ผู้ผลิตรถไทยชี้หลังสึนามิยังไปได้ แนะแก้ปัญหาแรงงานชั่วคราวก่อนขาด

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ชี้ หลังสึนามิยอดผลิตลดลง เหตุพึ่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ยืนยันไม่มีปลดคนงาน เผยโตโยต้าเตรียมกลับสู่ภาวะปกติ 23 พ.ค.นี้ ด้านคนงานแนะ ดูแลแรงงานชั่วคราว เตือนออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีก (12 พ.ค.54) สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน จัดสัมมนาเรื่อง เหตุการณ์สึนามิญี่ปุ่น: ผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทางออกและวิธีแก้ปัญหาควรทำอย่างไร? ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ ประตูน้ำ ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทยและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทโตโยต้า มอเตอร์เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า กำลังการผลิตของทุกบริษัทในช่วงปลายมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมลดลงเฉลี่ย 50% โดยในส่วนของโตโยต้าลดลง 70% เพราะต้องนำเข้าชิ้นส่วนซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตจากญี่ปุ่น อาทิ ไมโครคอมพิวเตอร์ชิป ซึ่งผลิตที่เมืองเซนไดเป็นหลัก ขณะที่ฮอนด้าลดลง 50% อย่างไรก็ตาม ในส่วนบริษัทรถยนต์นั้นไม่มีการลดจำนวนคนงาน แต่มีการปรับวันทำงาน กรณีโตโยต้า ทำงานสัปดาห์ละสามวัน อังคาร-พฤหัส ส่วนบริษัทอื่นมีการลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) และลดวันทำงาน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.นี้ โตโยต้าจะกลับมาทำงานตามปกติ แต่อาจยังไม่มีโอที โดยจะมีการประเมินอีกครั้งในต้นเดือนมิถุนายน คาดว่าปลายเดือนมิถุนายน ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีแนวโน้มไปได้ต่อ โดยการเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทำให้ค้าขายได้มากขึ้น โดยรถปิกอัพไทยส่งออก 130 ประเทศทั่วโลก ยกเว้นอเมริกา-ญี่ปุ่นที่ผลิตใช้เอง ขณะที่ตลาดในประเทศจะยังโตได้อีก เพราะปัจจุบันไทยมีรถเฉลี่ย 7-8คนต่อหนึ่งคัน ขณะที่ในญี่ปุ่น-อเมริกามีรถ 1-2 คนต่อคัน ส่วนเรื่องของอุปสรรคนอกประเทศ มองว่าถ้าเหตุการณ์ในตะวันออกกลางไม่บานปลายมาก ก็ไม่มีปัญหา ส่วนอุปสรรคในประเทศ นอกจากเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งก็มีการหันไปติดแก๊สมากขึ้นแล้ว ก็มีปัญหาด้านการเมือง ถ้ายังมี \กีฬาสี\" จะเกิดผลกระทบต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างว่า สมัยที่เชียงใหม่มีงานพืชสวนโลก มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่งผลให้รถตู้ขายดี เมื่อเศรษฐกิจดี กำลังซื้อก็ตามมา สำหรับการสนับสนุนจากภาครัฐ อยากให้รัฐช่วยเหลืออุตสาหกรรมต้นน้ำ ด้วยการยกเว้นภาษี ไม่เช่นนั้น อาจแข่งในตลาดโลกไม่ได้ เพราะอินเดียและจีน มีวัตถุดิบ เครื่องจักร ทั้งนี้ เขาวิจารณ์นโยบายภาครัฐว่าไม่ค่อยดีนัก เช่น การปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งทำร้ายจิตใจนักลงทุนญี่ปุ่นที่โดนสึนามิเล่นงานมาก แทนที่จะสนับสนุน กลับออกกฎให้เสียภาษีมากขึ้น ด้านยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงแรงงานในอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพนักงานเหมาค่าแรงว่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้จะถูกเขี่ยออกก่อนทุกครั้ง และเมื่อพวกเขาออกไปแล้ว ก็ไม่มีใครอยากกลับเข้ามาอีก เพราะต้องเริ่มต้นค่าจ้างที่ตัวเลขเดิม ขณะที่ในสถานการณ์ปกติ คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ มีค่าโอทีเป็นรายได้หลัก ทำงานตลอดเวลา