการทำสัญญารูปแบบใหม่ระหว่าง กสท.กับทรูคอร์ปอเรชั่น ซึ่งยังเป็นปัญหา

ดังนั้น ความหมายของพฤษภาประชาธรรม นอกจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยังมีนัยยะของการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพและการทำให้มีสื่อเสรี (การเกิดไอทีวี) และนัยยะที่สาม ซึ่งได้รับความสนใจน้อยคือการสร้างธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขคอร์รัปชั่นสเกลใหญ่อย่างบุฟเฟต์คาบิเน็ต

เพราะฉะนั้น การจะปฏิรูปประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ด้วยการปฏิรูปสื่อ จะสำเร็จได้ ก็ต้องปฏิรูปสิ่งที่เป็นต้นตอของการเกิดพฤษภาประชาธรรมอย่างการที่ภาคการเมืองและธุรกิจไม่แยกจากกันด้วย เพราะการที่ทุนใหญ่ซึ่งประกอบธุรกิจผูกขาดกับการเมือง ใช้อิทธิพลการเมืองเอื้อสัมปทานให้กลุ่มของตัวเอง จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ทั้งนี้ หัวใจของการผูกขาดที่กล่าวมาอยู่ที่สัญญาสัมปทาน

สมเกียรติ กล่าวถึงสัมปทานแบบ BTO ที่ใช้กันในไทยโดยอธิบายว่า เป็นสัญญาที่เอกชนสร้างโครงข่ายแล้วโอนให้รัฐ และทำมาหากินจากโครงข่ายนั้น ยกตัวอย่างเช่น สัญญาสัมปทานหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภา 35 อย่างสัญญาโทรศัพท์พื้นฐานของเครือเจริญฯ ที่เมื่อสร้างเสร็จก็โอนให้องค์การโทรศัพท์ฯ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น บ.ทีโอที จากนั้นเมื่อให้บริการกับผู้บริโภคก็นำเงินมาแบ่งกันระหว่างรัฐกับเอกชน สาธารณูปโภคในไทยส่วนใหญ่ใช้แบบนี้ ทำให้ค่าโทรศัพท์แพงกว่าที่ควร ทำให้การประกอบกิจการที่ใช้เงินทุนเยอะๆ มีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง แยกไม่ออกจากนักการเมือง เป็นมรดกบาป ส่งผลให้การเมืองมีปัญหาด้วย เพราะทำให้ทุนใหญ่เข้ามาครอบงำรัฐบาลในปัจจุบัน โดยแม้จะปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 40 มาจนรัฐธรรมนูญ 50 แต่หากรากฐานปัญหาของธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐและทุนยังไม่ได้แก้ เจตนาวีรชนพฤษภาก็ไม่บรรลุผล

สมเกียรติ กล่าวว่า การแก้สัมปทานที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและสื่อ ที่ไม่ทำตามขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุนในสมัยรัฐบาลอานันท์ เป็นต้นตอของการคอร์รัปชั่นนโยบาย เกิดนักการเมืองที่มีที่มาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เกิดความมั่งคั่งจนการเมืองบิดเบี้ยวไม่เดินหน้า

โดยสัมปทานโทรคมนาคม มีความพยายามแก้สัญญาสัมปทานโทรคมนาคมหลายครั้ง จนในรัฐบาลทักษิณ ออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม จัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับบริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการกีดกันการแข่งขันและรัฐวิสาหกิจเสียประโยชน์ ซึ่งเท่ากับประชาชนเสียประโยชน์ด้วยจากการต้องเสียภาษีมากขึ้น ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ส่วนกรณีสื่อวิทยุโทรทัศน์ มีการแก้สัมปทานช่อง 3 และ 7 โดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุน ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐสูญเสียผลประโยชน์ เช่นในสมัยของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ มีการแก้สัมปทานช่อง 3 ยืดสัญญาจากที่จะหมดในปี 2553 ไปเป็น 2563 และทำให้คลื่นความถี่ที่ควรกลับมาเป็นของประชาชนให้ กสทช. จัดสรรใหม่ก็ไม่สามารถทำได้

"การได้สัมปทานเป็นโอกาสในการได้เครื่องพิมพ์ธนบัตร" สมเกียรติกล่าวและว่า เมื่อสัมปทานเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มทุน กลุ่มทุนย่อมเข้ายึดกุมอำนาจรัฐเพื่อกำหนดสัญญาที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นการคอร์รัปชั่นทางอำนาจและนโยบาย ที่มักจบลงด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มทุน 100 ตระกูลดังในประเทศไทย พบว่า 13 ตระกูลที่เข้าสู่การเมือง มีรายได้จากสัมปทานจำนวนมาก ส่วนอีก 87 ตระกูลที่ไม่ได้เข้าสู่การเมือง มีรายได้จากสัมปทานเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ยังพบการต่างตอบแทน โดยเมื่อผู้บริหารรัฐวิสาหกิจพ้นตำแหน่ง มักไปนั่งในบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ แม้ยากจะบอกว่าเกิดจากความสามารถเฉพาะตัวหรือการอุปถัมภ์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานมีโอกาสที่จะได้เจ้าหน้าที่รัฐไปเป็นกรรมการ นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีกรณีที่พนักงานอัยการ ที่ต้องตรวจสอบสัญญาสัมปทาน ไปมีตำแหน่งอยู่ในรัฐวิสาหกิจด้วย กลายเป็นมีหมวกสองใบ แม้ว่าจะมีกฎหมาย ห้ามไม่ให้พนักงานอัยการไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ แต่ก็เปิดช่องให้ทำได้ ในกรณีที่คณะกรรมการอัยการให้อนุญาต ซึ่งที่ผ่านมา มีการอนุญาตจำนวนมาก

สมเกียรติ กล่าวว่า แม้ความพยายามต่อสู้ประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ ธรรมาภิบาลของวีรชนพฤษภาฯ จะบรรลุผลระดับหนึ่ง แต่ยังมีประเด็นสัญญาสัมปทานในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างการทำสัญญาระหว่างบ.เครือของ ทรูคอร์ปอเรชั่น กับ กสท.โทรคมนาคม จำนวน 10 ฉบับ โดยทรูให้ กสท.เช่าอุปกรณ์ และขายส่งสัญญาณให้กับทรู สัญญาอายุ 14 ปีครึ่ง โดยผู้บริหาร กสท.บอกว่าจะมีรายได้กลับมา 14,000 ล้านบาท ซึ่งสมเกียรติตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่ง สัญญานี้ดำเนินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยนัย การทำสัญญาทั้งชุดนี้ไม่ได้ผ่านกฎหมายร่วมทุน โดยบ.ที่เกี่ยวข้องอ้างว่า อัยการชี้ว่าไม่ต้องผ่านขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุน นอกจากนี้เกิดคำถามว่าขัดกับกฎหมาย กสทช. ที่เพิ่งออกมาเมื่อปลายปีนี้หรือไม่ เพราะระบุว่าใครที่ได้คลื่นไป ต้องทำธุรกิจเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นทำต่อ

การไม่เอาสัญญานี้เข้ากฎหมายร่วมทุน มีผลคือ กสท.เลือกได้เลยว่าจะเลือกบริษัทใดมาร่วมทุนซึ่งกรณีนี้คือ บ.ทรู แต่หากเข้ากฎหมายร่วมทุน จะเกิดการแข่งขันกัน ทำให้ผลประโยชน์เข้ารัฐสูงขึ้น เกิดการปฏิบัติต่อเอกชนอย่างเป็นธรรม แต่กรณีนี้อ้างว่าไม่เข้าเกณฑ์ จึงไม่ต้องทำตามขั้นตอนเหล่านี้

ในกฎหมายร่วมทุนที่มีที่มาจากเหตุการณ์พฤษภา 35 บอกว่า โครงการของรัฐที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาทและเป็นการร่วมทุนกับเอกชน ต้องผ่านกฎหมายร่วมทุน โดยโครงการของรัฐคือโครงการที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะ ซึ่งกรณีโทรศัพท์มือถือต้องใช้คลื่นความถี่ ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นทรัพยากรสาธารณะ เพราะฉะนั้น โครงการโทรศัพท์มือถือสามจี ระหว่าง ทรูกับ กสท.ในความเห็นของตนจึงเป็นโครงการสาธารณะ ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และทำร่วมกับเอกชน เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมไม่มีการทำตามกฎหมายร่วมทุน

สอง ผลประโยชน์ที่ได้รับ กสท.อ้างว่าได้ผลตอบแทน 14,000 ล้านบาท ตลอด 14 ปี แต่ไม่ได้พูดถึงว่า กสท.ต้องเอาทรัพยากรคลื่นความถี่ไปลงทุนด้วย เมื่อปีที่แล้ว กสช.จะประมูลคลื่นสามจีที่มีมูลค่าตั้งต้นราว 12,800 ล้านบาท แต่ กสท.กลับไม่ได้คิดราคาคลื่นความถี่นี้เมื่อไปร่วมงานกับทรูคอร์ปอเรชั่น เมื่อคำนวณแล้ว ต้นทุนแล้วเท่ากับได้ผลตอบแทนเพียง 1,000 ล้านบาท เกิดข้อสงสัยว่าการหลีกเลี่ยงกฎหมายร่วมทุน มีผลทำให้เกิดสัญญาสัมปทานรูปแบบใหม่ที่ให้รัฐเสียประโยชน์อีกหรือไม่

หากย้อนกลับไปดู หลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 19 ปี มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่บัญญัติเรื่องคลื่นความถี่เป็นสมบัติประชาชน 19 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามออกกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ กำลังมีการสรรหา กสทช. ทั้งหมดจะหมดความหมาย ถ้ายังมีการทำสัญญาคล้ายๆ กับสัญญาสัมปทานที่ทรูกับ กสท. ทำ และจะทำให้เกิดการแข่งขันไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสามรายและรายในอนาคต โดยจะเห็นว่า ทรูมูฟได้ทำธุรกิจก่อนคนอื่น โดยไม่เสียค่าคลื่นความถี่ เกิดคำถามว่าสองค่ายที่เหลือจะได้เงื่อนไขเดียวกันไหม

สมเกียรติระบุว่า ขอให้ช่วยกันติดตามเรื่องนี้ ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลเฉพาะราคาค่าโทรศัพท์เท่านั้น แต่ต้องตั้งคำถามถึงมิติทางการเมืองของสัญญานี้ด้วยว่าเกิดได้อย่างไร

"แม้ว่ารัฐบาลอย่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่เป็นเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมหรือสื่อสารมวลชนเหมือนกับรัฐบาลทักษิณก็ตาม แต่ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกันได้ นั่นก็ต้องแปลว่าโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของเรายังไม่ได้ก้าวไปในจุดที่เราพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยที่สามารถลงหลักปักฐานได้ มีส่วนร่วมจากประชาชนในวงกว้างได้"

สมเกียรติ สรุปว่า การต่อสู้ของวีรชนพฤษภา 35 พาเรามาไกล โดยคูณูปการในซีกการเมือง จากที่ทหารมักเสวยอำนาจหลังยึดอำนาจ ในปี 2549 เมื่อมีการยึดอำนาจ ทหารก็ไม่เป็นรัฐบาลเสียเอง อย่างน้อยก็ต้องหาคนมาเป็น แต่ความพยายามด้านการปฏิรูปสื่อและทำให้เศรษฐกิจมีธรรมาภิบาลยังไปไม่ได้เต็มที่อย่างที่ควรเป็น จึงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไป เพื่อให้เจตนารมณ์ของวีรชนพฤษภาประชาธรรมเกิดขึ้นตามที่ได้มีการเสียสละเลือดเนื้อ ความตั้งใจกันไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net