Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ที่ห้องโต๊ะพญาวัง ศาลากลางจังหวัดสตูล นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร จัดประชุมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย) ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยมีชาวบ้านร่วมรับฟังประมาณ 100 คน โดยที่ประชุมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงตามลำดับ โดยตัวแทนกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า พื้นที่ก่อสร้างไม่ใช่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A และไม่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะเป็นโครงการขนาดกลาง และอยู่นอกเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง โดยยืนยันว่าเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงจากสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ยืนยันว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ไม่ใช่โครงการในพระราชดำริ นายไซนาฮำซะ แสงนวล ผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งนุ้ย หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งนุ้ย ผู้ล่ารายชื่อยื่นถวายฎีกาต่อสำนักพระราชเลขาธิการ เพื่อขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง เปิดเผยในที่ประชุมว่า ในปี 2552 ชาวบ้านตำบลทุ่งนุ้ย หลายหมู่บ้านขาดแคลนน้ำในการทำนา เกษตรกรรม และตนเห็นว่า จังหวัดสตูลขาดแคนน้ำในการอุปโภค บริโภค ขาดแคลนน้ำประปา ตนจึงล่ารายชื่อชาวบ้าน เพื่อถวายฎีกาไปยังราชเลขาธิการ โดยส่งไปทางไปรษณีย์ ตนไม่เข้าใจว่า เหตุใดเมื่อมีโครงการขึ้นมา จึงมีการต่อต้าน นายยุทธนา มรรคาเขต สารวัตรกำนันตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ในใบล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำต่อสำนักพระราชเลขาธิการ ปรากฏชื่อชาวบ้าน 2 คน คือ นางสาวฉารีดา หยาหลี และนายซักเกรียะ ดาแลหมัน ทั้งที่ไม่ได้ลงชื่อ นายแพทย์นิรันดร์ เปิดเผยในที่ประชุมว่า สำนักงานราชเลขาธิการ พระบรมราชวัง กรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือชี้แจงมายังตนว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง ไม่ใช่โครงการในพระราชดำริ โดยระบุสรุปว่า นายไซนาฮำซะได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำจริง โดยพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงเชือกช้าง ทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง จึงจำเป็นต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งกรมชลประทานได้ตั้งงบประมาณทำ EIA ในงบประมาณปกติปี 2553 โครงการดังกล่าวจึงไม่ใช่โครงการในพระราชดำริ นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า การระบุว่าเป็นโครงการในพระราชดำริ ไม่ควรนำมาแอบอ้าง เนื่องจากเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากมีเอกสารและแผนงานที่ชัดเจนออกมา “อนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร สรุปว่า กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงบริษัทที่ศึกษา EIA ควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และควรเคารพสิทธิชุมชน ไม่ใช่ละเมิดชาวบ้านและชุมชนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว สำหรับหนังสือสำนักราชเลขาธิการดังกล่าว เลขที่ 0008.5/6775 ลงวันที่ 27 เมษายน 2554 ลงนามโดยนายจรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ ตัวแทนเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ยืนยันว่า พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตพื้นที่ชุมน้ำชั้น 1A ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ การเข้าสำรวจพื้นที่ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อมก่อน จากนั้นจึงจะลงพื้นที่สำรวจพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืชด้วย ที่ผ่านมามีการลงสำรวจโดยพละการ ยังไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืช นายเทิดไท ขวัญทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในฐานะตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืช กล่าวว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net