แทบจะยืมอนาคตมาใช้ หากวันข้างหน้าร่างกายมีปัญหาก็จะเป็นภาระของประเทศ ดังนั้น เสนอว่าในวันข้างหน้าอาจต้องขยับค่าจ้างให้สูงขึ้น รวมถึงพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานประจำ เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นในอนาคตซึ่งมีการย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น อุตสาหกรรมประเภทนี้จะมีปัญหา เพราะไม่มีคนทำงาน สมภพ มาลีแก้ว นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเคยมีประสบการณ์เหตุการณ์สึนามิที่พังงา ซึ่งกระทบกับลูกจ้างในกิจกรรมโรงแรมที่สุด ขณะที่นายจ้างในกิจการขนาดเล็กก็ไม่มีเงินจ่าย แต่มีการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ผ่านมาได้ ส่วนภัยพิบัติครั้งนี้เป็นผลกระทบทางอ้อม ซึ่งกรมสวัสดิการแรงงานได้จับตาดูกิจการรถยนต์ โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับผลกระทบและกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง โดยกลุ่มที่ไม่มีผลอาทิ ฟอร์ด และมาสด้า นั้นสั่งซื้อชิ้นส่วนจากจีน ขณะที่มิซูบิชิยังมีชิ้นส่วนสำรอง ด้านโตโยต้า ฮอนด้า อิซุซุ นั้นได้รับผลกระทบ ก็ใช้วิธีลดวันทำงานแทน ทั้งนี้ สมภพกล่าวว่า ไม่หนักใจกับสถานการณ์ขณะนี้ เพราะดูจากแนวทางของสถานประกอบการรถยนต์สามารถจัดการได้ดีในระดับสากล ไม่มีเรื่องร้องทุกข์ ทั้งนี้ จะมีการส่งทีมแรงงานสัมพันธ์เข้าไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบการของญี่ปุ่น 971 แห่งในไทยในสัปดาห์หน้า เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน หลักนิติธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนายจ้างลูกจ้าง ชฤทธิ์ มีสิทธิ ผู้จัดการศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน มองว่า สถานการณ์ตอนนี้ที่ยังไม่มีการปลดคนงานนั้น เพราะจริงๆ แล้วขาดแคลนแรงงาน โดยที่ผ่านมา ทิศทางการผลิตเพิ่มขึ้นตลอดจนผลิตไม่ทัน เมื่อเกิดสึนามิ ทำให้เกิดการประคองตัว ไม่เป็นไปอย่างที่คาดว่าจะออกมาเลวร้าย เขากล่าวถึงการที่สถานประกอบการหลายแห่งประกาศใช้มาตรา 75 ว่า กรณีสึนามิ เป็นเหตุสุดวิสัย ป้องกันควบคุมไม่ได้ แต่เหตุตามมาตรา 75 ไม่ได้ใช้กับเหตุสุดวิสัย เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ดี โดยวางให้ไม่ต้องมีค่าจ้างสูงไป เพื่อรักษาแรงงานไว้ แต่ธุรกิจในไทยขี้ตกใจ เซฟตัวเองโดยไม่คิดคนอื่น ใช้เพื่อเซฟตัวเองก่อน โดยไม่อยู่ในหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ ชฤทธิ์เสนอด้วยว่า BOI ต้องเข้ามามีบทบาทด้วย โดยธุรกิจที่มีการละเมิดกฎหมาย ไม่รับผิดชอบต่อแรงงาน ควรต้องพิจารณาไม่ส่งเสริมการลงทุนให้ธุรกิจดังกล่าว ขณะที่เพชร โสมาบุตร ประธานสมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย นำเสนอว่า สมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทยได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาแก่สมาชิก 16 สหภาพ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพูดคุยหารือกับบริษัท โดยให้ยึดถือมาตรการจากเบาไปหนัก เพื่อให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของพนักงานให้น้อยที่สุดและสามารถรักษากำลังคนเพื่อการผลิตได้ในอนาคต อาทิ การแลกเปลี่ยนวันทำงานเป็นวันหยุด มีการจัดอบรม ลดกะทำงานกรณีที่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้พนักงานลาพักร้อนพร้อมกันไม่เกินสามวัน ไปจนถึงการหักเงินค่าจ้างจากน้อยไปหามากแต่ต้องไม่เกินกฎหมายกำหนด (มาตรา 75) ........................... มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน - ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท