Skip to main content
sharethis

“ไม่ว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเกิดจากฝ่ายไหนก็ตาม ผลกระทบก็ตกอยู่กับชาวบ้านอยู่ดี ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม” ประโยคนี้มีทั้งข้อพิสูจน์และตัวอย่างแสดงให้เห็น ส่วนหนึ่งคือ จากสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากการรับฟังปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ของชุมชนไทยพุทธและมุสลิม ของคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นข้อสรุปจากการ ลงพื้นที่อำเภอแม่ลาน และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2554 หลังเกิดเหตุโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในพื้นที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต แล้วตามด้วยเหตุการณ์พระภิกษุ สามเณรถูกทำร้ายจนบาดเจ็บและมรณภาพ ทั้งสองเหตุการณ์ นำมาซึ่งข้อสงสัยและคำถามขึ้นตามมามากมายในพื้นที่ อย่างเช่นที่ปรากฏในข้อสรุปนี้ ดังนี้ 0 0 0 0 0 0 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ได้เกิดเหตุการณ์โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดบลูกาต่อบู หมู่ที่ 2 ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ถูกคนร้ายนั่งรถกระบะ 4 ประตู ยิงอิหม่ามเสียชีวิต แล้วคนร้ายได้ขับรถหายเข้าไปในวัดโพงพาง หลังจากนั้นได้มีใบปลิวระบุว่า หากมีผู้นำศาสนาอิสลามถูกทำร้าย หรือถูกทำให้เสียชีวิต พระภิกษุ สามเณร และครูก็จะถูกกระทำเช่นกัน ต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์พระภิกษุ สามเณร วัดศรีมหาโพธิ์ ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้ถูกทำร้ายในขณะที่ออกบิณฑบาต จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ และเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้ ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2554 คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี ได้มีแถลงการณ์กรณีการลอบยิงพระภิกษุและสามเณร วัดศรีมหาโพธิ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 13 ข้อ จากกรณีข้างต้น คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2554 เพื่อเข้าไปรับฟังปัญหา รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อพี่น้องชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ 1. ชุมชนชาวไทยมุสลิม ตำบลปากล่อ 2. ชุมชนชาวไทยพุทธ ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และ 3. ชุมชนชาวไทยพุทธ ตำบลวัดป่าสวย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ เพื่อจะได้ประสานการดำเนินการหรือการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. การเยี่ยมชุมชนชาวไทยมุสลิม ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ปัญหา กรณีอิหม่ามเจ๊ะอาลี จิยิมะ ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปประชุมอิหม่ามประจำเดือน ชาวบ้านมีความสะเทือนใจและรู้สึกเสียใจอย่างมาก รวมทั้งสงสัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ คดีไม่มีความชัดเจน กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปสำนวนว่า เป็นการกระทำของ “โจร” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” แต่ส่วนใหญ่ก็จับไม่ได้แล้วก็งดสอบสวน ชาวบ้านจึงยิ่งสงสัยว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดแน่ และไม่เห็นความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้สัญญาแล้วไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง เช่น กรณีถูกเชิญตัวไปซักถามในฐานะเป็นผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะควบคุมตัวไว้ประมาณ 3 วัน แล้วจะปล่อยตัว แต่เมื่อไปถึงหน่วยที่ซักถามแล้วกลับควบคุมตัวไว้เป็นเวลา 2 เดือน การพิจารณาคดีล่าช้า ทำให้ผู้ต้องหารู้สึกหวาดกลัวและตกเป็นเป้าของฝ่ายเจ้าหน้าที่เช่น กรณีของผู้ต้องหารายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตนเป็นผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดร้านอาหารคาราโอเกะแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัว ศาลนัดสืบพยานในปี 2555 ผู้ต้องหารายนี้ แจ้งว่า ตนเป็นผู้บริสุทธิ์มีพยานยืนยันได้ ขณะนี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็รู้สึกหวาดระแวงและหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามหรือมาสอดส่องที่บ้านอยู่บ่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย กำลังพลทหารที่เข้ามาประจำในพื้นที่ซึ่งเข้ากับชาวบ้านได้ แล้วก็ถูกย้ายออกไปโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอยต่อระหว่างการสับเปลี่ยนกำลังพลของฝ่ายทหาร ส่วนใหญ่จะจัดหน่วยทหารพราน (ชุดดำ) เข้ามาประจำในพื้นที่ในระหว่างรอกำลังพลชุดใหม่ ชาวบ้านจะกลัวมาก ไม่สบายใจและไม่ยอมรับทหารพรานชุดดังกล่าว กองกำลังทหารที่เข้าไปตั้งหน่วยอยู่ในสวนยางพารา ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปกรีดยาง เพราะกลัวทหาร โดยเฉพาะถ้าเป็นหน่วยทหารพรานชาวบ้านจะกลัวมาก การปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ระดับยศตั้งแต่ร้อยโทและร้อยตำรวจโทขึ้นไป จะไม่มีปัญหากับชาวบ้าน แต่ในระดับผู้ปฏิบัติต่ำกว่ายศดังกล่าว จะสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านมาก ข้อเสนอชาวบ้าน การแก้ไขปัญหา หากรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ ยุติได้ ต้องการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านระแวงไปมากกว่านี้ และช่วยหาแนวทางแก้ไขว่า ทำอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านสะเทือนใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชาวบ้านยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นชาวบ้าน เชื่อว่าเป็นการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทำอย่างไรจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และทำให้ความจริงปรากฏ เพื่อลดความขัดแย้ง สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือ มีชีวิตที่ปกติสุขเหมือนเดิมและไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น 2. การเยี่ยมชุมชนชาวไทยพุทธ ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ปัญหา กรณีพระภิกษุและสามเณรวัดศรีมหาโพธิ์ที่ถูกทำร้าย ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างจริงจัง กรณีสามเณรสกล เสมสรรค์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส โรงพยาบาลปัตตานีทำการรักษาเพียง 21 วัน แล้วให้กลับบ้านทั้งที่อาการยังไม่ดีขึ้น กรณีพระสุชาติ อินทร์ทันแก้ว ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐเป็นเงิน 50,000 บาท แต่ญาติของพระสุชาติฯ เห็นว่า ผู้บาดเจ็บรายอื่นได้รับเงินเยียวยา 80,000 บาทจึงต้องการทราบว่าเงินเยียวยาหายไปได้อย่างไรอีก 30,000 บาท การเยียวยา ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การคุ้มครองพระบิณฑบาตหรือคุ้มครองชาวบ้านที่นำอาหารมาถวายพระ ในกรณีที่พระไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ จะทำเพียง 1 เดือน หลังจากนั้นก็ไม่ดำเนินการอีก เป็นต้น ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารไม่เคยเข้ามาดูแลที่วัดนี้เลย เมื่อพระสงฆ์เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ตามที่รับกิจนิมนต์ก็จะถูกล้อเลียน ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเกิดเรื่องในลักษณะนี้ ปัญหากลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่ หน่วยงานของรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ถูกข่มขู่ห้ามทำกินหรือประกอบอาชีพในวันศุกร์ มิฉะนั้นจะถูกทำร้าย เมื่อมีการฝ่าฝืนก็จะมีผู้ถูกทำร้ายจริงๆ นอกจากนี้ การออกไปกรีดยางจะถูกรังแก ถูกข่มขู่ทำร้ายรายวัน และข่มขู่ซื้อที่ดิน ไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาพุทธได้ตามเวลาปกติ เช่น การสวดพระอภิธรรมศพ ในเวลาบ่ายสามโมง และการเวียนเทียนวันมาฆบูชาในเวลาก่อนค่ำ เป็นต้น กลุ่มโจรที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 วัน แล้วถูกปล่อยตัวออกมา ชาวบ้านไม่กล้าให้ข้อมูลกับทางราชการว่า คนที่ถูกปล่อยออกมาเป็นผู้กระทำผิดจริง เนื่องจากกลัวว่าจะไม่มีความปลอดภัย สถานที่ราชการต่างๆในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ จัดที่ละหมาดให้กับมุสลิม แต่ไม่จัดที่พักสำหรับพระสงฆ์ ศอ.บต.จัดแต่กิจกรรมให้กับเด็กมุสลิม และจัดกิจกรรมในลักษณะแบ่งแยกพุทธกับมุสลิมไม่ให้จัดรวมกัน จึงทำให้เกิดปัญหาความแตกแยก การสอบเข้ารับราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องพูดภาษามลายูได้ ทำให้คนไทยพุทธถูกลิดรอนสิทธิในการเข้ารับราชการ มีบุคคลหลายกลุ่มที่ไม่ต้องการให้เกิดความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อผลประโยชน์บางอย่างของแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนายทุน และกลุ่มสื่อ เป็นต้น ข้อเสนอของชาวบ้าน ภาครัฐไม่ควรจัดกิจกรรมที่แบ่งแยกระหว่างชาวไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี อยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาใกล้ชิดกับปัญหาให้มากขึ้น และช่วยประสานงานในเรื่อง ดังนี้ การเยียวยาความเสียหายควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การประสานการคุ้มครองความปลอดภัยของพระสงฆ์และการปฏิบัติศาสนกิจ และกรณีที่ชาวไทยพุทธถูกข่มขู่ คุกคาม ควรมีการรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ก่อนที่จะมีการออกนโยบายหรือคำสั่งใดๆ ในการแก้ไขปัญหา โดยจัดเวทีพูดคุยและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาขึ้นไปตามลำดับชั้น ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นไปถึงระดับหน่วยงานและรัฐบาล ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยดำเนินการตามแถลงการณ์ข้อ 10 ของคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี ได้แก่ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยเยียวยาและเข้ามาช่วยเหลือด้านการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนและถูกทำร้ายรายวันด้วย ควรทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันได้ โดยการใช้หลักศาสนวิถี คือ หมู่บ้านสองวิถีที่ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่น หมู่บ้านท่าแรด อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี 3. การเยี่ยมชุมชนชาวไทยพุทธที่โรงเรียนบ้านป่าสวย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ปัญหา การยกเลิกพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้วถอนหน่วยทหารออกไปโดยไม่ประสานกับอำเภอ เพื่อจัดหน่วยเข้ามาดูแลชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การเดินทางออกไปทำกินมีอันตราย โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนตร์จะมีกลุ่มชายฉกรรจ์มาดักรอระหว่างทางและตามประกบยิง เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐโดยไม่สอบถามความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน เช่น ศอ.บต.นำพันธุ์ข้าวนาปรังมาแจกให้กับชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านทำนาปี ซึ่งพันธุ์ข้าวจะแตกต่างกัน และชาวบ้านต้องการปุ๋ยมากกว่าพันธุ์ข้าว เป็นต้น พื้นที่อำเภอแม่ลานเป็นที่หลบซ่อนหรือที่พักพิงของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ภาครัฐให้สิทธิของคนไทยพุทธไม่เท่าเทียมกับมุสลิม เช่น การสอบเข้ารับราชการโดยกำหนดว่าต้องพูดภาษายาวีได้ ไทยพุทธจึงไม่มีสิทธิเข้ารับราชการ หรือการรับสมัครคนเข้าทำงานโรงพยาบาล อำเภอ หรือการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ก็จะรับแต่ชาวไทยมุสลิม ทำให้คนไทยพุทธหางานทำยาก หลังจากมีเหตุการณ์ระเบิดหรือไฟไหม้ จะมีมุสลิมเข้ามาขอซื้อร้านหรือกิจการ ชาวบ้านมองว่าเป็นการข่มขู่คุกคาม ซึ่งเรื่องในลักษณะดังกล่าวจะมีเป็นจำนวนมาก การดำเนินคดีในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าและจะยุติการดำเนินคดีที่สถานีตำรวจหรืออำเภอ ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นหลุม เป็นบ่อ ขรุขระ ทำให้เข้าออกไม่สะดวก นอกจากนี้ ถนนสาย 410 หากไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำเส้นทางดังกล่าว บุคคลที่ผ่านไปมาก็จะตกเป็นเป้าถูกทำร้าย ข้อเสนอของชาวบ้าน กรณีการยกเลิกพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หน่วยงานของรัฐ ควรมีการสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับชุมชนในทุกขั้นตอน ก็จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการเปิดพื้นที่หรือจัดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของชุมชนหรือท้องถิ่นในทุกระดับ โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net