Skip to main content
sharethis

ฝรั่งเศสจัดงานประชุมนโยบายอินเทอร์เน็ตระดับโลก e-G8 Forum ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2554 ที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีนิโคลา ซาร์โกซี กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่าอินเทอร์เน็ตควรจัดระเบียบอินเทอร์เน็ตให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันการใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางที่ผิด e-G8 รวมดาวจากโลกออนไลน์ งานประชุมผู้นำอินเทอร์เน็ต e-G8 Summit จัดขึ้นก่อนงานประชุมผู้นำโลก G8 ครั้งที่ 37 ที่เมือง Deauville ประเทศฝรั่งเศสเพียงหนึ่งวัน โดยไอเดียการจัดประชุมมาจากตัวประธานาธิบดีซาร์โกซีเอง ที่ต้องการดึงผู้นำของโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก เช่น Telecom Italia, Orange ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสื่อชั้นนำ เช่น Vivendi, Disney, Thompson Reuters, News Corporation, Bloomberg, BBC, New York Times ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไอทีชั้นนำอย่าง Google, Facebook, eBay, Microsoft, HP, Lucent, Huawei, HTC ตัวแทนจากภาคการศึกษา และภาครัฐบาล ตัวแทนจากภาคประชาสังคมและ NGO ที่สนใจเรื่องอินเทอร์เน็ต รวมถึงองค์กรไม่หวังผลกำไรอย่าง Wikipedia แขกชื่อดังในงานก็มีทั้ง Eric Schmidt ซีอีโอของกูเกิล, Mark Zuckerberg แห่งเฟซบุ๊ก, Jimmy Wales ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย, Lawrence Lessig ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ด, Rupert Murdoch เจ้าพ่อสื่อ News Corp และ Mark Thompson ผู้อำนวยการบีบีซี เป็นต้น แขกที่เข้าร่วมงานมีทั้งหมดประมาณ 1,500 คน ประธานาธิบดีนิโคลา ซาร์โกซี ในงานประชุม e-G8 (ภาพจากเว็บประธานาธิบดีฝรั่งเศส) ซาร์โกซีบอก “อินเทอร์เน็ตต้องถูกจัดระเบียบ” ในปาฐกถาเปิดงานของประธานาธิบดีซาร์โกซี เขาได้ยกย่องบทบาทของอินเทอร์เน็ตว่าปฏิวัติโลกเช่นเดียวกับที่โคลัมบัส กาลิเลโอ นิวตัน และเอดิสันเคยทำ อินเทอร์เน็ตช่วยให้การติดต่อสื่อสารเกิดขึ้นตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ซาร์โกซีบอกว่าตอนนี้การปฏิวัติโลกที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ตผ่านขั้นตอนแรกของมันแล้ว และเขาต้องการเชิญผู้นำโลกอินเทอร์เน็ตมาระดมสมองหาแนวทางสำหรับขั้นตอนถัดไปของอินเทอร์เน็ตในงาน e-G8 ครั้งนี้ ซาร์โกซีบอกว่าในฐานะประมุขแห่งรัฐ เขาก็อยากรู้ว่าอินเทอร์เน็ตจะมาช่วยปรับปรุงกลไกของภาครัฐได้อย่างไร และอินเทอร์เน็ตสามารถส่งเสริมประชาธิปไตยได้หรือไม่ เขายังเตือนโลกอินเทอร์เน็ตด้วยว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่ “โลกคู่ขนาน” อันไร้กฎระเบียบและศีลธรรม และไม่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง เพราะแท้จริงแล้วอินเทอร์เน็ตแทรกตัวอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นจึง “เป็นไปไม่ได้” ที่ “รัฐบาล” จะไม่ยุ่งกับโลกอินเทอร์เน็ต ซาร์โกซีบอกว่า “รัฐบาล” ของประเทศต่างๆ เป็น “ตัวแทนเพียงหนึ่งเดียว” ของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย และถ้าตัดรัฐบาลออกไป อินเทอร์เน็ตจะอยู่ในภาวะไร้ระเบียบและเป็นอนาธิปไตย (anarchy) เขาเตือนว่าอย่าให้อินเทอร์เน็ตสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ อย่าใช้เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตไปละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้คน และในไม่ช้า ความโปร่งใสของอินเทอร์เน็ตจะต้องเผชิญหน้ากับแนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวของปัจเจกชน ซาร์โกซียังบอกว่าถึงแม้อินเทอร์เน็ตจะมีแนวคิดเรื่องภาวะไร้ตัวตน (anonymous) แต่เบื้องหลังคนเหล่านั้นในโลกจริงก็ยังเป็นประชาชนทั่วไปที่ต้องอยู่ใต้กรอบและกฎหมายของสังคมอยู่ นอกจากนี้ซาร์โกซียังพูดถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ (copyright) และทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) ว่าอินเทอร์เน็ตไม่ควรถูกใช้เพื่อละเมิดผลงานสร้างสรรค์ และประเด็นเรื่องการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากอันตรายบนอินเทอร์เน็ตด้วย อ่าน บทถอดความปาฐกถาฉบับเต็มของซาร์โกซี (ภาษาอังกฤษ PDF) ประธานาธิบดีซาร์โกซี ทักทายกับ Eric Schmidt ซีอีโอของกูเกิลที่งาน e-G8 สื่อ-ซีอีโอ-นักเคลื่อนไหว รุมค้านแผนการจัดระเบียบเน็ต, นายกอังกฤษบอกแผนนี้ทำไม่ได้จริง หลังจากปาฐกถาของประธานาธิบดีซาร์โกซีถูกเผยแพร่ออกมา ก็ได้รับเสียงวิจารณ์มากมายจากผู้นำในโลกอินเทอร์เน็ต Eric Schmidt ซีอีโอของกูเกิลได้กล่าวในงานโดยมีแนวคิดตรงข้ามกับซาร์โกซี เขาบอกว่ารัฐบาลไม่ควรพยายามกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและลิขสิทธิ์ โดยเขาให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก และปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขด้วยตัวของมันเอง Schmidt บอกว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่ใช้กำกับดูแลด้วยว่าสามารถรองรับอินเทอร์เน็ตทั้งโลกได้หรือไม่ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงทีหรือไม่ เพราะกูเกิลเองเคลื่อนตัวในโลกเทคโนโลยีเร็วกว่าที่รัฐบาลจากประเทศใดๆ จะตามทัน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงรัฐบาลทุกประเทศในโลกเลย – Telegraph John Perry Barlow ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อสิทธิบนอินเทอร์เน็ตชื่อ Electronic Frontier Foundation ให้ความเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็น “ดินแดนใหม่ที่รัฐบาลต้องการครอบครอง” และเขาเดินทางไปร่วมงาน e-G8 ที่ปารีสเพื่อหยุดแผนการของซาร์โกซี Jean-Bernard Levy ซีอีโอของกลุ่มสื่อขนาดยักษ์ของฝรั่งเศส Vivendi พูดในงานประชุมว่าการกำกับดูแลอันเข้มข้นของยุโรปเป็นอุปสรรคสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจบนอินเทอร์เน็ต – FT Gary Shaprio บล็อกเกอร์ของนิตยสาร Forbes ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐ คัดค้านและไม่ยอมทำตามนโยบายของซาร์โกซี – Forbes Jeff Jarvis สื่อมวลชนจากอเมริกาได้ท้าประธานาธิบดีซาร์โกซีในช่วงถาม-ตอบว่าเขากล้าจะให้สัตยาบันว่าจะไม่ทำร้ายอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ซึ่งคำตอบของซาร์โกซีคือการควบคุมกิจกรรมที่ผิดกฎหมายถือว่าไม่เป็นการทำร้ายหรือสร้างผลเสียต่ออินเทอร์เน็ต Jarvis ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่ามุมมองของซาร์โกซีสะท้อนความคิดของผู้นำโลกที่ต้องการควบคุมอินเทอร์เน็ต – BBC Alec Ross ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารี คลินตัน ให้สัมภาษณ์ว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต โดยให้ทุนอบรมนักเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ ให้เรียนรู้การแก้ไขระบบกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่รัฐบาลหลายประเทศนำมาใช้ Nadine Wahab นักเคลื่อนไหวและรณรงค์อีกคนหนึ่งกล่าวว่าบทเรียนจากตูนิเซียและอียิปต์ควรสอนให้รัฐบาลโลกรู้ว่า “อย่าไปยุ่งกับอินเทอร์เน็ต” เพราะอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ของบริษัทหรือรัฐบาลหรือ G-8 – CBS ด้านนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร นายเดวิด คาเมรอน ให้สัมภาษณ์ว่าแนวทางการควบคุมอินเทอร์เน็ตของซาร์โกซีไม่สามารถทำได้จริง และให้สัญญาว่าอังกฤษจะไม่ควบคุมอินเทอร์เน็ตในเร็วๆ นี้ – Guardian Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เข้าพบประธานาธิบดีซาร์โกซีและมอบของที่ระลึก บทสรุป: นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “รัฐบาลโลก vs อินเทอร์เน็ต” เมื่ออินเทอร์เน็ตเติบโตและแผ่ขยายครอบคลุมประชากรโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเห็นปรากฎการณ์ที่ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ “ท้าทาย” อำนาจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นเหตุการณ์ประท้วงในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และโลกตะวันออกกลางเมื่อช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลที่คุ้นเคยกับการควบคุมสื่อผ่านเครื่องมือและนโยบายต่างๆ เพื่อรักษาระเบียบของสังคม (ในขณะเดียวกันก็กดทับประชาชนที่คิดเห็นในทางตรงข้าม) ย่อมเกิดอาการ “กลัว” อินเทอร์เน็ต และแสดงออกผ่านการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้าง Great Firewall ของประเทศจีน, การตัดอินเทอร์เน็ตของประเทศตะวันออกกลางช่วงที่มีเหตุประท้วง ประเทศไทยเองก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มข้น ดังจะเห็นได้จากกรณีการบล็อค YouTube เมื่อปี 2007 และการใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเซ็นเซอร์เว็บไซต์จำนวนมาก แนวโน้มการเซ็นเซอร์และควบคุมอินเทอร์เน็ตจากภาครัฐบาลทั่วโลกนั้นชัดเจนว่าเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และการเรียกประชุม e-G8 ของฝรั่งเศสอาจถือเป็น “สัญญาณ” ชิ้นแรกว่ากลุ่มประเทศ G8 เริ่มคิดถึงการควบคุมอินเทอร์เน็ตในระดับรัฐบาล (และระหว่างรัฐ) กันอย่างจริงจังแล้ว แน่นอนว่ากลุ่มผู้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของผู้ใช้เน็ต จะคัดค้านแผนการควบคุมของซาร์โกซี และแผนลักษณะเดียวกันของรัฐบาลทั่วโลก แต่นั่นไม่ทำให้ “ความพยายามจะควบคุมอินเทอร์เน็ต” ของฟากรัฐบาลลดลงแม้แต่น้อย นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นหา “สมดุลใหม่” ระหว่างอินเทอร์เน็ตกับรัฐบาลโลกเท่านั้น! วิดีโอสรุปบรรยากาศในงาน e-G8 วันแรก ที่มา: http://www.siamintelligence.com/sarkozy-internet-government/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net