Skip to main content
sharethis

อธิบดีฯ ชี้เปิดรับคดีความที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ ประเดิมคดีแรกเกษตรแก่งคอยฟ้องบริษัทฝังกลบขยะอันตราย เรียกค่าเสียหาย 2 พันล้าน เผยกฎหมายเปิดช่องยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล วันนี้ (25 พ.ค.54) ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานพิธีเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง โดยมีนายเกษม เกษมปัญญา อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง นายศิริศักดิ์ เหมาะทอง รองอธิบดีฯ ข้าราชการ ลูกจ้าง ให้การต้อนรับ นายเกษมกล่าวว่า ปัจจุบันคดีสิ่งแวดล้อมเช่นมลพิษทางอากาศ กลิ่น เสียง รังสี น้ำ แรงสั่นสะเทือน สารเคมีปนเปื้อนเกิดขึ้นจำนวนมากมีความเสียหายรุนแรงทุนทรัพย์สูง มีได้ผลกระทบกว้างขวาง จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ให้ศาลแพ่งนำร่อง เปิดพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเปิดทำการวันนี้วันแรก มีคดีสิ่งแวดล้อมมาฟ้องในศาลแพ่ง 3 คดี ทุนทรัพย์แต่ละคดีเป็นพันล้านบาท ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด นายเกษม ให้สัมภาษณ์ว่า การตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลแพ่ง ไม่ได้เป็นการแย่งงานศาลปกครองมาทำ เพราะคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง เป็นการฟ้องหน่วยราชการที่ปล่อยให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชาวบ้าน จึงฟ้องให้รัฐแก้ไขเยียวยา หรือเรียกค่าเสียหาย ส่วนคดีที่ฟ้องศาลแพ่ง เป็นคดีเสียหายจากการละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินโดยตรง ในเรื่องอำนาจฟ้องของประชาชนในคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลแพ่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกล่าว่า ต้องเข้าใจว่าคดีสิ่งแวดล้อมผู้เสียหายคือคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อมลพิษต่างๆ ในลักษณะละเมิดทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงิน ไม่ว่าจะเกิดที่เชียงใหม่ สงขลา นอกจากจะฟ้องคดีที่ศาลต่างจังหวัดแล้ว หากเห็นว่าจะไม่ได้รับความสะดวก หรือเกรงกลัวอิทธิพลท้องถิ่น ขอโอนคดีมาได้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมศาล เนื่องจากคดีลักษณะนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านชาวนายากจน หากเรียกค่าธรรมเนียมศาลตามปกติ บางทีอาจต้องเสียรายละเป็นล้านบาทก็ได้ ดังนั้น กฎหมายจึงเปิดช่องให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแก่ชาวบ้านเป็นหลัก นายเกษม ยกตัวอย่าง คดีที่นางศรีวรินทร์ บุญทับ อาชีพเกษตรกรกับพวกรวม 124 คน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเบตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด เป็นจำเลย เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 2,006 ล้านบาท ศาลมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แล้ว พร้อมกล่าวด้วยว่า คดีสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ฝ่ายผู้ก่อมลพิษมีหน้าที่นำสืบว่าได้ก่อมลพิษจริงหรือไม่ ผู้เสียหายได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ โดยฝ่ายโจทก์ผู้เสียหายก็ไม่ต้องสืบพยานทั้ง 124 คน แต่สามารถนำตัวแทนมาเบิกความแทนได้ ศาลจะใช้ดุลยพินิจประกอบคำเบิกความของผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่ขึ้นทะเบียนกับศาลไว้ จะแพ้ชนะต้องฟังผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก “อย่างไรก็ตามก่อนจะสืบพยาน ศาลจะให้คู่ความไกล่เกลี่ยกันก่อน เพื่อจะได้ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และสร้างความรู้สึกที่ดีกับคู่ความทุกฝ่าย การตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลแพ่ง ไม่ได้เป็นการแย่งงานศาลปกครองมาทำ เพราะคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง เป็นการฟ้องหน่วยราชการที่ปล่อยให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชาวบ้าน จึงฟ้องให้รัฐแก้ไขเยียวยาหรือเรียกค่าเสียหาย ส่วนคดีที่ฟ้องศาลแพ่งเป็นคดีเสียหายจากการละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินโดยตรง” นายเกษมกล่าว ทั้งนี้ คดีดังกล่าว นางศรีวรินทร์ ในฐานะโจทก์ระบุว่าเป็นเกษตรบริเวณบ้านหนองปลาไหล ต.กุดนก อ.เมือง จ.สระบุรี และ ต.ห้วยแท่ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อปี 2542 บริษัท เบตเตอร์เวิลด์ฯ จำเลยได้เปิดกิจการรับฝังกลบขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายในพื้นที่ดังกล่าว แต่ภายหลังได้ขยายกิจการรับฝังกลบขยะอันตรายอีกด้วยกระทั่งเกิดมลพิษจากบ่อขยะ น้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ จนเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง ปลาที่เลี้ยงไว้ตาย ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วยมีอาการผิวหนังอักเสบ หายใจไม่ออก แสบตา ตาพร่ามัว จมูกอักเสบ เป็นซีตส์ เจ็บหน้าอก ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ คลื่นไส้ หัวตัว ปวดศีรษะ ตับอักเสบภูมิคุ้มกันลดลง ต่อมาได้ร้องเรียนส่วนราชการพบว่ามีสารแคดเมี่ยม สารปรอท แมงกานีส และสารอื่นๆในน้ำ อากาศ พืชผัก สัตว์เลี้ยง และในพื้นดิน โจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายในอนาคต ศาลรับฟ้องคดีไว้พิจารณาต่อไป ที่มา: มติชนออนไลน์ , ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net