เสรีภาพสื่อ กับอำนาจจัดการ “ความจริง”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในปาฐกถาชื่อ ฟังเสียงเต้นของ “ความจริง” ในสังคมไทย? ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แสดงให้เห็นมุมมองที่ว่า ยุคสมัยใหม่เชื่อว่า “ความจริง” เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นอยู่เองหรือมิได้ถูกค้นพบ หากเป็นสิ่งที่ถูกผลิต (producted) โดยน้ำมือมนุษย์ (human mind) และแยก “ความจริง” ออกเป็นสองชนิดคือ “ความจริง” ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาซึ่งจัดว่าเป็น “ความจริงเชิงเหตุเชิงผล” (rational truth) ส่วน “ความจริง” อีกแบบหนึ่งเป็น “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth) หากใช้มุมมอง “ความจริง” ดังกล่าวมาอธิบายความจริงกรณีการสลายการชุมนุมช่วง เมษา-พฤษภา ปี 2553 จะเห็นว่า “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” คือความจริงเกี่ยวกับจำนวนคนบาดเจ็บล้มตาย สาเหตุการตายเกิดจากฝีมือทหารหรือชายชุดดำ วิธีสลายการชุมนุมทำอย่างไร ทำในเวลาไหน ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ การชุมนุมมีการปลุกเร้าความรุนแรงหรือไม่ ฯลฯ ส่วน “ความจริงเชิงเหตุผล” คือความจริงเกี่ยวกับความถูกต้องและความยุติธรรมในมิติต่างๆ เช่น การสลายการชุมนุมควรเป็นไปตามหลักสากลอย่างไร ควรอยู่บนพื้นฐานการเคารพเสรีภาพของประชาชน หรือเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างไร เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ผู้มีอำนาจสั่งสลายการชุมนุมควรรับผิดชอบอย่างไร กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงควรอยู่บนหลักความยุติธรรมอย่างไร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียควรรับผิดชอบอย่างไร ฯลฯ ความจริงเชิงข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น จากภาพข่าวของสื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศ ภาพถ่ายของทางราชการ ภาพถ่ายของผู้ชุมนุม พยานหลักฐานต่างๆ ของคณะกรรมการที่มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง ฯลฯ ส่วนความจริงเชิงเหตุผลอ้างอิงจากบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และ/หรือหลักการกติกาประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองและหลักการสากลในการดูแล/แก้ปัญหาการชุมนุม ฯลฯ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ความจริงทั้งสองความหมายดังกล่าว ไม่ใช่อะไรบางอย่างที่อยู่นิ่งๆ รอให้คนทุกฝ่ายไปค้นพบและ “เห็นตรงกัน” ทว่าเป็นความจริงที่ขึ้นอยู่กับ/เป็นไปตาม “การจัดการความจริง” ที่ซับซ้อน เช่น วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การแสดงพยานหลักฐาน การตีความ วิเคราะห์ อรรถาธิบาย ขยายความ และนำเสนอ ฉะนั้น มันจึงเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับ “อำนาจ” ในการจัดการความจริงและเสนอความจริงแก่สาธารณะ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจรัฐคือฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างเด่นชัดในการจัดการความจริงเชิงข้อเท็จจริงและความจริงเชิงเหตุผลเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมช่วง เมษา-พฤษภา 53 กล่าวคือ ฝ่ายยึดกุมอำนาจรัฐ มีอำนาจเหนือกว่าทั้งในแง่เป็นผู้บอกกับสังคมว่า เกิดอะไรขึ้น และควรทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับมีสื่อของรัฐเป็น “กระบอกเสียง” ของตนเอง และมีอำนาจที่จะปิดปาก หรือปิดสื่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งโดยการใช้กฎหมายหมิ่นฯ และวิธีอื่นๆ คำถามคือ หนึ่งปีที่ผ่านมา “สื่อ” ได้ใช้เสรีภาพเพื่อ “ตรวจสอบ” อำนาจที่จัดการความจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมช่วง เมษา-พฤษภา 53 อย่างไรบ้าง? หาก “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” เป็นเรื่องที่คนเสื้อแดงฆ่ากันเอง มีขบวนการล้มเจ้า มีขบวนการก่อการร้อยอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง ฯลฯ หนึ่งปีที่ผ่านมานี้สื่อกระแสหลัก สื่อของรัฐ และสื่อฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงก็น่าจะโชว์พยานหลักฐานได้อย่างชัดแจ้งแดงแจ๋แล้วมิใช่หรือ เพราะไม่มีอำนาจใดๆ “ปิดกั้น” ไม่ให้สื่อใดๆ เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ แต่หากข้อเท็จจริงไม่ใช่คนเสื้อแดงฆ่ากันเอง ไม่มีขบวนการล้มเจ้า ไม่มีขบวนการก่อการร้ายในกลุ่มคนเสื้อแดง ฯลฯ ถามว่าสื่อได้ตระหนักหรือไม่ว่า อำนาจในการจัดการความจริงอยู่ที่ฝ่ายใด และสื่อได้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นอย่างไร ได้พยายามขุดคุ้ยความจริงที่ซุกอยู่ใต้พรมของอำนาจนั้นอย่างไร และตระหนักมากน้อยเพียงใดต่อการเรียกร้องให้อำนาจนั้นรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมที่ผิดพลาดจนทำให้ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เพราะเวลาเราพูดว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” ก็ไม่ต่างจากที่พูดว่า “ส.ส.คือผู้แทนปวงชน” ซึ่งเป็นคำพูดที่มีเงื่อนไขว่า ส.ส.ต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนจริงๆ คำพูดนี้จึงจะจริง เช่นเดียวกันเสรีภาพสื่อจะหมายถึงเสรีภาพประชาชนจริง ก็ต่อเมื่อสื่อได้ทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนที่สำคัญที่สุดในบริบทความขัดแย้งที่เป็นมาและเป็นอยู่นี้ ก็คือ การตั้งคำถาม ขุดคุ้ย วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าในการจัดการความจริง ที่ Freedom House จัดอันดับสื่อไทยจาก “กึ่งเสรี” เป็น “ไม่มีเสรี” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อทางเลือกถูกอำนาจรัฐปิดปากเป็นว่าเล่น แต่อีกส่วนหนึ่งที่แย่กว่าคือสื่อกระแสหลักทำตัวเป็น “กระบอกเสียง” ของฝ่ายที่มีอำนาจจัดการความจริงอย่างน่าเกลียดหรือไม่? หรือทำหน้าที่เพียงสะท้อน “ความเห็น” ของคู่ขัดแย้งเท่านั้นหรือไม่? โดยเฉพาะบนข้ออ้างที่ว่าการสะท้อนความเห็นของแต่ละฝ่ายอย่างสมดุลหมายถึง “ความเป็นกลาง” ของสื่อ หรือเป็น “จรรยาบรรณ” ของสื่อ แต่ถามว่า การยืนยันความเป็นกลางและจรรยาบรรณจำเป็นต้องละเลย “ปัญหา” แห่งอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในการจัดการความจริงกระนั้นหรือ? ความเป็นกลางและจรรยาบรรณต้องไม่สนใจปัญหาความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ ไม่สนใจลงลึกถึงเหตุผลของแต่ละอุดมการณ์ ไม่สนใจวิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่งน้ำหนักและ/หรือ “ประเมินค่า” เหตุผลของแต่ละอุดมการณ์ในแต่ละฝ่ายกระนั้นหรือ? เหนืออื่นใด ในความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ย่อมมี “นัยยะสำคัญ” ของ “การเปลี่ยนผ่าน” สังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในระดับที่แน่นอนหนึ่ง สื่อได้ใช้เสรีภาพอย่าง “รับผิดชอบ” ต่อนัยยะการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้อย่างไร? และสุดท้าย หากการรำลึก “ประวัติศาสตร์ 19 พฤษภา” ยังคงเป็นการรำลึกเพื่อทวงถาม “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” ก็ย่อมเป็นการทวงถามต่อสื่อด้วยเช่นกันว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา สื่อได้ “ใส่ใจ” ทวงถามความจริงและความยุติธรรมจากฝ่ายผู้มีอำนาจในการจัดการความจริงและความยุติธรรมของประเทศนี้อย่างไร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท