'อานันท์' แจงนักข่าวตปท. ม.112 มีปัญหาที่การบังคับใช้

(18 พ.ค. 54) เมื่อเวลา 20.00 น. อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) แถลง ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถ.เพลินจิต ถึงการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป ชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมมาจากโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มต่างๆ

อานันท์ ปันยารชุน กล่าวถึงข้อสรุปที่ได้จากการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งสิ้นสุดการทำงานไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า โครงสร้างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และทรัพยากร เป็นสาเหตุหลักของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดย คปร.ได้ผลิตข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป เช่น ลดอำนาจและบทบาทกองทัพ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปฏิรูปที่ดิน ซึ่งบรรจุอยู่ในรายงาน “แนวทางปฏิรูปประเทศไทย – ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” มีความยาว 38 หน้า

อานันท์กล่าวว่า เหตุที่ตนเองและคณะลาออกจากการทำงาน เพราะเป็นมารยาททางการเมือง และพรรคการเมืองในรัฐบาลใหม่มีสิทธิที่จะกำหนดและดำเนินการปฏิรูปด้วยตนเอง ไม่ว่าจะทำตามรูปแบบเดิมหรือไม่ทำเลยก็ตาม แต่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง อยากให้สาธารณะตั้งคำถามเรื่องการปฏิรูปต่อผู้สมัครเลือกตั้งและพรรคการเมือง และช่วยกันผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่จะนำไปการความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน และลดอำนาจรัฐ เป็นต้น

ต่อมา ผู้สื่อข่าวจากไฟแนนเชียล ไทมส์ถามเรื่องกฎหมาย“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าควรมีการปฏิรูปหรือไม่ อานันท์ตอบว่าการดำรงอยู่ของกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้ เนื่องจากใครก็ได้มีสิทธิกล่าวโทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนใช้ประโยชน์จากตัวกฎหมายและสถาบันกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ก็คงจะลดปัญหาที่เกิดขึ้น เขายังเสริมว่า คนไทยส่วนใหญ่รัก เคารพ และเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคนจากประเทศอื่นๆ อาจมองว่าคนไทยรักและเคารพสถาบันกษัตริย์แบบแปลกๆ แต่ไม่ว่าภายนอกจะมองว่าอย่างไร แต่นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา เช่นเดียวกับในหลักการพหุวัฒนธรรม ผู้อื่นก็ควรจะเคารพในความหลากหลาย และไม่ควรตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี

“เช่นเดียวกัน มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องไปตัดสินสถาบันกษัตริย์ในที่อื่นๆ เช่น ในอังกฤษ หรือนอร์เวย์ เพราะเป็นกษัตริย์ของเขา ประชาชนของเขา ผมคิดว่าการใช้กฎสากลกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในทุกที่ๆ นั้นไม่ถูกต้องเพราะมีรายละเอียดต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่ก็ควรมีมาตรฐานหนึ่งๆ ที่กำหนดไว้ซึ่งยอมรับได้ร่วมกัน”

ผู้สื่อข่าวจากคริสเตียน ไซเอนซ์ มอนิเตอร์ ถามถึงการปฏิรูปอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ อานันท์กล่าวว่า อำนาจของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่าใช้อำนาจผ่านทางสถาบันหลักๆ คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการตามรูปแบบทั่วไป แต่หลายคนมองว่ากษัตริย์ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน

“อำนาจของพระมหากษัตริย์นี้ไม่ได้มาจากการเรียกร้อง แต่เขาได้เองผ่านทางประชาชนและในรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และผมพร้อมจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ไทยภายใต้รัฐธรรมนูญว่าไม่ได้มีอำนาจมากกว่าสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นๆ ในโลก ผมไม่คิดว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์จัดอยู่ในส่วนความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมดังกล่าวที่ไม่เท่าเทียม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท